Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
หนุ่มมาเก๊า
•
ติดตาม
26 มี.ค. 2022 เวลา 08:33 • การศึกษา
[ตอนที่ 60] แนะนำภาพรวมของภาษายูเครน
An overview of Ukrainian language
ในตอนที่ 1 ของซีรีส์ "นานาภาษาในกลุ่มภาษาสลาฟ" จะเป็นเรื่องราวที่แนะนำภาพรวมของ "ภาษายูเครน" หนึ่งในภาษาสมาชิกของกลุ่มภาษาสลาฟ ซึ่งเป็นเครือญาติทางภาษากับภาษาเบลารุสและภาษารัสเซีย และมีจำนวนผู้ใช้มากกว่า 40 ล้านคน โดยเฉพาะในประเทศยูเครนครับ
ส่วนเนื้อหาจะเป็นอย่างไรนั้น...เชิญอ่านกันได้เลยครับ
ภาพประกอบ : อารามโดมทองนักบุญมีคาเอล (St. Michael's Golden-Domed Monastery) ในกรุงเคียฟ อารามแห่งนี้เป็นศูนย์กลางใหญ่ของคริสตจักรออร์ทอดอกซ์แห่งยูเครนตั้งแต่ปี ค.ศ.2018 [Credit ภาพ : User ‘Rbrechko’ @ Wikimedia.org ]
ดนตรีแนะนำให้เปิดฟังคลอประกอบระหว่างอ่านบทความ : เพลง "Шум" (Shum) เพลงในดนตรีแนว Dark-techno ปนดนตรีพื้นบ้านยูเครนของวง Go_A ที่ได้รับคัดเลือกเป็นเพลงตัวแทนของยูเครนในการประกวดเพลงระดับยุโรป Eurovision 2021
https://www.youtube.com/watch?v=U7-dxzp6Jvs
เยี่ยมชม
youtube.com
Go_A - SHUM - Ukraine 🇺🇦 - Official Music Video - Eurovision 2021
Go_A will represent Ukraine at the Eurovision Song Contest 2021 with the song SHUM.-If you want to know more about the Eurovision Song Contest, visit https:/...
“ภาษายูเครน” (ชื่อภาษาในภาษายูเครน : Українська мова “Ukrajins’ka mova / อุกระยีนสกะ โมวะ”) หรือที่เคยปรากฏในชื่อ “ภาษารูเธเนีย” (Ruthenian) หรือ “ภาษารัสเซียน้อย” (Little Russian - ปัจจุบันคำนี้ถือเป็นคำเชิงเหยียดหยามต่อฝั่งยูเครน) เป็นภาษาสมาชิกในกลุ่มภาษาสลาฟตะวันออก (East Slavic languages) ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยของกลุ่มภาษาบอลโต-สลาฟ (Balto-Slavic languages) ภายใต้ตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียน (Indo-European language family)
ภาษายูเครนเป็นภาษาแม่ของกลุ่มชนชาวยูเครน และเป็นภาษาทางราชการของประเทศยูเครน มีจำนวนประชากรผู้ใช้เป็นภาษาแม่ราว 45 ล้านคน โดยส่วนใหญ่อยู่ในประเทศยูเครน (35 ล้านคน) และรัสเซีย (4 ล้านคน) ส่วนจำนวนชาวยูเครนอพยพหรือคนเชื้อสายยูเครนในประเทศโปแลนด์ แคนาดา สหรัฐฯ บราซิล คาซัคสถาน เยอรมนี อาร์เจนตินา และอิตาลี มีจำนวนหลายแสนถึง 1 ล้านคน
แผนที่ประเทศยูเครนที่แสดงเขตการปกครองต่าง ๆ พร้อมข้อมูลสัดส่วนของประชากรในแต่ละเขตการปกครองที่ใช้ภาษายูเครนเป็นภาษาแม่ โดยอาศัยข้อมูลจากสำมะโนประชากรยูเครน ปี ค.ศ.2001 [Credit แผนที่ : User ‘Alex Tora’ @ Wikimedia.org ]
แผนที่ประเทศยูเครนที่แสดงเขตการปกครองในระดับย่อยลงมา พร้อมข้อมูลภาษาที่ใช้เป็นภาษาแม่มากที่สุดในแต่ละเขต โดยอาศัยข้อมูลจากสำมะโนประชากรยูเครน ปี ค.ศ.2001 ซึ่งแสดงเขตที่ประชากรส่วนใหญ่ใช้ภาษายูเครนเป็นภาษาแม่ด้วยสีฟ้าเข้ม-สีน้ำเงิน ส่วนเขตที่ประชากรส่วนใหญ่ใช้ภาษารัสเซียเป็นภาษาแม่จะแสดงด้วยสีแดง [Credit แผนที่ : User ‘Tovel’ & ‘Spesh531’ @ Wikimedia.org ]
