Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เรื่องญี่ปุ่นวันละนิด
•
ติดตาม
1 เม.ย. 2022 เวลา 01:00 • ประวัติศาสตร์
-- 1 เมษายน อดีตวันสำคัญของญี่ปุ่น ที่ไม่ใช่เอพริลฟูล --
วันที่ 1 เมษายน เป็นวัน April Fool’s Day วันโกหกโลก
โจ๊กที่ฉันชอบที่สุดตลอดกาลหนีไม่พ้นข่าวของ BBC เรื่องเกษตรกรอิตาลี่ปลูกต้นสปาเก็ตตี้ กับ นาฬิกาบนหอคอยบิ๊กเบนกำลังจะเปลี่ยนเป็นระบบดิจิตัล
ในญี่ปุ่นมักอธิบายวันนี้ว่าเป็น “วันที่โกหกก็ไม่เป็นไร”(嘘を付いていい日)คนที่ถูกอำในวันนี้จะถูกเรียกว่า “คนโง่เดือนเมษา”(四月馬鹿)เหมือนกับที่อื่นๆ
1
1
คนญี่ปุ่นเพิ่งมาเริ่มโกหกตามชาวยุโรปในวันที่ 1 เดือน 4 ตามปฏิทินสุริยคติในสมัยไทโช นั่นคือราวร้อยกว่าปีมานี้เอง
1
ก่อนหน้านั้น วันที่ 1 เดือน 4 ตามปฏิทินจันทรคติ (ตรงกับปลายเดือนเมษา-ต้นเดือนมิถุนา) มีกิจกรรมอื่นที่สำคัญกว่านั้น
สำคัญถึงขนาดกระทบต่อชีวิตทุกผู้ทุกคน ไม่เว้นแม้แต่เด็กเล็กทีเดียวเชียว
ภาพ © dreamydays (PhotoAC)
ก่อนจะเฉลยว่าเป็นอะไร เรามาดูคำศัพท์วันที่ 1 เมษายนกันก่อนดีกว่า
ตัวอักษรคันจิของวันที่ 1 เมษายน 四月一日 สามารถอ่านได้สองแบบ คือ
shigatsu tsuitachi(しがつ ついたち)และ watanuki(わたぬき)
ใครเคยอ่านมังงะหรือดูซีรีส์เรื่อง xxxHolic คงคุ้นกับชื่อ “วาตานุกิ” ซึ่งเป็นนามสกุลของพระเอก
นามสกุลวาตานุกิมีอยู่จริงๆ พบได้ในจังหวัดฮอกไกโดและโทยามะ แต่จะใช้ตัวอักษร 四月朔日 หรือ 綿貫 คนที่ใช้นามสกุลที่เขียนว่า 四月一日 มีน้อยมากกกกจนแทบเรียกได้ว่าพบเจอได้แต่ในเรื่องแต่ง
ทำไมคำๆ นี้ถึงได้อ่านว่า “วาตานุกิ” พจนานุกรมอธิบายไว้ว่ามาจากธรรมเนียมโบราณที่วันที่ 1 เดือน 4 จะดึงฝ้ายออกจากชุดกิโมโน เนื่องจากอากาศอบอุ่นขึ้นแล้ว
ฝ้าย : วาตะ(綿)
ดึงออก:นุกุ(抜く)
รวมกันเป็น วาตานุกิ (綿抜き)การดึงฝ้ายออก
ดึงฝ้ายออกจากกิโมโน? เอ๊ะ เป็นยังไงกันนะ?
คาดว่าคนที่ได้อ่านประโยคนี้น่าจะสงสัยเหมือนกันกับฉัน
เรื่องนี้ถ้าจะเล่าให้เห็นภาพคงต้องท้าวความเกี่ยวกับรายละเอียดเรื่องเครื่องแต่งกายญี่ปุ่นกันสักหน่อย
ลองจินตนาการไปถึงเมื่อพันกว่าปีก่อนที่คนญี่ปุ่นยังใส่ชุดกิโมโนคีบรองเท้าเดินกันทุกวัน สมัยนั้นแค่พัดคลี่ไม้ไผ่สักอันก็ถือเป็นของหรูหรา เป็นวิทยาการล้ำหน้าจากต่างแดนแล้ว
แน่นอนเสื้อผ้าสำเร็จไม่มีขาย เทคโนโลยีไม่ดีพอทำเสื้อโค้ตหรือเสว็ตเตอร์ขนสัตว์อุ่นๆ เงินที่จะใช้ซื้อเสื้อผ้ายิ่งไม่ค่อยมีเข้าไปใหญ่ ได้ผ้ามาทีจึงต้องเอามาตัดเย็บชุดเอง และใช้ให้คุ้มที่สุดเท่าที่จะคุ้มได้
แต่เกาะญี่ปุ่นมีถึง 4 ฤดู ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง ฤดูหนาว แล้วจะทำยังไงดีล่ะ?
วิธีที่ใช้อยู่จวบจนปัจจุบันคือ ตัดเย็บชุดกิโมโน (着物) เป็น 3 แบบ คือ
1 อาวาเสะ(袷)
2 ฮิโตเอะ(単衣)
3 อุซึโมโนะ(薄物)
(ดูภาพถ่ายเปรียบเทียบได้ที่ลิงค์นี้ค่ะ ↓
https://kimono-beauty.com/feature/1232/
)
กิโมโนทั้งสามแบบนี้มองไกลๆ แยกกันแทบไม่ออก แต่ถ้าคลี่ออกมาสัมผัสจะพบความแตกต่างคือ
...อาวาเสะ(袷)ใช้ผ้าเนื้อหนา เย็บโดยใช้ผ้าประกบกันตามชื่อ จึงมีด้านหน้าและซับใน อาวาเสะนี่แหละคือชุดแบบที่จะใส่ฝ้ายเข้าไป
...ฮิโตเอะ(単衣)ใช้ผ้าชิ้นเดียว ไม่มีซับใน
...อุซึโมโนะ(薄物)ใช้ผ้าชิ้นเดียว ไม่มีซับใน เนื้อผ้าบางสมชื่อ ทอจากไหมแพร ใยกัญชง หรือป่าน
อุซึโมโนะเป็นชุดกิโมโนสำหรับหน้าร้อน โดยเฉพาะเดือนที่ร้อนที่สุดอย่างกรกฎาคมและสิงหาคม
ทีนี้ พอถึงฤดูหนาวก็ยัดปุยฝ้ายสีขาวเข้าไปในชุดอาวาเสะ ลักษณะเดียวกับพวกเสื้อขนเป็ด ชุดจะแลดูนุ่มๆ พองๆ เหมือนผ้านวม อุ่นดี
พออากาศเริ่มอุ่นก็เลาะผ้าซับในออก เอาฝ้ายออกมาแล้วเย็บกลับคืน ถึงหน้าร้อนก็เลาะซับในออกให้เหลือผืนเดียว
ทำอย่างนี้วนไปจนกว่าชุดจะพัง ค่อยเอาผ้าไปรียูสทำกระเป๋า รองเท้า ผ้าขี้ริ้วต่อ
วิธีแบบนี้พบครั้งแรกในบันทึกสมัยเฮอันเมื่อพันกว่าปีที่แล้วในฐานะกิจกรรมประจำปีของชาววัง เป็นวิธีที่รับมาจากจีนอีกที ไม่เห็นหลักฐานว่าชนชั้นอื่นทำยังไงกัน แต่สมัยถัดๆ มาวิธีนี้แพร่หลายไปนอกวังทุกคนจึงทำต่อกันมาเรื่อยๆ
ชุดแบบที่ใส่ฝ้ายไว้ข้างในยังคงหลงเหลือมาให้เห็นอยู่ปัจจุบันในรูปเสื้อคลุม "ฮันเต็น" แต่เดิมเป็นเสื้อคลุมสำหรับช่างฝีมือและพ่อค้า มีอิมเมจเป็นเสื้อคลุมของคุณลุงคุณป้าในจังหวัดที่หนาวๆ เรียกกันว่า "วาตะอิเระฮันเต็น" (綿入れ半纏)
วาตะอิเระ (綿入れ): ใส่ฝ้าย
ภาพเสื้อคลุมฮันเต็นที่ใส่ฝ้ายไว้ข้างใน © たうこ (photoAC)
ในสมัยเอโดะ (ช่วงอยุธยา) ที่สังคมสงบ ซามุไรและพ่อค้าที่มั่งมีจะมีช่างเย็บผ้าที่เรียกว่า "โอโมโนชิ"(御物師)คอยปรับชุดโดยเฉพาะ ส่วนชาวบ้านจะยังคงจัดการกันเอง เป็นอีกหนึ่งในงานหนักของเหล่าแม่บ้านที่ต้องคอยแก้ชุดของสมาชิกในครอบครัวกลับไปกลับมา
ด้วยความญี่ปุ่น จะไม่ต่างคนต่างเปลี่ยนชุดตามใจฉัน มีการจัดระบบ กำหนดวันแน่ชัด ปฏิทินการเปลี่ยนชุดสมัยก่อนจึงหน้าตาแบบนี้ ↓↓↓
วันที่ 1 เดือน 4 --- เอานุ่นออกจากชุดอาวาเสะ(袷 - 綿抜き)
วันที่ 5 เดือน 5 --- เปลี่ยนจากชุดอาวาเสะ เป็นชุดฮิโตเอะสำหรับหน้าร้อนที่เรียกว่าคาตาบิระ(帷子)
วันที่ 15 เดือน 8 --- เปลี่ยนจากชุดคาตาบิระ เป็นชุดผ้าเนื้อบางทอจากไหมดิบที่เรียกว่าซึซึชิ(生絹)
วันที่ 1 เดือน 9 --- เปลี่ยนจากชุดซึซึชิ เป็นชุดอาวาเสะ
วันที่ 9 เดือน 9 ---ใส่ปุยฝ้ายเข้าไปในชุดอาวาเสะ(綿入れ)
ตามปฏิทินจันทรคติ วันที่ 9 เดือน 9 จะตรงกับช่วงต้นเดือนตุลาคม อุณหภูมิต่ำสุดของโตเกียวและเกียวโตคือประมาณ 20 องศา พอเข้ากลางเดือนอุณหภูมิจะลดฮวบลงมาราว 5 องศา ฟังดูสมเหตุสมผลดีที่จะเริ่มเปลี่ยนช่วงนี้
ส่วนสมัยนี้จะเป็นประมาณนี้ ↓↓↓
เดือนตุลาคม - พฤษภาคม --- ชุดอาวาเสะ (ผ้าสองชิ้น)
เดือนมิถุนายน - กันยายน --- ชุดฮิโตเอะ (ผ้าชิ้นเดียว)
เดือนกรกฎาคม - สิงหาคม --- ชุดอุซึโมโนะ (ผ้าเนื้อบาง)
สมัยนี้ฤดูหนาวจะสวมชุดกิโมโนแบบที่เรียกว่าอาวาเสะ(袷)คลุมผ้าคลุมไหล่แคชเมียร์ วูลหรือเฟอร์ ข้างในอาจจะใส่ฮีทเทค แล้วกลับไปเปิดฮีทเตอร์ ห่มผ้าห่มไฟฟ้าที่บ้าน © photoAC
ตั้งแต่สมัยเมจิ (ราวสมัย ร.5) คนญี่ปุ่นหันมาสวมเสื้อผ้าแบบตะวันตกแต่ก็ยังคงธรรมเนียมการเปลี่ยนชุดตามฤดูกาลแบบนี้ไว้
ครั้นเปลี่ยนปฏิทินใหม่ในปี 1873 รัฐบาลเมจิได้กำหนดวันเปลี่ยนชุดใหม่เป็นวันที่ 1 มิถุนายน เรียกว่า “วันโคโรโมกาเอะ”(衣替えの日) โดยให้เปลี่ยนชุดและยูนิฟอร์มจากแขนยาวมาเป็นแขนสั้น แล้ววันที่ 1 ตุลาคม ค่อยเปลี่ยนกลับเป็นชุดแขนยาว
แต่เดิมเป็นข้อกำหนดเฉพาะข้าราชการทหารตำรวจ จากนั้นค่อยๆ กระจายไปยังกลุ่มอื่นๆ ตามเคย ยูนิฟอร์มของทั้งราชการ บริษัทและโรงเรียนในญี่ปุ่นจึงมี 2 เวอร์ชั่นสำหรับ 2 สภาพอากาศ
คนญี่ปุ่นจำนวนมากยังคงเคร่งครัดถึงขนาดว่าต่อให้เหงื่อออกหรือหนาวสั่นแค่ไหนก็กัดฟันใส่ตามประกาศ
นอกจากกลัวแตกต่างจากคนรอบข้าง คงเพราะคุณค่าประการหนึ่งที่ถูกปลูกฝังและยึดถือคือ การปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลต่างๆ นั่นเอง
ก่อนจะจบ...ขอทิ้งท้ายด้วยเรื่องน่าสนใจอีกหนึ่งเรื่อง
นั่นคือ ในสมัยเอโดะ นอกจากเป็นวันเปลี่ยนเครื่องแต่งกายให้เข้ากับสภาพอากาศยิ่งขึ้น วันที่ 1 เดือน 4 ยังถือเป็น "วันฟุกิริ"(不義理の日)ที่อาจเรียกได้ว่าเป็น "วันขอขมาลาโทษ"
กิจกรรมที่จะทำกันในวันนี้คือการส่งจดหมายหาคนเคยรู้จักเพื่อขอโทษที่ทำตัวย่ำแย่
คำว่า "ฟุกิริ"(不義理)จริงๆ แล้ว หมายถึงการกระทำบางอย่างที่เสื่อมเสีย ไม่ถูกต้องตามครรลองคลองธรรม อกตัญญู เนรคุณ ไม่ซื่อสัตย์ พูดโกหก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งมักใช้อธิบายพฤติกรรมคืนเงินที่ยืมไปช้า หรือเบี้ยวหนี้!
ก็ไม่รู้เหมือนกันนะคะว่าวันนี้ในอดีต ตอนที่ส่งจดหมายขอโทษไปตามธรรมเนียม คนที่ติดหนี้อยู่เขาจะแจ้งวันคืนเงินที่แน่นอน หรือเอาเงินไปคืนเจ้าหนี้กันด้วยรึเปล่า
แต่ธรรมเนียมนี้ค่อยๆ เลือนหายไปหลัง April Fool แบบที่เรารู้จักได้รับความนิยม เหล่านี้จึงกลายเป็นเรื่องราวในอดีตที่หลงเหลือมาแต่เพียงร่องรอยเล็กๆ ค่ะ
อ่านเพิ่มเติม (ภาษาญี่ปุ่น):
* มังงะหนึ่งหน้าเกี่ยวกับชีวิตผู้คนในสมัยเอโดะ
https://xn--rcktbp5f291rly5ahx9c.com/edo_rensai.html
* ความแตกต่างของชุดกิโมโนแต่ละแบบ
https://kimono-beauty.com/feature/1232/
https://www.buysellonline.jp/blog/usumono
* การใส่ปุยฝ้ายเข้าในชุดอาวาเสะ (綿入れ)
http://koyomi.vis.ne.jp/doc/mlwa/200705190.htm
https://www.muji.net/lab/clothes/111123.html
https://jpnculture.net/koromogae/
* ความหมายของคำว่า 不義理
https://word-dictionary.jp/posts/5456
* วันเสียมารยาท (不義理の日)
https://ameblo.jp/apolab/entry-11210197308.html
* ที่มาของวัน April Fool's Day ในญี่ปุ่น
https://jpnculture.net/aprilfool/
ป.ล. เรื่องที่เขียนมานี้......เป็นเรื่องจริงทั้งหมดเจ้าค่ะ :)
ญี่ปุ่น
วัฒนธรรม
เกร็ดประวัติศาสตร์
บันทึก
2
1
1
2
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย