28 มี.ค. 2022 เวลา 14:51 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ภาพล่าสุดจากยาน Solar Orbiter ขององค์กรอวกาศสหภาพยุโรป (ESA) และนาซา เผยให้เห็นถึงภาพดวงอาทิตย์ในย่านแสงอัลตราไวโอเลตในวันที่ 7 มีนาคม 2022 ซึ่งถือว่าเป็นภาพดวงอาทิตย์ที่มีความละเอียดมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติอศาสตร์ ทั้งนี้ต้องขอบคุณกล้อง Extreme Ultraviolet Imager (EUI) ซึ่งสามารถถ่ายภาพโครงสร้างที่มีความละเอียดสูงในชั้นบรรยากาศดวงอาทิตย์ตั้งแต่ชั้นโครโมสเฟียร์ไปจนถึงโคโรนาได้ ทำให้เราได้ภาพที่มีความละเอียดสูงสุดของชั้นโคโรนาที่เป็นชั้นบรรยากาศภายนอกของดวงอาทิตย์ โดยมีความละเอียดมากกว่า 83 ล้านพิกเซลหรือคิดเป็นความละเอียดประมาณ 10 เท่าของทีวี 4K
และขณะที่ตัวยาน Solar Orbiter กำลังถ่ายภาพนี้อยู่นั้น เครื่องมือ Spectral Imaging of the Coronal Environment (SPICE) ก็ยังได้ถูกใช้เพื่อถ่ายภาพดวงอาทิตย์ในช่วงความยาวคลื่นของแสงอัลตราไวโอเลตที่ปล่อยออกมาจากอะตอมต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งกระบวนการนี้ช่วยให้เราสามารถมองลอดใต้ชั้นโคโรนาและเผยให้เห็นถึงอุณหภูมิของดวงอาทิตย์ในชั้นที่เรียกว่าโครโมสเฟียร์
นอกจากนี้ในวันที่ 26 มีนาคม ยานอวกาศ Solar Orbiter ยังได้บรรลุภารกิจหลักอีกขั้น นั่นคือ ได้เดินทางถึงจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดจุดแรก ขณะนี้ยานอยู่ในวงโคจรของดาวพุธ ซึ่งเป็นดาวเคราะห์ชั้นใน
แต่ทว่านี่ก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้นเพราะในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ยานอวกาศลำนี้จะเดินทางโคจรอบดวงอาทิตย์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในระยะที่ใกล้ขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่เริ่มเปลี่ยนทิศทางการโคจรให้แล่นผ่านขั้วเหนือและใต้ของดวงอาทิตย์อย่างที่ไม่เคยมีใครสังเกตมาก่อน
ซึ่งเราสามารถรับชมภาพชั้นโคโรนาของดวงอาทิตย์ฉบับเต็มซึ่งบันทึกโดยยานสำรวจ Solar Orbiter ได้ทาง https://www.esa.int/Science_Exploration/Space_Science/Solar_Orbiter/Zooming_into_the_Sun_with_Solar_Orbiter
โฆษณา