28 มี.ค. 2022 เวลา 07:15 • กีฬา
5 เมือง เพื่อ 1 ทีม : สงครามแย่งสิทธิ์แฟรนไชส์ที่เปลี่ยนให้ NFL เป็นลีกกีฬาอันดับ 1 ของสหรัฐฯ | MAIN STAND
NFL คือลีกกีฬาที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก และเป็นลีกยอดนิยมอันดับ 1 ของประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ลีกอเมริกันฟุตบอลชื่อดังอาจมาไม่ถึงตรงนี้ หากทางลีกไม่สร้างสงครามย่อม ๆ ขึ้นมาในช่วงยุค 90S
ด้วยการประกาศเพิ่มทีมเข้าสู่ลีกเพียงแค่ทีมเดียว ทำให้ 5 เมืองใหญ่ในสหรัฐฯ ตัดสินใจเปิดศึกใส่กัน และในศึกที่ต้องมีผู้แพ้ กลับไม่มีเมืองไหนยอมรับความพ่ายแพ้ของตัวเองได้แม้แต่เมืองเดียว
นี่คือการต่อสู้ครั้งสำคัญของ 5 เมืองใหญ่ที่ส่งผลกระทบไปทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา และผลลัพธ์ของสงคราม คือการสร้าง NFL ให้กลายเป็นลีกกีฬาที่ไร้เทียมทานมาจนถึงปัจจุบัน
ติดตามเรื่องราวไปพร้อมกับ Main Stand
จุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลง
เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นในปี 1992 หลังจาก NFL ประกาศจะมอบสิทธิ์แฟรนไชส์ใหม่เพื่อเข้าสู่ลีกจำนวน 1 ทีม เปิดโอกาสให้เมืองที่ยังไม่มีทีมอเมริกันฟุตบอลได้เข้ามามีส่วนร่วมกับลีกกีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของสหรัฐอเมริกา
1
การเปิดโอกาสในครั้งนั้นทำให้ 5 เมืองใหญ่ของสหรัฐฯ ได้ยื่นเสนอสิทธิ์เพื่อคว้าโอกาสในการเป็นแฟรนไชส์ใหม่ของ NFL ซึ่ง 5 เมืองนั้นประกอบไปด้วย
- เมืองบัลติมอร์ รัฐแมรี่แลนด์
- เมืองชาร์ล็อตต์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา
- เมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี
- เมืองเมมฟิส รัฐเทนเนสซี
- เมืองแจ็คสันวิลล์ รัฐฟลอริดา
การชิงชัยระหว่างทั้ง 5 เมืองได้รับการตัดสินจากบอร์ดบริหารของลีก โดยจะวัดจากเงินลงทุนของผู้ทำแฟรนไชส์, ศักยภาพในการเติบโตของทีมฟุตบอล และที่สำคัญที่สุดคือ ความต้องการทีมฟุตบอลของคนท้องถิ่น ที่จะกลายเป็นกระดูกสันหลังพาแฟรนไชส์หน้าใหม่เติบโตอย่างมั่นคง
1
ทั้ง 5 เมืองต่างมีวิธีการเตรียมความพร้อมเพื่อชิงสิทธิ์แฟรนไชส์ไม่ต่างกันเท่าไหร่นัก นั่นคือให้สภาเมืองจับมือกับนักธุรกิจท้องถิ่นเสนอโปรเจ็กต์ร่วมกัน ซึ่งวิธีการที่ง่ายที่สุดในการพิชิตใจ NFL ให้ได้คือการสร้างสนามอเมริกันฟุตบอลขึ้นมาใหม่ เพื่อรองรับแฟรนไชส์ที่จะเกิดขึ้น
