Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
GrowKid - โตไปพร้อมกับลูก
•
ติดตาม
1 เม.ย. 2022 เวลา 08:19 • ครอบครัว & เด็ก
เพราะลูกคือกระจกสะท้อนที่ชัดเจนที่สุด
ในปี 1961 นักจิตวิทยาชื่อ Albert Bandura ได้ทำการทดลองอันหนึ่งที่ค่อนข้างแปลกและเป็นที่พูดถึงเป็นอย่างมาก โดยการทดลองนี้มีส่วนประกอบสำคัญคือเด็ก, ตุ๊กตาตัวตลกล้มลุกชื่อ Bobo และความก้าวร้าว
ในห้องแล็ปของมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด Bandura ได้จัดวางให้ผู้หญิงคนหนึ่งวัยกลางคนแสดงกิริยาก้าวร้าวและฉุนเฉียวใส่ตุ๊กตา Bobo ผู้หญิงคนนั้นทั้งเตะ ต่อย โยน และด่าทอเจ้าตุ๊กตาไม่มีชีวิตตัวนี้ โดยขณะที่เรื่องนี้กำลังเกิดขึ้น พวกเขาก็เอาเด็กวัยอนุบาลกลุ่มหนึ่งมายืนดูสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องข้างๆที่มีกระจกคั่นกลาง
10 นาทีผ่านไป, เด็กกลุ่มนี้ก็ถูกแยกไปคนละห้อง โดยในห้องก็จะมีของเล่นให้เล่น และเจ้า Bobo วางอยู่ พวกเขาก็ปล่อยให้เด็กเล่นของเล่นไปเรื่อยๆ สักพักก็เข้าไปยึดโดยที่ไม่บอกอะไร แล้วปล่อยเด็กไว้กับ Bobo ตามลำพัง
สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ชวนน่ากังวลใจไม่น้อย
เด็กเกือบทุกคนที่เห็นเจ้า Bobo ถูกทำร้ายก่อนหน้านี้ จะจัดการความรู้สึกหงุดหงิดฉุนเฉียวด้วยการลอกเลียนแบบพฤติกรรมอันก้าวร้าวของผู้หญิงคนนั้น พวกเขาทำร้าย Bobo สุดแรงเกิด เท่าที่ร่างกายเล็กๆนั้นจะเหวี่ยงแขนเหวี่ยงขาได้ บางคนถึงขั้นไปหาของเล่นที่เป็นค้อนมาทุบ Bobo เพื่อทำลายด้วยซ้ำ หลายต่อหลายคนด่า Bobo ด้วยภาษาที่แสดงความเหยียดหยามดูถูก
Bandura ได้ทำการทดลองอีกคร้ัง แต่ครั้งนี้ให้เด็กอีกกลุ่มหนึ่งเห็นผู้หญิงที่เป็นผู้ใหญ่นั้นดูแล Bobo อย่างดี สุภาพ และอีกกลุ่มหนึ่งที่แกล้งทำเป็นไม่เห็นเลยว่า Bobo อยู่ตรงนั้น เด็กในสองกลุ่มหลังเมื่อโดนยึดของเล่น ก็แสดงออกถึงความไม่พอใจแบบปกติทั่วไป อาจจะร้องไห้บ้าง แต่ไม่ทำร้าย Bobo เลย
การทดลองของ Bandura นั้นเป็นหลักฐานชัดเจนว่าเด็กๆนั้นเรียนรู้จากส่ิงรอบข้างและการเลียนแบบด้วย ไม่ใช่แค่รูปแบบ Reward/Punishment เท่านั้น ซึ่งที่จริงก่อนหน้าการทดลองของ Bandura คนจะเชื่อกันว่าเด็กๆนั้นจะเรียนรู้จากการทำดีได้รางวัล ทำไม่ดีโดนทำโทษเท่านั้น
การทดลองครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าการสังเกตหรือเลียนแบบเป็นรูปแบบหนึ่งของการเรียนรู้และส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของทุกคนได้เช่นเดียวกัน ก่อน Bobo มันไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนขนาดนี้ ซึ่งที่จริงวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันได้พิสูจน์เรื่องนี้ให้ชัดเจนมากขึ้นไปอีก โดยพบว่าสมองส่วนตอบรับต่อการได้รับรางวัลจะทำงานเมื่อเราเห็นคนที่ใกล้ชิดเราได้รางวัลหรือทำตามเป้าหมายได้สำเร็จ หรือการแสกนสมองของลิงที่กำลังเห็นคนอื่นกินกล้วยอยู่ สมองของมันก็แสดงให้เห็นเหมือนกับว่าตัวเองก็กำลังกินอยู่เช่นเดียวกัน สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าแค่การสังเกตุหรือเห็นสิ่งต่างๆรอบตัวนั้นก็มีผลต่อสมองของเราอย่างมากเช่นกัน
นี่เป็นเหตุผลเรื่องของการแบนเกมที่มีความรุนแรงหรือหนังที่สามารถเป็นแบบอย่างให้เด็กไปลอกเลียนแบบได้ แน่นอนว่าหลายคนอาจจะบอกว่าเด็กรู้อยู่แล้วว่ามันเป็นของปลอม ไม่ทำตามหรอก แน่นอนส่วนตัวคิดว่านั้นไม่ใช่หน้าที่ของผมเองที่จะไปบอกใครได้ว่าให้ทำยังไงหรือบอกพ่อแม่ได้ว่าอะไรที่ควรทำหรือไม่ควรทำ มันขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละคน
ไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่เท่านั้นที่เด็กๆเลียนแบบ แต่เพื่อนๆของเขาที่โรงเรียนก็มีส่วนเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องระวังด้วยก็คือเรื่องของกลุ่มเพื่อนที่เด็กๆใช้เวลาอยู่ด้วย (ที่จริงไม่ใช่แค่เด็กเท่านั้น เรื่องนี้เขาบอกว่าในตัววัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ก็เกิดขึ้นเช่นกัน)
“เด็กๆคือกระจกสะท้อนตัวเราที่ชัดเจนที่สุด”
คำพูดนี้เป็นเรื่องจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และมันก็มีหลักฐานที่ชัดเจน ไม่เชื่อลองถาม Bobo ดูได้
อ้างอิง
[Forty studies that changed psychology : explorations into the history of psychological research (Book, 2009)
WorldCat.org
](
https://www.worldcat.org/title/forty-studies-that-changed-psychology-explorations-into-the-history-of-psychological-research/oclc/191882045
)
[Neuroimaging reward, craving, learning, and cognitive control in substance use disorders: review and implications for treatment](
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6732921/
)
[Operant Conditioning (B.F. Skinner) | Simply Psychology](
https://www.simplypsychology.org/operant-conditioning.html
)
เลี้ยงลูก
ครอบครัว
พฤติกรรมเลียนแบบ
4 บันทึก
8
6
4
8
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย