5 เม.ย. 2022 เวลา 04:50 • ท่องเที่ยว
-- ตามสะสม "โกะชุอิน" ใบอนุโมทนาบัตรของญี่ปุ่น --
บทความนี้อยู่ในซีรีส์ 'โปรโมทการท่องเที่ยวสไตล์ญี่ปุ่น'
© photoAC
จากบทความก่อนหน้า "เมื่อโอก้าซังพาไปดำนา" ผู้อ่านบางท่านอาจจะทราบแล้วว่าบ้านโฮสต์แฟมิลี่บ้านหนึ่งที่ฉันเคยไปพำนัก อยู่ในจังหวัดชิกะ
แถบนี้สมัยโบราณเป็นดินแดนที่เรียกว่าแคว้นโอมิ มีปราสาทฮิโกเนะ ที่อยู่ของไดเมียวผู้ครองแคว้นเป็นศูนย์กลาง ทางใต้มีหมู่บ้านนินจาโคกะซึ่งเป็นหนึ่งในสองกลุ่มนินจาที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น เมืองทางด้านทิศตะวันตกเป็นเมืองเก่าติดเกียวโตชื่อโอสึ และเมื่อขึ้นรถไฟไปไม่เกิน 40 นาทีก็จะถึงเกียวโต เมืองหลวงเก่าที่มีโบราณสถานขึ้นทะเบียนมรดกโลกอยู่ถึง 17 แห่ง
ทว่าโฮสต์สาวชาวญี่ปุ่นของฉันไม่ค่อยชอบเที่ยวกลางแจ้งเท่าไหร่ เวลาขอให้แนะนำสถานที่เที่ยวทีไรไม่กระตือรือร้นที่จะแนะนำวัดวา สถานที่ทางประวัติศาสตร์ ให้ไปเองก็ขี้เกียจจะไป
เว้นเสียแต่สถานที่นั้นจะจัดงานแสดงศิลปะร่วมสมัยสุดเก๋ เช่น งาน "ปราสาท Art Aquarium" ที่ปราสาทนิโจ เกียวโต
ภาพจากเว็บไซต์ปราสาทนิโจ https://artaquarium.jp/news/20200904/10/
พอเข้าใจได้อยู่
ปราสาทฮิโกเนะ(彦根城)จะเคยสำคัญอย่างไร สำหรับคนผ่านบ่อยๆ ตอนนี้ก็เป็นปราสาทโบราณ สีขาวๆ หลังคาสีเทาๆ
ข้างในปราสาทอาจจะไม่ค่อยมีอะไร แต่ในสวนสวยร่มรื่นมากมาย © photoAC
วัดโจเมจิ(長命寺)ที่เซนเซพาไปทัศนศึกษาก็ตั้งอยู่บนยอดเขา ศักดิ์สิทธิ์แค่ไหนก็ต้องไต่กระไดหิน 808 ขั้นกว่าจะขึ้นไปถึง
แต่ขึ้นถึงแล้วจะได้วิวนี้ พร้อมทั้งวิวทะเลสาบบิวาโกะและวิวเมืองโอมิฮะจิมังจากมุมสูง  © photoAC
วัดในเกียวโตและนาราก็หาที่จอดรถยากแสนยาก ถ้าจะเที่ยวให้คุ้มต้องเดิน...เดินกันให้ขาลากไปข้างหนึ่ง
แน่นอนว่าเมื่อมาไทย คงเดากันได้ว่าพาเธอไปแลนด์มาร์คสำคัญอย่างวัดพระแก้ว วัดโพธิ์ วัดแจ้ง และหลากหลายวัดในอยุธยาตามคำขอ ไปถึงแล้วจะมีปฏิกริยายังไง
คำตอบคือเดินตรงไปถ่ายรูปกับเศียรพระพุทธรูปในต้นโพธิ์วัดมหาธาตุก็พอแล้ว ร้อน!
ทริปที่จะไปวัด ศาลเจ้าและโบราณสถานมีแต่ทริปที่ไปด้วยกันกับฉันถือเป็นโอกาสพิเศษเสียจนวันหนึ่ง ระหว่างแชทกันถึงว่าเราต่างนึกถึงกันเวลาได้เจออะไรที่อีกฝ่ายชอบหรือได้ไปเยือนสถานที่ๆ เคยไปด้วยกัน เธอพูดมาประโยคหนึ่งทำเอาอึ้งไปสามวิว่า
“ทุกวันนี้เวลาเห็นวัดจะนึกถึงเธอแหละ”
ทว่าเร็วๆ นี้ โฮสต์น้องสาวทั้งสองกลับอยากไปแวะเวียนวัดและศาลเจ้าในทุกๆ แห่งที่มีโอกาสผ่านแม้แต่วัดและศาลเจ้าเล็กๆ ซึ่งผิดวิสัย
ระหว่างที่นั่งรถไฟไปเที่ยวนาราด้วยกัน โชโกะจังเฉลยแรงจูงใจด้วยการหยิบถุงผ้าหูรูดห้าสีอย่างดี ข้างในใส่สมุดลายญี่ปุ่นโบราณเล่มหนึ่งออกมาเปิดให้ดู
“ตอนนี้ที่ญี่ปุ่นกำลังฮิตเก็บตราประทับของศาลเจ้าและวัดล่ะ”
กล่าวคือ ที่วัดและศาลเจ้าจะวางขายสมุดพับคล้ายๆ สมุดข่อย สมุดนี้มีไว้สำหรับเก็บตราประทับสีแดงที่เรียกว่า “ชุอิน”(朱印)หรือ “โกะชุอิน”(御朱印)โดยเฉพาะ
“สมุดของฉันเป็นของศาลเจ้าโอโนะที่ชิกะ เพราะชื่อศาลเจ้าเหมือนนามสกุลของโอโนะ ซาโตชิ ลีดเดอร์วงอาราชิ คนเลยเรียกกันว่า “ศาลเจ้าอาราชิ” ทางศาลเจ้าก็เลยทำสมุดออกมาแบบนี้
ตอนนี้ศาลเจ้านั้นเป็นจุดหมายที่ได้รับความนิยมมากในหมู่แฟนๆ อาราชิเลยล่ะ ยิ่งมีข่าวจะยุบวงออกมาแบบนี้”
ฉันพยักหน้าหงึกๆ ว่ารับรู้พลางมองรูปวงกลมห้าสี แดง น้ำเงิน เหลือง เขียว ม่วง ซึ่งเป็นสีประจำตัวของหนุ่มๆ สมาชิกวงอาราชิบนหน้าปก เป็นสีที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของศาลเจ้าโอโนะเดิมแต่อย่างใด
ลองค้นเพิ่มเติมก็พบว่าของเกือบทุกชิ้นของศาลเจ้านี้จะทำออกมาเป็น 5 สี ถุงผ้าเก็บสมุดโกะชุอิน เครื่องราง ตุ๊กตาท่านโพธิธรรม ผ้าเช็ดมือ แฟ้มสอด เข็มกลัด กระพรวนเครื่องราง แม้แต่แพ็คเกจกล่องขนมบามคูเฮน (Baumkuchen) ก็ยังมี 5 สี
ตุ๊กตาดารุมะซัง 5 สี
มีหลายข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับที่มาของโกะชุอิน แต่ที่เชื่อกันแพร่หลายที่สุดคือเป็น “ใบอนุโมทนาบัตร” นั่นคือออกเพื่อเป็นหลักฐานว่าคนๆ นั้นได้บริจาคเงินหรือสิ่งของให้วัดและศาลเจ้าแล้ว บางแห่งจึงยังยึดเงื่อนไขให้บริจาคเป็นเรื่องเป็นราวเสียก่อน
แม้จะต้องเสียเงินแถมสะสมไปก็ไม่สามารถเอาไปแลกของรางวัลอะไรได้ เดี๋ยวนี้นิยมตามเก็บเป็นที่ระลึกการเดินทางเสมือนตราแสตมป์ในพาสปอร์ต ดังนั้นโฮสต์ของฉันจึงตระเวนไปตามวัดและศาลเจ้าต่างๆ
เมื่อถึงวัดโชโกะจังแสดงวิธีรับโกะชุอินให้ดูเป็นตัวอย่าง โดยจะมีขั้นตอนดังนี้ ↓↓↓
1) ไปยังสำนักงานของวัดหรือศาลเจ้า 
สังเกตง่ายๆ คือห้องกระจกของซุ้มที่ขายพวกเครื่องราง
บางที่จะจัดซุ้มแยกออกมาต่างหากเขียนว่า “御朱印所” หรือ “御朱印受付” ส่วนใหญ่อยู่ใกล้ประตูทางเข้าแต่ก็ไม่เสมอไป
2) แจ้งว่าจะมาขอรับ “โกะชุอิน”(御朱印)
อาจจะถามท่านว่า “ขอรับโกะชุอินได้มั้ยคะ/ครับ”
goshuin o choudai dekimasu ka

御朱印を頂戴できますか。
หรือขอว่า
“ช่วยเขียนโกะชุอินให้ด้วยนะคะ/ครับ”

goshuin o yoroshiku onegaishimasu

御朱印をよろしくお願いします。
3. แจ้งว่าต้องการรูปแบบไหน จะมีตัวอย่างแปะไว้บนกระจกให้เลือก 2-3 แบบอยู่แล้ว
อันที่จริงในวัดใหญ่ๆ ดูเหมือนว่าจะขอได้หลายแบบ แต่ต้องจ่ายตามจำนวน ถ้าคิวยาวเป็นมารยาทว่าขอได้แค่แบบเดียว
4. ถ้าไม่มี "โกะชุอินโจ" (御朱印帳) หรือสมุดสำหรับโกะชุอินโดยเฉพาะ ทางวัดจะเขียนใส่กระดาษให้ ค่อยเอากระดาษแผ่นนั้นมาแปะสมุดบันทึกตัวเองทีหลัง อย่ายื่นสมุดบันทึกส่วนตัวให้
5. ถ้ามีสมุดโกะชุอินให้เปิดหน้าที่อยากให้เขียน แล้วยื่นให้สองมือ
“ขอเป็นตรงนี้นะคะ/ครับ”

kochira ni onegaishimasu

こちらにお願いします。
6. รอท่านเขียนและประทับตราด้วยความสงบ
เป็นมารยาทว่าระหว่างนี้ไม่ควรหยิบมือถือมาเช็คหรือคุยเล่นกับคนข้างๆ
ถ้าเป็นวัดใหญ่ วันไหนคนเยอะคิวยาวอาจจะมีระบบรับบัตรคิวแล้วรอเรียกไปรับทีหลัง หรือให้ใบที่เขียนเตรียมไว้ก่อนแล้ว
7. ตอนรับโกะชุอิน ให้เงินพอดีจำนวน โดยทั่วไปคือ 300 เยน
ถ้าไม่มีเหรียญทางวัดก็มีทอน แต่ตามมารยาทควรให้พอดี ให้คิดว่ากำลังบริจาคอยู่ เพราะเราจะไม่ขอให้พระทอนเนอะ
บางแห่งจะกำหนดจำนวนเงินบริจาคขั้นต่ำไว้สูงกว่านี้ มีผู้อธิบายว่าเพราะเดี๋ยวนี้มีผู้แห่กันมาขอเยอะ เขียนกันไม่ทันก็เลยต้องหาคนเขียนเพิ่ม ต้องจ่ายค่าแรงเพิ่ม จาก 300 เลยกลายเป็น 500 เยนไปโดยปริยาย
ส่วนถ้าตัวเลขสูงกว่านั้นไปอีกอาจจะเป็นเพราะเขียนทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
หน้าละ 300 เยน 300 x 2 = 600 / 500 x 2 = 1000 เยน
8. กล่าวแสดงความขอบคุณ
arigatou gozaimashita
ありがとうございました。
เว็บไซต์ของญี่ปุ่นมักจะแนะนำวิธีจำเกี่ยวกับขั้นตอนและมารยาทในการรับโกะชุอินอย่างง่ายๆ ว่า
สิ่งนี้คือใบอนุโมทนาบัตร
ก่อนไปเตรียมใจและเตรียมเหรียญให้พร้อม ระหว่างเข้าสถานที่ให้ไปอย่างสงบ เคารพสถานที่ ไหว้พระไหว้เจ้าที่ถือเป็นเจ้าของสถานที่เสียก่อน เดินชื่นชมความงามของสวนและสถาปัตยกรรม แล้วค่อยบริจาคและขอรับใบมาอย่างนอบน้อม
เมื่อต้องรอ รออย่างมีขันติ อย่าแทรกคิว อย่าด่านักบวชเพราะเขียนไม่สวยดั่งใจหรือเพราะทางวัดไม่ได้เขียนให้เราสดๆ ร้อนๆ
แล้วจะได้ทั้งประสบการณ์ ได้ทั้งบัตร ได้ทั้งสติ ได้ทั้งบุญเต็มเม็ดเต็มหน่วย ^^
ตราประทับแต่ละวัดจะมีลวดลายแตกต่างกันไปตามประวัติและความเป็นมา อย่างวัดในนาราอาจจะมีรูปกวาง ศาลเจ้าอินาริมีรูปสุนัขจิ้งจอก ข้อความที่แนบมาอาจเป็นพร ข้อความเตือนสติ คำจากพระสูตร ชื่องานบุญที่เกี่ยวข้อง สุดแท้แต่แต่ละที่จะออกแบบ แถมมีลาย limited edition อีก
เราสามคนจึงตื่นเต้น รอลุ้นทุกครั้งว่าโกะชุอินของวัดนั้นๆ จะออกมาเป็นยังไง มีรูปอะไรบ้าง
ตัวอย่างใบอนุโมทนาบัตรฉันที่ได้มาของศาลเจ้าคาสึงะไทฉะ
ซอง (ซ้าย) โกะชุอิน (ขวา)
ในใบโกะชุอินจะเขียนอะไรไว้บ้าง
頼もしく あゆみをはこべ ひとことのねがいもすてぬ ちかい今せば  บทกลอนวะกะหมายถึงพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรจะฟังความปรารถนาหนึ่งข้อ
ลองกลับมาค้นต่อพบว่าโกะชุอินไม่ได้มีแค่สีดำแดงจากหมึกและชาดเหมือนในอดีต แต่เป็นหลากสี บางแห่งวาดภาพเสริม ของบางที่สวยมากกกก (ก ไก่ล้านตัว) สวยจนฉันเพิ่มชื่อจังหวัดและศาลเจ้านั้นลงไปเป็นหนึ่งในจุดหมายของทริปญี่ปุ่นครั้งหน้าเรียบร้อย
ตัวอย่างเช่น ศาลเจ้าซากุราหงิ(櫻木神社)ที่จังหวัดจิบะ ↓↓↓
ภาพตัวอย่างโกะชุอิน จากเว็บไซต์ศาลเจ้าซากุราหงิ
 https://sakuragi.info/news/1136/
โกะชุอินของศาลเจ้าซากุราหงิติดอันดับสถานที่ที่มีโกะชุอินงามๆ ของบทความแนะนำในทุกเว็บที่ฉันเคยคลิกเจอ แม้แต่บล็อกภาษาจีน
ทางศาลเจ้าเองจะเปลี่ยนลายโกะชุอินไปตามวันสำคัญและช่วงเทศกาล แล้วยังรับจัดส่งทางไปรษณีย์ในยุคโควิด เรียกได้ว่ากลายเป็นไฮไลท์ของศาลเจ้าไปแล้ว
ในไทยจะให้วาดอะไรลงในใบอนุโมทนาบัตรแบบนี้คงเป็นไปไม่ได้
แต่ถ้ามีงานศิลป์อะไรสวยๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละสถานที่และสื่อถึงความเป็นมาให้ตามเก็บบ้างก็น่าจะดีเนอะ
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย :
  • เว็บไซต์ GoshuinLabs แนะนำว่าเวลาไปวัดและศาลเจ้า มักจะอดใจหยิบเครื่องรางกับเซียมซีคิ้วท์ๆ ไม่ไหว ถ้าเตรียมเหรียญ 100 เยนไว้ 8 เหรียญขึ้นไป กับเหรียญ 500 เยนอีกสักเหรียญใส่กระเป๋าเหรียญไว้ ชีวิตจะสะดวกขึ้นค่ะ
  • สมุดโกะชุอินมีหลายขนาดและใช้กระดาษต่างกัน วาชิ(和紙)หรือกระดาษญี่ปุ่นจะซึมซับน้ำหมึกได้ดีกว่ากระดาษแบบอื่น
  • วิธีเก็บรักษาสมุดโกะชุอินที่ถูกต้องคือใส่ไว้ในถุงผ้าหูรูด วางไว้บนหิ้งพระ / หิ้งศาลเจ้า หรืออย่างน้อยบนชั้นหนังสือ
อ่านเพิ่มเติม:
* ย้อนรอยประเพณีโบราณ ตราประทับโกะชุอิน (Goshuin)
* มารยาทการรับตราประทับโกะชุอิน
บทความในเพจที่เกี่ยวข้อง:
นั่งชินคันเซ็นสะสมตราประทับเฮลโหลคิตตี้
โฆษณา