26 มี.ค. 2022 เวลา 02:50 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ทำไม สวิตเซอร์แลนด์ จึงเป็นประเทศ เศรษฐกิจแห่งความรู้
2
ไม่นานมานี้ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP
เปิดเผยผลการจัดอันดับ ดัชนีความรู้โลก หรือ Global Knowledge Index (GKI) ประจำปี 2021
โดยพบว่า ประเทศที่ได้คะแนนอันดับที่ 1 ของโลก คือ “สวิตเซอร์แลนด์”
ทำไมประเทศที่มีประชากรแค่ราว 8.6 ล้านคน ซึ่งน้อยกว่าประชากรกรุงเทพมหานคร
และมีพื้นที่เล็กกว่าประเทศไทยหลายเท่า
ถึงได้ชื่อว่าเป็น ประเทศเศรษฐกิจแห่งความรู้ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
4
ดัชนีความรู้โลก หรือ Global Knowledge Index (GKI)
เป็นดัชนีที่สะท้อนถึง รากฐานสำคัญทางด้านความรู้ ซึ่งมีผลสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว จัดทำโดยสหประชาชาติ
โดยอันดับดัชนีความรู้โลกประจำปี 2021 5 อันดับแรก คือ
อันดับที่ 1 สวิตเซอร์แลนด์ 71.5 คะแนน
อันดับที่ 2 สวีเดน 70 คะแนน
อันดับที่ 3 สหรัฐอเมริกา 70 คะแนน
อันดับที่ 4 ฟินแลนด์ 69.9 คะแนน
อันดับที่ 5 เนเธอร์แลนด์ 69.5 คะแนน
3
โดยเกณฑ์ที่สหประชาชาติใช้ในการให้คะแนน GKI นั้น ประกอบไปด้วย
- ความรู้ด้านการศึกษาและการฝึกอบรมด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา
- ความรู้ด้านการศึกษาในระดับอุดมศึกษา
- ความรู้ด้านการวิจัย การพัฒนา และนวัตกรรม
- ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
- สภาพเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อม
1
อย่างที่หลายคนรู้กัน สวิตเซอร์แลนด์นั้น เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล
จนทำให้เสียเปรียบเรื่องการขนส่งสินค้าออกต่างประเทศทางเรือ
ทั้งยังไม่ได้มีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติมากมาย
ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับหลายประเทศ
2
แต่รู้ไหมว่า สวิตเซอร์แลนด์กลับมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 18 ของโลก
โดยมีมูลค่า GDP ในปี 2020 สูงถึงราว 25 ล้านล้านบาท
ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ทำให้สวิตเซอร์แลนด์เดินทางมาถึงจุดนี้
ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีทางออกสู่ทะเล ไม่มีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติมากมาย ก็คือ “ความรู้”
3
หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การพัฒนา “องค์ความรู้ด้านนวัตกรรม”
ปี 2019 งบประมาณสำหรับการวิจัยและพัฒนา (R&D) ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่าสูงถึง 841,000 ล้านบาท คิดเป็นมากกว่า 3% ของ GDP
สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่ม OECD ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ที่อยู่ที่ 2.3%
1
การลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา
ทำให้สวิตเซอร์แลนด์ได้ชื่อว่าเป็นประเทศผู้นำด้านนวัตกรรมของโลกมาหลายปี
ซึ่งความสำเร็จของเรื่องนี้ เกิดมาจากหลายปัจจัย
ตั้งแต่การสนับสนุนจากรัฐบาล ทั้งระดับส่วนกลางและระดับท้องถิ่น
รวมไปถึงการสร้างความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจและมหาวิทยาลัย
2
ในสวิตเซอร์แลนด์นั้น จะมีสถาบันนวัตกรรมแห่งชาติที่ชื่อว่า Innosuisse is the Swiss Innovation Agency ที่มีนโยบายให้เงินทุนสนับสนุนโดยตรงกับมหาวิทยาลัย เพื่อนำไปสนับสนุนงานวิจัยด้านนวัตกรรม
1
รวมทั้งผลักดันให้บริษัทต่าง ๆ เป็นพันธมิตรกับมหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมใหม่ ๆ ของประเทศออกมา
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์
ใช้วิธีการ “Bottom-Up” หรือ “จากล่างขึ้นบน” ในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านนวัตกรรม
7
โดยรัฐบาลจะเชิญคนที่มีความรู้ ความสามารถในนวัตกรรมสาขานั้น ๆ มาช่วยออกแบบ พัฒนา และเสนอแนะว่าประเทศควรจะลงทุนในนวัตกรรมด้านไหน มากกว่าที่รัฐบาลจะเป็นฝ่ายไปกำหนดเอง ว่าควรลงทุนในเรื่องอะไรแต่แรก
5
ผลของการลงทุนในองค์ความรู้และนวัตกรรม มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
ทำให้สวิตเซอร์แลนด์ กลายมาเป็นประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรสูงถึง 2.7 ล้านบาทต่อปี มากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
3
รู้ไหมว่า ในปี 2020 สินค้าส่งออกสำคัญ ๆ ของสวิตเซอร์แลนด์
ไม่ว่าจะเป็น ยาและเวชภัณฑ์ สารประกอบเคมีอินทรีย์ เครื่องจักรกล นาฬิกาและชิ้นส่วน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องมือแพทย์
ได้สร้างมูลค่าส่งออก สูงกว่า 6 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 24% ของ GDP ประเทศ
6
ซึ่งเราจะเห็นว่า สินค้าที่ว่ามานี้ ล้วนแล้วแต่ใช้องค์ความรู้ด้านนวัตกรรมในการสร้างขึ้นมาทั้งนั้น
อ่านมาถึงตรงนี้ เราน่าจะพอเข้าใจแล้วว่า
แม้สวิตเซอร์แลนด์จะไม่ได้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และมีข้อจำกัดอีกหลาย ๆ ด้าน ทั้งทำเลที่ตั้งที่ไม่มีพื้นที่ติดทะเล และจำนวนประชากรที่ไม่มาก
แต่สวิตเซอร์แลนด์ก็หันมาพัฒนาเรื่ององค์ความรู้
จนสามารถนำมาใช้ผลักดันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ให้เติบโตได้ ไม่แพ้ชาติอื่น ๆ
ในทางตรงกันข้าม มีหลายประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติพร้อม แต่ไม่ได้สนใจเรื่องการพัฒนาองค์ความรู้เท่าไรนัก ผลลัพธ์ก็อาจเป็นตรงกันข้ามกับประเทศสวิตเซอร์แลนด์..
19
โฆษณา