30 มี.ค. 2022 เวลา 14:02 • ข่าวรอบโลก
นิตยสาร The Atlantic มีบทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับจำนวนรัฐ "One party state" ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ปัจจุบัน มีเพียง 12 รัฐในอเมริกาที่เรียกได้ว่ามี "Divided government" กล่าวคือ สภานิติบัญญัติและผู้ว่าฯ มาจากพรรคการเมืองที่แตกต่างกัน ระหว่างที่รัฐที่เหลือ อยู่ในการบริหารที่เรียกว่าเป็น "Unified government" หรือ พรรคการเมืองเดียวควบคุมทั้งอำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติ
จำนวนรัฐที่อยู่ภายใต้การปกครองของพรรคเดียวในตอนนี้นับว่าสูงมากถ้าเทียบกับช่วงอื่น ๆ ในประวัติศาสตร์อเมริกา
ข้อมูลจาก Ballotpedia แสดงให้เห็นว่า คนอเมริกัน 41.8% อาศัยอยู่ในรัฐที่ถูกควบคุมโดยพรรครีพับลิกัน 33.9% อาศัยอยู่ในรัฐที่ถูกควบคุมโดยพรรคเดโมแครต และอีกเพียง 24.3% อาศัยอยู่ในรัฐที่มี Divided government
ทั้งนี้ The Atlantic ชี้ให้เห็นว่า ตัวเลขนี้กำลังจะเปลี่ยน เพราะอีกไม่นาน รัฐแมสซาชูเซตส์คงจะกลายเป็นรัฐที่ถูกพรรคเดโมแครตยึดอย่างเบ็ดเสร็จ เพราะนาย Charlie Baker ผู้ว่าฯ รีพับลิกันคนปัจจุบัน ตัดสินใจที่จะไม่สมัครลงเลือกตั้งอีกสมัย
นายเบคเกอร์เป็นรีพับลิกันที่แตกต่างจากนักการเมืองรีพับลิกันในระดับชาติ เช่น ทรัมป์ เป็นอย่างมาก เพราะถึงแม้เขาจะมีความอนุรักษ์นิยมในด้านการเงิน แต่ก็มีความเป็นเสรีนิยมในด้านสังคมและวัฒนธรรมสูง ซึ่งช่วยให้เขาชนะเลือกตั้งในรัฐเดโมแครตมาแล้วสองครั้ง และเป็นหนึ่งในผู้ว่าฯ ที่มีคะแนนนิยมสูงที่สุดในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เบคเกอร์จะยืนยันว่าเขาตัดสินใจลงจากตำแหน่งด้วยเหตุผลส่วนตัว และนักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า เขาอาจตัดสินใจเช่นนี้เพราะเขาอาจจะไม่ได้เป็นตัวแทนของพรรครีพับลิกันอีก อุดมการณ์กลาง ๆ ที่ทำให้เขาเป็นที่นิยมในกลุ่มคนหมู่มาก กลับทำให้ฐานเสียงรีพับลิกันในรัฐแมสซาชูเซตส์ไม่นิยมเขา ทรัมป์เองก็กล่าวว่า "เราไม่มองว่าเบคเกอร์เป็นรีพับลิกันด้วยซ้ำ"
แต่หากพรรครีพับลิกันไม่มีนายเบคเกอร์แล้ว ก็คงสูญพันธุ์ในรัฐแมสซาชูเซตส์อย่างแน่นอน เพราะแคนดิเดตรีพับลิกันสไตล์ทรัมป์ไม่มีทางชนะเลือกตั้งได้ โดยนาย Rob Gray ที่ปรึกษาพรรครีพับลิกันในแมสซาชูเซตส์ กล่าวว่า ถึงแม้ทรัมป์จะช่วยให้นักการเมืองรีพับลิกันในรัฐรีพับลิกันได้แรงสนับสนุนมากขึ้น แต่เขาก็เป็นตัวถ่วงอย่างมากในรัฐที่รีพับลิกันไม่ได้รับความนิยมอยู่แล้ว
ทั้งหมดนี้ทำให้ The Atlantic กล่าวว่า จำนวน One party state คงเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต เมื่อฐานเสียงที่สุดโต่งของแต่ละพรรคเลือกตัวแทนที่ไม่สามารถดึงเสียงจากตรงกลางได้เลย ซึ่งอาจมีผลดีบ้าง เช่น ทำให้การบริหารราชการราบรื่นและรวดเร็วมากขึ้น แต่ก็จะเป็นผลเสียต่อประชาชนเช่นกัน เพราะการแข่งขันในระบบเลือกตั้งก็จะลดลง จำนวนคนที่รู้สึกว่าตัวเองไม่มีสิทธิมีเสียงในระบบการเมืองจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะผลักให้คนกลุ่มนี้พยายามใช้เครื่องมือนอกระบบเลือกตั้งเพื่อประท้วงและแสดงความไม่พอใจกับสถานการณ์การเมือง
[ติดตามข่าวและประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกา กับเพจ 'รัฐศาสตร์สหรัฐฯ': https://www.blockdit.com/americanpoliticsinthai]
โฆษณา