ขณะที่ภาษายูเครนเป็นภาษาที่มีความเข้าใจกันได้ (Mutual intelligibility) กับภาษารัสเซียและภาษาเบลารุส ซึ่งหมายความว่าเมื่อคนยูเครน คนรัสเซียกับคนเบลารุสสื่อสารระหว่างกันด้วยภาษาแม่ของตน อีกฝ่ายจะเข้าใจเนื้อหาได้บ้าง (ทำนองเดียวกับภาษาไทย-ภาษาลาว หรือภาษาโปรตุเกส-ภาษาสเปน) เพียงแต่ภาษายูเครนจะมีระดับความใกล้ชิดกับภาษาเบลารุสมากกว่าภาษารัสเซีย
แผนผังแสดงวิวัฒนาการของกลุ่มภาษาบอลโต-สลาฟ (Balto-Slavic languages) ที่กลายเป็นกลุ่มภาษาสลาฟตะวันออก (East Slavic languages) - ภาษาสลาฟตะวันออกสมัยเก่า (Old East Slavic) - ภาษารูเธเนีย (Ruthenian) ไปจนถึงภาษายูเครน (Ukrainian) [Credit ภาพ : User ‘Mandrak’ @ Wikimedia.org ]
สำหรับระบบการเขียนของภาษายูเครนจะใช้อักษรซีริลลิก (Cyrillic script) เช่นเดียวกับภาษารัสเซีย ภาษาเบลารุส ภาษาเซอร์เบีย ภาษาบัลแกเรีย ภาษาคาซัค และภาษามองโกเลีย
การศึกษาทางภาษาศาสตร์เชิงประวัติศาสตร์พบว่าจุดกำเนิดของภาษายูเครนอยู่ที่ “ภาษาสลาฟตะวันออกสมัยเก่า” (Old East Slavic) ซึ่งเป็นภาษาที่กลุ่มชนชาวสลาฟตะวันออก (กลุ่มชาติพันธุ์ที่สืบทอดต่อมาเป็นกลุ่มชนชาวยูเครน ชาวรัสเซีย และชาวเบลารุส) ใช้พูดสื่อสารในจักรวรรดิรุสเคียฟ (Kievan Rus - อาณาจักรนี้อยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 9-13)
แผนที่แสดงพื้นที่จักรวรรดิรุสเคียฟ ในช่วงหลังจากการสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายยาโรสลาฟที่ 1 (Yaroslav I) ในปี ค.ศ.1054 (แสดงเป็นพื้นที่สีเขียวเข้มในแผนที่) [Credit แผนที่ : User ‘Vitaliyf261’ @ Wikimedia.org ]
ภาพเนื้อหาที่กล่าวถึงนักบุญอันดรูว์ (Saint Andrew) ปักไม้กางเขนบนเนินแถวแม่น้ำดนีเปอร์ แล้วพยากรณ์ว่าพื้นที่บริเวณนี้จะกลายเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรือง (กรุงเคียฟในปัจจุบัน) ปรากฏในจดหมายเหตุ Radziwiłł Letopis ซึ่งเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ในภาษาสลาฟตะวันออกสมัยเก่า ที่ทำขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 แต่คาดว่าอาจคัดลอกมาจากเอกสารต้นฉบับที่ทำในคริสต์ศตวรรษที่ 13 มาอีกที
จักรวรรดิรุสเคียฟได้รับศาสนาคริสต์จากจักรวรรดิไบแซนไทน์ ในขณะที่ผู้เผยแผ่ศาสนาจากไบแซนไทน์ได้ปรับมาตรฐานของภาษาของกลุ่มชนชาวสลาฟเพื่อใช้แปลคัมภีร์ไบเบิลกับตำราทางศาสนาในภาษากรีกโบราณเป็นภาษาของกลุ่มชนชาวสลาฟ เกิดเป็น “ภาษาสลาฟคริสตจักรสมัยเก่า (Old Church Slavonic) ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 9
ภาพถ่ายสำเนา“หนังสือสวดมนต์แห่งเคียฟ” (Kiev Missal) ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เคียฟ เอกสารฉบับนี้เป็นเอกสารทางศาสนาคริสต์ที่บันทึกด้วยภาษาสลาฟคริสตจักรสมัยเก่าในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 10 ก่อนจะถูกค้นพบที่นครเยรูซาเลมในคริสต์ศตวรรษที่ 19 แล้วถูกส่งมาที่สถาบันเทววิทยาเคียฟ และเก็บรักษาที่หอสมุดของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติยูเครนในกรุงเคียฟจนถึงปัจจุบัน [Credit ภาพ : User ‘AnatolyPm’ @ Wikimedia.org ]
พอเวลาล่วงเข้าไปช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 11 ผู้คนในจักรวรรดิรุสเคียฟใช้สองภาษาควบคู่กัน คือ ใช้ภาษาสลาฟตะวันออกสมัยเก่าในชีวิตประจำวันหรือเอกสารทั่วไป ซึ่งเริ่มเกิดภาษาเขียนสำหรับภาษาสลาฟตะวันออกในช่วงนี้ ส่วนภาษาสลาฟคริสตจักรสมัยเก่าจะใช้ในพิธีกรรม คัมภีร์ทางศาสนาตามโบสถ์และคริสตจักร
ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 - คริสต์ศตวรรษที่ 13 (ช่วงจักรวรรดิรุสเคียฟล่มสลายจากการรุกรานของมองโกล) ภาษาสลาฟตะวันออกสมัยเก่าได้แบ่งแยกออกไปเป็นภาษาถิ่นหลายแบบ ภาษาสลาฟตะวันออกสมัยเก่าในสำเนียงกรุงเคียฟจะกลายเป็นรากฐานของภาษายูเครนต่อไป
อาณาจักรที่สืบทอดต่อมาถัดจากจักรวรรดิรุสเคียฟอย่างอาณาจักรรูเธเนีย (Kingdom of Ruthenia - อาณาจักรนี้อยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13-14 บริเวณพื้นที่ประเทศเบลารุสและฝั่งตะวันตกของยูเครนในปัจจุบัน) ยังเป็นแหล่งที่มาของชื่อเรียกภาษายูเครนที่จะเกิดขึ้นในเวลาต่อมาด้วยอีกชื่อว่า “ภาษารูเธเนีย” แม้ว่าชื่อ “ภาษารูเธเนีย” จะมีการใช้กล่าวถึงภาษาสูญแล้ว (Extinct language) จากการวิวัฒนาการแยกสายกลายเป็นภาษายูเครน-ภาษาเบลารุสก็ตาม
แผนที่แสดงตำแหน่งของอาณาจักรรูเธเนียในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13-14 โดยมีศูนย์กลางอำนาจอยู่ในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของยูเครน [Credit แผนที่ : User ‘Alex Tora’ @ Wikimedia.org ]
ในช่วงสองศตวรรษดังกล่าวเป็นช่วงที่รัฐที่แตกออกมาจากจักรวรรดิรุสเคียฟในพื้นที่ยูเครนต่างถูกยึดครองหรืออยู่ใต้อิทธิพลของดินแดนเพื่อนบ้าน โดยฝั่งตะวันตกของยูเครนตกเป็นของโปแลนด์ (อย่างอาณาจักรรูเธเนียที่ถูกโปแลนด์พิชิต) ส่วนฝั่งตะวันออกของยูเครนตกอยู่ใต้อิทธิพลของมองโกล (อย่างราชรัฐเคียฟที่เคยเป็นรัฐบรรณาการและราชรัฐเปเรยาสเลาที่ถูกมองโกลบุกพิชิต)
ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 ความแตกต่างระหว่างสำเนียงภาษาถิ่นในภาษาสลาฟตะวันออกสมัยเก่ามากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเริ่มปรากฏความแตกต่างนี้ในภาษาเขียน ซึ่งจะเกิดวิวัฒนาการที่ภาษายูเครนแยกออกจากภาษารัสเซียกับภาษาเบลารุสต่อไป
4
ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 แถบตะวันตกของเบลารุส-ยูเครนที่อยู่ใต้อำนาจของเครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนีย ใช้ภาษาโปแลนด์เป็นภาษาราชการและใช้ในเอกสารงานเขียนต่าง ๆ ส่งผลให้ภาษาเบลารุส-ภาษายูเครนถูกจำกัดการใช้งานเป็นภาษาพูดในท้องถิ่น ส่วนภาษาเขียนนั้นพัฒนาได้ช้ามาก และภาษายูเครนได้รับอิทธิพลด้านคำยืมจากภาษาโปแลนด์ในช่วงนี้ ซึ่งคำในภาษายูเครนที่ได้รับอิทธิพลจากภาษาโปแลนด์ จะมีทั้งกรณีภาษายูเครนใช้คำใกล้เคียงกับฝั่งโปแลนด์มากกว่ารัสเซีย หรือภาษายูเครนใช้คำที่ใกล้เคียงทั้งสองฝั่ง
แผนที่แสดงเครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนีย ในปี ค.ศ.1582 ที่เข้าปกครองบริเวณภาคตะวันตก (ศูนย์กลางที่เมืองลวิว (ภาษาโปแลนด์: Lwów)) และภาคกลางของยูเครน (ศูนย์กลางที่กรุงเคียฟ (ภาษาโปแลนด์: Kijów)) [Credit แผนที่ : Maciej Szczepańczyk]
ส่วนฝั่งตะวันออกของยูเครนเริ่มอยู่ใต้อิทธิพลของรัสเซียที่แผ่ขยายเข้าแถบนี้ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 และการที่รัสเซียไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของมองโกลแล้ว ยังทำให้ภาษารัสเซียพัฒนาอย่างรวดเร็วด้วย ขณะที่ภาษายูเครนในฐานะภาษาพูดได้ใช้กันแพร่หลายในดินแดนยูเครนตั้งแต่ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 พร้อมกับช่วงเกิดรัฐทหารคอสแซค (Cossack Hetmanate) ในแถบตอนกลางและฝั่งตะวันออกของยูเครน และเริ่มมีงานวรรณกรรมภาษายูเครนสมัยใหม่ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ที่วิวัฒนาการจากภาษาพูด เช่น งานวรรณกรรมเรื่อง Eneida ที่ Ivan Kotliarevsky นักเขียนชาวยูเครนแต่งขึ้นในปี ค.ศ.1798
แผนที่แสดงการขยายตัวของอาณาจักรซาร์รัสเซีย (Tsardom of Russia) โดยแสดงพื้นที่ในการปกครองของรัสเซียในช่วง ค.ศ.1500 (สีเขียวเข้ม) ค.ศ.1600 (สีเขียว) ค.ศ.1700 (สีเขียวอ่อน) จะเห็นได้ว่ารัสเซียแผ่ขยายอำนาจเข้ามายังดินแดนยูเครนในช่วง ค.ศ.1600-1700 [Credit แผนที่ : User ‘Gabagool’ & ‘Dbachmann’ @ Wikimedia.org ]
หน้าปกนิยาย Eneida ที่ Ivan Kotliarevsky นักเขียนชาวยูเครนแต่งขึ้นในปี ค.ศ.1798 มีเนื้อเรื่องล้อตามบทกวีมหากาพย์ภาษาละติน “อีนีอิด” (Aeneid) โดยแปลงตัวละครวีรชนชาวกรุงทรอยเป็นทหารคอสแซคแถบภาคกลางของยูเครน
ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 เครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนียค่อย ๆ ทยอยแบ่งออกเป็นสามส่วน ที่แต่ละผนวกเข้ากับปรัสเซีย ออสเตรีย และรัสเซีย ออสเตรียผนวกส่วนปลายตะวันตกสุดของยูเครน (บริเวณเมืองลวิว (Lviv)) ส่วนรัสเซียผนวกดินแดนเบลารุสและแถบตอนกลางของยูเครน ซึ่งดินแดนตอนกลางแถบกรุงเคียฟนี้ รัสเซียผนวกไปปกครองในนาม “รัสเซียน้อย” (Little Russia)
แผนที่การแบ่งส่วนโปแลนด์ ระหว่างปรัสเซีย-ออสเตรีย-รัสเซีย ส่วนที่รัสเซียผนวกมีสีเลือดหมู ส่วนที่ออสเตรียผนวกมีสีเขียว โดยโทนสีบ่งชี้ดินแดนที่ผนวกจากการแบ่งส่วนโปแลนด์ 3 รอบ (ค.ศ.1772-1793-1795) ออสเตรียผนวกส่วนปลายตะวันตกสุดของยูเครน (บริเวณเมืองลวิว (Lwów ในภาษาโปแลนด์)) รัสเซียผนวกตอนกลางของยูเครน (ทางตะวันตกของกรุงเคียฟ (Kijów ในภาษาโปแลนด์)) [Credit แผนที่ : User ‘Halibutt’ @ Wikimedia.org ]
แผนที่เขตการปกครองรัสเซียน้อย (Little Russia Governorate / Malorossiya Governorate) ภายใต้จักรวรรดิรัสเซียในปี ค.ศ.1800 ซึ่งเขตการปกครองนี้อยู่บริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำดนีเปอร์แถบกรุงเคียฟ ทางภาคกลางของยูเครน สังเกตชื่อเขตการปกครองที่ปรากฏทางซ้ายบนในแผนที่จะใกล้เคียงกับการสะกดชื่อเขตการปกครองรัสเซียน้อยว่า Малороссiйская Губернiя ในภาษารัสเซียปัจจุบัน
ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 สถานการณ์ของภาษายูเครนระหว่างฝั่งตะวันตก (ภายใต้ออสเตรีย-ฮังการี) กับฝั่งตะวันออก (ภายใต้รัสเซีย) จะสวนทางกัน การที่จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายตามดินแดนต่าง ๆ (อย่างภาษาเช็กเกียในโบฮีเมีย ภาษาเซอร์โบ-โครเอเชียตามแถบชายฝั่งทะเลเอเดรียติก) ส่งผลให้มีนโยบายทางภาษาที่ยืดหยุ่นและประนีประนอม (สะท้อนจากการที่ออสเตรีย-ฮังการีมีภาษาราชการ 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาเยอรมัน ภาษาฮังการี และภาษาโครเอเชีย) อีกทั้งแนวคิดชาตินิยมเริ่มจุดประกายในกลุ่มชนชาวยูเครนมากขึ้น ส่งผลให้ภาษายูเครนในพื้นที่ยูเครนฝั่งตะวันตกมีการพัฒนาภาษาเขียนอย่างรวดเร็ว สามารถใช้ในการเรียนการสอน และใช้ภาษายูเครนตามดนตรีพื้นบ้าน นักดนตรีเร่ และนักเขียน
แผนที่ทางภาษาศาสตร์ชาติพันธุ์ของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ในปี ค.ศ.1910 แสดงพื้นที่ที่กลุ่มชนผู้ใช้ภาษาต่าง ๆ กระจายตัวอยู่ ได้แก่ ภาษาเยอรมัน, ฮังการี, เช็กเกีย, สโลวาเกีย, โปแลนด์, ยูเครน, สโลวีเนีย, เซอร์โบ-โครเอเชีย, โรมาเนีย และอิตาลี โดยพื้นที่ที่กลุ่มชนคนยูเครนอาศัย (พื้นที่สีเหลือง) อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี
ขณะที่ยูเครนฝั่งตะวันออกที่อยู่ภายใต้จักรวรรดิรัสเซีย ที่เน้นการใช้ภาษารัสเซียเป็นภาษาราชการ ทำให้ภาษายูเครนในพื้นที่ยูเครนฝั่งนี้ถูกจำกัดการใช้งานเป็นภาษาเขียน รัสเซียยังได้สั่งห้ามการเรียนการสอนภาษายูเครนในโรงเรียนตามภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ของยูเครน ในปี ค.ศ.1804 ถึงช่วงสงครามเพื่ออิสรภาพยูเครน (ค.ศ.1917-1921) ที่ยูเครนได้โอกาสในจังหวะที่รัสเซียเกิดสงครามกลางเมืองไปเป็นประเทศเอกราชได้ไม่กี่ปี ในช่วงนี้ยูเครนพยายามสร้างอัตลักษณ์ของตนตามแนวคิดชาตินิยม จึงหันมาฟื้นฟูภาษายูเครน
จนเมื่อยูเครนมีสถานะ “สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครน” (Ukrainian SSR) ภายใต้สหภาพโซเวียต ภาษายูเครนได้ผ่านช่วงที่ส่วนกลางเริ่มยอมรับภาษายูเครนเป็นภาษาเขียน จนงานเขียนและวรรณกรรมต่าง ๆ ในภาษายูเครนเริ่มแพร่หลาย และช่วงที่จำกัดการใช้ภาษายูเครน หันมาเน้นภาษารัสเซีย ก่อนที่ภาษายูเครนจะได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งเมื่อยูเครนเป็นประเทศเอกราชจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต
โปสเตอร์เกณฑ์ทหารของสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ.1921 ที่ใช้ภาพในกลิ่นอายพื้นเมืองยูเครน และเนื้อความภาษายูเครนว่า “ลูกชาย! เข้าร่วมโรงเรียนกองทัพแดง และการปกป้องยูเครนภายใต้โซเวียตจะถูกรับรอง”
ภาพการประท้วงในยูเครนเพื่อต่อต้านกระบวนการกลืนให้กลายเป็นรัสเซีย (Russification) ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยเนื้อความในแผนป้ายที่คนประท้วงถืออยู่มีความว่า “โรงเรียนที่ใช้ภาษายูเครนเพื่อเด็ก ๆ คนยูเครน” [ที่มาของภาพ :User ‘Олег Кікта’ @ Wikipedia.org ]
ช่วงที่ยูเครนอยู่ภายใต้สหภาพโซเวียต ภาษารัสเซียถูกกำหนดให้เป็นภาษาที่ใช้ทางราชการ ทางธุรกิจและตามโรงเรียนในยูเครน ส่วนภาษายูเครนในช่วงนั้นมักจะใช้สื่อสารในครัวเรือน ดังนั้น ในปัจจุบันนี้ คนยูเครนรุ่นอาวุโสจะคุ้นเคยกับภาษารัสเซีย ขณะที่คนยูเครนรุ่นใหม่ยังคงเห็นร่องรอยภาษารัสเซียในชีวิตประจำวัน จึงกล่าวได้ว่าปัจจัยหลักที่ทำให้คนยูเครนส่วนใหญ่เข้าใจภาษารัสเซียไม่ใช่เพราะความใกล้เคียงทางภาษา แต่เป็นเพราะการบังคับใช้ภาษารัสเซียเป็นภาษาราชการของยูเครนในช่วงสหภาพโซเวียต
ภาษายูเครนมาตรฐานที่ใช้ในปัจจุบันอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของสถาบันภาษายูเครน กองทุนสารสนเทศภาษายูเครน และสถาบันภาษาศาสตร์โปเต็บเนีย ซึ่งทั้งสามแห่งอยู่ภายใต้สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติยูเครน
อาคารที่ตั้งของสถาบันภาษายูเครนและสถาบันภาษาศาสตร์โปเต็บเนีย ในกรุงเคียฟ [Credit ภาพ : User ‘Wadco2’ @ Wikimedia.org ]
สำหรับตัวอย่างของไวยากรณ์ในภาษายูเครนที่เด่นชัด ได้แก่...
1) ประโยคบอกเล่าส่วนใหญ่มักมีโครงสร้างประโยคเป็นแบบ SVO (ประธาน-กริยา-กรรม) คล้ายภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และกลุ่มภาษาโรมานซ์ (สเปน โปรตุเกส ฝรั่งเศส อิตาลี โรมาเนีย)
2) มักมีคำ не (ne) ในประโยคปฏิเสธ
3) คำนามในภาษายูเครนมีเพศทางไวยากรณ์ (Grammatical gender) 3 เพศ คือ เพศชาย เพศหญิง และเพศกลาง
4) คำนามในภาษายูเครนจะมีพจน์ 2 พจน์ (เอกพจน์ พหูพจน์) และมี 7 การก ได้แก่
- Nominative case (กรรตุการก) - คำนามที่ผันจะเป็นประธานของประโยค
- Genitive case (สัมพันธการก) - คำนามที่ผันจะมีหน้าที่เป็นเจ้าของ
- Dative case (สัมปทานการก) – คำนามที่ผันจะเป็นกรรมรองของประโยค
- Accusative case (กรรมการก) - คำนามที่ผันจะเป็นกรรมตรงของประโยค
- Instrumental case (กรณการก) - คำนามที่ผันจะเป็นเครื่องมือที่ใช้ทำกริยา
- Locative case (อธิกรณการก) - คำที่ผันเป็นสถานที่หรือเวลาที่เกิดกริยา
- Vocative case (สัมโพธนาการก) - คำนามที่ผันจะเป็นคนหรือสิ่งที่ถูกเรียก
**ในตัวอย่างจะใช้คำนาม дим (dym - ควัน), ліжко (ližko - เตียงนอน) และ буря (burja - พายุ) แต่เนื่องจากพื้นที่ในแผนภาพมีจำกัด จึงขอตัดการผันคำนามที่เขียนในอักษรซีริลลิก แต่จะใช้อักษรโรมันทับศัพท์แทน เพื่อให้คนอ่านเห็นภาพได้สะดวกกว่า
5) คำคุณศัพท์ (Adjective) จะผันตามเพศ พจน์ และการกของคำนาม สำหรับการผันคำคุณศัพท์ในภาษายูเครนตาม Accusative case (กรรมการก) จะแยกกรณีว่าคำนามที่จะเป็นกรรมตรงของประโยคนั้นมีชีวิต (animate) หรือไม่มีชีวิต (inanimate)
**ในตัวอย่างจะใช้คำคุณศัพท์ важкий (važkyj - ยาก) แต่เนื่องจากพื้นที่ในแผนภาพมีจำกัด จึงขอตัดการผันคำคุณศัพท์ที่เขียนในอักษรซีริลลิก แต่จะใช้อักษรโรมันทับศัพท์แทน เพื่อให้คนอ่านเห็นภาพได้สะดวกกว่า
6) คำกริยาในภาษายูเครนจะผันตามกาล (Tense) วาจก (Voice - รูปแบบการกระทำของกริยาในประโยค) สรรพนามบุรุษ เพศและพจน์ของประธานที่กระทำกริยา
ตัวอย่างที่ยกมาในแผนภาพ : Verb to be (คำกริยา “เป็น อยู่ คือ”) ในภาษายูเครน бути (buty) แต่เนื่องจากพื้นที่ในแผนภาพที่มีจำกัด จะแสดงเฉพาะการผันคำกริยาตามกาล (Tense) สรรพนามบุรุษ เพศและพจน์ของประธานที่กระทำกริยาเท่านั้น และขอตัดการผันคำกริยาที่เขียนในอักษรซีริลลิก แต่จะใช้อักษรโรมันทับศัพท์แทน เพื่อให้คนอ่านเห็นภาพได้สะดวกกว่า
เมื่ออ่านจนถึงตรงนี้แล้ว ผู้อ่านคงจะพอเห็นภาพรวมของ "ภาษายูเครน" ภาษาสมาชิกภาษาหนึ่งในกลุ่มภาษาสลาฟ และเครือญาติทางภาษาของภาษารัสเซีย-ภาษาเบลารุส ซึ่งมีผู้ใช้ภาษายูเครนมากกว่า 40 ล้านคน โดยเฉพาะในประเทศยูเครน เข้าใจและเห็นภาพถึงประวัติความเป็นมา-วิวัฒนาการของภาษายูเครน รวมถึงตัวอย่างไวยากรณ์ภาษายูเครนครับ
หากท่านชอบเนื้อหาในบล็อกนี้ สามารถกด “ติดตาม” บล็อกนี้บน Blockdit ได้ครับ...แล้วพบกันใหม่ในเนื้อหาตอนหน้าครับ
[แหล่งที่มาของข้อมูล]
- คลิปการบรรยายเรื่อง “ภาษายูเครนเบื้องต้น” โดย อ.ดร.ชิงดวง ยุระยง (หลักสูตรภาษาศาสตร์ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ม.มหิดล) เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ค.ศ.2022
https://www.youtube.com/watch?v=tCEo6JAcWD4
- Olena Bekh & James Dingley. Complete Ukrainian. London, UK: Hodder Education; 2016.
-
http://www.forost.lmu.de/sprachdatenbank/sprachdatenbank.php?display=Ukrainisch:sprachdaten:verbreitung
-
https://www.pravoslaviavolyni.org.ua/stattia/530-ptsu-i-tserkovnoslovianska-mova/
-
https://archive.org/details/eternalrussiayel00stee/page/216
-
https://archive.org/details/contestedtongues00bila/page/76/mode/2up
-
https://www.britannica.com/topic/Ukrainian-language
-
https://blog.duolingo.com/ukraine-language/
ยูเครน
ภาษายูเครน
ภาษาต่างประเทศ
บันทึก
3
6
3
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย