28 มี.ค. 2022 เวลา 01:00
-- 5 คำทักทายภาษาญี่ปุ่น --
“อิตาดาคิมัส” (ทานแล้วนะครับ / คะ)
“โอเมเดโต” (ยินดีด้วย)
“โอสึคาเระ” (เหนื่อยหน่อยนะ)
“ทาไดมะ” (กลับมาแล้ว)
“โอคาเอริ” (ยินดีต้อนรับกลับมา)
เหล่านี้เป็นตัวอย่างคำทักทายเบื้องต้นในภาษาญี่ปุ่นที่ไม่ค่อยได้ใช้ในภาษาไทย
สำหรับผู้เริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นในประเทศวลีเหล่านี้อาจเป็น pain in the ass ยาว จำยาก ปวดหัว มีโอกาสใช้อย่างเป็นธรรมชาติน้อย ท่องจำไปก็เพียงเพื่อสอบในห้องเรียนและสอบวัดระดับ N5 ให้ผ่าน
แต่ถ้าได้มีโอกาสอยู่กับโฮสต์แฟมิลี่ แฟน คนที่ทำงานหรือเพื่อนญี่ปุ่นสักพัก ถึงจะจำไม่ได้ทีแรกก็จะเริ่มพูดไปได้เองอย่างอัตโนมัติเพราะได้ยินได้ฟังอยู่เป็นประจำ
ในหมู่คำทักทายและอำลาที่มีมากมาย ส่วนตัวฉันชอบห้าคำนี้ที่สุด
“อิตาดาคิมัส”(いただきます)
ใช้กล่าวก่อนเริ่มกินอาหาร เห็นได้ตามการ์ตูนและดราม่าทั่วไป ตามรูปศัพท์หมายถึง “ขอรับมา” ระหว่างเอ่ยมักจะพนมมือ ค้อมหัวลงเล็กน้อยแฝงการขออนุญาตผู้ร่วมโต๊ะกับคำขอบคุณแด่ผู้ประกอบอาหารและสรรพสิ่งที่กลายมาเป็นอาหารให้เรามีชีวิตต่อไป
เพราะต้องกล่าวก่อนกินจนเป็นนิสัย เวลาไปด้วยกันเป็นหมู่คณะโดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนหรือพนักงานบริษัทจะรอจนอาหารสำหรับทุกคนมาครบ จากนั้นเอ่ย “อิตาดาคิมัสสส” พร้อมกันทั้งโต๊ะแล้วค่อยเริ่มกิน อยู่ในร้านอาหารตะวันตกก็ยังพึมพำพลางค้อมหัวลงน้อยๆ เป็นพิธี
วลีนี้เป็นหนึ่งในวลีที่มีประโยชน์มากทีเดียวเชียวโดยเฉพาะถ้าชาวญี่ปุ่นพาไปเลี้ยงอาหาร
“โอเมเดโต” (おめでとう)
รูปสุภาพคือ “โอเมเดโตโกไซมัส”(おめでとうございます)
นอกจากแปลว่า “ยินดีด้วย” ยังใช้กล่าวแสดงความยินดีตามวาระและโอกาสอื่นๆ นอกจากสอบผ่านหรือเรียนจบ เช่น
ทันโจบิ โอเมเดโต(誕生日おめでとう)สุขสันต์วันเกิด
รูปสุภาพ otanjoubi omedetou gozaimasu
お誕生日おめでとうございます。
อาเกมาชิเตะ โอเมเดโต (明けましておめでとう)สวัสดีปีใหม่
รูปสุภาพ akemashite omedetou gozaimasu
明けましておめでとうございます。
เข็กคน โอเมเดโต (結婚おめでとう)ยินดีด้วยกับการแต่งงาน
รูปสุภาพ gokekkon omedetou gozaimasu
ご結婚おめでとうございます。
โอ๊ะ ยกเว้นเมอรี่คริสต์มาส ที่จะทับศัพท์ว่า “เมรี คึริสสึมัสสึ”(メリークリスマス) กัน
“โอสึคาเระ” (お疲れ)
หรือ “โอสึคาเรซามะ”(お疲れ様)
รูปสุภาพคือ “โอสึคาเรซามะเดส”(お疲れ様です)หรือ “โอสึคาเรซามาเดชิตะ”(お疲れ様でした)
ตามรูปศัพท์ “สึคาเระ”(疲れ)แปลว่า “เหน็ดเหนื่อย” น่าจะแปลกล้อมแกล้มเป็นภาษาไทยได้ว่า “เหนื่อยหน่อยนะ (ครับ/คะ)”
“โอสึคาเรซามะเดส”(お疲れ様です)จะใช้ในที่ทำงาน มักใช้เป็นคำทักทาย คำขึ้นต้นจดหมายและอีเมล์ธุรกิจ ประหนึ่งเป็นคำว่าอรุณสวัสดิ์
ส่วน “โอสึคาเรซามะเดชิตะ”(お疲れ様でした)เป็นรูปอดีต ใช้กล่าวกับผู้อื่นเมื่องานเสร็จแล้ว ถ้าเป็นเซ็ตติ้งในบริษัทจะกล่าวกับผู้ร่วมงานที่กำลังจะกลับบ้าน
ข้อควรระวังคือไม่ควรจะใช้คำนี้กับลูกค้า
เพราะลูกค้าคือพระเจ้า แม้ลูกค้าอาจจะทำให้เราต้องพูดโอสึคาเระกับเพื่อนร่วมงานวันละหลายหน แต่ลูกค้าก็ยังถือเป็นผู้มีอุปการะคุณ ต้องแสดงความขอบคุณ มิใช่ "เหนื่อยหน่อยนะคะคุณลูกค้า"
กับลูกค้าจึงควรใช้
"ขอบพระคุณสำหรับเมื่อวาน/วันนี้"
Senjitsu/honjitsu wa arigatou gozaimashita
先日・本日はありがとうございました。
หรือ
"ขอขอบพระคุณที่ให้ความอนุเคราะห์ (ทางเรา) อยู่เสมอ"
itsumo osewa ni natte orimasu
いつもお世話になっております。
เหล่านี้ล้วนเป็นคำที่ทักทายเมื่อเจอหน้าและเป็นประโยคเปิดอีเมล์เช่นกัน
ถ้าใครเป็นนักเรียนหรือพนักงานผู้น้อยอาจได้ยินครูหรือหัวหน้าเอ่ย “โกะคุโรซามะ (เดชิตะ)”(ご苦労さま・ご苦労さまでした) วลีนี้มีความหมายใกล้เคียงกันโดย “โกะคุโร”(ご苦労)หมายถึง “ยากลำบาก” แต่คำนี้จะสงวนไว้สำหรับผู้ใหญ่ใช้กับผู้น้อย จะไม่ใช้กับเพื่อนหรือผู้มีสถานะสูงกว่าตัวเอง
จะว่าไปฉันชอบคำว่า “โอซึคาเระ” ที่สุด ไม่ว่าจะได้ยินใครพูดหรือเอาไปพูดกับใคร
รู้สึกเหมือนเป็นวลีมหัศจรรย์ของภาษาญี่ปุ่นที่แสดงให้อีกฝ่ายรู้ว่าเรารับรู้ถึงความเหน็ดเหนื่อยและเห็นความพยายามความตั้งใจของเขานะ ฉันพร้อมเป็นกำลังใจให้ ยิ่งเอ่ยกับเพื่อนร่วมงานยิ่งแฝงนัยถึงความรู้สึกขอบคุณที่เหน็ดเหนื่อยร่วมกันมา
น่าเสียดายทุกครั้งที่ใช้กับคนไทยที่ไม่คุ้นวัฒนธรรมญี่ปุ่น ทั้งเพื่อนทั้งสามีมักมีปฏิกริยาทำนองว่า 
“เอ็งจะพูดไปทำไม?”
“ทาไดมะ”(ただま)
ใช้กล่าวเมื่อกลับมา
“โอคาเอริ” / “โอคาเอรินาไซ” (おかえり・おかえりなさい)
ใช้กล่าวต้อนรับคนที่กลับมา
ในหนังสือเรียนจะให้จำว่าสองคำนี้ใช้เมื่อกลับมาถึงบ้าน อาจมีภาพประกอบเป็นทาโร่คุงเปิดประตูบ้านออกพร้อมตะโกน “ทาไดม้า” ในขณะที่คุณแม่ตอบ “โอคาเอริ”
เอาเข้าจริง คำเหล่านี้ไม่ได้ใช้พูดลอยๆ ตอนกลับถึงที่พำนักเท่านั้น ใจความสำคัญคือการบอกกล่าวคนที่รออยู่ว่ากลับมาแล้วนะ กับกล่าวบอกคนที่กลับมาว่าเรารับรู้ว่าเขากลับมาแล้วและยินดีที่เขากลับมา
ดังนั้นสถานการณ์อย่างเช่น นั่งจับกลุ่มกินข้าวกล่องกับเพื่อนในห้องเรียนช่วงพักกลางวัน จู่ๆ เราเกิดมีธุระออกไปข้างนอกห้อง ไม่ว่าอาจารย์เรียกไปห้องพักครู นักเรียนห้องอื่นเรียกไปสารภาพรัก ไปซื้อขนมปังเพิ่ม หรือไปเข้าห้องน้ำ พอกลับเข้าห้องมาสามารถเอ่ย “ทาไดมะ” ได้ เพื่อนๆ ในกลุ่มจะประสานเสียงตอบ “โอคาเอรี้” ให้โดยอัตโนมัติ
หรือกรณีเพื่อนเดินทางไปทำงานหรือเที่ยวต่างประเทศ วันที่กลับมาเมสเสจหาเราว่า “กลับมาแล้ว ไปกินข้าวกัน” เราก็สามารถบอกเพื่อนว่า “โอคาเอรี้” ยินดีต้อนรับกลับมานะ ได้เช่นกัน
ในช่วงที่อยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ เพื่อนและแขกชาวญี่ปุ่น มีหลายครั้งที่ฉันรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มจากคำกล่าวง่ายๆ เช่นนี้ แน่นอนว่าส่วนใหญ่มาจากคำว่า “อิตาดาคิมัส” “โอสึคาเระ” “ทาไดมะ” “โอคาเอริ” แต่มีครั้งหนึ่งได้จากคำว่า “โอเมเดโต” (ยินดีด้วย)
ครั้งนั้นฉันทำงานรับรองกลุ่มอาจารย์และนักศึกษาญี่ปุ่นที่มาทัศนศึกษาประเทศไทย หลังจากใช้เวลาร่วมกันห้าวัน เซนเซพาไปเลี้ยงอำลากันที่ร้านอาหารไทยแห่งหนึ่งย่านทองหล่อ ก่อนสิ้นสุดมื้ออาหาร มีตัวแทนนักศึกษาขึ้นมากล่าวขอบคุณอาจารย์ อาจารย์กล่าวปิดงานตามธรรมเนียมทั่วไป
โดยไม่คาดคิด อาจารย์แจ้งข่าวอย่างเป็นทางการว่าฉันกำลังจะแต่งงานในอีกหนึ่งเดือนข้างหน้า
วินาทีถัดมานักเรียนทั้ง 15 คนและอาจารย์ที่เหลือทั้งโต๊ะค้อมให้ตามแบบฉบับญี่ปุ่น สายตา 18 คู่ที่แสดงความยินดีอย่างจริงใจจับจ้องมาทางฉันเป็นตาเดียว แล้วประสานเสียงขึ้นพร้อมเพรียงกันอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า
“โกะเข็กคน โอเมเดโตโกไซมัส!”
ご結婚おめでとうございます!

ยินดีกับการแต่งงานด้วยครับ/ค่ะ
ฉันยังจำวินาทีนั้นได้จนถึงบัดนี้
แว่บนั้นขนลุกซู่ ขอบตาร้อน จากความอบอุ่นและพลังกลุ่มจากเสียงประสานทั้งโต๊ะยาว
ไม่ว่าคิดยังไงบรรยากาศแบบนี้คงไม่มีในนักเรียนหรือเพื่อนคนไทย หรือถ้ามีก็คงไม่กล่าวพร้อมเพรียงกันประหนึ่งอยู่ในค่ายทหารขนาดนี้
สังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมที่ยึดติดกับกลุ่มอย่างเหนียวแน่น ความจริงตรงนี้หาอ่านได้จากหนังสือ บทความหรือสัมผัสเองได้เมื่อได้รู้จักชาวญี่ปุ่นพร้อมกันหลายคน
ในแง่หนึ่งการอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่มทำให้คนญี่ปุ่นเกร็ง ไม่กล้าเป็นตัวของตัวเอง ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นโดยเฉพาะความเห็นแย้ง ไม่กล้าทำอะไรที่แตกต่าง นั่นรวมไปถึงไม่กล้าออกแบบหรือสร้างรูปแบบสถาปัตยกรรมแหวกแนวด้วย
เพื่อนและแขกทุกกลุ่มที่นั่งรถผ่านตึกมหานครจึงจะพึมพำกับฉันอย่างทึ่งๆ ว่า
“ที่ญี่ปุ่นไม่มีทางมีตึกแบบนี้หรอก”
แต่ในทางกลับกันการให้ความสำคัญกับกลุ่มก็ทำให้คนญี่ปุ่นพยายามรักษากฎระเบียบวินัย พัฒนาองค์กรได้อย่างรวดเร็วและสรรสร้างอะไรที่อาศัยความสามัคคีของกลุ่มคนได้ดี
สิ่งหนึ่งที่ทำให้คนในรู้สึกเป็นพวกเดียวกันและเกี่ยวกันไว้ได้ อาจจะมาจากการกล่าวคำทักทายเล็กๆ น้อยๆ ทั้งในชีวิตประจำวันและโอกาสสำคัญต่างๆ ที่ทำให้รู้สึกว่า
ตัวเองยังมีคนคิดถึง มีความหมาย และมีตัวตนอยู่ในสายตาของอีกฝ่ายเช่นนี้ละมั้งคะ
โฆษณา