29 มี.ค. 2022 เวลา 16:46 • ธุรกิจ
💡ข้อสงสัยเรื่องการวานใช้หรือยอมให้คนอื่นลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์แทน💡
เนื่องด้วยปัจจุบันการใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นที่นิยมมากขึ้นกอปรกับสถานการณ์โรคระบาดที่ทำให้หลายองค์กรมีการเปลี่ยนแปลงการวิธีการทำงานจากรูปแบบเอกสารกระดาษมาเป็นการทำงานในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ไฟล์ผ่านทางเครือข่ายออนไลน์หรือคลาวด์คอมพิวติง (cloud computing) การรับส่งลงนามเอกสารผ่านระบบออนไลน์จึงมีให้เห็นเป็นเรื่องปรกติธรรมดาและเริ่มมีการใช้กับธุรกรรมในเชิงพาณิชย์หลายประเภท
📚การลงลายมือชื่อมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงว่าเจ้าของลายมือรับรองข้อความนั้น ๆ โดยกฎหมายไทยได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับลายมือชื่อ และลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ดังต่อไปนี้
- “ลายมือชื่อ” หมายความรวมถึงลายพิมพ์นิ้วมือและเครื่องหมายซึ่งบุคคลลงไว้แทนลายมือชื่อของตน (มาตรา 1 (10) ประมวลกฎหมายอาญา)
- เมื่อมีกิจการอันใดซึ่งกฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือ บุคคลผู้จะต้องทำหนังสือไม่จำเป็นต้องเขียนเอง แต่หนังสือนั้นต้องลงลายมือชื่อของบุคคลนั้น
ลายพิมพ์นิ้วมือ แกงได ตราประทับ หรือเครื่องหมายอื่นทำนองเช่นว่านั้นที่ทำลงในเอกสารแทนการลงลายมือชื่อ หากมีพยานลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วยสองคนแล้วให้ถือเสมอกับลงลายมือชื่อ
ความในวรรคสองไม่ใช้บังคับแก่การลงลายพิมพ์นิ้วมือ แกงได ตราประทับ หรือเครื่องหมายอื่นทำนองเช่นว่านั้น ซึ่งทำลงในเอกสารที่ทำต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ (มาตรา 9 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)
- “ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า อักษร อักขระ ตัวเลข เสียงหรือสัญลักษณ์อื่นใดที่สร้างขึ้นให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งนำมาใช้ประกอบกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระบุตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น และเพื่อแสดงว่าบุคคลดังกล่าวยอมรับข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น (มาตรา 4 พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๔๔)
📝กล่าวโดยสรุปคือ ลายมือชื่อเป็นหลักฐานที่สามารถระบุตัวเจ้าของลายมือชื่อและสามารถแสดงเจตนาของเจ้าของลายมือชื่อเกี่ยวกับข้อความที่ตนเองลงลายมือชื่อได้
ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ประเภทที่นิยมกันมากคือลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ประเภททั่วไปตามนิยามของมาตรา 9 ของพ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ ที่มีองค์ประกอบ 3 ข้อ คือ
1) ระบุตัวผู้เป็นเจ้าของได้ โดยมีการพิสูจน์และยืนยันตัวตนที่น่าเชื่อถือ
2) แสดงเจตนาของเจ้าของได้ โดยมีกระบวนการหรือหลักฐานที่แสดงได้ว่าบุคคลได้ยอมรับการแสดงเจตนาที่ตนได้ลงลายมือชื่อ
3) ใช้วิธีการที่น่าเชื่อถือ (ในการระบุตัวตนและแสดงเจตนาของเจ้าของลายมือชื่อ)
ตัวอย่างเช่น:
การพิมพ์ชื่อท้ายอีเมล, การสแกนภาพลายมือชื่อที่เขียนด้วยมือและแนบกับเอกสารอิเล็กทรอนิกส์, การใช้สไตลัส (Stylus) เขียนลายมือชื่อบนหน้าจอหรือบันทึกในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์, การคลิกปุ่มยอมรับหรือตกลง, การทำเครื่องหมายในช่องแสดงการยอมรับ, รหัสล็อกอิน, พาสเวิด, OTP, การ scan ลายนิ้วมือ, การใช้ระบบงานอัตโนมัติ (automated workflow system) ที่มีการยืนยันตัวตนของผู้ใช้
ทั้งนี้ อาจสรุปได้ว่าลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ประเภททั่วไปตามมาตรา 9 มี keyword คือ สามารถระบุตัวเจ้าของลายมือได้โดยที่คนอื่นลงนามแทนไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติมักจะเกิดเหตุการณ์ดังต่อไปนี้
::สถานการณ์สมมติ:: 🥸💻👩‍💻
A. นาย ก. วานให้ นางสาว ข. เลขานุการ ทำการ capture and crop ลายมือชื่อของนาย ก. จากไฟล์สำเนาเอกสารสแกนฉบับหนึ่ง และ copy ลายมือชื่อดังกล่าวไป paste ในไฟล์เอกสารอิเล็กทรอนิกส์อีกฉบับหนึ่ง เพื่อแสดงให้เห็นว่านาย ก. ได้ลงนามในเอกสารฉบับหลัง
B. เมื่อไฟล์เอกสารฉบับหลังได้มีลายเซ็นของนาย ก. เรียบร้อยแล้ว นาย ก. ก็นำสำเนาเอกสารฉบับดังกล่าวแนบเป็น attached file ไปกับอีเมลของตัวเองที่ต้องใช้รหัสเข้าและมีเพียงนาย ก. เท่านั้นที่รู้รหัส เพื่อส่งต่อให้แก่ผู้รับเอกสาร โดยนาย ก. เขียนข้อความในอีเมลเอาไว้ด้วยว่า “ข้าพเจ้ารับรองว่าสำเนาเอกสารที่แนบมากับอีเมลฉบับนี้ถูกต้องแท้จริงและลงนามโดยข้าพเจ้าเอง”
C. ต่อมาผู้รับเอกสารทางอีเมลนั้นจะนำเอกสารนั้นไปใช้โดยถือว่าเอกสารดังกล่าวได้ลงนามครบถ้วนถูกต้องโดยนาย ก. แล้ว
✒️ ขอย้อนไปสมัยที่ยังมีแต่การเซ็นสดหรือ wet ink...
ลายมือชื่อนั้นไม่มีกฎหมายให้เซ็นแทนกันได้ แม้เจ้าของลายมือชื่อจะมอบอำนาจหรือยินยอมก็เซ็นแทนกันไม่ได้ หากเจ้าของลายมือชื่อให้คนอื่นลงนามในเอกสารแทน เอกสารนั้นจะกลายเป็นเอกสารปลอมและคนลงลายมือชื่อแทนจะตกอยู่ในฐานะ “ผู้ปลอมเอกสาร” (มาตรา 264 ประมวลกฎหมายอาญา)อย่างไรก็ตามหากไม่มีผู้เสียหายหรือไม่ใช่กรณีที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนก็จะไม่ครบองค์ประกอบเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1020/2517, 1526/2525, 1572/2557)
พิจารณาเทียบเคียงกับสถานการณ์สมมติ หากย้อนไปในสมัยที่เซ็นสด การที่นาย ก. วานให้นางสาว ข. เซ็นแทน หากนางสาว ข. ได้ลงมือเซ็นแทนไป นางสาว ข. ย่อมเป็นผู้ปลอมเอกสารแล้ว อย่างไรก็ตามในเมื่อนางสาว ข. ได้เซ็นเอกสารโดยได้รับความยินยอมจากนาย ก. และเอกสารปลอมฉบับดังกล่าวยังไม่ได้ถูกนำไปใช้หรือทำให้ใครอื่นใดหลงเชื่อว่าลายเซ็นนั้น นาย ก. ได้เป็นผู้เซ็นเองจริง นางสาว ข. จึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร
อย่างไรก็ตาม หากเอกสารปลอมดังกล่าวได้ถูกนำไปใช้อ้างหรือใช้ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้ใด ผู้ใช้หรืออ้างเอกสารดังกล่าวหากทราบว่าเป็นเอกสารปลอมที่นาย ก. ไม่ได้ลงลายมือชื่อเอง จะมีความผิดฐาน “ใช้เอกสารปลอม” (มาตรา 268 ประมวลกฎหมายอาญา) (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 658/2513, 7464/2541)
📧 กลับมาที่สถานการณ์สมมติเวอร์ชั่นปัจจุบันที่มีการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์
เราจะเห็นได้ว่า หากพิจารณาแต่เฉพาะการกระทำในข้อ A. ถึงแม้ว่าชื่อที่ตัดแปะนั้นจะสามารถแสดงเจตนาของนาย ก. ได้ว่ามีความประสงค์จะรับรองข้อความในเอกสารนั้น แต่การกระทำดังกล่าวยังไม่ครบองค์ประกอบที่ถือได้ว่าเป็นลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจาก “ไม่มีการพิสูจน์และยืนยันตัวตนที่น่าเชื่อถือ” ใคร ๆ ก็สามารถตัดแปะชื่อของนาย ก. ได้
แต่เมื่อพิจารณาการกระทำต่อมาในข้อ B. ที่ส่งเอกสารดังกล่าวโดยแนบกับอีเมลของตัวเอง ดังนี้ การใช้อีเมลที่มีการเข้ารหัสที่นาย ก. ใช้ได้แต่เพียงผู้เดียวโดยระบุชื่อของนาย ก. เอาไว้ท้ายอีเมลนั้น ครบองค์ประกอบการเป็นลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ประเภททั่วไปตามมาตรา 9 แล้ว
อย่างไรก็ตาม ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอีเมลตามข้อ B. นั้น อาจตีความได้สองประการคือ
1) รับรองแต่เฉพาะเนื้อหาในอีเมล
>>> หากไม่ระบุข้อความว่ารับรองเนื้อหาในเอกสารแนบด้วย จะใช้อ้างว่าเป็นเอกสารที่มีการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้ เพราะไม่ครบองค์ประกอบตามที่กล่าวมาข้างต้น
2) รับรองเนื้อหาในอีเมลและเนื้อหาในเอกสารแนบด้วย
>>> การที่นาย ก. เขียนข้อความในอีเมลเอาไว้ด้วยว่า “ข้าพเจ้ารับรองว่าสำเนาเอกสารที่แนบมากับอีเมลฉบับนี้ถูกต้องแท้จริงและลงนามโดยข้าพเจ้าเอง” แม้จะเป็นการใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อรับรองเนื้อหาในเอกสารแนบด้วย แต่เนื่องจากนาย ก. ไม่ได้เป็นคนลงนามจริงในเอกสารนั้นเอง การที่นาย ก. เขียนข้อความดังกล่าวจะเป็นการใช้หรืออ้างเอกสารปลอมหรือไม่ ยังคงเป็นข้อที่ต้องพิจารณาต่อไป
อนึ่ง อย่าลืมว่ากฎหมายอาญายังมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมที่เกี่ยวพันกันกับเอกสารต้นเรื่อง หากผู้ใช้เอกสารรู้ว่าเอกสารนั้นปลอมและยังจะดันทุรังนำไปใช้ หาก “มีโอกาส” ที่จะทำให้ผู้อื่นเสียหาย เช่น มีข้อพิพาทกันและต้องอ้างเอกสารนั้นเป็นหลักฐาน หากมีคน challenge ว่าเอกสารปลอม นาย ก. ไม่ได้เซ็นจริง จะต้องทำอย่างไร?
ในประเด็นข้างต้นนี้เป็นความสงสัยส่วนตัวของผู้เขียน/พิมพ์เท่านั้น ซึ่งอาจจะมีวิธีการแก้ไขวิธีอื่นที่สามารถกำจัดข้อขัดข้องที่กล่าวมาได้🙄
โฆษณา