20 เม.ย. 2022 เวลา 01:47 • หุ้น & เศรษฐกิจ
โอกาสทางการค้า การลงทุนของไทยในประเทศโอมาน
วันนี้ดิฉันจะพามารู้จักกับประเทศโอมานให้มากขึ้น โดยเฉพาะในด้านบทบาทเวทีระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์ทางการทูต โอกาสทางการค้าและการลงทุน ผ่านบทสัมภาษณ์ คุณสุวัตน์ แก้วสุข เอกอัครราชทูต ณ กรุงมัสกัต ผ่านรายการ บันทึกสถานการณ์ (https://www.youtube.com/watch?v=uSGecsQaYgo)
ประเทศโอมาน หรือ รัฐสุลต่านโอมาน เป็นประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง ตั้งอยู่ภาคตะวันออกเฉียงใต้ของคาบสมุทรอาระเบีย ปัจจุบันมีประชากรจำนวน ๔.๕ ล้านคน โดยในจำนวนนี้ ๒.๕ ล้านคนมีสัญชาติโอมาน นอกจากนั้น เป็นคนต่างชาติที่เข้ามาพำนักอาศัย/ทำงานอยู่ในประเทศ คนโอมานมีรายได้เฉลี่ยค่อนข้างสูงกว่าไทยอย่างมาก อย่างน้อย ๑๕,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐต่อคน โอมานเป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันกับแก๊สธรรมชาติเป็นหลัก เรียกได้ว่ารายได้ร้อยละ ๗๐ มาจากส่วนนี้ และประเทศโอมานถือเป็นรัฐสวัสดิการ ซึ่งหมายความว่า รัฐบาลดูแลประชาชนในเกือบทุกด้าน
บทบาทในเวทีระหว่างประเทศถือเป็นจุดเด่นของโอมาน โอมานดำเนินนโยบายทางการทูตด้วยทางสายกลาง คือการเป็นมิตรกับทุกประเทศ ไม่มีนโยบายที่จะเข้าไปแทรกแซง หรือ วิพากษ์วิจารณ์กิจการภายในของชาติอื่น หากจะพูดถึงความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างโอมานกับไทยนั้น มีมายาวนาน ๔๑ ปี โดยโอมานเป็นมิตรประเทศที่สนับสนุนประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศในด้านต่าง ๆ อาทิ สนับสนุนท่าทีประเทศไทยต่อนโยบายแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้มาโดยตลอด เรียกว่าเราต่างฝ่ายต่างสนับสนุนซึ่งกันและกันในเวทีระหว่างประเทศเสมอมา
สำหรับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจกับไทยในช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมา ถือว่าค่อนข้างโดดเด่น หากมองตัวเลขทางการค้าปี ๒๕๖๓ ซึ่งเป็นปีที่เริ่มมีการระบาดของโควิด-๑๙ ค่อนข้างหนัก ตัวเลขทรงตัวอยู่ที่ ๓๐,๐๐๐ ล้านบาท ถือว่าไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด และตัวเลข ๑๑ เดือนแรกของปี ๒๕๖๔ มีมูลค่าการค้าเกิน ๕๐,๐๐๐ ล้านบาท เรียกได้ว่าเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ซึ่งตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่าประเทศโอมานเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพมากสำหรับสินค้าไทย
อย่างไรก็ตาม นักธุรกิจไทยที่เข้าไปดำเนินธุรกิจในโอมานยังคงต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรค อาทิ คนโอมานไม่ได้รู้จักประเทศไทยว่ามีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจ คนโอมานมองประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความสำคัญด้านการท่องเที่ยวและการรักษาพยาบาล แต่ไม่ได้รู้จักเศรษฐกิจของไทยมากนัก จึงเกิดปัญหาเรื่องการทำธุรกิจ และการลงทุน
สถานเอกอัครราชทูตฯ จึงได้ให้ความช่วยเหลือด้วยการประชาสัมพันธ์ และได้มีการนำบริษัทของไทยเข้ามาสำรวจตลาดในโอมานวัตถุประสงค์ เพื่อทำให้คนไทยและคนโอมานได้มารู้จักคุ้นเคย พูดคุย และเจรจาทางธุรกิจระหว่างกันมากยิ่งขึ้น ศึกษาตลาดว่าเขาคิดอย่างไร วัฒนธรรมเขาเป็นอย่างไรและก็นำสินค้าไทยมาแสดงให้คนโอมานได้ทดลองใช้ ซึ่งผลออกมาค่อนข้างน่าพอใจ คนโอมานชอบสินค้าของไทย เชื่อถือในคุณภาพสินค้าไทย ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นส่งเสริมผู้ประกอบการของไทย โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ จะดำเนินโครงการเชิงสนับสนุนผู้ประกอบไทยต่อไปในอนาคต
สอท. ณ กรุงมัสกัต นำโดยท่านทูต พร้อมด้วยผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ เมืองดูไบ บริษัท SCG International Middle East DMCC รวมทั้ง เอกชนไทยและ SMEs เดินทางเยือนเมืองซาลาลาห์ โดยคณะฯ ได้หารือกับประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรม ผู้แทนสำนักงานเขตเศรษฐกิจพิเศษเมืองซาลาลาห์ เพื่อแสวงหาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างภาคธุรกิจไทย-โอมาน ภาพจาก Facebook Royal Thai Embassy, Muscat
อีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญมากในการทำธุรกิจ คือ กระแสความนิยมไทย ซึ่งท่านทูตเล่าว่า ต้องขอบคุณคนไทยตั้งแต่หลายรุ่นที่ช่วยกันสะสมกระแสความนิยมไทย ถือเป็นพลังทางเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยความนิยมไทย (soft power) เป็นต้นทุนที่เราเองไม่ต้องดิ้นรนไปแสวงหาที่ไหนเลย ในเอเชียหากพูดถึงประเทศไทย ท่านทูตยืนยันเลยว่า ประเทศเราอยู่แถวหน้าในตะวันออกกลาง ทุกคนชอบประเทศไทย
อยากเดินทางมาที่ไทย และเชื่อมั่นในประเทศไทย ตรงนี้ถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญมากในการที่จะเริ่มต้นการทำธุรกิจและการลงทุนระหว่างกัน
ท่านทูตได้ยกตัวอย่างว่า คนโอมานชอบมารับการรักษาที่โรงพยาบาลในประเทศไทย เนื่องจากได้รับการบริการที่ดี และบุคลากรทางการแพทย์ได้ให้การดูแลเป็นอย่างดี คนโอมานเลยอยากให้คนไทยเปิดโรงพยาบาลที่ประเทศโอมาน หรือการที่คนโอมานชอบทานอาหารไทย คนโอมานเลยอยากให้คนไทยไปเปิดร้านอาหารที่โอมาน กระแสนิยมตรงนี้ทำให้ประเทศไทยค่อนข้างได้เปรียบในภูมิภาคตะวันออกกลางและทางสถานเอกอัครราชทูตฯ จะพยายามใช้โอกาสนี้ส่งเสริมและเชิญชวนผู้ประกอบการไทยเข้ามาค้าขายและลงทุนในประเทศโอมานมากขึ้นต่อไปในอนาคต
นางสาวพัณณ์ชิตา โชติจินตนาทัศน์
เจ้าหน้าที่ประมวลและวิเคราะห์ข่าว
กรมสารนิเทศ
โฆษณา