28 มี.ค. 2022 เวลา 02:50 • ธุรกิจ
“One Championship” ยูนิคอร์น รายการแข่งขันศิลปะต่อสู้ ที่มีผู้ร่วมก่อตั้งเป็นคนไทย
หากพูดถึงการแข่งขันศิลปะการต่อสู้ที่ได้รับความนิยมในระดับโลก
หนึ่งในนั้นน่าจะมีชื่อของ “One Championship” รวมอยู่ด้วย
1
รู้หรือไม่ว่าในปี 2020 One Championship มีการรับชมกว่า 6,000 ล้านครั้ง ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย มากกว่ารายการฟุตบอลยุโรปยักษ์ใหญ่ อย่าง “UEFA Champions League” ที่มีการรับชมกว่า 5,000 ล้านครั้งเสียอีก
แล้วเรื่องราวของ One Championship เป็นมาอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
จุดเริ่มต้นของ One Championship มาจากคนไทย
ที่ชื่อว่า “ชาตรี ตรีศิริพิศาล” หรือที่หลายคนคุ้นชื่อว่า “ชาตรี ศิษย์ยอดธง”
คุณชาตรี เกิดเมื่อปี 1971 ในครอบครัวฐานะดี มีพ่อเป็นคนไทย ทำธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ และมีแม่เป็นคนญี่ปุ่น
คุณชาตรี ได้รู้จักกับมวยไทย ตั้งแต่วัย 9 ขวบ จากการที่พ่อของเขา ได้พาไปชมการแข่งขันมวยที่สนามลุมพินี ซึ่งก็ทำให้เขาชื่นชอบกีฬามวยตั้งแต่นั้นมา
จนกระทั่งในวัย 13 ปี คุณชาตรี ก็ได้มีโอกาสเรียนมวยกับทางค่ายศิษย์ยอดธง ซึ่งเป็นค่ายมวยที่มีชื่อเสียงในเวลานั้น
โดยเขาใช้เวลาฝึกซ้อมราว 2 ปี ก่อนที่จะมีการขึ้นชกเพื่อการแข่งขัน
โดยสถิติการชกทั้งหมด 30 ไฟต์ เขาสามารถเอาชนะได้ถึง 22 ไฟต์ เลยทีเดียว
ต่อมา คุณชาตรีก็ได้ศึกษาระดับปริญญาตรี คณะเศรษฐศาสตร์ ที่ Tufts University ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อจบการศึกษา เขาก็ได้กลับมาใช้ชีวิตในประเทศไทยอีกครั้ง
แต่แล้วในปี 1997 วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งก็เกิดขึ้น ส่งผลกระทบกับธุรกิจครอบครัวของคุณชาตรีถึงขั้นล้มละลาย
ซึ่งก็ทำให้ทรัพย์สินของครอบครัวของเขาได้ถูกยึดไปจนหมด
ในเวลาต่อมา พ่อของเขายังได้ทิ้งครอบครัว แล้วหนีไปอีกด้วย
แถมยังเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่เขาวางแผนจะศึกษาต่อพอดี
1
แม้ว่าสถานการณ์ของครอบครัวขณะนั้นจะยากลำบาก
แต่แม่ของคุณชาตรีก็ยังเห็นความสำคัญของการศึกษา
1
โดยเธอมีส่วนในการผลักดันคุณชาตรี จนสามารถสอบเข้าเรียนในระดับปริญญาโท
คณะบริหารธุรกิจ ที่ Harvard Business School ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้สำเร็จ
คุณชาตรีได้กลับไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง โดยเขาต้องกู้ยืมเงินจากธนาคาร เพื่อนำมาจ่ายค่าเทอม รวมถึงต้องทำงานพิเศษหาเลี้ยงชีพไปด้วย เช่น รับจ้างสอนมวย และพนักงานส่งอาหาร
ภายหลังจากจบการศึกษา คุณชาตรีกับเพื่อนร่วมกันก่อตั้งบริษัทซอฟต์แวร์ ชื่อว่า NextDoor Networks ซึ่งนับว่าธุรกิจไปได้สวย จนสามารถระดมทุนได้ราว 1,200 ล้านบาทเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม คุณชาตรีก็ได้ตัดสินใจขายหุ้นของตัวเองออกไป เพื่อเบนเข็มไปเป็นผู้จัดการกองทุน Maverick Capital กองทุนเฮดจ์ฟันด์ ที่มีสินทรัพย์ภายใต้การลงทุน 500,000 ล้านบาท
ก่อนที่จะมาเริ่มก่อตั้งบริษัทจัดการกองทุนของตัวเองที่ชื่อว่า Izara Capital Management
ซึ่งประสบความสำเร็จมาก
แน่นอนว่า ความสำเร็จในหน้าที่การงานก็ได้สร้างความมั่งคั่งให้กับเขาอย่างมาก
แต่ในอีกด้านหนึ่ง คุณชาตรีเองก็มีความฝันอยากทำธุรกิจเกี่ยวกับศิลปะการต่อสู้
1
ปี 2009 ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของคุณชาตรีอีกครั้ง เขาตัดสินใจเดินทางมายังประเทศสิงคโปร์ เพื่อเปิดยิมที่ฝึกสอนศิลปะการต่อสู้ โดยใช้ชื่อว่า “Evolve MMA”
ต่อมาในปี 2011 คุณชาตรีได้หาโอกาสการต่อยอดทางธุรกิจเพิ่มเติม โดยสังเกตเห็นถึงความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของศิลปะการต่อสู้ในแต่ละประเทศ เช่น เทควันโดเกาหลี และมวยไทย
จุดนี้เอง ที่ได้กลายมาเป็นไอเดีย ให้คุณชาตรี ต้องการที่จะสร้างรายการแข่งขันศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน หรือที่เรียกว่า Mixed Martial Arts (MMA) ขึ้นมา
ในที่สุด เขาก็ได้ก่อตั้ง “One Championship” ร่วมกับเพื่อน โดยลงทุนช่วงแรกด้วยเงินสูงถึง 1,650 ล้านบาท
One Championship มีการจัดการแข่งขันครั้งแรกที่สิงคโปร์ ก่อนที่ต่อมาจะเริ่มไปจัดการแข่งขันในประเทศอื่น ๆ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก
จนกระทั่งโซเชียลมีเดียเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เองที่เข้ามาเป็นจุดเปลี่ยนให้ One Championship กลายเป็นรายการแข่งขันกีฬาที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น
โดยในปี 2014 ยอดรับชมวิดีโอของ One Championship อยู่ที่ 3 แสนครั้ง
ก่อนที่ต่อมาในปี 2017 จะมียอดรับชมสูงถึง 1,500 ล้านครั้ง
ด้วยการเติบโตที่ก้าวกระโดดของ One Championship ก็ได้ดึงดูดนักลงทุนมากมายให้เข้ามาร่วมลงทุนด้วย
โดยหนึ่งในนั้นก็คือ “Heliconia Capital Management”
บริษัทในกลุ่มของ “Temasek Holdings” กองทุนของรัฐบาลสิงคโปร์
จนมาถึงปี 2021 One Championship มีการระดมทุนอีกครั้งจาก Guggenheim Investments รวมถึง The Qatar Investment Authority หรือกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติกาตาร์ คิดเป็นเงินเกือบ 5,000 ล้านบาท
ปัจจุบัน One Championship ถูกประเมินมูลค่าบริษัท อยู่ที่ราว 33,000 ล้านบาท
หรือพูดได้ว่า One Championship กลายเป็นยูนิคอร์นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ปัจจุบัน One Championship เป็นชื่อทางการค้าในการจัดการแข่งขันศิลปะการต่อสู้ของบริษัท Group One Holdings โดยมีการเผยแพร่การแข่งขันไปกว่า 150 ประเทศ มีผู้รับชมกว่า 2,700 ล้านคนทั่วโลก
นอกจากการแข่งขันภายใต้กติกาของ MMA แล้ว ยังมีการแข่งขันภายใต้กติกามวยไทย และคิกบ็อกซิง รวมถึงยังมีการขยายธุรกิจไปยัง E-sports อีกด้วย
เราลองมาดูรายได้ ที่ผ่านมา
ปี 2017 รายได้ 410 ล้านบาท
ปี 2018 รายได้ 664 ล้านบาท
ปี 2019 รายได้ 1,156 ล้านบาท
คิดเป็นการเติบโตเฉลี่ย 68% ต่อปี
แล้วรายได้ของ One Championship มาจากช่องทางไหนบ้าง ?
- ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด 72.1%
- ค่าโฆษณา 22.6%
- ตั๋วเข้าชม 3.8%
- อื่น ๆ 1.5%
ซึ่งจุดเด่นของ One Championship จะมีการจัดการแข่งขันในรูปแบบ Sports Entertainment
โดยมีแสงสีเอฟเฟกต์ต่าง ๆ และมีการแสดงคอนเสิร์ตจากนักร้องศิลปินประกอบการแข่งขัน
รวมถึงยังมีการนำเสนอเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ชม ผ่านนักมวยในสังกัดที่เคยมีชีวิตที่ยากลำบาก แต่ก็สามารถต่อสู้ ฝ่าฟันจนประสบความสำเร็จ
 
จากเรื่องราวของ One Championship เราจะเห็นได้ว่าในยุคนี้
โซเชียลมีเดีย ได้กลายมาเป็นเครื่องมือที่มีอิทธิพลอย่างมากในการทำธุรกิจ
อย่างในกรณี One Championship เห็นได้ชัดว่าผู้รับชมการแข่งขันศิลปะการต่อสู้
มีความพร้อมอยู่แล้ว แต่ขาดช่องทางในการเข้าถึง
ซึ่งเมื่อโซเชียลมีเดียเข้ามาแก้ไขปัญหาในจุดนี้ได้
รายการแข่งขันศิลปะการต่อสู้ ที่เคยมีผู้รับชมเพียงไม่กี่แสนครั้ง
ก็ได้กลายมาเป็นหนึ่งในรายการแข่งขันกีฬา ที่มียอดรับชมหลักพันล้านครั้ง
จนกลายมาเป็นสตาร์ตอัประดับยูนิคอร์น ในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี เท่านั้น..
โฆษณา