31 มี.ค. 2022 เวลา 09:20 • กีฬา
มวยปล้ำ WWE ที่โด่งดัง เป็นการสู้กันจริงๆ หรือทุกอย่างเตี๊ยมกันไว้แล้ว? เราจะมาอธิบายให้ฟังแบบเข้าใจง่ายที่สุด
เมื่อวันก่อนมีข่าว Triple H รีไทร์ แล้วมีการถกเถียงกันในโลกออนไลน์ว่า "มวยปล้ำ เป็นกีฬาที่ Fake น่าดูตรงไหน" ซึ่งก็มีคนเถียงกลับไปอย่างดุเดือด
1
เรื่องนี้น่าสนใจดีครับ ผมลองหยิบประวัติศาสตร์มาเล่าดีกว่า เราจะได้เห็นภาพมากขึ้นว่า แบ็กกราวน์ของมวยปล้ำ WWE ที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน มันเริ่มอย่างไรกันแน่
ก่อนอื่น มวยปล้ำเป็นกีฬาที่มีประวัติมานานหลายร้อยปี และเป็นกีฬาที่อยู่ร่วมโอลิมปิกตั้งแต่ครั้งแรก ที่เอเธนส์ ปี 1896 มันเป็นการต่อสู้ที่ผู้คนรู้จักกันดีอยู่แล้ว
กติกาในโอลิมปิก มีการชิงชัยเหรียญมวยปล้ำ 2 แบบ คือเกรโก-โรมัน กับ ฟรีสไตล์
1
แบบเกรโก-โรมัน คือห้ามจับคู่ต่อสู้ต่ำกว่าเข็มขัด และห้ามใช้ขาในการโจมตี ส่วนฟรีสไตล์ก็สามารถโจมตีได้ทุกแบบ
จริงๆ มวยปล้ำมีท่าสวยๆ มากมาย เช่นเยอรมันซูเพล็กซ์ หรือบอดี้แสลม แต่ในการแข่งระดับโอลิมปิก คุณไม่สามารถเอาท่าสวยๆ เหล่านั้นมาใช้บ่อยๆ เพราะเป้าหมายหลักคือ ทำให้คู่แข่งล้ม ถ้าคิดจะเล่นท่ายากสุ่มสี่สุ่มห้า ก็มีหวังแพ้พอดี
อารมณ์เหมือนบาสเกตบอล NBA ผู้คนอยากจะดูดั๊งค์สวยๆ แบบ Slam Dunk Contest แต่นักกีฬาไม่สามารถโชว์แบบนั้นได้บ่อยๆ ดังนั้นการทำแต้มส่วนใหญ่ จึงเป็นการชู้ต การเลย์อัพ ที่ไม่ได้หวือหวาอะไรมาก
1
ในโอลิมปิกก็แข่งขันกันด้วยมวยปล้ำแบบหนึ่ง ที่เคร่งขรึมดุดัน ระมัดระวัง แต่ในอีกมุม ที่สหรัฐอเมริกา มีคนเอา "ท่าสวยๆ" ของมวยปล้ำ บอดี้สแลม กระโดดถีบขาคู่ ฯลฯ เอาไปจัดแสดงโชว์ ในงานคาร์นิวัลทั่วอเมริกา
3
การดูมวยปล้ำที่สวยงาม ต่อสู้ด้วยท่า Acrobatic โชว์ความยืดหยุ่นของร่างกาย เป็นอะไรที่ผู้คนชอบดูอยู่แล้ว ยิ่งมีการต่อสู้กัน ยิ่งดูสนุก
ลองนึกภาพในงานวัดบ้านเรา จะมีกิจกรรมมอเตอร์ไซค์ไต่ถัง ที่อเมริกาในงานเทศกาลต่างๆ ก็จะมีการเปิดแสดงโชว์มวยปล้ำ แล้วเก็บเงินจากผู้ชมที่เข้าไปดู
5
แน่นอน นักสู้บนสังเวียนก็ต้องนัดแนะกัน ว่าจะใช้ท่าอะไร ต้องเอาส่วนไหนลงกระแทกพื้นถึงจะไม่เจ็บ นี่เป็นกิจกรรมที่ "มีลักษณะของการโชว์" มาตั้งแต่แรก มันมีขึ้นเพื่อความสนุกของคนดู เปรียบเทียบแล้ว เหมือนละครเวทีบรอดเวย์ แต่มีฉากหลังเป็นการต่อสู้แค่นั้น
การต่อสู้มวยปล้ำแบบโชว์ ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จนคนสนใจมันมากกว่ามวยปล้ำรูปแบบโอลิมปิกเสียอีก
เข้าสู่ปี 1948 พิงกี้ จอร์จ โปรโมเตอร์จากมิดเวสต์ ได้รวมตัวกับอีก 5 โปรโมเตอร์ เปิดสถาบันมวยปล้ำชื่อ NWA ขึ้น เพื่อขยายความตื่นเต้นของการต่อสู้ จากเดิมที่นักมวยปล้ำก็จะสู้กับคนหน้าเดิมวนไปวนมาในรัฐตัวเอง แต่คราวนี้ มีโอกาสได้สู้กับคนทั่วประเทศ ก็เป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นมากกว่า
นอกจากนั้น NWA ต้องการสร้างความรู้สึกของ "การแข่งขัน" ให้คนดูได้ลุ้น จึงประกาศจัดชิงแชมป์โลกมวยปล้ำขึ้นมา
การมีตำแหน่งแชมป์โลก สามารถทำให้คนสับสนได้ว่า หรือเขาจะสู้กันจริงๆ นะ ทั้งหมดที่เราดูนี่อาจจะ ไม่ใช่โชว์ก็ได้
แต่แน่นอนในการแข่งขันนั้น แม้แต่นัดชิงแชมป์โลกก็ตาม ทุกอย่างมีสคริปต์วางไว้หมดแล้ว ว่าทางองค์กรใหญ่อยากให้ใครเป็นแชมป์
7
นักสู้ที่มาขึ้นสังเวียน ก็ต้องทำตามหน้าที่ คนชนะก็ต้องชนะ คนแพ้ก็ต้องแพ้ เหมือนละครเวที คนที่ได้รับบทเป็นตัวร้ายจะมาเอาชนะพระเอกไม่ได้ เพราะคนเขียนบทไม่ได้วางโครงเรื่องมาแบบนั้น
2
ฝั่ง NWA จะเลือกใครเป็นแชมป์โลกนั้น ก็ต้องเลือกคนที่ดูมีฝีมือที่สุด คาแรคเตอร์ดีสุด และมีความเป็นสตาร์ จะได้เอาไปเป็นตัวชูโรง ดึงคนดูเข้ามาชมได้เรื่อยๆ
1
แน่นอนนักสู้คนไหนก็อยากเป็นแชมป์โลกทั้งนั้น เพราะมันนำมาซึ่งชื่อเสียงและเงินทอง ต่อให้เป็นตำแหน่งที่เกิดขึ้นจากธุรกิจโชว์การต่อสู้ แต่มันก็สะท้อนให้เห็นว่าคุณคือ The Best ในชั่วขณะนั้น
จุดเปลี่ยนสำคัญคือในปี 1963 นัดชิงแชมป์โลก ลู เทสซ์ วัย 47 ปี อดีตเจ้าของตำแหน่งแชมป์โลก 2 สมัย เจอกับ เจ้าของตำแหน่งคนปัจจุบันบัดดี้ โรเจอร์ส (42 ปี)
ปรากฏว่า NWA เขียนบทให้ ลู เทสซ์ เป็นฝ่ายชนะ เพื่อให้สร้างประวัติศาสตร์เป็นนักมวยปล้ำที่ได้แชมป์โลก 3 สมัย
1
แต่บัดดี้ โรเจอร์ส ไม่พอใจกับบท เพราะเขาคิดว่าตัวเองอยู่ในฟอร์มที่ดีที่สุด และเก่งกว่าลู เทสซ์แล้วแน่ๆ แต่คณะกรรมการ NWA สั่งให้โรเจอร์สยอมแพ้ตามบทไปซะ ถ้าหากเขาไม่ยอมทำตาม จะริบเงินประกันจำนวน 25,000 ดอลลาร์
สุดท้ายโรเจอร์สเลยต้องยอมแพ้ แม้ในใจต่อต้าน จนต้องเสียแชมป์โลกให้ลู เทสซ์ ในที่สุด
วินเซนต์ แม็คมาน หนึ่งในโปรโมเตอร์ แสดงความไม่พอใจต่อ NWA ที่เขียนบทไม่ดีพอ ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจขอแยกตัวออกจาก NWA แล้วไปเปิดการแข่งขันมวยปล้ำสถาบันใหม่ของตัวเองขึ้นมา ชื่อ WWWF (World Wide Wrestling Federation) พร้อมดึงบัดดี้ โรเจอร์ส ไปร่วมสถาบันใหม่ด้วย ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะรีแบรนด์ เหลือแค่ WWF
1
การเปิดตัวของ WWF สร้างมิติใหม่ๆ ในวงการมวยปล้ำ เพราะเขียนบทได้น่าสนใจกว่าฝั่ง NWA และขับคาแรคเตอร์ของนักกีฬาออกมาอย่างเด่นชัด มีการสร้างสตอรี่ตัวดี ตัวร้าย สร้างให้คนเกลียดชังกัน จนบางทีคนดูมวยปล้ำก็ลืมไปเสียสนิทว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสคริปต์ที่จัดวางไว้หมดแล้ว
2
WWF มีการสร้างกฎใหม่ขึ้นมาเช่น Steel Cage Match สร้างกรงเหล็กขนาดใหญ่ครอบเวที ตามด้วยอีเวนต์ Royal Rumble ที่ใช้การต่อสู้สไตล์ Battle Royale เอา 30 คนมาสู้กันบนเวที ใครเหลือคนสุดท้ายเป็นฝ่ายชนะ
รวมถึงคิดค้น WrestleMania การแข่งขันระดับชิงแชมป์ที่มีไอเดีย ให้เป็นอีเวนต์ที่ใหญ่ที่สุดของมวยปล้ำ เหมือนซูเปอร์โบวล์ของอเมริกันฟุตบอล โดย WrestleMania จะจัดขึ้นในสนามกีฬาขนาดใหญ่ (สถิติสูงสุด คือ คนดู 93,173 คน ที่มิชิแกน ในปี 1987)
เมื่อ WWF ออกกลยุทธ์ใหม่ๆ มาตลอด ทำให้ในยุค 1980 - 1990 ทั้งสององค์กรต่อสู้กันอย่างเข้มข้น ฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าตัวเองสดใหม่กว่า ความคิดสร้างสรรค์กว่า แต่อีกฝ่ายจะบอกว่า สถาบันของเราเก่าแก่ คลาสสิค นักกีฬาอยากได้ชื่อว่าเป็นแชมป์โลกจริงต้องมาอยู่กับเรา
เป็นเวลานับสิบปีที่ทั้งสองค่าย ต่างแข่งขันชิงความเป็นหนึ่ง แต่ละฝั่งเฟ้นหาซูเปอร์สตาร์ของตัวเองออกมา
1
WWF มี ฮัล์ค โฮแกน, ดิ ไอออน ชีค และ แรนดี้ ซาเวจ เป็นตัวชูโรง
1
ส่วน NWA ซึ่งในเวลาต่อมาได้รีแบรนด์เป็น WCW มีตัวเด่นคือ ริค แฟลร์ และ สติง
1
แต่เอาจริงๆ นักสู้จากฝั่ง WWF กับ WCW ก็จะย้ายข้ามฝั่งกันไปมาอยู่ตลอด เป็นช่วงที่ยังไม่รู้ว่าใครจะยึดตลาดมวยปล้ำได้มากกว่ากันแน่
มาถึงจุดนี้มวยปล้ำได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนคนดูเกิดความสับสนว่าเอาจริงๆ แล้ว มันเตี๊ยมกันจริงๆ หรอ ทำไมดูเขาเล่นกันจริงจังมาก ท่าไม้ตายบางท่าอัดแล้วเจ็บจริง ถ้าเตี๊ยมกัน มันไม่น่าจะซัดกันเลือดตกยางออกขนาดนี้
1
คำตอบของเรื่องนี้ต้องเข้าใจก่อนว่า คนต่อสู้กันนั้น เล่นจริง เจ็บจริง คืออาจจะมีการลงพื้นอย่างถูกจังหวะตอนโดนทุ่ม เพื่อเซฟร่างกายได้บ้าง แต่ยังไงก็ต้องเจ็บตัวแน่ แต่สิ่งที่เตี๊ยมกันคือ "บท" ว่าใครจะชนะอย่างไร จะพูดแบบไหน นี่ไม่ใช่สิ่งที่นักกีฬาตัดสินใจเอง ต้องทำตามคำสั่งของบริษัทแม่
2
เราต้องนึกภาพว่ามวยปล้ำคือโชว์ที่มีเปลือกเป็นการต่อสู้ มันไม่ใช่กีฬาที่หาผลแพ้ชนะว่าใครเก่งกว่าคู่แข่ง ถ้าเข้าใจคอนเซ็ปต์แล้ว เราจะไม่คิดมากในการดู เหมือนเราไปดูหนังหนึ่งเรื่อง ไปลุ้นว่าตัวละครที่เราชอบจะถูกเขียนบทให้ชนะหรือไม่
คำศัพท์ 2 คำ ที่จำเป็นต้องรู้ในวงการมวยปล้ำคือ เคย์เฟ้บ (Kayfabe) กับ สคริปต์ (Script)
คำว่าเคย์เฟ้บ แปลว่า คาแรคเตอร์ที่นักกีฬาแต่ะละคนต้องทำตามอย่างเคร่งครัด คุณถูกกำหนดให้มีบุคลิกแบบนี้ ก็ต้องทำให้คนเห็น ทั้งในและนอกสนาม ต้องรักษาเคย์เฟ้บเอาไว้ให้ได้ จนกว่าสัญญาที่เซ็นกับสถาบันจะหมดลง
2
กรณีศึกษาที่ตลกดี เกิดขึ้นในปี 1987 มีนักมวยปล้ำสองคนที่ถูกสร้างเคย์เฟ้บว่าเกลียดแค้นกันมาก คือ จิม ดักแกน กับ เดอะ ไอออน ชีค อยู่บนเวทีแค้นกันจะเป็นจะตาย อย่างไรก็ตาม มีวันหนึ่งตำรวจไปจับกุมทั้ง 2 คน นั่งเมากัญชาอยู่ในรถคันเดียวกันเฉยเลย คือทั้งคู่ถูกเคย์เฟ้บกำหนดคาแรคเตอร์มาให้เกลียดกันก็ทำตามตลอด จนมาโดนจับได้นั่นแหละ ความจริงถึงเปิดเผยว่าเป็นเพื่อนสนิทกันนอกเวที
7
ส่วนอีกคำคือ "สคริปต์" คือเมื่อมีคนเขียนบทให้คุณทำตามแล้ว คุณก็ต้องทำ ถ้าใครไม่ทำ ก็จะมีโทษถึงขั้นไล่ออกจากบริษัท เพราะถ้านักแสดงไม่ทำตามบทของผู้กำกับ จะมีประโยชน์อะไรที่จะเก็บไว้ร่วมงานต่อ
1
ตัวอย่างเช่น กรณีของในศึกมันเดย์ไนโตร ปี 1998 เมื่อ WCW เขียนบทให้โกลด์เบิร์ก นักมวยปล้ำดาวรุ่งมีคาแรคเตอร์เป็นจอมพลัง เอาชนะคู่แข่งได้ในเวลาไม่ถึง 2 นาทีต่อไฟต์ เขาโคจรมาเจอกับ รุ่นพี่จอมเก๋าวิลเลียม เรกัล (ชื่อเดิมตอนนั้น สตีฟ เรกัล)
2
ตามบทแล้ว เรกัล ต้องแพ้ใน 2 นาที เพื่อสร้างความเกรียงไกรให้โกลด์เบิร์กต่อไป แต่ระหว่างอยู่บนเวที เรกัลไม่พอใจขึ้นมา ที่เขาต้องเป็นเหยื่ออีกคนของโกลด์เบิร์ก ทั้งๆที่ ทักษะการปล้ำของเขาเหนือกว่าดาวรุ่งคนนี้อีก ดังนั้นจึง "ไม่ทำตามบท" ด้วยการไม่ปล่อยแพ้ง่ายๆ ทำให้โกลด์เบิร์กต้องใช้สกิลทั้งหมดที่มีกว่าที่เรกัลจะยอมให้ชนะได้
1
สุดท้าย อีก 2 เดือนต่อมา เรกัล โดนไล่ออกจาก WCW หลายคนเชื่อว่า เพราะเขาไปขัดสคริปต์ที่ผู้จัดเขียนบทไว้นี่แหละ
ดังนั้นในการจะดูมวยปล้ำ เราต้องปรับ Mindset ว่าเขาไม่ได้มาแข่งขันกันเหมือนมวยสากล แต่เป็นการดูโชว์ ที่มีความสวยงามของท่าไม้ตาย และสตอรี่เรื่องราว ความขัดแย้ง เป็นแกนหลักในการดำเนินเรื่อง ถ้าหากเข้าใจจุดนี้ได้ ก็จะรู้ว่าไม่ควรใช้คำว่า Fake กับมวยปล้ำแต่แรก
3
คนที่คิดว่าเก่งกว่า อาจจะไม่จำเป็นต้องชนะก็ได้ เพราะมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับฝีมือ แต่อยู่ที่บท ที่คนเขียนวางไว้
2
หลังจาก WWF กับ WCW สู้กันมาสักพัก สุดท้าย WWF ก็ได้รับความนิยมในวงกว้าง ตรงข้ามกับ WCW ที่เสียความนิยมไปเรื่อยๆ สุดท้าย WCW ก็จึงปิดตัวลงไปอย่างเป็นทางการในปี 2017
1
WWF รีแบรนด์อีกรอบ เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น WWE (World Wrestling Entertainment) ก่อนยึดอำนาจธุรกิจมวยปล้ำอย่างเด็ดขาดทั่วอเมริกา และมีการเปลี่ยนเรตติ้ง จากให้คนดูต้องอายุมากกว่า 14 ปี เพราะยังมีความโหด มีเลือดตกยางออกให้เห็น เหลือเป็น PG rating หรือ ผู้ปกครองควรแนะนำเท่านั้น คือสามารถดูได้ทุกเพศทุกวัย ว่างั้นเถอะ
1
คำอธิบายคือ จากเดิมเป็นโชว์การต่อสู้ที่มีความดุเดือด สู้กันหนัก มีความจริงจังเยอะ แม้จะเป็นสคริปต์ แต่ก็เป็นสคริปต์การต่อสู้ที่เข้มข้น พอรีแบรนด์เป็น WWE แล้ว ความรุนแรงก็ต้องน้อยลงจากเดิม เพื่อให้ขยายตลาดไปให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้
1
ดังนั้นบทสรุปจากเรื่อง มวยปล้ำ WWE เฟก หรือเปล่า คำตอบคือ เขาสู้กันด้วยพลังจริงๆ นักกีฬาแต่ละคนต้องซักซ้อมท่าต่างๆ มาเป็นอย่างดี เพราะมวยปล้ำหลายท่า ถ้าทำไม่ถูกจังหวะ อาจบาดเจ็บถึงตายได้ ดังนั้นนักสู้ต้องมีความเป็นมืออาชีพ และทำตามสคริปต์ให้ดีที่สุด
ส่วนเรื่องราวสตอรี่ต่างๆ มีการเขียนบทเอาไว้หมดแล้ว ดังนั้นใช้คำว่า Staged (จัดฉาก) จะเหมาะที่สุด
2
สุดท้าย ถ้าถามว่า ถ้าคนรู้ทั้งรู้ว่ามันจัดฉาก แล้วทำไมยังเข้าไปดูกันเต็มอารีน่าล่ะ ทำไมมวยปล้ำถึงได้รับความนิยมอยู่ คำตอบคือเพราะมันสนุกไง ไปดูท่าทางสวยๆ ดูมุก ดูโจ๊ก ดูดราม่า ว่าคนเขียนบทจะมีจินตนาการอย่างไร ทำให้ผู้ชมได้รู้สึกตะลึง
ในปัจจุบันไม่ใช่แค่ WWE เท่านั้น แต่วงการมวยปล้ำโชว์ ยังมีสถาบันเล็กๆ อีกเพียบ เช่น ROH, AEW, NJPW หรือ MLW แต่ละสถาบัน ก็เขียนสคริปต์กันทั้งหมด
2
มีการเปรียบเทียบว่า ภาพยนตร์ หรือ ซีรีส์ ก็เป็นอะไรที่จัดฉากขึ้นมาเหมือนกัน พระเอก-นางเอกในหนังตัวตนจริงๆ ก็ไม่ได้เป็นอย่างบนหน้าจอ
ดังนั้นในกรณีของมวยปล้ำก็เช่นกัน มันคือละคร มันคือโปรดักชั่น และมันคือความบันเทิงรูปแบบหนึ่งที่ใช้การต่อสู้อันสวยงามของมวยปล้ำเป็นฉากหลังแค่นั้นเอง
2
โฆษณา