Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
BDI-Big Data Institute
•
ติดตาม
1 เม.ย. 2022 เวลา 06:26 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
10 อันดับเทรนด์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมการเกษตร (Agriculture Innovations) สำหรับปี 2022
ปี 2022 กันแล้ว เทรนด์เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนากันอย่างต่อเนื่องในหลากหลายด้านที่เราพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของธนาคาร ด้านสาธารณสุขหรือการรักษาพยาบาล และในส่วนของรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ เป็นต้น
นอกจากนี้แล้ว การพัฒนาของเทคโนโลยีก็ยังคืบคลานเข้าไปอยู่ในด้านอื่น ๆ ที่อาจจะไม่ได้อยู่ใกล้ตัวเราอีกด้วย เช่น ด้านการเกษตรที่ในบทความนี้จะมาอัพเดทเทรนด์ให้ได้รู้กันสักเล็กน้อย
ทางบริษัท StartUs Insights ซึ่งเป็นบริษัทเกี่ยวกับนวัตกรรมที่ให้คำปรึกษาด้านสตาร์ทอัพชั้นนำ ได้ทำการสำรวจบริษัทสตาร์ทอัพในอุตสาหกรรมนี้และได้สรุป 10 อันดับเทรนด์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมการเกษตรสำหรับปี 2022 ออกมาเป็นแผนผังนวัตกรรมด้านการเกษตร (Agriculture Innovations) รวมถึงบริษัทสตาร์ทอัพที่มีความเกี่ยวข้องในแต่ละด้านรวม 20 แห่งตามรูปด้านล่าง โดยมีรายละเอียดดังนี้
10 อันดับเทรนด์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมการเกษตร (Agriculture Innovations) สำหรับปี 2022
Internet of Things
การตรวจสอบพื้นที่เพาะปลูกในการเกษตรแบบเดิมต้องใช้แรงงาน อุปกรณ์ทางการเกษตร เวลา และความพยายามเป็นอย่างมาก เทคโนโลยี IoT ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถนำมาใช้แทนวิธีการดั้งเดิมเหล่านี้ อุปกรณ์ IoT ประกอบด้วยเซ็นเซอร์ตั้งแต่หนึ่งตัวขึ้นไปที่ใช้รวบรวมและส่งข้อมูลได้อย่างถูกต้องแม่นยำผ่านแอปพลิเคชันมือถือ หรือวิธีการอื่น ๆ แบบเรียลไทม์
2
เซ็นเซอร์เหล่านี้ทำหน้าที่ต่าง ๆ มากมาย เช่น การตรวจวัดดิน อุณหภูมิ ความชื้น การติดตามพืชและปศุสัตว์ และอื่น ๆ นอกจากนี้ยังอำนวยความสะดวกในการตรวจสอบฟาร์มจากทางไกล ซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับเกษตรกร
ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการนำเซ็นเซอร์ IoT เข้ามาช่วยในการจ่ายน้ำไปยังพืชผลแบบอัตโนมัติโดยใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับการระเหยและการคายน้ำของพืช เซ็นเซอร์ตรวจสอบความชื้นในดิน และเซ็นเซอร์วัดปริมาณน้ำฝนอีกด้วย
สตาร์ทอัพต่าง ๆ กำลังพัฒนานวัตกรรมใหม่ที่ผสมผสานเทคโนโลยี IoT เข้ากับโดรน หุ่นยนต์และการประมวลผลภาพถ่ายเพื่อเพิ่มความรวดเร็ว และความถูกต้องแม่นยำของกระบวนการในฟาร์ม สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะส่งการแจ้งเตือนให้เราได้อย่างทันท่วงทีและช่วยลดระยะเวลาในการตอบสนองในแต่ละพื้นที่
Agricultural Robotics
การขาดแคลนแรงงานเป็นปัญหาสำคัญที่เกษตรกรต้องเผชิญ และสิ่งนี้จะเพิ่มมากขึ้นในกรณีของการปฏิบัติงานภาคสนามขนาดใหญ่ ด้วยเหตุนี้เองบริษัทสตาร์ทอัพจึงได้มีการผลิตหุ่นยนต์การเกษตรเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างหลากหลายประเภทงาน ซึ่งรวมไปถึงการเก็บเกี่ยวผลไม้ การปลูก การย้ายปลูก การฉีดพ่น การเพาะเมล็ด และการกำจัดวัชพืชด้วยเช่นกัน
เกษตรกรเริ่มพึ่งพาหุ่นยนต์ให้ทำงานในส่วนที่ทำซ้ำ ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ พวกเขามีการปรับใช้เครื่องจักรการเกษตรอัจฉริยะ เช่น รถแทรกเตอร์ขับเคลื่อนอัตโนมัติและกึ่งอัตโนมัติด้วยระบบ GPS เพื่อการเก็บเกี่ยว โดยรถเหล่านี้จะมาพร้อมกับเทคโนโลยีบังคับเลี้ยวอัตโนมัติเพื่อการนำทางที่ง่ายขึ้นอีกด้วย
นอกจากนี้หุ่นยนต์ยังถูกนำมาใช้ในการจัดการด้านปศุสัตว์ต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น เครื่องชั่งน้ำหนักอัตโนมัติ ตู้ฟักไข่ เครื่องรีดนม เครื่องป้อนอาหารอัตโนมัติ และอื่น ๆ อีกมากมาย หุ่นยนต์ช่วยให้เกษตรกรสามารถโฟกัสไปที่การปรับปรุงผลิตภาพ (productivity) โดยรวมได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะทำให้การทำฟาร์มในส่วนอื่น ๆ เชื่องช้าลง นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันข้อผิดพลาดที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ได้
Artificial Intelligence
การผสมผสานปัญญาประดิษฐ์ในการเกษตรช่วยให้เกษตรกรได้รับข้อมูลเชิงลึกแบบเรียลไทม์จากพื้นที่ของตนเองทำให้พวกเขาสามารถดำเนินการในเชิงรุกได้ AI ทำให้เกิดข้อมูลเชิงลึกเชิงคาดการณ์สำหรับการพยากรณ์ข้อมูลสภาพอากาศ ผลผลิตพืชผล และราคา ซึ่งจะช่วยในการตัดสินใจของเกษตรกร และอีกตัวช่วยหนึ่งคือแชทบอท (Chatbot) ที่จะเข้ามาช่วยให้คำแนะนำแก่เกษตรกร
ในอีกด้านหนึ่งอัลกอริทึม AI และการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) ทำให้การรับรู้ความผิดปกติและโรคในพืชและปศุสัตว์เป็นไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะช่วยให้สามารถตรวจจับและตอบสนองได้อย่างทันท่วงที อีกทั้งในส่วนของเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) ก็ยังมีการนำอัลกอริทึมการเรียนรู้ของเครื่องมาใช้ในการแนะนำเกี่ยวกับการคัดเลือกยีนด้วยเช่นกัน
Drones
การเพิ่มผลผลิตของฟาร์มในขณะที่ยังคงประหยัดต้นทุนนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่โดรน (Drone) หรือที่เรียกกันว่า ยานพาหนะทางอากาศไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicles, UAVs) นั้นสามารถช่วยให้เกษตรกรเอาชนะความยุ่งยากนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดรนจะทำการรวบรวมข้อมูลดิบซึ่งสามารถแปลงเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์สำหรับการติดตามฟาร์มได้ โดยโดรนที่ติดตั้งกล้องจะช่วยอำนวยความสะดวกในการถ่ายภาพทางอากาศและช่วยสำรวจพื้นที่ทั้งในระยะใกล้และไกลให้แก่เกษตรกรได้ ซึ่งข้อมูลจากโดรนสามารถนำมาใช้ปรับปรุงการใช้ปุ๋ย น้ำ เมล็ดพืช รวมถึงยาฆ่าแมลงให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ณ ขณะนั้นได้
นอกจากนี้แล้ว โดรนพร้อมกับเทคโนโลยี GPS ยังใช้สำหรับการติดตามปศุสัตว์ การระบุตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ และการเฝ้าติดตามการเล็มหญ้า โดรนเหล่านี้จะบินอยู่เหนือทุ่งนาเพื่อจับภาพที่มีตั้งแต่ภาพถ่ายในย่านความถี่ของแสงที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าไปจนถึงภาพในหลากหลายย่านความถี่แสงซึ่งช่วยในการวิเคราะห์พืชผลและดิน
แต่ข้อเสียข้อหนึ่งของโดรนคือไม่เหมาะสำหรับการเฝ้าติดตามสัตว์ปีก เนื่องจากนกมักจะตื่นตระหนกกับการเคลื่อนไหวของโดรนนั่นเอง โดยบริษัทสตาร์ทอัพในปัจจุบันยังคงมีการพัฒนาโดรนที่สามารถวัดระดับคลอโรฟิลล์ แรงกดดันจากวัชพืช แร่ธาตุและองค์ประกอบทางเคมีของดินได้ด้วยเช่นกัน
Precision Agriculture
ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนในทุกอุตสาหกรรม ความยั่งยืนในด้านการเกษตร หมายถึง การใช้วิธีการและปัจจัยการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นศูนย์ หรือน้อยที่สุด ตัวอย่างหนึ่งในบทความนี้คือ การจัดการพืชผลเฉพาะพื้นที่ (Site-specific Crop Management, SSCM)
หรือที่เรียกว่า การเกษตรแม่นยำสูง (Precision Agriculture) เป็นวิธีการที่เกษตรกรใช้ปริมาณที่แน่นอน เช่น น้ำ ยาฆ่าแมลง และปุ๋ย เพื่อเพิ่มคุณภาพและผลผลิต เนื่องจากแต่ละพื้นที่ในฟาร์มมีคุณสมบัติของดินที่แตกต่างกัน รับแสงแดดต่างกัน มีความลาดชันต่างกัน การปฏิบัติในแบบเดียวกันสำหรับทั้งฟาร์มจึงไม่มีประสิทธิภาพ และทำให้สูญเสียเวลาและทรัพยากรไปโดยเปล่าประโยชน์
ด้วยเหตุนี้ สตาร์ทอัพจำนวนมากจึงกำลังพัฒนาโซลูชันในการเกษตรแม่นยำสูง เพื่อปรับปรุงความสามารถในการทำกำไรพร้อม ๆ กับจัดการกับความท้าทายด้านความยั่งยืน ยกตัวอย่างเช่น Data Farming สตาร์ทอัพในออสเตรเลียมีการทำการเกษตรแม่นยำสูงด้วยความช่วยเหลือของบริการคลาวด์ (Cloud Services)
โดยข้อมูลบนคลาวด์ประกอบไปด้วย ภาพถ่ายจากดาวเทียมความละเอียดสูง การทำแผนที่ดิน การแบ่งโซนพื้นที่แบบอัตโนมัติ และมีการใช้ตัวแปรต่าง ๆ มาเป็นตัวช่วยให้แน่ใจว่าการใช้ปัจจัยการผลิตของฟาร์มนั้นขึ้นอยู่กับตำแหน่งอย่างแม่นยำ ซึ่งจะก่อให้เกิดการทำฟาร์มที่แม่นยำ
Agricultural Biotechnology
ผลผลิตพืชผลจำนวนมากได้สูญเปล่าไปเนื่องจากศัตรูพืชและโรคพืช แม้ว่าสารเคมีทางการเกษตรจะถูกนำมาใช้ แต่ก็ยังไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับความยั่งยืน ในทางกลับกันการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการเกษตรจะเข้ามาช่วยปรับปรุงคุณภาพของพืชผลและปศุสัตว์ได้มากกว่าเทคนิคทางวิทยาศาสตร์ เช่น การขยายพันธุ์พืช การผสมพันธุ์ (Hybridization) พันธุวิศวกรรม (Genetic Engineering) และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสามารถช่วยให้การระบุคุณลักษณะที่ดีในพืชทำได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
Big Data & Analytics
ข้อมูลฟาร์มปริมาณมหาศาลได้ถูกสร้างขึ้นทุกวัน ซึ่งจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยหากไม่มีการนำมาวิเคราะห์ เทคนิคการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และการวิเคราะห์ (Analytic) จะช่วยแปลงข้อมูลนี้ให้กลายเป็นข้อมูลเชิงลึกที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ ข้อมูลสถิติพื้นที่เพาะปลูก การผลิตพืชผล พยากรณ์พืชผล การใช้ที่ดิน การชลประทาน ราคาสินค้าเกษตร พยากรณ์อากาศ และโรคในพืช สามารถนำมาใช้วางแผนทำการเกษตรในฤดูกาลถัดไปได้
เครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์จะใช้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพอากาศ อุปกรณ์การเกษตร วัฏจักรของน้ำ คุณภาพ และปริมาณของพืชผลเพื่อนำไปช่วยระบุรูปแบบและความสัมพันธ์ของข้อมูลแต่ละประเภทที่อาจซ่อนอยู่
บริษัทสตาร์ทอัพหลายแห่งได้มีการพัฒนาวิธีการต่าง ๆ เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ตนเองมีอยู่ ตัวอย่างเช่น การใช้ข้อมูลเพื่อวิเคราะห์และส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับระดับธาตุอาหารในดิน ความเป็นกรดและด่างของดิน ความต้องการปุ๋ย และตัวแปรอื่นๆ อีกหลายอย่าง ซึ่งช่วยให้เกษตรกรสามารถเลือกสรรสิ่งที่ถูกต้องให้แก่ไร่ของตนได้
Controlled Environment Agriculture
สภาพอากาศที่ผันผวนแปรปรวนสุดขั้วเป็นสิ่งที่เข้ามาขัดขวางวิธีการทำฟาร์มแบบเดิม ๆ นอกจากนี้แล้ว การปลูกพืชผลในเมืองที่มีประชากรมากมาย มีทะเลทราย หรือมีเงื่อนไขอื่น ๆ ที่ไม่เอื้ออำนวย ก็ถือเป็นความท้าทายที่สำคัญ ซึ่งสิ่งที่จะเอาชนะเหตุการณ์เหล่านี้ได้คือ การเกษตรแบบควบคุมสิ่งแวดล้อม (Controlled Environment Agriculture, CEA)
1
โดยใน CEA พืชจะได้รับการควบคุมสัดส่วนของแสง อุณหภูมิ ความชื้น และสารอาหาร ยกตัวอย่างเช่น ไฮโดรโปนิกส์ (Hydroponics) และแอโรโปนิกส์ (Aeroponics) ซึ่งเป็นการปลูกพืชแบบไร้ดินและให้สารอาหารผ่านของเหลวและไอน้ำ วิธีการของ CEA ช่วยลดศัตรูพืชและโรค เพิ่มผลผลิต และสร้างแนวทางปฏิบัติทางการเกษตรที่ยั่งยืน
Regenerative Agriculture
การทำฟาร์มแบบดั้งเดิมนำไปสู่การกัดเซาะ และการผุกร่อนของดินในระยะยาว บ่อยครั้งที่การไถ พรวน และถางหญ้ามากเกินไปทำให้ดินกลับมาอยู่ในสภาพที่ปกติก่อนที่จะถึงฤดูเพาะปลูกครั้งต่อไปได้ไม่นานพอ ในทางกลับกัน การเกษตรแบบปฏิรูป (Regenerative Agriculture) มีการรบกวนดินน้อยที่สุด และเน้นไปที่การปรับปรุงความหลากหลายทางชีวภาพของดินและการฟื้นฟูดินชั้นบน
โดยวิธีนี้จะเป็นการลดการไถหรือพรวนดินและเน้นไปที่การปลูกพืชแบบหมุนเวียน เช่น การปลูกพืชคลุมดินเพื่อคลุมดินระหว่างฤดูกาลเพาะปลูกเพื่อฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน เป็นต้น
Connectivity Technologies
การขาดการเชื่อมต่อผ่านเครือข่ายหรือบรอดแบนด์เป็นปัญหาในพื้นที่ชนบททั่วโลก ซึ่งการทำฟาร์มอัจฉริยะจะเป็นไปไม่ได้เลยหากไม่มีเทคโนโลยีการเชื่อมต่อ อย่างเช่น 5G, LPWAN, บรอดแบรนด์ในชนบท หรือการเชื่อมต่อผ่านดาวเทียม
โดย 5G รวมถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่มีการใช้สายไฟเบอร์ออปติก จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับอุปกรณ์ IoT, หุ่นยนต์ และเซ็นเซอร์ต่าง ๆ ให้สามารถสื่อสารและส่งข้อมูลได้ด้วยความเร็วสูง อีกทั้งยังช่วยให้เกษตรกรสามารถที่จะเฝ้าติดตามดูข้อมูลได้แม่นยำมากยิ่งขึ้นแบบเรียลไทม์ และลงมือทำในสิ่งที่จำเป็นต้องทำได้อย่างทันท่วงที
3
ส่วนใหญ่แล้วการนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมการเกษตรจะเกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่วนในประเทศที่กำลังพัฒนานั้นอัตราการยอมรับยังค่อนข้างช้า แต่ก็ยังคงเพิ่มสูงขึ้นภายใต้ความคิดที่ว่าการเกษตรแบบฟาร์มอัจฉริยะจะช่วยทำให้เกษตรกรมีกำไรมากขึ้น
รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลและความสามารถในการคาดคะเนผลผลิตต่าง ๆ จะช่วยส่งเสริมการเกษตรแบบใหม่ ซึ่งเทคโนโลยีหลายอย่างสามารถทำงานร่วมกันเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำฟาร์มที่ง่าย แม่นยำ และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
บทความนี้ถูกแปลมาจาก Top 10 Agriculture Trends, Technologies & Innovations for 2022
เนื้อหาโดย จุฑาภรณ์ วิภัชภาคไพบูลย์
ตรวจทานโดย อิสระพงศ์ เอกสินชล
เกษตรอินทรีย์
ธุรกิจ
เทคโนโลยี
36 บันทึก
8
80
36
8
80
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย