26 มี.ค. 2022 เวลา 08:49 • ไลฟ์สไตล์
มุมน่าคิดของ รายได้วัดและพระ
เขียนโดย Window M
หลักพุทธศาสนาให้ พระ คือ ผู้สืบทอดและเผยแพร่ หลักพระธรรมหรือคำสอนของพระพุทธเจ้า แก่ปวงชนชาวพุทธ ส่วนวัดคือ สถานที่ชุมนุมของพระและชาวบ้านเพื่อเผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้าให้พุทธศาสนิกชนรับรู้และปฏิบัติตามคำสอนเพื่อชีวิตที่ผาสุกต่อไป ดังนั้น วัดและพระ จึงอยู่ใกล้ชิดชาวบ้านซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์อย่างมาก วันเวลาผ่านไปหน้าที่ของวัดและพระก็พัฒนาไปตามสภาพสังคมด้วย นอกเหนือจากหน้าที่เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ยังทำประโยชน์เกี่ยวเนื่องกับชีวิต ความตาย และวันสำคัญต่างๆ ให้ชุมชนใกล้วัดด้วย เช่น พิธีแต่งงาน พิธีศพ พิธีกรรมหรือการทำบุญเกี่ยวกับวันสำคัญต่างๆ เพื่อให้เกิดมงคลแก่ครอบครัว บุคคล หรือ ชุมชน เป็นต้น
เมื่อสภาพสังคมพัฒนาขึ้น วัดก็เพิ่มหน้าที่ต่อชุมชนและสังคมตามไปด้วย นอกเหนือจากการช่วยสังคมและชาวบ้านด้วยจิตเมตตาของพระแล้ว การให้ปัจจัยเพื่อช่วยเหลือวัดและพระให้สร้างประโยชน์ได้ดีขึ้นก็เกิดตามมาด้วย นั่นคือ เงินหรือสิ่งของ ซึ่งชาวบ้านมอบให้พระทุกครั้งที่วัดให้ใช้สถานที่หรือช่วยเหลืองานจนเสร็จสมบูรณ์ เงินหรือสิ่งของ คือ กิเลสที่เป็นแม่เหล็กดึงดูดอันทรงพลังมาก ยิ่งขาดวิธีจัดการหรือกำหนดขอบเขตการใช้และรับอันควรไว้ชัดเจน ทำให้กิเลสแบบนี้คืบคลานคุกคามสู่เขตวัดและทำลายพระซึ่งไม่อาจควบคุมกิเลสนี้จนทำให้พุทธศาสนิกชนต้องเห็นข่าวความร่ำรวยของพระบางรูป ความเหลื่อมล้ำของวัดในเมืองกับนอกเมือง การทำละเมิดพระวินัยกับหญิงนอกวัดที่ต้องการเงินของพระ หรือพระบางรูปกลายเป็นผู้มีอิทธิพลเหนือวัดและชุมชนใกล้เคียง จนทำลายศรัทธาต่อพุทธศาสนาในภายหน้าได้
หลักพุทธศาสนาให้พระรับปัจจัยได้จำกัดเท่าที่ชีวิตจะอยู่ได้ แต่บางรูปอาจทำเกินเลยไปจนเคยชินกับความสบายที่มาจากเงินและสิ่งของที่ชาวบ้านมอบให้แลกกับการทำหน้าที่ของวัดและพระ
ดังนั้น การจัดแยกระหว่างเงินวัดกับเงินพระควรทำให้ชัดเจนเป็นกฎหมายหรือระเบียบโดยสำนักพุทธศาสนาหรือมหาเถรสมาคมภายใต้หลักพุทธศาสนาที่ถูกต้อง
การบริจาค เป็นหนึ่งในสิ่งที่ชาวพุทธกระทำต่อวัดเพื่อทำนุ บำรุง พระศาสนาให้สืบทอดต่อไป การบริจาคอาจเป็น แรงงาน สิ่งของ หรือ เงิน ก็ได้ วัดจะนำเงินหรือสิ่งของไปใช้เพื่อดูแล สถานที่ให้สะอาด จัดขอบเขตให้เหมาะสมต่อพิธีกรรมต่างๆ ต้อนรับและช่วยเหลือชาวบ้านเมื่อจำเป็น หลักใหญ่คือ ทำเพื่อช่วยให้พระศาสนาสืบทอดต่อไปได้ตามหน้าที่ของวัด ช่วยดูแล พระ ให้มีร่างกายแข็งแรง กินอิ่มท้อง เพื่อให้ท่านทำหน้าที่สืบทอดพระธรรมและเผยแพร่ให้ประชาชนรับรู้ต่อไปได้
หลักคำสอนของพุทธศาสนานั้น พระจะรับปัจจัยได้เท่าที่จะมีชีวิตอยู่รอดได้ ไม่ใช่รับล้นหลามเกินใช้สำหรับหนึ่งคน ส่วน ปัจจัย นั้น ชาวบ้านจะเป็นผู้ถวายให้วัดหรือพระซึ่งอาจเป็น สิ่งของ หรือ เงินทอง ก็ได้ ทางกฎหมายก็กำหนดให้ ไวยาวัจกร เป็นตัวแทนวัดในการติดต่อกับคนภายนอก เจ้าอาวาส เป็นผู้แทนวัด มัคทายก เป็นผู้ดูแลงานภายในวัดตามคำสั่งของเจ้าอาวาส พระมีหน้าที่เดียวคือ เผยแพร่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อสังคมพัฒนามากขึ้น วัดก็มีหน้าที่เพิ่มขึ้นและใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีต่างๆ จากการทำด้วยจิตเมตตาก็ไปสู่การถวายปัจจัยตอบแทนวัด จนถูกเรียกว่า รายได้วัดและรายได้ของพระ
หลักพุทธศาสนาที่ว่า พระควรรับปัจจัยเท่าที่ให้ชีวิตอยู่รอดได้ บางรูปมีรายได้ที่ดูแล้วน่าจะเกินกว่ามีชีวิตรอดได้ซึ่งเรียกว่า อยู่สบายโดยไม่ต้องปฏิบัติกิจสงฆ์ก็ได้ ที่มารายได้ของพระยุคนี้จึงน่าสนใจว่า พระสงฆ์มีพระวินัยกำหนด การรับปัจจัย จาก ชาวบ้าน ชัดเจนแค่ไหน ? เราจึงเห็นพระบางรูปในข่าวหลังตายค้นพบ เงินเก็บในกุฏิมูลค่า 10-40 ล้านบาท ได้ ซึ่งน่าจะมีจำนวนมากเกินกว่าแค่ชีวิตรอด เงินมาจากไหน ? เมื่อใช้สติและมองย้อนไปตามงานพิธีกรรมต่างๆในวัด บางคนก็เคยสัมผัสกับการเป็นส่วนหนึ่งที่จ่ายเป็นรายได้ของวัดและของพระมาแล้ว จึงไม่แปลกใจว่า พระบางรูป บางวัด มีรายได้มหาศาลดังในข่าวได้ ไม่เกินจริงเท่าไรนัก
ภาพโดย brgfx
เริ่มต้นจาก รายได้ของวัด แต่ละวัดจะมีแหล่งรายได้ต่างกันไป บางวัดมีที่ดินแบ่งให้เช่าก็มีค่าเช่า เงินบริจาครายเดือนและรายวันจากศาสนิกชน เงินบริจาคจากการทำกิจกรรมในวัด และอื่นๆ วัดไหนมีรายได้จากแหล่งทั้งหมดนี้ก็จะดูแลวัดได้ดีและมีเงินใช้พัฒนาวัดได้มาก บางวัดที่ไม่มีค่าเช่าที่ดิน เงินบริจาคจากชาวบ้านหรือชุมชนมีน้อย การพัฒนาและดูแลวัดก็จะน้อยไปด้วย สภาพวัดก็แตกต่างกันไป กิจกรรมที่นิยมจัดในวัดและสร้างรายได้สม่ำเสมอมากสุด คือ งานศพ ซึ่งจะมีได้กับวัดที่มีเมรุและเตาเผาศพเป็นหลัก มิใช่ทุกวัดจะทำพิธีเผาศพได้
รายได้วัดส่วนหนึ่งก็มาจาก งานศพ ซึ่งมีพัฒนาการไปตามยุคสมัย วันนี้วัดก็มีบริการจัดพิธีศพครบวงจรซึ่งมีค่าบริการหลายระดับแล้วแต่จะเลือก แต่ละระดับก็มีค่าบริการต่างกันไป วัดที่จัดพิธีศพได้ครบวงจรตั้งแต่สวดอภิธรรมจนเผาศพมักจะมีศาลาพิธีมากกว่า 1 ศาลา จำนวนวันทำพิธีของแต่ละศาลา ซึ่งใช้คูณกับค่าบริการของวัด เท่ากับ รายได้วัดในแต่ละวันหรือเดือน หากรวมรายได้จากทุกศาลาต่อเดือน ต่อวัน ก็จะมีจำนวนเงินที่สูงอย่างน่าทึ่งใจมาก
พิธีศพนอกจากทีมงานดูแลงานของวัดแล้ว บุคลากรสำคัญของงานคือ พระ อดีตกาลนั้นการสวดของพระในงานศพเกิดขึ้นด้วยความเมตตาเป็นหลัก ระเบียบพิธีสวดนี้ต้องจัดโดยพระและคำสวด คำสอน ให้ผู้ร่วมงานรับรู้และซาบซึ้งในรสพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เมื่อวันเวลาผ่านไปถึงวันนี้หน้าที่เผยแพร่คำสวด คำสอน ในงานศพโดยพระยังคงทำต่อไป แต่เพิ่มการถวายปัจจัยจากอดีตที่ชาวบ้านจะถวาย ข้าวปลาอาหารผลไม้ เป็นหลัก มาเป็น เงินสด ซึ่งเจ้าภาพเรียกง่ายๆว่า ค่าสวด ซึ่งเตรียมไว้ให้ตามจำนวนพระที่มาสวดในงานแต่ละวัน โดยต้องมีซองและจำนวนเงินพิเศษสำหรับ เจ้าอาวาส ด้วย จำนวนเงินก็แล้วแต่เจ้าภาพจะเห็นสมควรซึ่งก็มีขั้นต่ำแตกต่างกันไปตามชื่อเสียง ขนาดพื้นที่ และระดับของวัด จำนวนพระยังต้องคูณด้วยจำนวนวันที่จัดงาน จึงเป็นจำนวนเงินทั้งหมด และถือเป็นค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งในงานศพด้วย นี่คือ รายได้ของพระ
เมื่อเห็นแหล่งที่มารายได้วัดและของพระแล้ว เทียบกับเนื้อหาข่าวมรดกพระมากสุดทึ่งใจ จึงไม่แปลกใจ ถ้าหลังพระตาย จะพบว่ามีเงินเก็บเป็นรายได้สูงเพียงนั้น โดยเฉพาะบางรูปเก็บออมได้มากและไม่ใช้ชีวิตเกินงาม แต่บางรูปก็หลงระเริงกับรายได้ที่ไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นทุกวันทุกเดือน ทำให้พระถูกกิเลสครอบงำจนเมินต่อพระวินัยและวัตรปฏิบัติที่ดีของสาวกของพระพุทธเจ้า เมื่อเงินคือกิเลสและแม่เหล็กที่มีแรงดึงดูดมหาศาล ทำให้ดึงดูดผู้มีจิตไม่ดีเข้าสู่วงการพระหรือผู้มีเจตนาร้ายต่อพระเพื่อรายได้เลี้ยงชีพหรือหาความร่ำรวยจากวัด
หลักกฎหมายไทยเกี่ยวกับทรัพย์สินของพระที่ได้ระหว่างอุปสมบทกำหนดว่า เป็นสมบัติของวัด หากตาย เงินและทรัพย์สินที่ซื้อด้วยเงินนี้ จะเป็น มรดกสืบทอดให้ วัดที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่ ยกเว้น มีการจำหน่าย จ่าย แจก ก่อนตายหรือเขียนพินัยกรรมไว้ ทำให้ผู้มีจิตไม่สุจริตหรือหวังหาประโยชน์จากพระพยายามยึดครอง ควบคุม หรือทำให้หลงใหลในสารพัดกิเลสแล้วกอบโกยผลประโยชน์จากพระ หากพระมีพรรษาน้อยหรือตกหลุมพรางในกิเลส ก็จะกลายเป็นเหยื่อของกลุ่มคนไม่ดีได้ ถ้ามองถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าและหลักพุทธศาสนาแล้ว พระสมควรได้รับปัจจัยเพียงเท่าที่ยังชีพได้ รายได้ของพระจากทุกแหล่งเป็นไปตามคำสอนของพุทธศาสนาหรือไม่ ? นี่คือคำถามชวนคิดกับพุทธศาสนิกชนยุคนี้
ภาพโดย Freepik
เจ้าอาวาสและไวยาวัจกร เป็นตัวแทนวัดในกิจกรรมที่ติดต่อกับคนภายนอกและผูกพันทางกฎหมายได้ ส่วนมัคทายก เป็นผู้ดูแลวัดตามคำสั่งของเจ้าอาวาส คนกลุ่มนี้จึงเกี่ยวพันกับรายได้ของวัด ถ้ามีจิตสุจริตก็นำเงินไปดูแล พัฒนา วัดให้เจริญรุ่งเรืองทางกายภาพและได้ศรัทธาจากชาวบ้านเพิ่มขึ้น การบริหารจัดการรายได้ของวัดและของพระอย่างโปร่งใส จึงสำคัญยิ่ง
ทางแก้ปัญหามิให้เกิดความคลางแคลงใจแก่สังคมหรือพุทธศาสนิกชน คือ มีกฎเกณฑ์ให้ชัดเจนว่าแหล่งรายได้วัดคืออะไร รายได้พระคืออะไร เพราะทรัพย์สินของวัดจะอยู่ใต้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์และการจัดการของเจ้าอาวาสหรือไวยาวัจกรหรือกรรมการวัด ส่วนรายได้พระควรอยู่ใต้คำสอนของพระพุทธเจ้าหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน สำนักพุทธศาสนาและมหาเถรสมาคมและกฎหมาย ควรกำหนดให้ชัดเจนว่าปัจจัยที่พระพึงได้รับคืออะไร จำนวนเท่าไร เพื่อรักษาศรัทธาของศาสนิกชนไว้ เจ้าอาวาส พระ มัคทายก ไวยาวัจกร ควรแตะต้องและใช้เงินหรือไม่ อย่างไร แค่ไหน
องค์กรเหล่านี้ควรพัฒนาแนวคิด กฎเกณฑ์ กำหนดให้เข้ากับยุคสมัยเพื่อดำรงพุทธศาสนาให้ยาวนานได้ เพิ่มศรัทธาแก่ศาสนิกชนด้วยกฎเกณฑ์คุมผู้เผยแพร่คำสอนให้ชัดเจน บรรดากฎเกณฑ์ด้านรายได้พระหรือรายได้ของวัด จะช่วยคัดกรองคนที่เข้ามาบวชพระว่าทำเพื่อเผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้าหรือเพื่อหารายได้เลี้ยงชีพด้วยการเป็นพระ แล้วยังทำให้ผู้ที่อยากหาประโยชน์จากพระยั้งคิดหรือลังเลมากขึ้นว่าคุ้มหรือไม่ รายได้ต่อวันจากการทำพิธีศพในวัดซึ่งแบ่งให้วัดและพระได้รับกันไปก็เป็นจำนวนเงินมากโข หากคูณด้วยจำนวนวันทำพิธีอีก ตัวเลขก็เพิ่มขึ้นจนอาจสะดุดหรือกระแทกใส่กิเลสในใจของพระบางรูปหรือคนที่อยากหาประโยชน์จากพระ
ดังนั้น ควรเขียนกฎเกณฑ์รายได้พระให้ชัดเจนว่า อะไรถูกต้องตามพระวินัยซึ่งพระสงฆ์พึงมีได้ อะไรคือวิธีจัดการรายได้วัดที่ถูกต้องและเป็นที่ยอมรับได้ของวัดและชุมชน ความไม่ชัดเจนและความสงสัยพระหรือวัด จะทำลายศรัทธาต่อพุทธศาสนาอย่างมาก
พระสงฆ์พึงรับปัจจัยเท่าที่ชีวิตรอดได้ วัดพึงรับบริจาคตามพลังศรัทธาของพุทธศาสนิกชน ความพอเพียงอยู่ที่จุดไหน ใครเล่ากำหนด ?
************************************
โฆษณา