2 เม.ย. 2022 เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์
เปิดข้อเท็จจริง!! ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก โดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ
จากคำขอของพี่นวลอนงค์ สุวรรณเรือง ซึ่งบอกมาว่า “อาจารย์คะ รบกวนเล่าที่มาของสนธิสัญญา อินโด-แปซิฟิก หน่อยได้มั้ยคะ ขอบคุณค่ะ” ซึ่งเรื่องนี้ผมก็ได้เล่าถึงองค์การ SEATO ซึ่งเปรียบเสมือนองค์การ NATO แห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (แต่แทบจะไม่มีบทบาทอะไรเลย) จนยุบเลิกไปในที่สุด โดยเรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องราวส่วนแรกของ ‘ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก’ ครับ
ฉะนั้นสำหรับบทความรอบนี้ จึงขอเล่าเรื่องราวส่วนที่สอง อันเป็นภาคจบด้วยข้อเท็จจริงของ ‘ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก’ ซึ่งได้ขอความอนุเคราะห์มาจาก ท่านหน่อย ‘ธานี แสงรัตน์’ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ท่านเป็นเพื่อนของรุ่นน้องที่สนิทสนมกัน และราว 30 ปีก่อนเคยไปเยี่ยมท่านที่ขณะเป็นนักศึกษาปริญญาโท University of Pittsburgh
ถ้าพร้อมแล้ว ก็มาเริ่มกันเลยครับ...
ในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2518 รถถังของเวียดนามเหนือสนธิกำลังกับเวียดกงชนประตูรั้วเข้าไปในทำเนียบประธานาธิบดีเวียดนามใต้
แต่ก่อนที่จะไปถึงเรื่องราวข้อเท็จจริงของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกที่มาจากโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ต้องเล่าถึงเหตุการณ์หลังจากความพ่ายแพ้ของทุกรัฐบาลในอินโดจีนที่สหรัฐฯ สนับสนุน และเหตุการณ์ต่อจากนั้นกระทั่งถึงยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกในยุคปัจจุบันกันก่อน
ในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2518 เมื่อรถถังของเวียดนามเหนือสนธิกำลังกับเวียดกงชนประตูรั้วเข้าไปในทำเนียบประธานาธิบดีเวียดนามใต้อันเป็นการแสดงถึงชัยชนะต่อรัฐบาลเวียดนามใต้ที่สนับสนุนโดยสหรัฐฯ และสหรัฐฯ ต้องถอนกำลังออกจากสามประเทศอินโดจีน อันได้แก่ ลาว, กัมพูชา และเวียดนามใต้ อย่างบอบช้ำ และชัยชนะดังกล่าวทำให้ทั้งสามประเทศสถาปนาตัวเองเป็นประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์โดยสมบูรณ์
แต่หลังจากชัยชนะของฝ่ายคอมมิวนิสต์ ที่เกิดขึ้นทั้งในสามประเทศไม่นาน ก็ดันเกิดความขัดแย้งด้วยอาวุธระหว่างสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามและกัมพูชาประชาธิปไตย โดยสงครามเริ่มขึ้นด้วยการปะทะตามพรมแดนทางบกและทางทะเลของเวียดนามและกัมพูชาระหว่าง พ.ศ. 2518 ถึง 2520
ต่อมาในวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2521 เวียดนามเริ่มปฏิบัติการรุกรานกัมพูชาเต็มขั้นและยึดครองประเทศได้หลังล้มล้างรัฐบาลเขมรแดง โดยวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2521 ทหารเวียดนาม 150,000 นาย บุกเข้ายึดครองกัมพูชาประชาธิปไตย และสามารถชนะกองทัพปฏิวัติกัมพูชาได้ในเวลาเพียงสองสัปดาห์
วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2522 มีการจัดตั้งสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาที่นิยมเวียดนามในกรุงพนมเปญ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการยึดครองกัมพูชาของเวียดนามยาวนานนานสิบปี แต่ระหว่างการยึดครองนั้นรัฐบาลกัมพูชาประชาธิปไตยของเขมรแดงยังคงได้รับการรับรองโดยสหประชาชาติว่าเป็นรัฐบาลโดยชอบธรรมของกัมพูชา พร้อมทั้งมีการจัดตั้งกลุ่มต่อต้านติดอาวุธหลายกลุ่มขึ้นเพื่อสู้รบกับการยึดครองของเวียดนาม
นายกรัฐมนตรีฮุน เซน แห่งรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา ซึ่งนิยมเวียดนาม ได้พยายามเจรจากับรัฐบาลผสมกัมพูชาประชาธิปไตย เพื่อเริ่มการเจรจาสันติภาพ ภายใต้แรงกดดันทางการทูตและเศรษฐกิจอย่างหนักจากประชาคมนานาชาติ รัฐบาลเวียดนามจึงเริ่มนำการปฏิรูปนโยบายเศรษฐกิจและต่างประเทศหลายอย่างมาใช้ และนำไปสู่การถอนตัวออกจากกัมพูชาในเดือนกันยายน พ.ศ. 2532
ในระหว่างการยึดครองกัมพูชาของเวียดนาม มีเหตุการณ์สำคัญต่างๆ เกิดขึ้นหลายครั้ง อาทิ 17 กุมภาพันธ์ - 16 มีนาคม พ.ศ. 2522 จีนได้การโจมตีเวียดนามตามแนวชายแดนจีน-เวียดนาม และจีนสามารถยึดครองเมืองเกาบังได้ในวันที่ 2 มีนาคม และเมืองลาวเซินในวันที่ 4 มีนาคม จากนั้นมุ่งหน้าต่อไปยังกรุงฮานอย แม้การส่งกำลังบำรุงไม่ดีพอ แต่อีกไม่กี่วันต่อมากองกำลังของจีน ก็สามารถเข้าสู่เวียดนามตอนเหนือและยึดเมืองต่างๆ ของเวียดนามได้หลายเมืองใกล้ชายแดน กระทั่ง วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2522 ประเทศจีนประกาศว่า ประตูสู่กรุงฮานอยได้ถูกเปิดออกแล้ว และสรุปว่า ภารกิจลงโทษลุล่วงแล้ว ก่อนถอนทหารทั้งหมดออกจากประเทศเวียดนาม โดยทั้งประเทศจีนและเวียดนามต่างอ้างชัยชนะในสงครามครั้งนี้
ในส่วนของประเทศไทยเอง ก็ได้รับผลกระทบจากการยึดครองกัมพูชาของเวียดนาม โดยเกิดเหตุปะทะชายแดนไทย-เวียดนาม ด้วยกองกำลังทหารกัมพูชาส่วนใหญ่ที่ได้อพยพมาอยู่ทางด้านตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งติดกับชายแดนไทย โดยมีกลุ่มกัมพูชาติดอาวุธที่ต่อต้านการยึดครองของเวียดนามอยู่ 3 กลุ่ม คือ...
(1) กลุ่มกัมพูชาประชาธิปไตย (Democratic Kampuchea) หรือกลุ่มเขมรแดงของ พล พต และเขียว สัมพันธ์ มีสมาชิกประมาณ 40,000 นาย มีฐานที่ตั้งอยู่บริเวณพนมกระวันและบริเวณตะวันตกของจังหวัดพระตะบอง
(2) กลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยชาติเขมร (Khmer People’s National Liberation Front - KPNLF) ภายใต้การนำของซอนซาน มีสมาชิกประมาณ 4,000 นาย
และ (3) กลุ่มพรรคฟุนซินเปก (Front d"union national pour un Cambodge independant, pacifiaue et cooperatif - FUNCINPEC) ภายใต้การนำของสมเด็จนโรดม สีหนุ กลุ่มต่อต้านทั้งสามกลุ่มนี้มีฐานกองกำลังใกล้กับชายแดนไทยเพื่อง่ายต่อการหลบหนีเมื่อถูกกำลังเวียดนามบุกเข้าโจมตี กำลังกัมพูชาก็หลบหลีกเข้าสู่ดินแดนไทย ในการนี้เวียดนามเห็นว่าไทยยินยอมให้ชาวกัมพูชาฝ่ายต่อต้านใช้พื้นที่เป็นที่หลบหนีและคุ้มกันการโจมตีของกำลังเวียดนามและกำลังของเฮง สัมริน
หลายครั้งที่การโจมตีของกำลังเวียดนามต่อกลุ่มกัมพูชาติดอาวุธที่ต่อต้านการยึดครองของเวียดนามทั้ง 3 กลุ่ม มักมีการรุกล้ำอธิปไตยของไทย ซึ่งขณะนั้นถือได้ว่ากองทัพไทยหากเปรียบเทียบกับกองทัพเวียดนามแล้ว ต้องบอกว่าว่าเทียบกันไม่ติด เนื่องจากกองกำลังทางทหารของฝ่ายไทยไม่เคยผ่านการรบมาก่อนหรือถ้าผ่านก็เป็นการรบแบบสมัยใหม่ ซึ่งมีแนวทางในปฏิบัติการรบแบบสหรัฐอเมริกา แตกต่างกับเวียดนาม
พิจารณาได้จากกองกำลังของเวียดนามซึ่งมีทักษะในการรบที่ดีกว่า และรู้วิธีการรบแบบกองโจร แถมทหารของเวียดนาม ก็ยังมีประสบการณ์รบจากสงครามเวียดนาม
โดยขณะที่เวียดนามบุกกัมพูชานั้น กองกำลังทางทหารของเวียดนามมีจำนวน 875,000 นาย โดยที่ยังไม่รวมกำลังทหารของฝ่ายเฮง สัมริน ที่ไม่ทราบจำนวนที่แน่นอน ภายใต้ยุทธวิธีการรบแบบกองโจร และการรบแบบสมัยใหม่
ส่วนฝ่ายไทยนั้นมีประสบการณ์เพียงเรื่องการปราบปรามกองโจร และมีกำลังทหารหน่วยที่ผ่านสงครามในลาวและเวียดนาม แต่ก็ชำนาญการรบตามหลักนิยมของกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งต้องอาศัยอำนาจการยิงที่เหนือกว่า จึงจะทำการรบได้
นอกจากนี้เวียดนามยังมีอาวุธของสหรัฐฯ ที่เหลือทิ้งไว้จากยุคสงครามเวียดนามอยู่มาก รวมทั้งในระหว่างปี พ.ศ. 2521 - 2531 นี้ เวียดนามก็ได้รับความช่วยเหลือทางทหารจากสหภาพโซเวียตเป็นจำนวนมหาศาล เพื่อพัฒนากองทัพให้ทันสมัย และเพื่อการปราบปรามฝ่ายต่อต้านในกัมพูชา จึงกล่าวได้ว่า ไทยมีขีดความสามารถที่ด้อยกว่าเวียดนามอยู่มาก
ทั้งนี้ ข้อตกลงสันติภาพปารีส การเจรจาสันติภาพยังคงดำเนินต่อไป โดยการประชุมสันติภาพปารีสเกี่ยวกับกัมพูชาครั้งแรกจัดขึ้นใน พ.ศ. 2532 หลังจากการถอนทหารเวียดนาม ต่อมาในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2533 ได้จัดการประชุมจาการ์ตาครั้งที่สาม และจัดตั้งสภาสูงสุดแห่งชาติกัมพูชา เพื่อรับรองอำนาจอธิปไตยของกัมพูชา ในเวลาเดียวกัน ฮุน เซนได้เปลี่ยนชื่อพรรคปฏิวัติประชาชนกัมพูชามาเป็นพรรคประชาชนกัมพูชา
ในช่วงดังกล่าวกองกำลังเวียดนามซึ่งอยู่ในกัมพูชาได้ติดตามกวาดล้างกลุ่มกัมพูชาติดอาวุธที่ต่อต้านการยึดครองของเวียดนามทั้ง 3 กลุ่ม จนมีการรุกล้ำอธิปไตยของไทยหลายครั้ง และมีการปะทะตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 - 2532 ยาวนานร่วม10 ปี ผลที่เกิดขึ้นคือ ฐานของกำลังกลุ่มกัมพูชาติดอาวุธที่ต่อต้านการยึดครองของเวียดนามที่ชายแดนไทย-กัมพูชาถูกทำลายจำนวนมาก
การปะทะที่แยกออกมาเป็นความเป็นปรปักษ์แบบเปิดระหว่างกองทัพเวียดนามและไทย และที่สุดกองทัพเวียดนามก็ยอมถอนกำลังออกจากกัมพูชาใน ปี พ.ศ. 2532 ภัยคุกคามของกองกำลังเวียดนามในกัมพูชาต่อไทยจึงค่อย ๆ คลี่คลายจนจบลง ซึ่งในห้วงเวลาดังกล่าวสหรัฐฯ ซึ่งถอนกำลังออกจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 ทำให้กองทัพไทยต้องสู้รบกับกองกำลังเวียดนามในกัมพูชาโดยลำพัง (พ.ศ. 2519 - 2525) ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ ในตอนนั้นก็แผ่วลง ด้วยไทยหมดความจำเป็นในฐานะเครื่องมือในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคนี้ กระทั่งสหรัฐฯและไทยกลับมาทำการฝึก Cobra Gold อันเป็นการฝึกร่วม/ผสมทางการทหารระดับพหุภาคีที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในประเทศไทย ด้วยการเริ่มต้นครั้งแรกจากการฝึกทวิภาคีระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2525 และดำเนินการต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน
สำหรับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ของสหรัฐฯ ในยุคปัจจุบัน ซึ่งนายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะโฆษกกระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงถึงกรณีที่มีการเสนอข่าวและวิพากษ์วิจารณ์ว่า ประเทศไทยไปทำความตกลงกับสหรัฐฯ ในการจัดทำเรื่องเอกสารยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของสหรัฐฯ และกรณีสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ว่า...
1.) เอกสารยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกเป็นนโยบายยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ที่จัดทำขึ้นเองฝ่ายเดียว (unilaterally) เพื่อเป็นแนวทางของการดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ กับแต่ละภูมิภาค และมีการปรับทุกปี โดยเป็นเอกสารที่หลายหน่วยงานของสหรัฐฯ ช่วยกันประมวลทำขึ้นมาเองไม่ใช่ความตกลงกับประเทศใด ๆ ทั้งสิ้น ดังนั้น ประเทศไทยและรัฐบาลไทยจึงมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเอกสารฉบับนี้ ไม่มีหน่วยงานใดของไทยลงนามรับรองหรือรับรู้เอกสารฉบับนี้ หรือไปตกลงว่าจะร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกแต่อย่างใด
2.) ในส่วนของเอกสารที่เป็นข่าวว่ามีการจัดทำร่วมกันระหว่างสองฝ่าย ไทยและสหรัฐฯ นั้น เอกสารนั้นการแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมระหว่างไทยกับสหรัฐฯ (ค.ศ. 2020) ว่าด้วยการเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศ (Joint Vision Statement 2020 for the Thai – U.S. Defense Alliance) ซึ่งนายกรัฐมนตรีในฐานะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้ลงนามเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2562 ร่วมกับนาย Mark Esper รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สหรัฐฯ ในขณะนั้น
โดยเป็นเพียงการแสดงวิสัยทัศน์ร่วมย้ำความเป็นพันธมิตรและเสริมสร้างความสัมพันธ์ และเป็นแนวทางความร่วมมือระหว่าง กระทรวงกลาโหมทั้งสองฝ่าย ไม่มีข้อผูกมัดใด ๆ ที่จะมีขึ้นกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพราะไม่ได้เป็นสัญญาหรือความตกลงในรูปแบบใดทั้งสิ้น ทั้งนี้ การจัดทำเอกสารแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมฯ ได้ทำตามกระบวนการขั้นตอนตามปกติและคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามระเบียบและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง โดยทั้งสองฝ่ายได้มีการประชาสัมพันธ์การลงนามต่อสาธารณชนผ่านสื่อสาธารณะต่าง ๆ อย่างเปิดเผยด้วย
3.) การออกเสียงที่สหประชาชาติกรณีสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ของไทยอยู่บนพื้นฐานของความเป็นเอกราชและอธิปไตยของไทย มุ่งเน้นเรื่องการรักษาความเป็นกลาง และการรักษามิตรภาพการเป็นมิตรกับทุกประเทศและผลประโยชน์ร่วมกันกับทุกฝ่าย อีกทั้งยังอยู่บนพื้นฐานของการเคารพกฎกติกาสากล เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของโลก ไม่ใช่เป็นการออกเสียงเพื่อเอาใจประเทศอื่นใดหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อประเทศใด ไทยเคารพกฎกติการะหว่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับอำนาจอธิปไตยของทุกประเทศเท่าเทียมกัน ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก ว่าเป็นสิ่งที่จะละเมิดมิได้ ซึ่งกฎกติกาดังกล่าวก็มีความสำคัญยิ่งกับประเทศไทยเช่นกัน การออกเสียงของไทยบนพื้นฐานนี้จึงเป็นเรื่องจำเป็น สมควรและรอบคอบ
4.) รัฐบาลไทยตระหนักดีว่ามีหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของชาติไว้อย่างเต็มที่ ซึ่งไม่ใช่ด้วยการเป็นศัตรูกับประเทศอื่น หรือยอมไปอยู่ในอาณัติของประเทศใด แต่การดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยอยู่บนพื้นฐานของการยืนอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างมีศักดิ์ศรีในฐานะประเทศเอกราช โดยร่วมมือกับทุกประเทศเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน
สำหรับการกล่าวประณามหรือไม่ประณามประเทศใดในสถานการณ์ความขัดแย้ง ไม่ได้หมายความว่า ไทยจะตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์หรือเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องยึดหลักและตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการสากลที่ทุกประเทศต้องเคารพเพื่อการอยู่ร่วมกันโดยสันติ และประเด็นที่ประเทศไทยต้องการสนับสนุนยิ่งและเน้นย้ำตลอดมาคือ ขอให้ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญของการเจรจาในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งเพื่อให้ทุกฝ่ายที่เป็นคู่กรณีมีทางออก เพราะสถานการณ์ความขัดแย้งไม่เคยมีผู้ชนะ มีแต่ผู้แพ้ และผู้ที่แพ้มากที่สุดก็คือประชาชน
ไทยมีความสัมพันธ์ฉันมิตรกับทุกประเทศที่มีส่วนร่วมและได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน จึงให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือประชาชนของประเทศเหล่านั้น ซึ่งกำลังได้รับความเดือดร้อน ภายใต้กรอบกฎหมายระหว่างประเทศและหลักมนุษยธรรม และการเจรจาสันติภาพเพื่อยุติความขัดแย้ง
5.) เนื่องจากขณะนี้ประเทศต่าง ๆ ทั่วกำลังประสบความเดือดร้อนจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนสำหรับไทยที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันต่อ GDP สูงที่สุดประเทศหนึ่งก็ได้รับผลกระทบด้านพลังงาน ราคาสินค้า และเงินเฟ้อ ซึ่ง รัฐบาลได้ดำเนินการทุกวิถีทางที่จะบรรเทาผลกระทบของความขัดแย้งกับ ปชช. ไทยอย่างเต็มที่แล้ว และ แต่ไทยจะสามารถผ่านวิกฤตินี้ได้ด้วยความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหา รวมถึงการรักษามิตรภาพกับทุกประเทศและการสื่อสารให้ดำเนินอยู่ตลอดเวลา
6.) การดำเนินนโยบายต่างประเทศจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อถือและความมั่นใจของนานาประเทศในความมั่นคงและความมีเอกภาพของนโยบายของไทย จึงใคร่ขอให้ทุกฝ่ายให้ความสำคัญกับการส่งข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน มิใช่เป็นเรื่องที่ไม่จริงแต่บอกเล่ากันต่อ ๆ มาจนกลายเป็นข้อเท็จจริง เพราะเรื่องการต่างประเทศ เราต้องมีปฏิสัมพันธ์กับนานาประเทศ หากไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องความเป็นเอกภาพของนโยบายของเราได้ ก็จะเป็นปัญหาของประเทศเราเอง
ดังนั้นข่าวลือที่ระบุว่า ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกนั้น รัฐบาลไทยได้ลงนามทำความตกลงกับสหรัฐฯ เรียบร้อยแล้วนั้น จึงไม่เป็นความจริง ต้องวอนให้คนไทยได้ตั้งสติพิจารณาถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างถี่ถ้วนเพื่อจะได้ไม่เป็นเหยื่อของผู้ที่ไม่หวังดีต่อประเทศชาติอันเป็นที่รักยิ่งของพวกเราชาวไทยทุกคนจนตลอดไป
ดร.โญธิน มานะบุญ
ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ
โฆษณา