Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วิทย์-ชีวะ-ชีวิต
•
ติดตาม
25 มี.ค. 2022 เวลา 02:35 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ศัพท์ S&T ทันโลก ตอน 26
Serum (ซีรั่ม หรือ เซรุ่ม)
Photo by Scandinavian Biolabs on Unsplash
คำศัพท์วิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งเมื่อเคลื่อนไปสู่แวดวงอื่น ดังเช่น เครื่องสำอาง หรือการบริหาร ฯลฯ ความหมายก็อาจแปรเปลี่ยนไป หรือแม้แต่บิดเบี้ยวจนผิดไปก็ได้
เช่น คำว่า “ดีเอ็นเอ” ในวงการบริหาร หมายถึง เนื้อแท้หรือคุณค่าหลักขององค์กร ซึ่งความหมายนี้ตัดเอาลักษณะและรายละเอียดของดีเอ็นเอในทางชีววิทยาหายไปจนเกือบหมดสิ้น
เหลือเพียงความหมายกว้างๆ ที่แสดงนัยยะเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
คำว่า ซีรั่ม หรือ ซีรัม (serum, สะกดตามราชบัณฑิตยสภา ไม่ใส่ไม้เอก แต่อ่านแบบมีสระเอกเป็น ซี–ร่ำ) ก็ตกอยู่ในกลุ่มคำวิทยาศาสตร์แบบนี้เช่นกัน คำนี้รูปพหูพจน์มี 2 แบบนะครับ เขียนเป็น serums หรือ sera ก็ได้
ความหมายทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ของคำว่า “ซีรัม” หรือถ้าในภาษาเก่าสักหน่อย อาจจะเคยได้ยินคนใช้ว่า “เซรุ่ม” (คำนี้ต้องใส่ไม้เอกด้วย งงไหมครับ ทำไมเดี๋ยวใส่เดี๋ยวไม่ใส่ ผมก็งงครับ) ก็คือ
ส่วนที่เป็นน้ำใสๆ หรือออกสีเหลืองๆ หน่อย หากเราเอาเลือดของสัตว์ไปปั่นหรือวางทิ้งไว้ให้ตกตะกอน
ซึ่งจะต่างจาก “น้ำเลือด (plasma)” นิดเดียวคือ ซีรัมจะไม่มีโปรตีนที่ชื่อ ไฟบริโนเจน (fibrinogen) โปรทรอมบิน (prothrombin) และโปรตีนอื่นๆ อีกหลายชนิด ฯลฯ ที่ช่วยให้เลือดแข็งตัวปะปนอยู่
เรียกกันอย่างเต็มยศว่า เซรัมเลือด (blood serum)
เซรัมของสัตว์นี่ มีประโยชน์เอามาช่วยกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันของเราได้นะครับ อย่างที่ทราบกันดีในกรณีของเซรัมพิษงูของสถานเสาวภานั่นแหละครับ โดยมีชื่อเรียกเฉพาะด้วยนะครับ เรียกว่า แอนติซีรัม (antiserum) หรือเซรุ่มคุ้มกัน (immune serum)
ซีรัมคือส่วนใสในเลือดของสัตว์ที่ไม่รวมโปรตีนช่วยการแข็งตัวของเลือดและเม็ดเลือด. ที่มา: https://pbs.twimg.com/media/ClUqqpSWIAAdrPe.jpg
บางทีคำว่า เซรัม ยังใช้ในหนังฝรั่งในความหมายว่า “สารอะไรสักอย่างจากสิ่งมีชีวิต” หรือ “สารหรือยาที่ใช้ฉีดกับคน” ก็มี เช่น truth serum ที่อ้างกันว่า ฉีดแล้วคนจะพูดความจริงเท่านั้นอย่างไม่อาจต้านทานการซักถามได้ ซึ่งยังไม่มีการยืนยันว่า มีคนคิดได้จริง
ที่แปลกอีกอย่างคือ บางคนใช้ซีรัมแทนส่วนของเหลวในพืชด้วยนะครับ
สำหรับวงการเครื่องสำอาง สินค้าราคาแพงอย่าง “ซีรัม” นั้น มีสารพัดแบบ คุณผู้หญิงน่าจะรู้จักกันดีกว่าผมมาก ปกติจะเป็นพวกละลายน้ำได้ แต่เตรียมแบบข้นๆ ดูหนาๆ มีน้ำหนักและมักใช้กับผิวหน้า ราคาแพงดีทีเดียวแหละครับ มักจะโฆษณาสรรพคุณจนเลิศเลอให้สมกับราคา
เช่น ป้องกันไม่ให้ดูแก่ (anti–aging) หรือบ้างถึงกับบอกว่า ทำให้กลับเป็นสาวได้อีกครั้ง....กันเลยทีเดียว ซึ่งก็แน่นอนว่าแบบหลังนี่...ยังทำไม่ได้ครับ
คำอื่นๆ ที่ใช้ในโฆษณาร่วมกับซีรัมของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่พบบ่อย เช่น แอกทีฟ (active) ยกกระชับ (uplift) และเป็นหนุ่มสาว (youth)
https://torange.biz/truth-serum-20122
คำว่า “ซีรัมเลือด” มากลายเป็นศัพท์ในวงการแพทย์ราวปี ค.ศ. 1893
แต่มีบันทึกพบการใช้คำว่าซีรัม ตั้งแต่ราวปี 1655–65 โดยมาจากคำละตินที่แปลว่า หางนมหรือนมพร่องมันเนย (whey) เทียบได้กับคำว่า oros ในภาษากรีก
โดยนักภาษาศาสตร์เชื่อว่า คำว่า “ซีรัม” มีอีกความหมายหนึ่งว่า “ไหล” ได้ด้วย โดยอาจจะมีรากใกล้ชิดกับคำว่า สรัส (sarah) ในภาษาสันสกฤต ที่แปลว่าการไหลเหมือนกัน
แต่พอกลายมาเป็นคำในภาษาไทยว่า “สระ” แล้ว ก็ไหลแบบสระผม แต่ถ้าสระน้ำก็ไม่ค่อยไหลเท่าไหร่แล้วนะครับ
อีกคำที่อาจมีรากศัพท์เดียวกันคือ สริต (sarit) ในภาษาสันสกฤตที่แปลว่า “สายน้ำ” ดังในชื่อหนังสือ “กถาสริตสาคร” ที่แปลตามตัวว่า มหาสมุทรแห่งสายน้ำของเรื่องเล่าต่างๆ”
หนังสือเล่มดังกล่าวเป็นหนังสือรวบรวมนิทาน ตำนานต่างๆ ของอินเดีย แต่งโดยนักปราชญ์ชาวกัศมีร์ชื่อ โสมเทวะ เมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ 11 นับเป็นหนังสือที่มีชื่อเสียงมากที่สุดเล่มหนึ่งของอินเดีย
จะว่าไปแล้ว “ซีรัม” ก็ไหลเวียนไปทั่วร่างกายราวกับน้ำไหลเป็นสายน้ำเหมือนกันนะครับ
ซีรัม
serum
บันทึก
2
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ศัพท์ S&T ทันโลก
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย