15 เม.ย. 2022 เวลา 09:42 • สิ่งแวดล้อม
เตรียมปลด ”นกกรงหัวจุก” ออกจากการเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
ควร หรือ ไม่ควร
1
นกปรอดหัวโขน
Red whiskered Bulbul
หรือชื่อที่เราคุ้นเคย “นกกรงหัวจุก”
ชื่อที่ใช้คำว่านกกรง บ่งบอกถึงที่มาของชื่ออย่างชัดเจน
เมื่อไม่นานมานี้มีประเด็นถึงเรื่องของการถอดนกปรอดหัวโขน(ผมขอเรียกมันด้วยชื่อนี้นะครับ)ออกจากการเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ซึ่งผมขอเป็นหนึ่งในผู้ที่คัดค้านในเหตุการณ์นี้ครับ
1
***แต่*** แจ้งให้ทราบก่อนนะครับว่า
สำหรับการเลี้ยงจากการเพาะพันธุ์ ผมไม่คัดค้านนะครับ (แต่ไม่ได้สนับสนุน) เพราะมันมาจากการเพาะพันธุ์อยู่แล้ว
ผมคัดค้านแค่การจับจากธรรมชาติมาเลี้ยง
1
นกปรอดหัวโขน Red-whiskered Bulbul จากบ้านผมเอง
นกปรอดหัวโขน เป็นนกที่อยู่กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ในสมัยก่อนถูกวิเคราะห์เอาไว้ว่าหาง่ายมาก พบได้ตั้งแต่เหนือจรดใต้ ชาวบ้านมักนำมันมาเลี้ยงเพื่อความสวยงาม และการแข่งขันร้องเพลงของนก ซึ่งจากการนำมันมาเลี้ยง ส่งผลให้ประชากรในธรรมชาติลดลงอย่างเป็นนัยสำคัญ
กราฟแสดงแนวโน้มประชากรของนกปรอดหัวโขนบนดอยอินทนนท์ จากการสำรวจ นับนกประจำปี ดอยอินทนนท์ ชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา
จะเห็นได้ชัดว่ามีแนวโน้มประชากรลดลงอย่างมากในช่วง20ปีที่ผ่านมา
ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับนกปรอดหัวสีเขม่า ที่ได้รับความนิยมในการเลี้ยงน้อยกว่า จะเห็นได้ชัดว่าการลดลงของนกปรอดหัวโขน ค่อนข้างชัดเจนว่ามีสาเหตุมาจากการจับจากธรรมชาติมาเลี้ยง
ซึ่งตั้งแต่มีข่าวนี้ออกมาก็มีคำถามออกมามากมายถึงเหตุผลที่ ทำไมถึงไม่ควรถอดนกปรอดหัวโขนออกจากสัตว์ป่าคุ้มครอง
ผมจะพยายามตอบอย่างมีเหตุผล ณ ตรงนี้นะครับ
1. ทำไมการจับนกปรอดหัวโขนมาเลี้ยงเพาะพันธุ์ถึงไม่ถือเป็นการอนุรักษ์นกปรอดหัวโขน
-เพราะการจับนกปรอดหัวโขนมาเลี้ยงเพาะพันธุ์ เป็นเพียงแค่การทำให้เผ่าพันธุ์มันยังคงอยู่ต่อไปครับ แต่พฤติกรรมมันไม่ได้ถูกอนุรักษ์ พฤติกรรมดั้งเดิมตามธรรมชาติของมันจะสูญหาย สัญชาตญาณการเอาตัวรอดของมันจะหายไป
1
เมื่อเพาะเลี้ยงไปหลายๆรุ่นจนถึงจุดนึง จะถึงจุดที่มันจะกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถเอาตัวรอดในธรรมชาติได้อีก ซึ่งนี้ก็เป็นสาเหตุหลักที่ทำไมการอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตถึงไม่ได้ work แค่การนำมันมาเลี้ยงครับ
ยกตัวอย่างเช่นนกกระเรียนพันธุ์ไทย ที่เคยสูญพันธุ์จากธรรมชาติไทย แต่สามารถกลับมาได้เพราะการอนุรักษ์ที่ละเอียดอ่อน
มีการใช้ชุดสีเทาและปลอกแขนสีแดง เพื่อเลียนแบบนกกระเรียนพันธุ์ไทยตัวเต็มวัยในการป้อนลูก รวมถึงพยายามไม่ให้ลูกนกได้อยู่กับผู้คนมากเกินไป เพื่อไม่ให้ลูกนกเกิดความเคยชินกับมนุษย์ ภาพจาก The people
2. ทำไมนกเขาที่ถูกนำมาเลี้ยงเยอะ แต่ก็ยังมีกลาดเกลื่อนในธรรมชาติอยู่ทั่วไป?
-นกเขากับนกปรอด ถึงแม้จะเป็นนกเหมือนกัน แต่มันเป็นนกคนละชนิด คนละกลุ่มกันครับ พวกนกเขามี Rateการขยายพันธุ์ที่สูงกว่ามาก ทำรังได้ทุกที่ ผสมพันธุ์กันได้ตลอดทั้งปี
ต่างจากนกปรอดหัวโขนที่มีฤดูผสมพันธุ์ค่อนข้างจำกัด(น่าจะประมาณช่วงมีนาคม ถึงสิงหาคม) และไม่เหมือนนกเขาที่ทำรังได้แม้กระทั่งบนสายไฟฟ้า55555 มันต้องทำรังบนต้นไม้ครับ เอากิ่งไม้มาสานเป็นถ้วย
1
สรุปก็คืออัตราการเพิ่มของประชากรของนกปรอดหัวโขน ไม่สามารถสู้อัตราการลดของมันได้
นกเขาชวา zebra dove พื้นที่แค่นี้ยังทำรังได้5555
3.ทำไมการปลดชื่อนกปรอดหัวโขนออกจากสัตว์ป่าคุ้มครอง ถึงทำให้คนจับมามากขึ้น? ไม่ใช่ว่าคนจะซื้อจากที่เพาะมากขึ้นหรอ?
-ส่วนตัวผมคิดว่าทั้งถูกและผิดครับ
คนก็จะซื้อจากที่เพาะมากขึ้นเพราะเมื่อมันเสรี ราคาก็จะถูกลง แถมไม่มีความเสี่ยงในการเลี้ยงเลย ความยุ่งยากในการขออนุญาตเลี้ยงก็จะหมดไป ความนิยมก็เพิ่ม เศรษฐกิจก็ดีขึ้น แต่อย่าลืมว่าการจับจากธรรมชาติก็จะ”เสรี”ด้วยเช่นกัน ทั้งๆที่แต่เดิม กฏหมายคุ้มครองสิ่งมีชีวิตในไทยมันน้อยและหลวมเกินไปอยู่แล้ว นี่ยังจะปลดออกไปอีก เหมือนเปิดประตูให้เข้าไปจับอย่างเสรีเลยครับ
1
ส่วนตัวผมคิดว่า แทนที่จะปลดนกปรอดหัวโขนออกจากสัตว์ป่าคุ้มครอง สู้แก้ที่ตัวกฏหมายให้ชัดเจนและยุ่งยากน้อยลงจะดีกว่าครับ ต้องแก้กฏหมายยังไงก็ได้ ให้ผู้เลี้ยงรู้สึกอยากซื้อจากการเพาะพันธุ์มาเลี้ยงมากกว่าจับจากธรรมชาติมาเลี้ยง
1
เหตุการณ์นี้ ที่เราต้องการคัดค้านเรื่องการถอดนกปรอดหัวโขนออกจากสัตว์ป่าคุ้มครอง ไม่ใช่เพราะแค่เราไม่อยากเห็นมันอยู่ในกรงหรอกนะครับ แต่มันยังส่งผลถึงประชากรที่มีอยู่ในธรรมชาติ ถ้าพวกมันถูกจับมามากเกินไป ประชากรในธรรมชาติเปลี่ยนแปลง และมันก็จะส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพครับ Biodiversity collapse เป็นหนึ่งในหายนะที่รุนแรงกว่าที่เราคิดนะครับ
คำถามหลักๆที่ผมเตรียมไว้จะมีประมาณนี้ครับ ถ้ามีคำถามหรือความเห็นเพิ่มเติม สามารถมาdiscussได้ที่ใต้โพสต์นะครับ ผมจะพยายามตอบคำถามเท่าที่ผมมีความรู้ในตอนนี้ รวมถึงผมก็ยังต้องการมุมมองของคนทั่วไปอีกด้วยครับ🙏🙏 เพราะส่วนที่ผมพูดคือส่วนของปัญหาที่ธรรมชาติได้รับ ไม่ใช่ส่วนของชุมชน
แล้วก็สุดท้ายนี้
เหตุการณ์นี้เป็นการปลดนกปรอดหัวโขนออกจากสัตว์ป่าคุ้มครอง ไม่ใช่ “สัตว์ป่าสงวน” นะครับ คนทั่วไปมักชอบใช้คำว่า สัตว์สงวน เพราะต้องการสื่อถึงสัตว์ที่ถูกคุ้มครองด้วยกฏหมาย แต่เนื่องจากสัตว์ป่าคุ้มครองกับสัตว์ป่าสงวนนั้นไม่เหมือนกัน ผมจึงคิดว่าเราไม่ควรใช้คำนี้นะครับ เราเรียกว่าสัตว์ป่าคุ้มครองตรงๆไปเลยจะดีกว่าครับ
โฆษณา