4 เม.ย. 2022 เวลา 23:00 • ธุรกิจ
ตลาดผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงในประเทศชิลี
ภาพรวมและมูลค่าตลาด
ปัจจุบันจำนวนสัตว์เลี้ยงในชิลีมีจำนวนเพิ่มขึ้น มีสาเหตุจากหลายประการ อาทิ โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปเป็นสังคมผู้สูงอายุ จำนวนคู่แต่งงานที่ไม่มีลูก และประชากรวัยทำงานที่อาศัยโดยลำพังในประเทศชิลีมีจำนวนเพิ่มขึ้น ทำให้การมีสัตว์เลี้ยงเพื่อคลายเหงาเพิ่มมากขึ้น และส่งผลให้ตลาดผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการเก็บข้อมูลของบริษัทวิจัย Euromonitor ระบุว่ายอดขายผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงในชิลีประจำปี 2564 มีมูลค่า 991,591 ล้านเปโซชิลี (หรือที่ประมาณ 1,243 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพิ่มขึ้น 2.6% เมื่อเทียบกับปี 2563 และคาดว่าตลาดผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงจะยังคงมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อไปอีก
ยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงในชิลีประจำปี 2550-2564 (ค.ศ. 2007 -2021) และมูลค่าคาดการณ์ในปี 2565 -2569 (ค.ศ. 2022 – 2026) โดยบริษัท Euromonitor
ประเภทสัตว์เลี้ยงที่นิยมในชิลี
El Mercurio สำนักงานข่าวท้องถิ่นของประเทศชิลีรายงานว่าจำนวนสัตว์เลี้ยงที่ได้รับการฝังไมโครชิปและขึ้นทะเบียนกับสำนักงานเขตในแต่ละท้องที่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้การฝังไมโครชิปเป็นไปตามความสมัครใจของเจ้าของสัตว์เลี้ยง แต่การขึ้นทะเบียน กฎหมายชิลีระบุให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ของภาครัฐ (https://registratumascota.cl) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเก็บข้อมูลสถิติ และกรณีที่สัตว์เลี้ยงพลัดหลงจากเจ้าของโดยการให้ความใส่ใจที่เพิ่มขึ้นต่อสัตว์เลี้ยงดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงในชิลีที่เปลี่ยนจากการเลี้ยงเพื่อคลายเหงาหรือสร้างความเพลิดเพลินให้กับเด็ก เป็นการเลี้ยงเสมือนเพื่อนหรือส่วนหนึ่งของครอบครัว โดยในรายงานข่าวระบุว่าสัตว์เลี้ยงที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในชิลี คือสุนัข แมว สัตว์น้ำ สัตว์เลื้อยคลาน และนก ตามลำดับ
ในปี 2564 จำนวนสัตว์เลี้ยงที่ได้รับการฝังไมโครชิปและลงทะเบียนกับสำนักเขตในแต่ละท้องที่ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1.53 ล้านตัว โดยแบ่งออกเป็น สุนัขจำนวน 1.22 ล้านตัว และแมวจำนวน 311,400 ตัว ทั้งนี้ สายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด 5 อันดับแรก
สายพันธุ์สุนัขและแมวที่ได้รับความนิยมมากที่สุด 5 อันดับแรกในประเทศชิลี ในปี 2564
ในปี 2564 อัตราการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงในครัวเรือน (The penetration rate of household pet ownership) ของชิลีอยู่ที่ 73% (ทุก 100 ครัวเรือนจะมีครัวเรือนที่มีเลี้ยงสัตว์ 73 ครัวเรือน) ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงสุดในลาตินอเมริกา (อาร์เจนตินา 66% เม็กซิโก 64% บราซิล 58%) แสดงให้เห็นว่าชาวชิลีนิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงอย่างมาก ส่งผลให้ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในชิลีมีความสำคัญและมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ผู้มีสัตว์เลี้ยงในครอบครองส่วนใหญ่ จะอาศัยอยู่ในเมืองหลวง (กรุงซันติอาโก) รองลงมาคือ เขตเมืองในภาคใต้ ภาคกลาง และภาคเหนือ โดยจากข้อมูลของมูลนิธิอุปถัมภ์สัตว์เลี้ยงในประเทศชิลี ที่ได้เก็บข้อมูลจากแบบสอบถามจำนวน 5,216 ราย พบว่าจำนวนผู้ที่ตอบแบบสอบถามร้อยละ 94.3 มีสัตว์เลี้ยงครอบครอง โดยร้อยละ 35 เป็นผู้ที่อุปถัมภ์สัตว์เลี้ยง (Adopt) ผ่านองค์กรภาครัฐและเอกชน
ผลการตอบแบบสำรวจการมีสัตว์เลี้ยงในครอบครองของชิลี ปี 2564
ประเภทผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงในตลาดชิลี
ตลาดผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงในชิลีแบ่งออกเป็น 2 หมวดหลัก ได้แก่
(1) อาหารสัตว์เลี้ยง มียอดขายในปี 2564 คิดเป็นมูลค่า 812,375 ล้านเปโซชิลี (หรือประมาณ 1,018 ล้านเหรียญสหรัฐ) คิดเป็นสัดส่วน 81.9% ของตลาดผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยง โดยแบ่งออกเป็นอาหารสุนัข อาหารแมว และอาหารสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ
(2) สินค้าอื่นๆ สำหรับสัตว์เลี้ยง ซึ่งยอดขายในปี 2564 คิดเป็นมูลค่า 179,215 ล้านเปโซชิลี (หรือประมาณ 224.4 ล้านเหรียญสหรัฐ) คิดเป็นสัดส่วน 18.1% ของตลาดผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยง โดยแบ่งออกเป็นทรายแมว ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสัตว์เลี้ยง และผลิตภัณฑ์อื่นๆ
ยอดขายผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยงในประเทศชิลี ประจำปี 2564 ที่มา: Euromonitor
มูลค่าการใช้จ่ายสำหรับสัตว์เลี้ยง
การใช้จ่ายสำหรับสัตว์เลี้ยงในชิลีมีมูลค่า 480,000 เปโซชิลีต่อปีต่อสัตว์เลี้ยงหนึ่งตัว (หรือที่ประมาณ 603 เหรียญสหรัฐ) ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับอาหาร ค่ารักษาพยาบาล ของเล่น เสื้อผ้า ฯลฯ และคาดว่ามูลค่าการใช้จ่ายฯ จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ช่องทางการจัดจำหน่ายอาหารสัตว์เลี้ยงในชิลี
ช่องทางการจัดจำหน่ายอาหารสัตว์ในชิลีแบ่งออกเป็น 3 ช่องทางหลัก ได้แก่
1) ช่องทางร้านค้าแบบมีหน้าร้าน (สัดส่วนที่ 86.9%)
1.1 ร้านค้าปลีก (สัดส่วน 76%)
- ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ซึ่งประกอบด้วย ไฮเปอร์มาร์เก็ต และซูเปอร์มาร์เก็ต
- ร้านค้าแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นร้านค้าที่มักจะตั้งอยู่ในตลาด หรือเขตชุมชน
1.2 ร้านจำหน่ายสินค้าเฉพาะทาง หรือ Pet Shop (สัดส่วน 10.9%)
2) ช่องทางร้านค้าแบบไม่มีหน้าร้าน (สัดส่วนที่ 5.4%) และ
3) ช่องทางผ่านคลินิกรักษาสัตว์ (สัดส่วนที่ 7.7%)
ช่องทางการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงในชิลี
ช่องทางการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงในชิลี
สถานการณ์การแข่งขันของตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในชิลี
ในปี 2563 แบรนด์หรือยี่ห้อที่ครองสัดส่วนตลาดอาหารสุนัขในชิลีมากที่สุด คือ Master Dog (17.6%) รองลงมาคือ Pedigree (14.8%) Dog Chow (12%) Champion (9.5%) Cachupin (6.1%) Sabro Kan (5.9%) Royal Canin (5.8%) ตามลำดับ
ในขณะที่แบรนด์หรือยี่ห้อที่ครองสัดส่วนตลาดอาหารแมวในชิลีมากที่สุด คือ Cat Chow (17.9%) Master Cat (17.5%) Whiskas (15.7%) Champion Cat (11.1%) Royal Canin (6.4%) Felix (5.6%) และPropan (3.6%) ตามลำดับ
ชิลีมีการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงเองภายในประเทศและมีการนำเข้าบางส่วน โดยตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา ชิลีมีการนำเข้าลดลงเนื่องจากบริษัท Nestle เข้ามาลงทุนก่อสร้างโรงงานอาหารสัตว์ โดยเป็นผู้ผลิตอาหารสุนัขและอาหารแมวยี่ห้อ Dog Chow, Cat Chow, Propran ทำให้ Nestle เป็นบริษัทที่ครองส่วนแบ่งตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในอันดับต้นๆ ของประเทศชิลี
อย่างไรก็ดี แม้ว่าชิลีจะมีการผลิตสินค้าอาหารสัตว์ภายในประเทศ แต่ยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศด้วย โดยการนำเข้าอาหารสัตว์ (HS Code 230910) ประจำปี 2564 มีมูลค่า 235.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือที่ปริมาณ 146.57 ล้านตัน ซึ่งเป็นการนำเข้าจากประเทศอาร์เจนตินามากที่สุด คิดเป็นมูลค่า 95.95 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา บราซิล เช็ครีพลับบลิค จีน เยอรมนี ฝรั่งเศส แคนาดา อิตาลี ตามลำดับ ในส่วนของการนำเข้าจากไทย พบว่าในปี 2564 ชิลีนำเข้าจากไทยคิดเป็นมูลค่า 2.33 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 266.02% เมื่อเทียบกับปี 2563 ซึ่งไทยเป็นประเทศอันดับที่ 13 ที่ชิลีมีการนำเข้ามากที่สุด
สถิติการนำเข้าสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของประเทศชิลีระหว่างปี 2562-2564 (จาก Global Trade Atlas)
ทั้งนี้ การที่ชาวชิลีนิยมเลี้ยงสัตว์โดยเลี้ยงเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกในครอบครัวซึ่งผู้เลี้ยงให้ความใส่ใจและเลือกสรรผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพเพื่อสัตว์เลี้ยงที่รักมากขึ้น ทำให้ตลาดผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงเกรดพรีเมียมในประเทศชิลีมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดย Euromonitor คาดการณ์ว่าตลาดสินค้าสัตว์เลี้ยงระดับพรีเมียมจะยังคงเติบโตได้อีก จึงถือเป็นสัญญาณที่ดีของสินค้าอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพจากไทย โดยผู้ประกอบการไทยอาจพัฒนาสูตรอาหารสัตว์ที่เน้นเรื่องสุขภาพอนามัย เช่น อาหารแคลอรี่ต่ำสำหรับสัตว์เลี้ยงที่มีน้ำหนักเกิน อาหารสัตว์เลี้ยงสูงวัย อาหารสัตว์เลี้ยงสำหรับรักษาโรคเฉพาะทางที่เพิ่มวิตามินเพื่อสุขภาพ หรืออาหารสัตว์เลี้ยงเชิงบำบัดที่ช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยของสัตว์เลี้ยง ฯลฯ
สำหรับผู้ประกอบการไทยท่านใดที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อมายังสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก ได้ที่ช่องทางอีเมล thaitrade@ttcsantiago.cl
โฆษณา