แต่จากทั้ง 5 เมือง ไม่มีเมืองไหนที่มีความพร้อมมากไปกว่า เมืองชาร์ล็อตต์ จากรัฐนอร์ทแคโรไลนา เพราะว่าพวกเขาวางโปรเจ็กต์ที่อยากมีทีมใน NFL มาตั้งแต่ปี 1987 หรือเตรียมการมานานกว่า 5 ปีแล้ว
แกนนำของฝ่ายเมืองชาร์ล็อตต์คือ เจอร์รี่ ริชาร์ดสัน อดีตนักอเมริกันฟุตบอลดีกรีแชมป์ของ NFL ที่ผันตัวมาเป็นนักธุรกิจจนกลายเป็นเศรษฐีท้องถิ่นของรัฐนอร์ทแคโลไรนา ซึ่งริชาร์ดสันคือผู้ที่ผลักดันโครงการนี้อย่างเต็มที่ แถมมาพร้อมกับไอเดียสุดหัวใสที่ใครก็คาดไม่ถึง
ริชาร์ดสัน เสนอไอเดียว่าจะไม่ยื่นแฟรนไชส์เฉพาะแค่ในฐานะเมืองชาร์ล็อตต์ จากรัฐนอร์ทแคโลไรนา เท่านั้น แต่จะขอยื่นแฟรนไชส์ด้วยการรวมทั้ง รัฐนอร์ทแคโรไลนา และ รัฐเซาท์แคโรไลนา เข้าไว้ด้วยกัน พูดง่าย ๆ คือ หาก NFL มอบสิทธิ์แฟรนไชส์ให้กับเมืองชาร์ล็อตต์ ทีมอเมริกันฟุตบอลใหม่ที่จะเกิดขึ้นจะมีฐานแฟนคลับกินพื้นที่ถึงสองรัฐใหญ่ในอเมริกาเลยทีเดียว
จุดนี้ถือเป็นความหลักแหลมของริชาร์ดสัน เพราะการตัดสินใจเสนอแฟรนไชส์ในฐานะทีมของสองรัฐทำให้ทั้งเศรษฐี, นักการเมือง, นักธุรกิจ, ประชาชน จากทั้ง นอร์ทแคโรไลนา และ เซาท์แคโรไลนา เข้ามาร่วมสนับสนุนโครงการดึง NFL มาที่นี่ ซึ่งเป็นการแสดงพลังให้เห็นว่าทั้งสองรัฐแคโลไรนามีความพร้อมมากแค่ไหนทั้งเรื่องฐานแฟนคลับและเงินทุนสำหรับการก่อตั้งทีมอเมริกันฟุตบอลอาชีพหน้าใหม่
2
นอกจากนี้ เจอร์รี่ ริชาร์ดสัน ได้ยืนยันกับ NFL ว่า หากมอบสิทธิ์การก่อตั้งแฟรนไชส์ใหม่ให้กับเขา ทีมของแคโรไลนา จะรับประกันการสร้างสนามอเมริกันฟุตบอลโฉมใหม่ที่จะจุผู้ชมได้อย่างน้อย 70,000 คน
เรียกได้ว่าฝั่งของเมืองชาร์ล็อตต์จัดหนักจัดเต็มใส่หมดเท่าที่พวกเขาจะทำได้เพื่อชิงสิทธิ์แฟรนไชส์ใหม่ของ NFL มาให้ได้ เนื่องจากในความเป็นจริงแล้วทั้ง 5 เมืองรู้อยู่แก่ใจว่า NFL มีธงในใจอยู่แล้วว่าอยากจะมอบสิทธิ์ไปให้เมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี มากที่สุด
เพราะในอดีตเมืองเซนต์หลุยส์เคยมีทีมอเมริกันฟุตบอลใน NFL มาก่อน นั่นคือ เซนต์หลุยส์ คาร์ดินัลส์ ก่อนที่ในปี 1988 คาร์ดินัลส์จะย้ายหนีเซนต์หลุยส์ไปอยู่ที่เมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา ทำให้ NFL มีความมั่นใจว่า หากมอบสิทธิ์ไปที่เซนต์หลุยส์ คนท้องถิ่นจะให้การตอบรับกับทีมใหม่อย่างแน่นอน เพราะมีวัฒนธรรมการเชียร์ฟุตบอลที่เหนียวแน่นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตามฝั่งของเมืองเซนต์หลุยส์กลับเต็มไปด้วยปัญหา จากความขัดแย้งระหว่างนักธุรกิจท้องถิ่นกับสภาเมือง ทำให้สุดท้าย NFL จึงเลือกตัดธงในใจทิ้งไป และมองไปหาข้อเสนอที่มีความพร้อมมากที่สุด นั่นคือเมืองชาร์ล็อตต์
สุดท้ายในปี 1993 ลีกอเมริกันฟุตบอลชื่อดังจึงประกาศมอบสิทธิ์แฟรนไชส์ให้กับ เมืองชาร์ล็อตต์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา และสิทธิ์นั้นก็ได้ถูกก่อตั้งเป็นทีม "แคโรไลนา แพนเธอร์ส" ทีมของสองรัฐทั้ง นอร์ทแคโรไลนา และ เซาท์แคโรไลน่า
แต่เรื่องราวไม่ได้จบลงแค่นั้น เพราะหลังจากการประกาศให้สิทธิ์แก่เมืองชาร์ล็อตต์ NFL ได้ประกาศว่าจะมอบสิทธิ์เพิ่มอีกหนึ่งแฟรนไชส์ให้กับเมืองใดเมืองหนึ่งจาก 4 เมืองที่เหลือ ทำให้สงครามเพื่อแย่งชิงสิทธิ์ของการมีส่วนร่วมกับลีกกีฬายอดนิยมของชาวอเมริกันยังต้องดำเนินต่อไป
ม้ามืดคว้าชัย
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเหตุผลที่ NFL ตัดสินใจจะมอบสิทธิ์แฟรนไชส์เพิ่มอีกทีมเป็นเพราะทางลีกยังคงต้องการมอบสิทธิ์แฟรนไชส์ให้กับเมืองเซนต์หลุยส์ เพราะรู้สึกเสียดายตลาดของเมืองนี้ และไม่อยากปล่อยโอกาสที่จะเพิ่มความนิยมให้กับทางลีกหลุดลอย
ภายในระยะเวลาไม่นาน NFL ได้ประกาศตัดสิทธิ์ของ เมืองบัลติมอร์ รัฐแมรี่แลนด์ และ เมืองเมมฟิส รัฐเทนเนสซี ออกจากการเข้าชิง โดย พอล ทาเกลียเบอร์ คอมมิชชั่นเนอร์ของ NFL ในเวลานั้นมองว่าทั้งสองเมืองยังไม่พร้อมที่จะมีทีมฟุตบอลอาชีพ ทั้งในแง่ของความพร้อม รวมถึงโอกาสเติบโตทางธุรกิจ
เมื่อเหลือตัวเลือกแค่ เมืองเซนต์หลุยส์ กับ เมืองแจ็คสันวิลล์ จากรัฐฟลอริดา ทำให้สื่อทุกสำนักฟันธงแบบไม่กลัวพังว่าเซนต์หลุยส์กำลังจะได้ทีมอเมริกันฟุตบอลใหม่ของตัวเองแน่นอน เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า จาก 5 เมืองที่เสนอตัวเข้าชิงสิทธิ์แฟรนไชส์ แจ็คสันวิลล์ คือลูกชังที่ NFL ไม่ต้องการมากที่สุด
เหตุผลก็เพราะแจ็คสันวิลล์ไม่ใช่เมืองกีฬามาตั้งแต่ไหนแต่ไร กีฬาไม่ใช่วัฒนธรรมของแจ็คสันวิลล์ ขณะเดียวกันคนท้องถิ่นในเมืองก็มีทีมฟุตบอลเชียร์อยู่แล้ว นั่นคือ ไมอามี ดอลฟินส์ แฟรนไชส์จากเมืองไมอามี เพื่อนร่วมรัฐฟลอริดา
เท่านั้นยังไม่พอเรตติ้งผู้ชม NFL ผ่านหน้าจอโทรทัศน์ของเมืองแจ็คสันวิลล์ก็มีตัวเลขที่ไม่น่าประทับใจ เพราะทั้งที่เมืองแจ็คสันวิลล์เป็นเมืองที่ใหญ่ระดับ Top 15 ของประเทศสหรัฐอเมริกา แต่เรตติ้งผู้ชม NFL ของเมืองกลับไม่ติด 50 อันดับแรกของประเทศเสียอย่างนั้น
ไม่ว่ามองมุมไหนแจ็คสันวิลล์ก็ไม่มีทางสู้เซนต์หลุยส์ได้เลย แต่แพ้อะไรก็ไม่แย่เท่าแพ้ภัยตัวเอง เพราะแม้จะได้รับโอกาสที่สอง แต่กลายเป็นฝั่งของเมืองเซนต์หลุยส์ที่ยังคงดีลผลประโยชน์ของนักลงทุนกับสภาเมืองไม่ลงตัวเช่นเดิม
ปัญหาสำคัญของเมืองเซนต์หลุยส์คือเรื่องการสร้างสนามใหม่ที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้สักทีว่า ใครจะเป็นฝ่ายออกเงิน ระหว่างกลุ่มนักลงทุนกับสภาเมือง จนกลายเป็นเรื่องราวคาราคาซังไม่รู้จบ และนับวันปัญหายิ่งบานปลาย
แม้ว่าในตอนแรก NFL จะเลือกชะลอการประกาศมอบสิทธิ์ เพราะใจที่ยังรักเมืองเซนต์หลุยส์และไม่ชอบฝั่งของแจ็คสันวิลล์ แต่ผู้บริหารหนุ่มคนหนึ่งในเวลานั้น นามว่า โรเจอร์ กูเดล กลับไม่คิดแบบนั้น
ในสายตาของกูเดลเห็นว่า การเลือกเมืองที่มีเจ้าของที่พร้อมเดินหน้าเต็มตัวกับการทำทีมฟุตบอลยังไงก็ดีกว่าการเลือกกลุ่มทุนที่มีแต่ปัญหาแม้ตลาดเมืองจะน่าสนใจมากกว่า เพราะสุดท้ายทีมฟุตบอลก็จะไปไม่รอดอยู่ดี ถ้ากลุ่มเจ้าของทีมไม่สามารถหาทิศทางเดินไปข้างหน้าได้พร้อมกัน
นอกจากนี้ แจ็คสันวิลล์ ที่ได้หัวเรือใหม่ อย่าง เวย์น วีเวอร์ นักธุรกิจท้องถิ่นที่เข้ามาเป็นผู้นำกสนผลักดันโปรเจ็กต์นี้อย่างเต็มตัว พร้อมทำทุกอย่างเพื่อให้แฟรนไชส์ของ NFL มาตั้งอยู่ที่แจ็คสันวิลล์
กูเดลจึงทำหน้าที่เป็นนายหน้า ไล่หว่านล้อมผู้บริหารคนอื่นของ NFL เพื่อให้พวกเขาเปลี่ยนใจจาก เซนต์หลุยส์ และหันมาเลือก แจ็คสันวิลล์ แทน
สุดท้ายกูเดลทำงานของเขาได้สำเร็จ แจ็คสันวิลล์ ช็อกคนสหรัฐฯ ด้วยการชนะโหวตเหนือ เซนต์หลุยส์ 26 ต่อ 2 กลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งไปทั่วประเทศ เพราะไม่มีใครคิดเลยว่า NFL จะมองข้าม เซนต์หลุยส์ และเลือกเมืองอย่าง แจ็คสันวิลล์ และกลายเป็นการกำเนิดของทีม "แจ็คสันวิลล์ จากัวร์ส"
แต่การมีทีมใน NFL ไม่จำเป็นต้องรอการมอบแฟรนไชส์จากทางลีกเสมอไป เพราะระบบทีมกีฬาแบบแฟรนไชส์เปิดโอกาสให้ทีมสามารถย้ายเมืองได้ และช่องว่างตรงนี้ก็เปิดโอกาสให้เหล่าผู้อกหักได้มีโอกาสแก้ตัวอีกครั้ง
โอกาสแก้ตัวของเซนต์หลุยส์
ขณะที่ชาวแจ็คสันวิลล์ฉลองกันอย่างชื่นมื่น เมืองเซนต์หลุยส์ต้องผิดหวังอย่างมากกับโอกาสที่จะได้มีแฟรนไชส์อเมริกันฟุตบอลกลับมาตั้งในเมืองอีกครั้ง
แต่ความผิดหวังทำให้เซนต์หลุยส์ได้เห็นโอกาส เมื่อทีมอเมริกันฟุตบอลเก่าแก่จากฝั่งตะวันตกของอเมริกา อย่าง ลอสแอนเจลิส แรมส์ กำลังเจอปัญหาความนิยมตกต่ำอย่างหนัก และทีมกำลังมองหาโอกาสที่จะย้ายเมือง เพื่อเพิ่มความนิยมอีกครั้ง
เป็นช่วงเวลานานหลายปีที่แรมส์กลายเป็นทีมเบอร์ 2 ของเมืองลอสแอนเจลิส ด้วยการเป็นรอง ลอสแอนเจลิส เรดเดอร์ส แบบไม่เห็นฝุ่น แถมผลงานของทีมก็ย่ำแย่จนถึงขนาดที่ว่าต้องอพยพไปแข่งที่เมืองแอนาไฮม์ ทางตอนใต้ของแอลเอ และสนามเหย้ากว่า 69,008 ที่นั่งของทีมก็ไม่มีที่ให้นั่ง เพราะมีแต่ที่นอน กับสนามที่โล่งว่าง โดยมีผู้ชมไม่ถึงครึ่งของสนาม
ทุกอย่างเป็นใจให้กับเซนต์หลุยส์ เพราะทีมแรมส์ปฏิเสธที่จะสร้างสนามใหม่ของทีม ซึ่งนโยบายของ NFL ในเวลานั้นต้องการให้ทุกทีมในลีกสร้างสนามใหม่เพื่อยกระดับมูลค่าแฟรนไชส์ของลีก และการเลือกไม่สร้างรังเหย้าใหม่ของแรมส์ที่แอลเอ ทำให้ NFL บีบให้ทีมแกะเขาเหล็กต้องย้ายเมือง เพื่อยกระดับความนิยมของแฟรนไชส์
การปฏิเสธการสร้างสนามของทีมแรมส์ไม่ได้เกิดขึ้นแบบไร้เหตุผล แต่ทางเจ้าของทีมปักธงไว้แล้วว่าจะทำการย้ายเมืองเพื่อหนีกระแสอันซบเซาในลอสแอนเจลิส ซึ่งเป้าตอนแรกของทีมแรมส์คือการย้ายไปที่เมืองบัลติมอร์ แต่เมื่อการเจรจาไม่ลงตัว หวยจึงมาตกอยู่ที่เซนต์หลุยส์
ทุกอย่างเหมาะเจาะลงตัวพอดีกับการพลาดสิทธิ์แฟรนไชส์ใหม่ 2 สิทธิ์ ทำให้เซนต์หลุยส์เปิดประตูพร้อมต้อนรับให้แรมส์ย้ายมาอยู่ที่เมืองโดยทางสภาเมืองเซนต์หลุยส์ หลังจากบ่ายเบี่ยงไม่ยอมทุ่มเงินสร้างสนามมาอย่างยาวนานก็ได้ทำการเปลี่ยนความคิดใหม่ และทุ่มเงินสร้างสนาม The Dome at America's Center ขึ้นมาใหม่ เพื่อเตรียมใช้เป็นสนามเหย้าของทีมแรมส์โดยเฉพาะ
เมื่อทุกอย่างเดินหน้าไปได้ด้วยดีก็ไม่มีอะไรเป็นปัญหาอีกต่อไป เพราะ NFL ต้องการมีทีมอยู่ที่เซนต์หลุยส์อยู่แล้ว ทางลีกจึงผลักดันการย้ายทีมนี้ให้เดินหน้าอย่างรวดเร็ว และได้รับการอนุมัติในปี 1994 เปลี่ยนลอสแอนเจลิส แรมส์ ให้กลายเป็น "เซนต์หลุยส์ แรมส์" อย่างเป็นทางการในฤดูกาล 1995
ได้เวลาของบัลติมอร์
เซนต์หลุยส์ไม่ใช่เมืองเดียวที่ต้องล้างแผลจากความผิดหวังด้วยการไปฉกทีมมาจากเมืองอื่น แต่รวมถึงบัลติมอร์ด้วยเช่นกัน ทั้งที่ที่นี่คือเมืองฟุตบอลที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เคยเป็นที่ตั้งของแฟรนไชส์ที่ยิ่งใหญ่อย่าง โคลต์ส ก่อนที่ทัพเกือกม้าจะย้ายหนีไปอยู่ที่เมืองอินเดียนาโปลิส ในปี 1984
บัลติมอร์ก็ไม่ต่างจากเซนต์หลุยส์ที่ต้องการแฟรนไชส์ฟุตบอลกลับมาอีกครั้ง แต่ต้องเจ็บช้ำกว่าเพราะ NFL ไม่เคยเห็นค่าและตัดพวกเขาออกจากโอกาสในการลุ้นแฟรนไชส์ NFL ใหม่ เมื่อปี 1993 หน้าตาเฉย
1
อย่างไรก็ตามความผิดหวังในครั้งนั้นทำให้บัลติมอร์เกิดดวงตาเห็นธรรมว่า ถ้าอยากได้ทีมใน NFL เงินเท่านั้นที่ช่วยได้ และเมืองก็พร้อมจะทุ่มหมดตัวเพื่อให้ได้ทีมอเมริกันฟุตบอลอาชีพกลับมาอีกครั้ง
ปีเตอร์ แองเจลอส เจ้าของทีมเบสบอล บัลติมอร์ โอรีออลส์ กลายเป็นหัวเรือใหญ่กับการพาทีมฟุตบอลมาที่บัลติมอร์ ด้วยการทุ่มเงิน 200 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ซื้อ แทมปาเบย์ บัคคาเนียร์ส เพื่อหวังโยกแฟรนไชส์ประจำเมืองแทมปา รัฐฟลอริดา มาอยู่ที่รัฐแมรี่แลนด์ให้ได้
น่าเสียดายที่เงินก้อนโตไม่สามารถซื้อบัคคาเนียร์สได้ บัลติมอร์จึงจำเป็นต้องหาแฟรนไชส์ที่จะย้ายมาที่เมืองด้วยความสมัครใจ ซึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจที่สุดจากสถานการณ์ตอนนั้นคือ คลีฟแลนด์ บราวน์ส ทีมเก่าแก่แห่งรัฐโอไฮโอ
อาร์ท โมเดลล์ เจ้าของทีมบราวน์ส ณ เวลานั้นมีปัญหาอย่างหนักกับสภาเมืองคลีฟแลนด์ที่ไม่ยอมให้เขาสร้างสนามใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ทีมเบสบอลประจำเมืองคลีฟแลนด์ อย่าง คลีฟแลนด์ อินเดียนส์ ได้สร้างสนามใหม่จนเสร็จในปี 1994 แต่บราวน์สกลับไม่ได้รับอนุญาตให้สร้างสนาม แถมสภาเมืองยังอยากให้ทีมย้ายไปเล่นร่วมสนามกับอินเดียนส์ ยิ่งทำให้ อาร์ท โมเดลล์ รู้สึกว่าถูกหยามเกียรติอย่างมาก
บัลติมอร์อาศัยปัญหาที่โมเดลล์มีกับเมืองคลีฟแลนด์ ยื่นข้อเสนอให้ย้ายมาอยู่ที่รัฐแมรี่แลนด์ ซึ่งหากโมเดลล์ยอมย้ายทีมมาอยู่ที่เมืองใหม่ ทางบัลติมอร์ก็พร้อมจะรับขวัญด้วยการสร้างสนามอเมริกันฟุตบอลแห่งใหม่ ให้สมใจอยากตามที่โมเดลล์ต้องการ
อย่างไรก็ตามโมเดลล์ก็ผูกพันกับคลีฟแลนด์มากจนเขาไม่อยากย้ายแฟรนไชส์ออกจากเมือง แม้ว่าผู้ถือหุ้นรายอื่นจะเป่าหูให้เขาย้ายทีมไปที่บัลติมอร์ แต่ก็ไม่สำเร็จเสียที
สุดท้ายฝั่งบัลติมอร์จึงต้องขู่ว่าถ้าไม่ยอมย้ายมาก่อนฤดูกาลปี 1996 จะเริ่มขึ้น พวกเขาจะไปซื้อแฟรนไชส์อื่นมาแทน ซึ่งตอนนั้นบัลติมอร์กำลังไปได้สวยกับการเจรจาซื้อ ซินซิเนติ เบงกอลส์ อีกหนึ่งทีมอเมริกันฟุตบอลจากรัฐโอไฮโอ
อาร์ท โมเดลล์ ยอมตอบตกลงภายใต้ข้อแม้ว่า เมืองบัลติมอร์จะต้องสร้างสนามแข่งที่ยอดเยี่ยมที่สุดให้กับทีม ทั้งสองฝ่ายดีลกันได้อย่างลงตัวในปี 1995 เพียงแต่การย้ายทีมครั้งนี้ต่างออกไปจากการย้ายทีมเมืองครั้งอื่น ๆ ที่เคยเกิดขึ้น จนกลายเป็นมิติใหม่ของการย้ายแฟรนไชส์ใน NFL
นั่นคือ อาร์ท โมเดลล์ เลือกนำแค่สิทธิ์แฟรนไชส์จากคลีฟแลนด์ไปที่บัลติมอร์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ไม่นำอย่างอื่นไปด้วย ทั้งชื่อทีม, เกียรติยศต่าง ๆ โมเดลล์เลือกทำการทิ้งทุกอย่างไว้ที่คลีฟแลนด์ และขอเริ่มต้นสร้างทีมใหม่ทั้งหมดที่บัลติมอร์
แทนที่จะเปลี่ยนชื่อจาก คลีฟแลนด์ บราวน์ส เป็น บัลติมอร์ บราวน์ส เหมือนในเคสการย้ายทีมอื่น ๆ ที่เปลี่ยนแค่ชื่อเมืองนำหน้า (เหมือนกับกรณีของแรมส์) อาร์ท โมเดลล์ ตั้งทีมของเขาขึ้นมาใหม่ในชื่อใหม่ นั่นคือ "บัลติมอร์ เรฟเวนส์" ที่กลายเป็นแฟรนไชส์เกิดใหม่ในฤดูกาล 1996
ส่วน คลีฟแลนด์ บราวน์ส ต้องสิ้นสุดประวัติศาสตร์ของทีมไปด้วยเช่นกัน แต่โชคยังดีที่สภาเมืองสามารถปรับตัวได้ทันจนสามารถดีลกับ NFL ได้ลงตัว และยอมสร้างสนามใหม่ตามที่ NFL ต้องการ ทำให้ NFL มอบสิทธิ์แฟรนไชส์ให้กับเมืองคลีฟแลนด์ในปี 1999 พา คลีฟแลนด์ บราวน์ส คืนชีพกลับมาสู่ NFL อีกครั้ง
แต่คลีฟแลนด์ไม่ใช่เมืองเดียวที่เจอปัญหาเรื่องสนามจนทำให้ต้องเสียทีม เพราะอีกหนึ่งเมืองใหญ่ทางตอนใต้ของสหรัฐฯ ก็กำลังเจอปัญหาแบบเดียวกัน
โอกาสสุดท้ายของเทนเนสซี
ในขณะที่ 4 จาก 5 เมืองที่ลงชิงชัยแย่งชิงสิทธิ์แฟรนไชส์จาก NFL เมื่อปี 1993 ได้ทีมกันไปหมดแล้ว แต่เมืองเมมฟิส จากรัฐเทนเนสซี กลับห่างไกลจากโอกาสที่จะได้มีทีมอเมริกันฟุตบอลเป็นของตัวเอง
อย่างไรก็ตามในยุค 90s เป็นยุคที่ NFL จริงจังอย่างมากกับการบีบให้แต่ละแฟรนไชส์สร้างสนามใหม่ และแม้ว่าในหลายเมืองจะเจอปัญหาเรื่องนี้จนต้องเสียทีมไปจากเมือง แต่ก็ยังมีหลายเมืองที่ไม่ได้เรียนรู้จากบทเรียนที่เกิดขึ้น หนึ่งในนั้นคือเมืองฮิวส์ตัน จากรัฐเท็กซัส
ย้อนไปช่วงต้น 90s ฮิวส์ตัน ออยเลอร์ส คือหนึ่งในทีมที่มาแรงที่สุด ภายใต้การนำของ วอร์เรน มูน ควอเตอร์แบ็กผิวดำชื่อดัง จนทำให้ความนิยมของแฟรนไชส์ในเมืองฮิวส์ตันพุ่งสุงขึ้น สิ่งที่ตามมาคือการที่ออยเลอร์ส ขอให้สภาเมืองช่วยสร้างสนามใหม่ให้กับทีม เมื่อปี 1995
แต่โชคร้ายที่สภาเมืองฮิวส์ตันไม่มีงบประมาณมากพอที่จะทุ่มเงินไปกับการสร้างสนามกีฬาใหม่ให้กับทีม ซึ่งไม่สบอารมณ์กับทั้งผู้บริหารทีมออยเลอร์ส และ NFL
ข่าวคราวความบาดหมางในฮิวส์ตันทำให้ฝั่งเมืองเมมฟิสที่ยกธงขาวในการสร้างทีม NFL ขึ้นมาใหม่ เกิดไฟขึ้นมาอีกครั้งในการดึงทีมมาอยู่ที่รัฐเทนเนสซีให้ได้
แม้ว่าในคราวนี้ทางเทนเนสซีต้องปรับแก้ด้วยการเปลี่ยนฐานเดิมจากเมืองเมมฟิสไปเป็นเมืองแนชวิลล์แทน เพราะสามารถสร้างสนามใหม่ให้กับทีมออยเลอร์สได้ใจกลางเมืองแนชวิลล์ ทางเทนเนสซีก็เดินเกมเร็วเข้าพูดคุยกับผู้บริหารทีมออยเลอร์สทันที แน่นอนว่าพวกเขาเสนอการสร้างสนามใหม่ให้กับแฟรนไชส์ และขอให้ออยเลอร์สย้ายมาอยู่ที่แนชวิลล์ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
ฝั่งของออยเลอร์สก็เห็นชัด ๆ ว่าเมืองฮิวส์ตันไม่มีทางจะสร้างสนามใหม่ให้กับทีม จนทำให้ในปี 1996 การย้ายเมืองของ ฮิวส์ตัน ออยเลอร์ส จึงเกิดขึ้น ด้วยการประกาศย้ายไปเล่นที่เมืองแนชวิลล์ รัฐเทนเนสซี ภายใต้ชื่อใหม่ อย่าง เทนเนสซี ออยเลอร์ส
เทนเนสซี ออยเลอร์ส เปิดตัวในปี 1997 ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น "เทนเนสซี ไททันส์" ในปี 1999 เพื่อต้อนรับสนามเหย้าใหม่ตามที่สภาเมืองแนชวิลล์เคยตกลงว่าจะสร้างไว้ เมื่อครั้งทำสัญญาย้ายแฟรนไชส์ออกจากฮิวส์ตัน
ขณะที่ฮิวส์ตันก็เสียทีมของตัวเองไป แต่เหมือนกับเรื่องเดิมของเมืองคลีฟแลนด์ไม่มีผิดเพี้ยน เมืองฮิวส์ตันได้ทำการสร้างสนามอเมริกันฟุตบอลของเมืองขึ้นมาใหม่ ทำให้ NFL มอบสิทธิ์แฟรนไชส์คืนให้กับฮิวส์ตัน กลายเป็นการก่อกำเนิดทีม "ฮิวส์ตัน เท็กซานส์" ขึ้นมาในปี 2002 และเป็นแฟรนไชส์ที่ 32 ล่าสุดของ NFL ที่เกิดขึ้นจนถึงปัจจุบัน
การช่วงชิงแฟรนไชส์เพียงหนึ่งเดียวของ 5 เมือง นำไปสู่การพลิกโฉมหน้าของ NFL ภายในเวลาเพียงแค่ 3 ปี … แคโรไลนา แพนเทอร์ส, แจ็คสันวิลล์ จากัวร์ส, บัลติมอร์ เรเวนส์ ถือกำเนิดขึ้น และส่งผลกระทบตามมา ซึ่งการเกิดใหม่อีกครั้งของ คลีฟแลนด์ บราวน์ส รวมถึง ฮิวส์ตัน เท็กซานส์
จากการเพิ่มเพียง 1 ทีม สุดท้าย NFL ได้ทีมเพิ่มขึ้นมาอีก 4 ทีม (ไม่นับคลีฟแลนด์ บราวน์ส ที่เป็นการชุบชีวิต ไม่ใช่การตั้งทีมใหม่) บวกกับทีมที่มีการย้ายเมืองก็ได้รับอนาคตที่ดีกว่าเดิม ทั้งแรมส์ย้ายไปสู่เมืองเซนต์หลุยส์ ทำให้ทีมคว้าแชมป์ซูเปอร์โบวล์ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของแฟรนไชส์ รวมถึง เทนเนสซี ไททันส์ ที่ได้เข้าชิงซูเปอร์โบวล์เป็นครั้งแรกเช่นกันหลังย้ายออกจากฮิวส์ตัน
การต่อสู้เพื่อแย่งชิงสิทธิ์แฟรนไชส์ใหม่ในครั้งนั้นจึงส่งผลมากมายอย่างน่าเหลือเชื่อ และช่วยให้ NFL สร้างรากฐานขยายตลาดกีฬาเข้าสู่กลุ่มคนใหม่ ๆ เพื่อยกระดับมาตรฐานของธุรกิจผ่านการสร้างสนามคุณภาพเยี่ยมที่จะเข้ามายกระดับเกม เพิ่มมูลค่าของลีก และแฟรนไชส์ขึ้นอีกเป็นเท่าตัว ทำให้ NFL กลายเป็นกีฬาเบอร์ 1 ของสหรัฐอเมริกาอย่างแข็งแกร่งมาจนถึงทุกวันนี้
บทความโดย ณัฐนนท์ จันทร์ขวาง
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา