26 มี.ค. 2022 เวลา 03:55 • ประวัติศาสตร์
• กลุ่มกบฏฮูตีในเยเมนคือใคร?
เมื่อวานนี้ (25 มีนาคม 2565) หลายคนน่าจะทราบข่าวที่ว่า โรงงานน้ำมันของ Saudi Aramco ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุดีอาระเบีย ได้ถูกโจมตีโดยขีปนาวุธ จนทำให้เกิดเพลิงไหม้อย่างรุนแรง ส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกดีดตัวขึ้นแรงอีกครั้ง โดยคาดการณ์ว่า การโจมตีครั้งนี้เป็นฝีมือของกลุ่มกบฏฮูตี (Houthis) ที่ตั้งมั่นอยู่ทางตอนเหนือของเยเมน
1
ว่าแต่กลุ่มกบฎที่ว่านี้เป็นใครกัน จุดเริ่มต้นของพวกเขามาจากไหน Histofun Deluxe จะมาอธิบายในเรื่องราวนี้แบบคร่าว ๆ กันครับ
กลุ่มกบฏฮูตีมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า อันซาร์ อัลลอฮ์ (Ansar Allah) ที่มีความหมายว่า ผู้สนับสนุนพระผู้เป็นเจ้า โดยก่อตั้งขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1990 โดยชายที่มีชื่อว่า ฮุสเซน บัดเรดดิน อัล-ฮูตี (Hussein Badreddin Al-Houthi)
1
อัลลอฮ์ผู้ทรงยิ่งใหญ่
ความตายจงประสบกับอเมริกา
ความตายจงประสบกับอิสราเอล
ขอสาปแช่งแก่ชาวยิว
ขอให้อิสลามได้รับชัยชนะ
คำขวัญประจำกลุ่มฮูตี
1
ทางตอนเหนือของเยเมน โดยเฉพาะในพื้นที่ของจังหวัดซาดา (Saada) ถือว่าเป็นถิ่นที่อยู่ของชนเผ่าที่เรียกว่า ชาวฮูตี พวกเขานับถือความเชื่อที่เรียกว่า ซัยดี (Zaydi) อันเป็นนิกายย่อยของนิกายชีอะห์ในศาสนาอิสลาม ซึ่งชาวฮูตีก็อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของเยเมนเป็นเวลายาวนานกว่าหลายร้อยปี โดยสัดส่วนประชากรในเยเมน 75% นับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่ ส่วนอีก 25% ก็คือชาวฮูตี
3
ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 พื้นที่ที่เป็นประเทศเยเมน ได้ถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ โดยพื้นที่ตอนเหนือถูกปกครองโดยระบอบกษัตริย์ที่เป็นอิหม่ามของชาวฮูตี เรียกว่าราชอาณาจักรเยเมน (Kingdom of Yemen) หรืออีกชื่อหนึ่งก็คือ เยเมนเหนือ (North Yemen)
ช่วงพื้นที่ตอนใต้ของเยเมนนั้น แบ่งย่อยได้เป็น 2 ส่วน คือ สหพันธ์อาระเบียใต้ (Federation of South Arabia) กับรัฐอารักขาอาระเบียใต้ (Protectorate of South Arabia) โดยทั้งสองรัฐต่างก็เป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักร ต่อมาในปี 1967 ทั้งสองก็ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักร และรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวในชื่อสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเยเมน (People's Democratic Republic of Yemen) ซึ่งถือเป็นรัฐคอมมิวนิสต์แห่งแรกและแห่งเดียวในภูมิภาคอาหรับ ภายหลังประเทศนี้ก็รู้จักกันในชื่อ เยเมนใต้ (South Yemen)
แผนที่เยเมนเหนือกับเยเมนใต้
ในปี 1962 ได้เกิดการรัฐประหารขึ้นภายในเยเมนเหนือนำโดยนายพล อับดุลลาห์ อัส-ศัลลัล (Abdullah as-Sallal) เพื่อโค่นล้มระบอบกษัตริย์และสถาปนาระบอบสาธารณรัฐในเยเมนเหนือ ซึ่งก็นำไปสู่สงครามกลางเมืองเยเมนเหนือ (North Yemen Civil War) ระหว่างฝ่ายกษัตริย์กับฝ่ายสาธารณรัฐ
ผลสุดท้ายสงครามจบลงในปี 1970 ด้วยชัยชนะของฝ่ายสาธารณรัฐ นำไปสู่จุดจบของระบอบกษัตริย์และการมีอำนาจของชาวฮูตีในเยเมนเหนือ นายพลอับดุลลาห์จึงสถาปนาสาธารณรัฐอาหรับเยเมน (Yemen Arab Republic) ปกครองเยเมนเหนือ
3
ต่อมาในปี 1990 เยเมนเหนือภายใต้การนำของประธานาธิบดี อาลี อับดุลลาห์ ซาเลห์ (Ali Abdullah Saleh) ก็สามารถผนวกรวมเยเมนใต้ได้สำเร็จ เยเมนเหนือกับเยเมนใต้จึงรวมกันเป็นหนึ่งเดียวในชื่อสาธารณรัฐเยเมน (Republic of Yemen) โดยมีประธานาธิบดีซาเลห์เป็นประธานาธิบดีคนแรก และเขาจะครองอำนาจอย่างยาวนานจนถึงปี 2011
2
การรวมประเทศเยเมน ทำให้ชาวฮูตีถูกกดขี่จากรัฐบาลประธานาธิบดีซาเลห์ จากเดิมที่ชาวฮูตีมีอำนาจปกครองเยเมนเหนือมาก่อน แต่พอมีการรวมประเทศ ชาวฮูตีก็กลายมาเป็นประชากรส่วนน้อยของประเทศเท่านั้น ความไม่พอใจดังกล่าวทำให้ ฮุสเซน บัดเรดดิน อัล-ฮูตี นักการเมืองชาวฮูตีที่เป็นฝ่ายค้านของรัฐสภาเยเมน ก่อตั้งกลุ่มอันซาร์ อัลลอฮ์ ขึ้นมา โดยมีอุดมการณ์สำคัญคือ ฟื้นฟูอำนาจและความยิ่งใหญ่ของชาวฮูตีต่อต้านอิทธิพลของนิกายสุหนี่ รวมถึงต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกา
แน่นอนว่ารัฐบาลเยเมนไม่พอใจท่าทีของกลุ่มฮูตี นำไปสู่การจับกุมตัวผู้ที่สนับสนุนกลุ่มฮูตี จุดหักเหสำคัญเกิดขึ้นในปี 2004 เมื่ออัล-ฮูตี เสียชีวิตจากการถูกลอบสังหาร ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นฝีมือของรัฐบาลเยเมน เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้กลุ่มฮูตีตัดสินใจจับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลเยเมนนับตั้งแต่นั้นมา
พอถึงปี 2011 ปรากฏการณ์อาหรับสปริง (Arab Spring) ส่งผลให้ประชาชนเยเมนออกมาประท้วงขับไล่ประธานาธิบดีซาเลห์ ผู้ครองอำนาจยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ สุดท้ายประธานาธิบดีซาเลห์ก็พ้นจากตำแหน่ง และ อับดับบุห์ มันซูร ฮาดี (Abdrabbuh Mansur Hadi) รองประธานาธิบดีก็กลายเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของเยเมนแทน
1
แต่ความวุ่นวายยังไม่จบเพียงเท่านั้น เพราะการต่อสู้ระหว่างรัฐบาลเยเมนกับกลุ่มฮูตีที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2004 ก็ยังคงดำเนินต่อไป จากเดิมที่เป็นการก่อความไม่สงบ ก็เพิ่มสเกลจนกลายเป็นสงครามกลางเมืองเยเมน (Yemen Civil War) ที่เริ่มขึ้นในปี 2014 เป็นต้นมา
กลุ่มฮูตีสามารถเข้ายึดครองพื้นที่ตอนเหนือของเยเมน รวมทั้งยึดครองเมืองซานา (Saana) เมืองหลวงของเยเมนได้สำเร็จ ส่งผลให้รัฐบาลเยเมนของประธานาธิบดีฮาดีต้องลี้ภัยไปอยู่ที่เมืองเอเดน (Aden) ทางตอนใต้ของเยเมน
สงครามกลางเมืองเยเมนเป็นการต่อสู้กันของสองฝ่าย คือฝ่ายรัฐบาลเยเมนของประธานาธิบดีฮาดี ที่ได้รับการสนับสนุนจากชาติตะวันตกอย่าง สหรัฐฯ ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากชาติอาหรับด้วยกันไม่ว่าจะเป็นซาอุดีอาระเบียและยูเออี กับฝ่ายฮูตีที่เชื่อกันว่าได้รับการสนับสนุนจากทางอิหร่าน ปัจจุบันกลุ่มฮูตีมีผู้นำชื่อ อับดุล-มาลิก บาดรูลดีน อัล-ฮูตี (Abdul-Malik Badruldeen al-Houthi) ซึ่งเป็นน้องชายของฮุสเซน บัดเรดดิน อัล-ฮูตี ผู้ก่อตั้งอันซาร์ อัลลอฮ์
1
แผนผังแสดงถึงความเชื่อมโยงกลุ่มต่าง ๆ ในสงครามกลางเมืองเยเมน : ภาพประกอบ Al-Jazeera
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ที่กลุ่มฮูตีได้ใช้มิสไซล์โจมตีซาอุดีอาระเบียและยูเออี ทำให้ทั้งสองประเทศตั้งสถานะให้กลุ่มฮูตีเป็นกลุ่มก่อการร้าย
จนถึงทุกวันนี้ สงครามกลางเมืองในเยเมนยังคงดำเนินต่อไป ยากที่จะหาข้อยุติได้ และดูเหมือนว่าสงครามครั้งนี้ จะกลายเป็นภาพเจดาวู เพราะสงครามได้ทำให้เยเมนแตกแยกออกเป็นสองส่วน คือเยเมนเหนือที่มีชาวฮูตีครองอำนาจ กับเยเมนใต้ที่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของต่างชาติ ซึ่งเป็นสถานะที่เหมือนเคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตนั่นเอง
*** References
#HistofunDeluxe
โฆษณา