24 มี.ค. 2022 เวลา 15:40 • หนังสือ
Gothic เป็นรูปแบบหนึ่งของวรรณคดี ที่เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 20 โดยเรื่องราวที่ถูกเรียกขานว่าเป็นรูปแบบโกธิคนั้นประกอบไปด้วย ความสะพรึงกลัว ความตาย และความรัก ว่ากันว่านิยายประเภทนี้นั้นเกิดขึ้นจากงานเขียนในปีคริสต์ศักราช 1764 เรื่อง The Castle of Otranto: A Gothic Story ของ Horace Walpole หัวใจหลักของนิยาย Gothic คือการตอกย้ำอารมณ์ระทึกใจและความหวาดกลัวให้ระส่ำขึ้น ซึ่งเป็นการขยายฐานจากวรรณกรรมโรแมนติกในยุคนั้น ด้วยนักเขียนนิยายแนวนี้มีความคิดที่ขัดเจนว่า "ความสุข" ที่เกิดขึ้นจากอารมณ์เหล่านั้นเป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะนำพาเราไปไกลกว่าที่ตัวเราเองคาดการณ์ไว้อย่างสุดจะพรรณนา (ถอดความจาก Hirsch, Edward. (2014). A Poet's Glossary. Houghton Mifflin Harcourt.)
ถึงแม้นิยายไทยส่วนใหญ่จะมีเนื้อหาวนเวียนอยู่กับเรื่องความรัก ชีวิตครอบครัว เป็นหลัก แต่ก็มีนักเขียนนิยายหลายคนที่พยายามจะนำเสนอเนื้อหาที่แปลกใหม่ และฉีกกรอบออกไปจากรูปรอยเดิมๆ อันเป็นที่นิยมชมชอบของผู้คน และ “จินตวีร์ วิวัธน์” เป็นนักเขียนที่ถือกันว่าเป็นผู้บุกเบิกนิยายแนว Gothic ในบ้านเรา จนได้รับขนานนามเป็น “ราชินีนิยายลึกลับ” เลยทีเดียว
นักเขียนนิยายแนวสยองขวัญหรือระทึกขวัญหลายคนดึงเอารูปแบบของนิยาย Gothic เข้ามาคละเคล้า และเขย่าให้เข้ากันจนกลายเป็นนิยายสยองขวัญหรือระทึกขวัญที่มีกลิ่นไอของความลึกลับ ความมืดดำของปริศนา และความตายที่เหมือนอยู่ใกล้แค่ปลายเอื้อม เช่นเดียวกันกับ จินตวีร์ วิวัธน์ที่หยิบจับแนวทางและรูปรอยของนิยาย Gothic มาผสมผสานกับเรื่องเล่าแบบไทยๆ และกลายเป็นนิยายลึกลับที่ติดตรึงใจผู้อ่าน สร้างชื่อ “ราชินีนิยายลึกลับ” ให้กับตัวเองได้อย่างหมดจดงดงาม
“วังไวกูณฑ์” เป็นหนึ่งในนิยายของจินตวีร์ วิวัธน์ที่นำแนวทางของนิยาย Gothic มาแทรกสอดไว้ในเรื่องได้อย่างแยบยลก่อให้เกิดอารมณ์ชวนสงสัยใคร่รู้และดึงคนอ่านให้อดใจไม่ไหวอยากเปิดอ่านหน้าต่อไปๆ เพราะลุ้นว่าจะเกิดอะไรกับตัวละครได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรื่องราวหลักๆ ของ “วังไวกูณฑ์” นั้น เล่าเรื่องของรมย์รดา สุริเยนทร์ หญิงสาวที่จับพลัดจับผลูพบว่าตัวหล่อนเองกลายเป็นทายาทของตระกูลไวกูณฑ์ ณ อยุธยา ที่หายสาบสูญไป หล่อนถูกนำตัวมาพบกับหม่อมพัชริน เจ้าของวังไวกูณฑ์ คฤหาสน์เก่าแก่หลังใหญ่ที่ในชีวิตนี้รมย์รดาไม่เคยอาจเอื้อมคิดว่าจะได้เป็นเจ้าของ เพราะแค่ให้คิดว่าตัวเองได้มาอยู่ที่นี่ก็ไม่ต่างไปจากฝันเอาเองแล้ว
ทว่า การปรากฏตัวของรมย์รดา นำพามาซึ่งปริศนาลึกลับดำมืดบางอย่าง พร้อมกับบรรยากาศเหมือนๆ จะอึมครึมระหว่างหล่อนกับผู้อาศัยคนอื่นๆ ในคฤหาสน์หลังนี้ ยิ่งมีเหตุฆาตกรรมเกิดขึ้น ตามติดมาด้วยเงามืดบนชานบันได แมงมุมตัวใหญ่เท่าฝ่ามือในห้องของรมย์รดา กรุ่นกลิ่นหอมจากดอกกุหลาบที่อบอวลไปทั่ว สาวใช้ที่หายตัวไปอย่างลึกลับ และวิญญาณร้ายในหน้ากากผีที่ปรากฏตัวให้รมย์รดาเห็น อะไรคือความจริง อะไรคือความฝัน หรือทั้งหมดนั้นเกิดจากอาการประสาทที่รมย์รดาเคยเข้ารับการรักษาแล้วยังไม่หายดีกันแน่
เห็นได้อย่างชัดเจนว่า “วังไวกูณฑ์” ดำเนินเรื่องตามขนบของนิยาย Gothic แบบไม่บิดพลิ้ว ด้วยการผูกเรื่องโยงใยตัวละครหลักให้มาปรากฏตัวที่คฤหาสน์เก่าแก่ที่มีเงื่อนงำน่าสงสัย ติดตามมาด้วยปริศนาหลายครั้งหลายคราวที่หาคำตอบได้ไม่ชัดเจน และตัวละครอื่นๆ ที่ล้วนมีพิรุธให้สงสัยได้ทั้งหมด
ความสนุกของ “วังไวกูณฑ์” คือการที่จินตวีร์ วิวัธน์ปั่นหัวคนอ่านด้วยการทำให้เกิดคำถามในใจตลอดเวลาที่อ่านว่าตกลงแล้วเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้น เป็นผลมาจากใครบางคนที่นำพาให้เรื่องเกิดขึ้นเพื่อสร้างความปั่นป่วนในใจรมย์รดา ปลุกเร้าอาการประสาทของหล่อนให้กำเริบ หรือทั้งหมดทั้งมวลนั้นมาจากอาการทางจิตของรมย์รดา การเอาเถิดเจ้าล่อคนอ่านด้วยวิธีการเขียนแบบขยักข้อมูลรวมเข้ากับการบรรยายฉากสยดสยองและฉากลึกลับดำมืดของจินตวีร์ วิวัธน์นั้นได้ผลดีทีเดียวและทำให้ผมเกิดข้อกังขาตลอดเวลาว่าสรุปที่อ่านมานั้น เป็นเรื่องที่คนทำ หรือเป็นเรื่องจากจินตนาการเพ้อพกของรมย์รดากันแน่ และทำให้ “วางไม่ลง” ด้วยลุ้นว่าความจริงคืออะไรนี่แหละครับ
อีกประการที่ทำให้นิยายเรื่องนี้อ่านสนุกมากขึ้นคือความหลากหลายของตัวละครสมทบ ที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นตัวเลือกว่าใครกันแน่เป็นคนร้าย ตั้งแต่ บุรินทร์ ทายาทหนุ่มของวังไวกูณฑ์ที่สุขุมนุ่มลึกและเป็นผู้ใหญ่ที่สุด ปรัศว์ หนุ่มเงียบขรึมที่พูดน้อยต่อยหนัก ปัญชลี น้องสาวของปรัศว์ที่เรียบร้อยเหมือนผ้าพับไว้ พะวงดาว สาวเปรียว ก๋ากั่นและอารมณ์ดีตลอดเวลา และวิศรุต ทนายความหนุ่มเจ้าเสน่ห์ ยิ่งเหตุการณ์ทวีความรุนแรงหนักข้อขึ้น จนรมย์รดาแทบจะเป็นบ้า คนอ่านอย่างเราก็เกิดข้อสงสัยตามมาด้วยว่าหนึ่งในคนเหล่านี้ ใครกันที่บงการอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ทั้งหมดนี้
อย่างไรก็ดี ความดีงาม สนุกสนาน วางไม่ลงที่กล่าวมานั้น จะเกิดขึ้นได้หากคนอ่านเปิดใจและมองข้ามสำบัดสำนวนที่ค่อนข้างโบราณสักหน่อย และวิธีการเล่าเรื่องที่มีขนบแบบนิยายเก่า ทั้งในเรื่องของภาษาและความเนิบช้าของการดำเนินเรื่อง และเรื่องราวที่สุดท้ายเมื่อตามไปจนจบเรื่องก็คาดเดาได้ในระดับหนึ่ง และให้อารมณ์ “เลือดข้นกว่าน้ำ” แบบที่นิยายสมัยเก่าชอบใช้ (ขออนุญาตไม่เฉลยนะครับ ลองหาอ่านกันดูดีกว่า) หากแต่เมื่อมองข้ามสิ่งที่ไม่คุ้นชินเหล่านี้ ไปพิจารณาที่โครงเรื่องแล้ว ต้องบอกเลยครับว่า “วังไวกูณฑ์” เป็นนิยายที่มีโครงเรื่องแข็งแรง และหนักแน่น แม้จะพอเดาทางได้ทว่าก็สนุกแบบสุดเหวี่ยงอีกต่างหาก
และยิ่งเมื่อพิจารณาเพิ่มเติมอีกว่านิยายแนว Gothic แบบไทยๆ ไม่ใช่นิยายที่หาอ่านกันได้ง่ายๆ แล้วนั้น “วังไวกูณฑ์” จึงเป็นนิยายที่คุ้มค่า น่าอ่านชนิดที่เรียกได้ว่าห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวงครับ
#ReadingRoom #วังไวกูณฑ์ #จินตวีร์วิวัธน์
โฆษณา