Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Thai Fish Shop
•
ติดตาม
24 มี.ค. 2022 เวลา 10:14 • สัตว์เลี้ยง
“ใจปลาซิว” เป็นสำนวนไทยที่ใช้กันมาแต่โบราณ ใช้เปรียบกับคนไม่สู้งาน ไม่อดทน ย่อท้อโดยง่าย คนโบราณเค้าเอาไปเปรียบกับปลาซิวก็เพราะว่า ปลาซิวแทบทุกชนิดมักมีขนาดเล็กจนถึงเล็กมาก เมื่อถูกมนุษย์จับขึ้นมาไม่ทันจะว่ากล่าวกระไรก็ช้ำมือตายไปง่ายเหลือเกิน และนั่นก็เป็นที่มาของสำนวนดังกล่าว
ปลาซิวในบ้านเรานั้นมีอยู่หลายชนิด แต่ชนิดที่เราจะเอามาพูดถึงในวันนี้มีชื่อว่า “ซิวขวาน” หรือที่ในวงการปลาสวยงามอาจจะรู้จักกันในนามว่า ปลารัส รัสบอร่า รัสบูร่า แต่เชื่อขนมกินได้เลยว่าน้อยคนที่รู้ว่าในประเทศไทยมีปลาซิวขวานอยู่สามชนิด (ไม่นับซิวสมพงษ์) แต่มีชื่อวิทยาศาสตร์อยู่แค่สองชื่อ แปลว่ามีอยู่สองชนิดที่ชื่อวิทย์ซ้ำกัน
เครดิตภาพประกอบ https://www.flickr.com/photos/j_wijnands/7160524654
ปลาซิวขวานในไทยมีสามชนิดแต่ถ้ารวมกับประเทศอื่นๆด้วยแล้วพบว่าปลาซิวขวานมีอยู่เกือบสิบชนิดได้ และแทบทุกชนิดก็เป็นที่นิยมในหมู่นักเลี้ยงปลาสวยงาม เนื่องจากมันเป็นปลาฝูงที่มีขนาดลำตัวค่อนข้างเล็ก ลักษณะโดยทั่วไปคือ ลำตัวแบนข้าง ตาโต ปากเล็กไม่มีหนวด ลำตัวมีหลากหลายสีต่างกันไปตามแต่ละชนิด มีขลิบสีแดงบนปลายครีบหลังและปลายหาง ครีบหางเว้าลึก ลักษณะเด่นสำคัญคือ สามเหลี่ยนมสีดำข้างลำตัว ขนาดโตเต็มวัยมีตั้งแต่ 2.0 -5.0 ซม.
ในแหล่งน้ำธรรมชาติเราสามารถพบซิวขวานได้ทั้งในจุดที่น้ำไหลค่อนข้างแรงไปจนถึงจุดน้ำไหลเอื่อย โดยมากพบในจุดที่มีพืชใต้น้ำขึ้นหนาแน่น สามารถพบได้ในแหล่งน้ำหลายรูปแบบตั้งแต่ ห้วยหนอง คลองบึง ไปจนถึงแอ่งน้ำเล็กๆตามภูเขาที่มีทางเชื่อมต่อกับแหล่งน้ำธรรมชาติ มักอาศัยอยู่เป็นกลุ่มขนาดใหญ่ไม่ต่ำกว่าหนึ่งร้อยตัวเป็นต้นไป
ในบทความนี้เราจะคุยกันถึง “ซิวขวานใหญ่” ก่อนเป็นลำดับแรก นอกเหนือจากชื่อที่ใช้เรียกว่า ปลารัส รัสบอร่า รัสโกลก ทางภาคใต้บางพื้นที่ยังเรียกปลาชนิดนี้ว่า “ปลามะลิ” อีกด้วย โดยบทความนี้จะขอเรียกปลาชนิดนี้ว่า “รัสโกลก”
รัสโกลกนั้นไม่ได้เป็นปลาหาง่ายนักในประเทศไทย พบได้ในภาคใต้ไล่ตั้งแต่พัทลุงลงไปเรื่อยๆ ปัตตานี นราธิวาส ทะลุไปถึงมาเลเซีย สิงค์โปร์ และอินโดนีเซีย ในไทยพบมากที่ อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส อาศัยอยู่ตามพื้นที่ป่าพรุในจุดที่มีการทับถมของซากพืช รวมถึงพืชน้ำขึ้นปกคลุมหนาแน่น โดยมากสีน้ำในบริเวณดังกล่าวมักเป็นสีชา
รัสโกลกนั้นมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า trigonostigma heteromorpha ปลาที่พบในมาเลเซียและสิงค์โปร์นั้นมีลักษณะเหมือนกับปลาที่พบในประเทศไทย แต่ปลาที่พบในอินโดนีเซียนั้นมีจุดแตกต่างที่สำคัญคือสัดส่วนสีดำบนลำตัวกินพื้นที่มากกว่า รวมถึงขนาดโตเต็มวัยก็ใหญ่ได้ถึง 5 ซม.โตกว่าปลาทางบ้านเราเสียอีก
นอกจากนั้นชื่อวิทยาศาสตร์นี้ในปัจจุบันยังถูกนำไปใช้กับซิวขวานชนิดใหม่ๆที่พบเป็นสีดำ สีม่วง หรือสีทอง ในอนาคตเชื่อว่าจะมีการจำแนกชื่อวิทยาศาสตร์ออกไปเป็นสปีชีย์ของตัวเอง เพราะแต่ละชนิดนั้นก็มีจุดแตกต่างที่ชัดเจนและพบในพื้นที่เฉพาะของแต่ละประเทศ
หลังจากผ่านซิวขวานใหญ่ไปแล้วก็มาถึง “ซิวขวานเล็ก” ชื่อนี้ได้มาจากสัดส่วนของสีดำบนลำตัวมีขนาดเล็กกว่า และขนาดโตเต็มวัยก็มีขนาดเล็กกว่าเช่นกัน ซิวขวานเล็กนั้นมีขนาดโตเต็มวัยเพียง 2.2 – 3.0 ซม.เท่านั้น
ชื่อวิทยาศาสตร์ของซิวขวานเล็กคือ trigonostigma espei ในประเทศไทยพบอยู่ในสองพื้นที่ จุดแรกคือภาคตะวันออกตั้งแต่จังหวัดชลบุรี ระยอง ตราด จันทบุรี ข้ามไปถึงกัมพูชา ปลาซิวขวานในแหล่งดังกล่าวถูกตั้งชื่อว่า “รัสจันท์” ส่วนอีกจุดหนึ่งที่สามารถพบซิวขวานเล็กได้คือ จังหวัดตรัง และชื่อในตลาดปลาสวยงามของมันก็คือ “รัสตรัง” โดยทั้งสองรัสนี้ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์เดียวกัน ทั้งที่มีลักษณะที่แตกต่างกันดังนี้
รัสตรังมีลำตัวสั้นป้อม สีแดงกล่ำเคลือบทั้งลำตัว ขนาดโตเต็มวัย 2.2 ซม. ในขณะที่รัสจันท์ลำตัวจะเรียวยาวกว่า พื้นที่สีแดงจำกัดอยู่ที่ครึ่งตัวล่าง ไม่ลามขึ้นไปถึงช่วงหลังด้านบน ขนาดโตเต็มวัยคือ 3 ซม. สถานการณ์ปัจจุบันรัสจันท์เข้าข่ายใกล้สูญพันธุ์จากแหล่งน้ำธรรมชาติเต็มที จากการรุกรานถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ
การจับปลาซิวขวานจากแหล่งน้ำธรรมชาติจำเป็นต้องมีสวิงปากกว้าง ยิ่งกว้างก็ยิ่งจับง่าย เมื่อปลาที่เราจับได้อยู่ในสวิง เราจะไม่จับปลาขึ้นมาพ้นน้ำแต่จะใช้ช้อนพลาสติกขนาดใหญ่หน้าตาคล้ายทัพพีตักข้าว ตักทั้งน้ำและปลาเข้าไปในถุงพลาสติกและบรรจุกลับไปที่พักปลา ปลาซิวขวานที่พบในภาคใต้นั้นมักมีค่ากรดด่าง ของน้ำต่ำกว่าภาคกลางค่อนข้างมาก จีงเป็นเรื่องจำเป็นที่ผู้ขายปลาจำเป็นต้องพักนำปลาเข้าสู่กระบวนการปรับสภาพน้ำก่อนส่งเข้าจำหน่ายในตลาดปลาสวยงาม
การปรับสภาพน้ำให้ปลาที่จับจากแหล่งน้ำธรรมชาตินั้นมีประโยชน์ในเรื่องของความคุ้นชินและสภาพจิตใจของเจ้าปลาน้อยด้วย ลองนึกดูว่า ถ้าเราเป็นปลาที่ว่ายอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ เราจะว่ายไปไหนก็ได้ช่างกว้างใหญ่ไพศาล จู่ๆก็ถูกจับมาเลี้ยงในตู้เล็กๆพื้นที่จำกัด ว่ายไปนิดเดียวก็หัวโหม่งตู้กระจกละ ปลาเค้าก็จะมีความเครียดและป่วยเป็นโรคได้ง่ายๆ ดังนั้นในช่วงเวลาของการปรับสภาพน้ำนั้น จริงๆแล้วมันก็ปรับสภาพจิตใจของปลาไปด้วย
ขั้นตอนของการพักปลานั้นเป็นจุดชี้เป็นชี้ตายของเกษตรกรที่ประกอบอาชีพจำหน่ายปลาสวยงาม การรู้แหล่งอาศัยของปลา จับปลามาได้จำนวนมากจะไม่เกิดผลกำไรเลยถ้าเราพักปลาแล้วไม่รอดจะมีเยอะแค่ไหนก็กลายเป็นศูนย์บาทอยู่ดี กลับกันถ้าเราพักปลาได้ดีเสียหายน้อยแม้เราจับมาได้น้อยแต่ปลาที่เหลือให้ขายนั้นก็ยังเป็นเงินกลับมาหาเราอยู่ดี ดังนั้นสิ่งที่เราควรโฟกัสจริงๆคือการดูแลคุณภาพของปลา และปล่อยให้การเข้าถึงแหล่งเป็นเรื่องของคนพื้นที่จะดีกว่า แบ่งหน้าที่กันทำ กระจายรายได้กันไปทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด
ย้อนกลับมาคุยกันถึงเรื่องของชื่อวิทยาศาสตร์กันสักหน่อย Genus ของปลารัสทั้งสามชนิดนั้นมีชื่อเดียวกันคือ Trigonostigma มาจากภาษากรีกสามคำคือ Tria + Gonias + Stigma = สาม + เหลี่ยม + signal เมื่อเอาความหมายมายำรวมกันแล้วตีความได้ว่า “สามเหลี่ยมสีดำบนลำตัวปลา”
ส่วนสปีชีย์ของทั้งสองชนิดนั้นคำว่า espei เป็นการตั้งให้เป็นเกียรติตามผู้ค้นพบที่ชื่อว่า Heinirich Espe ส่วนคำว่า Heteromorpha นั้นเป็นสปีชีย์แรกที่ถูกตั้งไว้สำหรับซิวขวานทุกชนิดในอดีตกาลก่อนการจำแนก ดังนั้นคำนี้จึงมีความหมายและรากศัพท์ให้จำแนกออกมาเป็น Hetero + Morpha = ความแตกต่าง + รูปลักษณ์ แปลแบบง่ายๆได้ว่า “รูปลักษณ์ที่แตกต่าง”
“รูปลักษณ์ที่แตกต่าง” ในที่นี้หมายถึงต่างจากปลาซิว (Rasbora) ชนิดอื่นๆ ที่ว่าต่างจากซิวอื่นๆนั้นต่างตรงไหน ? จุดที่ชัดสุดคือ ซิวขวานไม่มีหนวด ลำตัวแบนข้างในขณะที่ซิวชนิดอื่นจะมีลักษณะคล้ายทรงกระบอกมากกว่า หัวโตตาโตมากกว่าซิวชนิดอื่นเมื่อพิจารณาตามสัดส่วน ก็เลยได้ชื่อ Heteromorpha มาด้วยประการฉะนี้
ส่วนชื่อสามัญที่นิยมใช้เรียกปลาซิวขวานคือ Harlequin rasbora (อ่านว่า ฮาร์ เล ควิน รัสบอร่า) แปลว่า รัสบอร่าที่มีสีสัน ไม่แน่ใจว่านี่เป็นที่มาของชื่อตัวการ์ตูนใน DC comic อย่าง Harley Quinn รึเปล่า อาจจะใช่ก็ได้นะ !
ส่วนอีกชื่อหนึ่งที่นิยมใช้เหมือนกันคือ Lamb Chop rasbora แปลว่าเนื้อแกะถูกสับปะ? ไม่ใช่เฟ้ย เค้าแปลว่า “ซี่โครงแกะ” กดกูเกิ้ลทรานสเลทมาแล้ว ตอนแรกก็งงว่าชื่อนี้มาได้ไงไม่เข้าใจ ๆ ๆ แต่พอลองกูเกิ้ลดูภาพก็เลยเข้าใจละ เดี๋ยวแปะภาพไว้ให้ดูที่ช่องคอมเมนต์นะครับ
เมื่อสมัยตอนเริ่มส่งออกมาสักห้าหกปี เป็นช่วงที่คิดว่าตัวเองช่างมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องปลามากเสียเหลือเกิน ในขณะที่ปัจจุบันส่งออกมาจะยี่สิบปีกลับไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองมีความมั่นใจที่จะไปอวดรู้ใส่ลูกค้า ก็เพราะเรื่องมันมีเหตุมาจาก ฟูจิตะซังผู้รอบรู้
“สวัสดี เบียร์ซัง ....แล้วก็คุยสัพเพเหระตามสไตล์ชาวญี่ปุ่นก่อนวนเข้าเรื่อง ยูรู้รึเปล่าว่า harlequin rasbora ในไทยมีสามชนิดนะ.... “ แล้วก็มีเรื่องเกี่ยวกับปลาที่เขาสนใจอีกเล็กน้อยก่อนปิดอีเมล์ไปแบบสุภาพๆ
“อาโน... ฟูจิตะซัง ไอว่ายูน่าจะเข้าใจผิดนะ ไอส่งออกมาหลายปี (มียกหางตัวเองด้วย) เคยเห็นแค่ขวานเล็กกับขวานใหญ่ มันมีขวานกลางด้วยเหรอ (โชว์โง่กวนตีนเค้ากลับไปอีก)” เบียร์ซังส่งอีเมล์ตอบกลับไป
“โอ... คือไอนึกว่ายูจะรู้อยู่แล้ว เพราะเวลายูส่งซิวขวานมาบางทีมันก็เป็นรัสจันท์ บางทีมันก็เป็นรัสตรัง เดี๋ยวไอพิพม์ข้อมูลไว้ให้ยูไปลองอ่านดูนะเบียร์ซัง” ภาษาคาราโอเกะที่ฟูจิตะซังพิมพ์มาให้คือ “ras ko-lok” “ras jan” “ras trang” หลังจากเบียร์ซังอ่านข้อมูลเสร็จก็ดวงตาเห็นธรรม ...เขินจังปล่อยควายวิ่งกลางทุ่ง
1
ผ่านไปสองสามวันก็ส่งอีเมล์ตอบกลับฟูจิตะแบบไว้เชิงนิดนึงว่า “อาริกาโต๊ะสำหรับข้อมูลนะจ๊ะ แล้วยูอยากได้ตัวไหนล่ะ?” ฟูจิตะส่งอีเมล์กลับมาอย่างรวดเร็วแบบนอบน้อมว่า “เอาทั้งสามชนิด อย่าแพคมารวมกัน เขียนหน้าถุงให้ด้วยว่าถุงไหนเป็นชนิดไหน สตาฟไอแยกไม่เป็น (เหมือนเอ็งเลยเบียร์ซัง)” อันนี้เค้าไม่ได้เขียนมา แต่อ่านดูกี่ทีก็เหมือนเค้าเขียนติดมาด้วยเลยแฮะ 555
#ปลาสวยงาม #ซิวขวาน #รัสจันท์ #รัสตรัง #รัสโกลก #รัสบอร่า
ปลาสวยงาม
บทความ
1 บันทึก
4
1
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย