29 มี.ค. 2022 เวลา 00:32 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Inverted yield curve คืออะไร
ใครสงสัยว่า Invert Yield Curve นี้คืออะไร ช่วงนี้มักจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ วันนี้จะมาสรุปให้ฟังกันแบบเข้าใจง่ายๆ ให้อ่านกัน...
ช่วงนี้ถ้าใครติดตามข่าวเศรษฐกิจ มักจะได้ยินคนพูดถึง inverted Yield Curve ว่า เมื่อเกิด Inverted Yield Curve จะเป็น market indicator หรือ สัญญาณบอกว่าภาวะ recession หรือภาวะเศรษฐกิจถดถอยกำลังจะตามมา
Recession คือ การที่ GDP ติดลบอย่างน้อย 2 ไตรมาสติดกัน
ส่วนใครต้องการอ่านเพิ่มเติมว่า GDP คืออะไร อ่านเพิ่มเติมได้จากลิงค์นี้นะคะ
Yield ตรงนี้หมายถึง Bond Yield หรืออัตราผลตอบแทนของพันธบัตร
และ yield curve คือ เส้นความสัมพันธ์ระหว่างอัตราผลตอบแทน (yield) ที่อยู่แกน Y กับอายุคงเหลือของพันธบัตร (maturity) ในแกน X
ปกติแล้ว Bond Yield หรืออัตราผลตอบแทนของพันธบัตรนั้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวมักจะ "สูงกว่า” พันธบัตรระยะสั้น เพราะว่า พันธบัตรระยะยาวมีความเสี่ยงจากที่ราคาจะผันผวนได้มากกว่าพันธบัตรอายุสั้น เนื่องจากความไม่แน่นอนของทิศทางอัตราดอกเบี้ยในอนาคต เรื่องความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อ
หรืออาจลองคิดง่ายๆ ว่า ถ้าเราต้องให้เพื่อนยืมเงิน 2 ปี กับ 10 ปี ถ้าเราต้องให้ยืมแบบ 10 ปี เราก็คงต้องอยากให้ได้ดอกเบี้ยมากกว่า เพราะโอกาสที่เพื่อนอาจไม่จ่ายเงินคืนจะมากขึ้นในการยืมที่นานขึ้น
เมื่อมีความผันผวนมากกว่า คนที่ลงทุนก็จะคาดหวังผลตอบแทนที่สูงกว่าเป็นปกติ มันจึงเป็นเรื่องปกติ และดูสมเหตุผลที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว จะได้ผลตอบแทนสูงกว่าแบบระยะสั้น
Inverted Yield Curve นั้นคือ การที่ส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนพันธบัตรอายุระยะยาว เมื่อเทียบกับ ระยะสั้น แล้วติดลบ ซึ่งที่มักจะดูกัน คือ ส่วนต่างระหว่างพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีและอายุ 2 ปี (2y-10y spread) โดยหากมีค่าติดลบแสดงว่า เกิด Inverted yield curve ขึ้น ก็คือพันธบัตรระยะะยาว กลับให้ผลตอบแทนน้อยกว่าพันธบัตรระยะสั้นนั่นเอง โดยที่คนทั่วโลกสนใจคือ Inverted yield curve ของสหรัฐอเมริกาที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก
แล้วทำไมเป็นแบบนั้น และพอเกิดขึ้นแล้วทำไมนักลงทุนถึงสนใจ
เนื่องจากที่ผ่านมา Inverted yield curve มักเกิดก่อนที่เศรษฐกิจจะเป็นขาลง หรือถดถอย สามารถดูจากรูปด้านล่าง เป็นรูปแสดงความสัมพันธ์ของ inverted yield curve กับช่วงเวลาที่เกิด โดยแกน Y คือ คือ ส่วนต่างระหว่างพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีและอายุ 2 ปี (2y-10y spread) แกน X คือ เวลาเป็นปี ค.ศ. และแถบสีเทาคือช่วงที่เกิดภาวะ recession ของเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา
เมื่อเศรษฐกิจขยายตัวมาก การว่างงานต่ำ อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งตอนนี้อัตราเงินเฟ้อของอเมริกาอยู่ที่ 7.9% ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐหรือ FED (The Federal Reserve) จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่ง FED ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นมา 0.25% ในเดือนมีนานี้ และจะปรับเพิ่มอีกหลายครั้งในปีนี้ ส่งผลให้ yield ของพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นปรับสูงขึ้น
และยิ่งถ้านักลงทุนคาดว่ามีโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย และจะย้ายไปเน้นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยมากขึ้นอย่างพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว เพื่อล็อคผลตอบแทนไว้ เมื่อต้องการมาก ราคาพันธบัตรก็สูงขึ้น ทำให้อัตราผลตอบแทนจากพันธบัตรระยะยาวนั้นลดลง จนทำให้ yield พันธบัตรระยะยาวน้อยกว่าระยะสั้นจนเกิด Inverted yield curve ได้
การเกิด Inverted Yield Curve เหมือนเป็น market indicator ว่าอาจมีโอกาสที่เศรษฐกิจถดถอยตามมาได้ ซึ่งตอนนี้ส่วนต่างระหว่างพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีและอายุ 2 ปี (2y-10y spread) ของอเมริกาเริ่มลดลงมาอยู่ที่ 0.11% ยังไม่ได้ถึงขนาดติดลบ
วัฎจักรการขึ้นลงของเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ไม่มีใครคาดการณ์ได้แน่นอน สิ่งที่ทำได้คือ ลงทุนอย่างมีความรู้ และเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองลงทุน
#หมอยุ่งอยากมีเวลา #พันธบัตร #InvertedYieldCurve #recession #เศรษฐกิจ #เศรษฐกิจถดถอย #YieldCurve #BondYield #GDP
โฆษณา