30 มี.ค. 2022 เวลา 01:30 • ประวัติศาสตร์
รู้หรือไม่ ? “อำนาจอธิปไตย” ก็เป็นสินค้าได้เหมือนกัน
ในปัจจุบันเราทุกคนเข้าใจตรงกันว่า “อำนาจอธิปไตย” ของชาติถือเป็นอำนาจสูงสุดของรัฐในเวทีระหว่างประเทศ .. โดยอำนาจนี้เป็นหนึ่งในผลประโยชน์แห่งชาติ (National Interest) ที่สำคัญประการหนึ่งของรัฐ นั่นก็คือ “ความอยู่รอดปลอดภัย” และ “ความมั่นคง”
กล่าวคือ รัฐไม่ต้องการสูญเสียเอกราชหรืออธิปไตยในเขตแดนของตนเอง รวมถึงไม่ต้องการถูกรัฐอื่นคุกคามต่อเสรีภาพและบูรณภาพแห่งดินแดนของตนเองนั่นเอง
แต่ในปัจจุบันทุกคนเชื่อหรือไม่ว่า.. “อำนาจอธิปไตย” ที่นับว่าเป็นที่ห่วงแหนของรัฐนั้นได้เข้าผันตัวเข้าสู่สถานะของการเป็นสินค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย
โดย “การแปลงให้เป็นสินค้า” (Commodification) ได้กลายมาเป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างมากในด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศ ซึ่งเป็นความพยายามนำพาตัวเองไปสู่ความเป็นประเทศที่ทันสมัย
ข้อมูลจากหนังสือ “ทุนนิยมคาสิโน” ของ ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ได้ตอกย้ำให้เราเห็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการเปลี่ยนอำนาจอธิปไตยให้เป็นสินค้า ..
โดยปิ่นแก้วชี้ให้เราเห็นว่า รัฐลาวและนักลงทุนต่างชาติ (โดยเฉพาะจีน) ได้ร่วมมือกันในโครงการที่นับว่าเป็นโครงการหลังยุคอาณานิคม (Post-Colonialism) สำหรับการสร้างสิทธิสภาพนอกอาณาเขตขึ้นในบริเวณชายขอบหรือชายแดนของประเทศลาว โดยความร่วมมือเหล่าได้ถูกอ้างว่าจะมีการการพัฒนาจากความยากจนข้นแค้นของพื้นที่ให้เป็นพื้นที่มีน้ำไหล ไฟสว่าง จนนำมาสู่การก่อตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ
“การแปลงอธิปไตยให้เป็นสินค้า” (Commodifying sovereignty) เป็นกระบวนการอย่างหนึ่งที่ “สิทธิในการปกครอง” ของรัฐหนึ่งถูกทำให้เป็นสินค้าที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยกระบวนการนี้ไม่เพียงเป็นการเปลี่ยนทรัพยากรทางการเมืองให้เป็นสินค้าเท่านั้น หากแต่มันยังเป็นการปรับเปลี่ยนให้ “ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ” มีมูลค่าทางเศรษฐกิจอีกด้วย
ทุนนิยมคาสิโน : เขตเศรษฐกิจพิเศษจีนกับการสร้างชายแดนเสรีนิยมใหม่ในลาว เขียนโดย ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ภาพจาก https://www.tcijthai.com/news/2017/2/ebook/6771
ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ยกตัวอย่างว่า รัฐลาวมักอ้างเสมอว่า ไพ่อำนาจของตัวเองในเวทีโลกต่ำกว่าไพ่อำนาจของจีน ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างลาวและจีนจึงไม่เท่าเทียมกัน
โดยความไม่เท่าเทียมนี้เองจึงทำให้รัฐลาว “ไม่มีทางเลือก” นอกจากการสร้างความยืดหยุ่นให้กับอำนาจอธิปไตยในการปกครองของตนเอง ด้วยการมอบอำนาจพิเศษและสร้างสิทธินอกอาณาเขตให้กับนายทุนจีน ซ้ำร้ายไปกว่านั้นรัฐลาวยังขับไล่พลเมืองของตนออกจากสิทธิที่ตนเองมีอยู่
การปฏิบัติต่อพลเมืองอย่างแตกต่างกันระหว่างคนลาวและคนจีนนั้น ปิ่นแก้ว บอกว่าเป็นสิ่งที่ Aihwa Ong เรียกว่า อธิปไตยต่างระดับ (Grauduated sovereignty) ซึ่งรัฐจะใช้ในการปกครองดินแดนและพลเมืองเพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายทางเศรษฐกิจที่ต่างกัน ซึ่งในกรณีของรัฐลาว กระบวนการนี้ถูกนำมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่เขตเศรษฐกิจพิเศษให้ไร้ซึ่งอุปสรรค
The Blue Shield casino operated by the Kings Romans Group stands in the Golden Triangle special economic zone on the banks of the Mekong river in Laos near the border between Laos, Myanmar and Thailand March 2, 2016. (Reuters file photo) ที่มา https://www.bangkokpost.com/world/1405150/us-slaps-sanctions-on-laos-golden-triangle-casino
คงต้องกล่าวเอาไว้ด้วยว่าพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนาของทั้งลาวและจีนมีความแตกต่างกันในทางความคิดและจุดมุ่งหมาย
โดยทางรัฐลาวมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาและก้าวพ้นออกจากภาวการณ์ด้อยพัฒนา จึงเล็งเห็นว่า การจัดตั้งเขตเศษฐกิจพิเศษ (สามเหลี่ยมทองคำ) ที่อำนวยให้จีนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเป็นหนทางเดียวที่จะพัฒนาพื้นที่ได้ อันเนื่องมาจากการขับเคลื่อนพัฒนาต้องอาศัยทุนและทรัพยากรมหาศาล ซึ่งรัฐตนเองไม่มีกำลังพอ
แต่ว่าสำหรับมุมมองของจีน ภารกิจในการพัฒนาพื้นที่ห่างไกลและล้าหลังให้เป็นดินแดนที่เจริญนั้นก็คงมีแต่ทุนจีนที่สามารถทำได้ เพราะฉะนั้นความคิดของจีนที่มีต่อประเทศบริเวณลุ่มน้ำโขงจึงไปในแนวพื้นที่แห่งความล้าหลังและยากจน จำเป็นต้องได้รับการเปลี่ยนแปลง
(ผมคงต้องเน้นย้ำว่ามุมมองของจีนเช่นนี้เป็นวาทกรรมสำคัญสำหรับการรุกคืบการพัฒนาของตนเองในแถบพื้นบ้าน)
ถึงแม้ทัศนคติในการมองการพัฒนาและการขับเคลื่อนที่จะมีแตกต่างกันระหว่างทั้ง 2 ประเทศ แต่ทั้ง 2 ชาติก็ยังคงมีเป้าหมายพื้นฐานอย่างเดียวกันนั้นก็คือ “พัฒนาพื้นที่ไร้ความเจริญให้เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความศิวิไลซ์” นั่นเอง
The “debt trap” issue of Chinese investments ที่มา https://asiapowerwatch.com/the-debt-trap-issue-of-chinese-investments-explained/
อย่างไรก็ตามสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐลาวและจีนที่ไม่เท่าเทียมกัน รวมถึงการยืดหยุ่นอธิปไตยเหนือเขตแดนของรัฐลาวนี้ในทางหนึ่งก็สัมพันธ์กับประเด็นเรื่อง “การแปลงอธิปไตยให้เป็นสินค้า” แต่อีกทางหนึ่งที่เราจะต้องศึกษาควบคู่คือเรื่อง “กับดักหนี้” (Dept-trap diplomacy) ของจีนต่อไปในภายภาคหน้าด้วยนั่นเอง อันจะช่วยสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนมากขึ้นต่อ “กลยุทธ์” ของจีนในการก้าวขึ้นมามีบทบาทในโลก ..
หากชอบบทความจาก ไม้ขีดไฟ อย่าลืมแชร์และติดตามพวกเราด้วยนะครับ
อ่านเพิ่มเติม: ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี. (2559). ทุนนิยมคมสิโน เขตเศรษฐกิจพิเศษจีนกับการสร้างชายแดนเสรีนิยมใหม่ในลาว. เชียงใหม่:ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
โฆษณา