26 มี.ค. 2022 เวลา 01:14 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
JAXA สร้างความร่วมมือในเอเชีย สู่การพัฒนาอวกาศยุคใหม่
เรียบเรียงโดย ปริทัศน์ เทียนทอง สวทช.
ในปัจจุบัน การพัฒนาและการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอวกาศมีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด พร้อมกับการเข้ามาสู่อุตสาหกรรมอวกาศของบริษัทเอกชนทั่วโลก ทำให้ความร่วมมือจากหน่วยงานด้านอวกาศในแต่ละประเทศจึงมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศในประเทศไทยของเรา มีความร่วมมือกับหน่วยงานด้านอวกาศหลายประเทศทั่วโลก และหนึ่งในนั้นคือ องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ JAXA ซึ่งทาง JAXA ก็ได้ตั้งสำนักงานขึ้นในกรุงเทพฯ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือกับองค์กรที่เกี่ยวข้องในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สนับสนุนการวิจัยร่วมกันโดยเน้นการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเพื่อการป้องกันภัยพิบัติและมาตรการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก
ซึ่งความร่วมมือด้านอวกาศครั้งสำคัญระหว่าง JAXA กับประเทศไทย ได้เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2562 นั่นก็คือ โครงการวิจัยหัวข้อ “การทดลองปลูกผลึกโปรตีนในอวกาศเพื่อพัฒนายาต้านโรคมาลาเรีย” ของ ดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ นักวิจัยอาวุโส ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. ที่ได้ร่วมกับ GISTDA ในโครงการ National Space Exploration
ในส่วนของแผนอวกาศพื้นฐาน ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นได้ตัดสินใจสร้างความเปลี่ยนแปลงภายใน 20 ปี คือ นโยบายด้านความปลอดภัยและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs) ของสหประชาชาติ โดยเกี่ยวข้องกับการปรับปรุงกฎหมายและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาด้านอวกาศ ซึ่งรวมถึงประเทศในเอเชีย ตามความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ซึ่งนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่น ก็คือการสนับสนุนและสร้างความร่วมมือตามความต้องการของประเทศพันธมิตร
การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่เกี่ยวข้องด้านอวกาศ เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญสำหรับการพิจารณาความร่วมมือระหว่างประเทศในอนาคตของญี่ปุ่น โดย JAXA เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในเรื่องนี้
ตัวอย่างของประเทศที่กำลังพัฒนาด้านอวกาศอย่างโดดเด่น ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล และเม็กซิโก ในทวีปอเมริกาใต้ แอฟริกาใต้ อียิปต์ ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และตุรกี ในทวีปแอฟริกาและตะวันออกกลาง ตลอดจนออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย และเกาหลีใต้ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
JAXA ก่อตั้งสำนักงานตัวแทนในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2532 (ค.ศ. 1989) นอกเหนือจากกรุงเทพฯ แล้ว JAXA ยังมีสำนักงานต่างประเทศอยู่ที่ วอชิงตัน และฮูสตัน ในสหรัฐอเมริกา ปารีส ในฝรั่งเศส และมอสโก ในรัสเซีย
สำนักงานกรุงเทพฯ ของ JAXA เป็นผู้ประสานงานและส่งเสริมความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานด้านอวกาศในประเทศไทย รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้าน
ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกเหนือจากประเทศไทยแล้ว มหาวิทยาลัยของญี่ปุ่นและ JAXA ได้ร่วมมือกันกับฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม ฯลฯ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนา การปล่อย และการปฏิบัติการของดาวเทียมขนาดเล็ก
ล่าสุด ดาวเทียม NanoDragon ซึ่งเป็นดาวเทียม microsatellite ที่ผลิตในประเทศเวียดนามดวงแรก พัฒนาโดยศูนย์อวกาศแห่งชาติเวียดนาม (VNSC) ถูกปล่อยโดยจรวด Epsilon ของ JAXA จากศูนย์อวกาศอูชิโนระ ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564
ในเดือนมีนาคมของปีเดียวกัน สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง (ASTI) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งฟิลิปปินส์ ได้นำดาวเทียม microsatellite "Maya 2" ขึ้นสู่วงโคจร ซึ่งได้พัฒนาร่วมกับ JAXA และสถาบันเทคโนโลยีคิวชู โดยต่อมาในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 องค์การอวกาศฟิลิปปินส์และ JAXA ได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือด้านการพัฒนาและการใช้ประโยชน์จากอวกาศ
อัตสึชิ โอโนะ (Atsushi Ono) ผู้อำนวยการ JAXA สำนักงานกรุงเทพฯ
🛰 การใช้ข้อมูลดาวเทียมสำหรับมาตรการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร
“การใช้ข้อมูลดาวเทียมสามารถนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ที่รัฐบาลไทยกำลังให้ความสำคัญได้” อัตสึชิ โอโนะ (Atsushi Ono) ผู้อำนวยการ JAXA สำนักงานกรุงเทพฯ คนปัจจุบัน ได้ให้สัมภาษณ์กับทาง NNA สื่อของญี่ปุ่น
คุณโอโนะ กล่าวเพิ่มเติมว่า "ประเทศไทยและ JAXA ได้ใช้ข้อมูลที่ได้รับจากดาวเทียมสำรวจโลกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 เพื่อประโยชน์ด้านการเกษตรซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ เราเข้าใจถึงสถานะการเพาะปลูก และสำรวจป่าไม้ เราสามารถเฝ้าติดตามการตัดไม้ทำลายป่า
การทำวิจัยร่วมกันเพื่อตรวจสอบข้อมูลโดยการสังเกตสภาพแวดล้อมทางทะเลและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งข้อมูลที่ได้รับจากดาวเทียมสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย ช่วยให้เข้าใจสถานการณ์ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติ เช่น ไฟป่า น้ำท่วม หรือไต้ฝุ่น
ในการประชุมองค์กรด้านอวกาศระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APRSAF) ซึ่งมี 40 ประเทศเข้าร่วมการประชุม มีการริเริ่มโครงการต่างๆ เช่น "Sentinel Asia" เพื่อวัตถุประสงค์ในการตรวจสอบภัยพิบัติทางธรรมชาติ และ "SAFE" สำหรับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เรามุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาในระดับภูมิภาคโดยการแบ่งปันความรู้ระหว่างประเทศต่างๆ
สำหรับการใช้ข้อมูลดาวเทียม JAXA กำลังร่วมมือกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (ESCAP) และยังร่วมมือกับ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ JICA ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านอวกาศ (JJ-NeST)
คุณโอโนะ กล่าวเสริมว่า "ในขณะที่รัฐบาลไทยได้กำหนดแผนเพื่อส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) การใช้ข้อมูลจากดาวเทียมมีประโยชน์ในหลายเรื่อง และมีหลายจุดที่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้"
💊 ผลที่คาดว่าจะได้รับในการทดลองยาต้านมาเลเรีย
ในปี พ.ศ. 2562 การทดลองร่วมกันโดยใช้ห้องทดลอง Kibo Module บนสถานีอวกาศนานาชาติ เริ่มขึ้นระหว่าง JAXA ประเทศญี่ปุ่น และประเทศไทย โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ทำการทดลองสร้างผลึกโปรตีนคุณภาพสูงที่ Kibo เพื่อพัฒนายาต้านมาเลเรีย
การตกผลึกบนสถานีอวกาศนานาชาติประสบความสำเร็จ และการส่งข้อมูลให้กับประเทศไทยเสร็จสิ้นในเดือนกันยายน พ.ศ. 2563
โดยคาดหวังว่าจะเกิดความก้าวหน้าของการพัฒนายาต้านมาเลเรีย ซึ่งในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคมาลาเรียมากกว่า 600,000 คนทั่วโลก และมีประมาณ 10,000 คน ที่เป็นผู้เสียชีวิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
หากการทดลองในอวกาศเป็นผลสำเร็จสามารถนำไปสู่การพัฒนายาตัวใหม่ได้ ก็จะสามารถช่วยชีวิตผู้คนทั่วโลกจำนวนมากได้
ส่วนเรื่องนักบินอวกาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงตอนนี้มีอยู่เพียงคนเดียวเท่านั้น ก็คือ Sheikh Muszapah Schkoa ของมาเลเซีย ที่ได้ขึ้นยาน Soyuz ของรัสเซียในปี พ.ศ. 2559 ซึ่งในปัจจุบัน ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่สามารถลงทุนเงินจำนวนมากในการวิจัยและพัฒนาอวกาศได้ และดูเหมือนว่าจะใช้เวลาอีกนานพอสมควร ก่อนที่นักบินอวกาศคนใหม่จะเกิดขึ้นมาได้
คุณโอโนะกล่าวทิ้งท้ายว่า "เราคงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่า JAXA สามารถช่วยทำอะไรได้บ้างในแต่ละประเทศ จากนั้นจึงกำหนดด้านที่เราควรสร้างความร่วมมือ"
เรียบเรียงข้อมูลจาก
© “The Daily NNA” Thailand Edition
โฆษณา