28 มี.ค. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Airbus vs Boeing การแข่งขันทางธุรกิจที่เป็นมากกว่าแค่การผลิตเครื่องบิน
หนึ่งในการแข่งขันทางธุรกิจ ที่ดุเดือด เข้มข้น และฟาดฟันกันมากที่สุดในโลก คือ การแข่งขันระหว่าง Airbus และ Boeing
ที่ทั่วไปแล้ว สิ่งที่สื่อมักจะหยิบขึ้นมาเป็นประเด็นหลักเมื่อต้องพูดถึง 2 บริษัทนี้ มักจะเป็นเรื่องข่าวอื้อฉาว หรือ อุบัติเหตุเล็กใหญ่ที่เกิดขึ้นจากเครื่องบินทั้ง 2 เจ้าที่คิดแล้วเป็นมากกว่า 90% ของเครื่องบินพาณิชย์โลก
แต่หนึ่งประเด็นที่มักจะถูกละเลยไป แต่ก็มีความสำคัญต่อการแข่งขันของทั้งสองบริษัท ไม่น้อยไปกว่าประเด็นข้างบน ก็คือ เรื่องของโครงสร้างตลาดที่ “มีผู้เล่นรายใหญ่แค่สองคน” ที่ปัจจัยสำคัญอย่างมาก ต่อสภาพการแข่งขัน และอิทธิพลของบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินสองเจ้านี้
ซึ่งมันก็มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนกว่านั้นไปอีก เพราะธุรกิจการผลิตเครื่องบินเหล่านี้ ยังเกี่ยวข้องต่อเนื่องไปถึง “ความมั่นคงในน่านฟ้า” ที่มหาอำนาจทั่วโลก ก็อยากเป็นผู้ครอบครองหลักกันทั้งสิ้น จนทำให้เกิดประเด็นข้อพิพาทกันในองค์กรระดับโลกเลย
📌 จุดเริ่มต้นของการแข่งขัน
Boeing เป็นผู้เข้าแข่งขันสัญชาติอเมริกัน ที่อยู่ในสังเวียนธุรกิจเครื่องบินพาณิชย์มาอย่างยาวนาน โดยบริษัทถูกก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1916 และก็ได้รับการยอมรับในคุณภาพการผลิตเครื่องบินพาณิชย์ตั้งแต่ยุคแรกๆ แล้ว
ชื่อเสียงที่เริ่มสั่งสมขึ้นมาเรื่อยๆ อย่างมั่นคง ก็ยิ่งมาเพิ่มขึ้นอย่างมากในทศวรรษที่ 1950 เมื่อพวกเขาได้เปิดตัวเครื่องบินรุ่น 707 ซึ่งถือเป็นเครื่องบินรุ่นแรกในตระกูล 7XX ที่ผลิตต่อเนื่องยาวนานมาถึงปัจจุบัน
 
ความสำเร็จของ Boeing แพร่ขยายออกไปทั่วโลก บริษัทของพวกเขาก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเบอร์หนึ่งของวงการ มีหนึ่งในคำพูดติดปากในการโฆษณาของ Boeing ที่กล่าวไว้ว่า
“ถ้าไม่ใช่ Boeing ฉันก็ไม่ยอมขึ้นเครื่องหรอก
(If It Ain’t Boeing – I Ain’t Going)”
ความสำเร็จของ Boeing กลายมาเป็นยิ่งกว่าความสำเร็จทางด้านการเงิน แต่เป็นความภาคภูมิใจของชาวอเมริกันด้วย เพลง และโฆษณาจำนวนมาก นำเครื่องบิน Boeing ไปใช้ประกอบด้วย
แต่ในขณะที่ Boeing กำลังใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ พันธมิตรของสหรัฐอเมริกาอย่างสหภาพยุโรปก็เริ่มแสดงความกังวล
เพราะในตอนนั้น ไม่มีบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินรายใดของสหภาพยุโรปที่จะสามารถแข่งขันกับคู่แข่งจากทางสหรัฐฯ ได้เลย จนทำให้พวกเขาต้องเข้ามาร่วมประชุมกัน
เรื่องนี้ถือเป็นประเด็นที่มีความสำคัญมาก เพราะเทคโนโลยีการบินถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญที่จะกำหนดทิศทางอำนาจของโลกได้เลย หากบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินในประเทศของตัวเองล้มหายตายจากไปหมด ก็จะทำให้สิ้นสุดการพัฒนาเทคโนโลยีน่านฟ้าไปด้วย
จนในปี 1969 ให้หลัง 50 ปี ของการก่อตั้ง Boeing บริษัทผลิตเครื่องบินพาณิชย์ Airbus ก็ถูกก่อตั้งขึ้นมา โดยเริ่มแรกเป็นความร่วมมือจาก 3 ประเทศ คือ ฝรั่งเศส อังกฤษ และ เยอรมนี ก่อนที่ต่อมาประเทศอย่างสวิสเซอร์แลนด์และเบลเยียมจะเข้ามาร่วมด้วย
📌 การแข่งขันเสรี คือ การปิดกั้นโอกาสของคนอื่น?
ประเด็นสำคัญหลังจากที่ Airbus ก่อตั้งขึ้นมา คือ พวกเขาได้รับเงินสนับสนุนจากทางรัฐบาลในสหภาพยุโรปมหาศาล โดยมีการประมาณจากทาง WTO ว่า เงินที่ Airbus ได้รับมีมูลค่าสูงถึง 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เลยทีเดียว
ที่บอกว่าสำคัญ เพราะว่า ตามข้อตกลงการค้าเสรีที่โลกตะวันตกตอนนั้นตกลงกันไว้ การที่รัฐบาลมาช่วยสนับสนุนเงินกับอุตสาหกรรมใดเป็นพิเศษแบบนี้ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจาก มันจะไปกระทบให้ “การแข่งขันอย่างเสรี”ระหว่างประเทศ ไม่สามารถดำเนินไปได้
แต่ในธุรกิจแบบการผลิตเครื่องบิน ที่มีต้นทุนมหาศาลและต้องอาศัยการลองผิดลองถูกด้านเทคโนโลยีแล้ว มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ที่บริษัทจะเติบโตขึ้นมาได้โดยไม่อาศัยการช่วยเหลือจากรัฐบาล
แต่ในขณะที่ Boeing ฟ้องร้ององค์กรระหว่างประเทศว่า Airbus รับเงินช่วยเหลือนั้น ทางด้าน Airbus เองก็กล่าวหากลับมาทาง Boeing เช่นกันว่า พวกเขาก็ได้รับการเอื้อประโยชน์จากรัฐบาลสหรัฐฯ เช่นกัน โดยเฉพาะในสัญญาการจ้างงานผลิตทางทหารมูลค่ามหาศาล ที่เป็นส่วนช่วยให้พวกเขามีเงินมาพัฒนาเครื่องบินพาณิชย์
2
ซึ่งกรณีความขัดแย้งกันระหว่างสองบริษัท ก็ถือเป็นหนึ่งในความขัดแย้งที่ยืดเยื้อ ยาวนาน ระหว่างพันธมิตรมหาอำนาจของโลก สหรัฐฯ-สหภาพยุโรป ไม่สามารถหาข้อตกลงที่สมดุลกันได้เสียที
แต่ในฐานะผู้บริโภคภายนอก การเข้ามาของ Airbus ก็สร้างประโยชน์ไม่น้อย เนื่องจาก มันได้สร้างการแข่งขันให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมนี้ ในการพัฒนาเครื่องบินรุ่นใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นและราคาถูกลง
ในสารคดีเรื่อง Downfall: The Case Against Boeing ตั้งข้อสังเกตด้วยซ้ำว่า การเข้ามาของมีส่วนร่วมในตลาดของ Airbus มากขึ้นนี่แหละ ที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้ทาง Boeing ต้องกลับมาปฏิรูปองค์กรตนเองอีกครั้ง หลังจากละเลยมานานโดยเฉพาะหลังจากข่าวอื้อฉาวในการผลิตเครื่องบินรุ่น 747 Max ที่เคยถูกประธานาธิบดีทรัมป์สั่งห้ามใช้บิน
ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้น ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ในปี 2019 ทาง Airbus สามารถแซงหน้า Boeing ขึ้นมาเป็นผู้ผลิตเครื่องบินพาณิชย์อันดับหนึ่งของโลกได้
📌 แล้วมันจะเป็นแค่สองบริษัทตลอดไปไหม?
อย่างที่กล่าวไปแล้วในบทความ เทคโนโลยีการบินมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการกำหนดทิศทางอำนาจของโลก และก็เป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่ามหาศาล ซึ่งก็ถือเป็นต้นทุนสำหรับประเทศที่ซื้อเครื่องบินจำนวนมาก ซึ่งประเทศที่มีภาระหนักอึ้งในเรื่องนี้ในปัจจุบันก็คือ ประเทศจีน
นับจากเวลาการก่อตั้ง Airbus ประมาณ 40 ปี ในปี 2008 บริษัท Commercial Aircraft Corporation of China หรือ Comac ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเครื่องบินสัญชาติจีนก็ถูกก่อตั้งขึ้นมา
หนึ่งในเส้นทางที่ทางบริษัทจีนเดินมาตามรุ่นพี่ เพื่อเข้าชิงชัยในสังเวียนนี้ คือ การรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล
1
โดยอ้างอิงจาก Think Tank ชื่อดัง Center for Strategic and International Studies (CSIS) พวกเขาประมาณว่า ตัวเลขเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลจีนให้ Comac มีมูลค่าอย่างน้อย 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่า เงินที่ Airbus ได้รับสองเท่า
นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้ Comac เติบโตได้อย่างดี คือ ขนาดตลาดของจีนเอง
โดยอ้างอิงจากการคาดการณ์ของ Boeing ในอีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศจีนจะทำการซื้อเครื่องบินพาณิชย์ถึง 8,400 ลำ และในปัจจุบัน 1 ใน 4 ของเครื่องบิน Boeing ก็ถูกส่งไปที่จีนแล้ว
มีเรื่องหนึ่งของ Airbus ที่เรายังไม่ได้เล่าข้างบน ก็คือ ในช่วงเริ่มต้นเครื่องบินของพวกเขาไม่ได้รับการเหลียวแลจากสายการบินยักษ์ใหญ่ในอเมริกาเลย ต้องรอหลายสิบปีถึงจะเข้าไปเจาะตลาดในอเมริกาได้ แต่ตลาดแรกๆ ที่ทำให้พวกเขาสามารถลืมตาอ้าปากได้ ก็มาจากสายการบินในยุโรปนั่นเอง
ซึ่งทางการจีนก็เหมือนจะเดินตามรอยรุ่นพี่อย่าง Airbus อีกข้อหนึ่ง และตอนนี้ก็มีการผลิตเครื่องบินรุ่นต้นแบบออกมาแล้ว ในชื่อรุ่น C919
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังบอกว่า คงต้องใช้เวลาอีกเป็นทศวรรษอย่างน้อยถึงบริษัทผลิตเครื่องบินจีนจะมีโอกาสมาแซงหน้า หรือเทียบเท่ากับ Airbus และ Boeing ได้
แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะ มันก็เป็นเรื่องที่เกิดมาแล้วกับการแข่งขันของ 2 บริษัทข้างต้นที่ต้องใช้เวลาหลายสิบปีกว่าที่ Airbus จะขึ้นมาเทียบเท่า Boeing
ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า หนังจะฉายซ้ำตอนเดิมหรือเปล่า?
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
โฆษณา