8 เม.ย. 2022 เวลา 12:00 • บันเทิง
เปิดประวัติศาสตร์ “รายการวาไรตี้” (Variety Show) หรือ “รายการปกิณกะบันเทิง” ไทย ประเภทรายการที่อยู่คู่กับวงการโทรทัศน์ไทยมาอย่างยาวนานถึง 67 ปีและได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย
“รายการวาไรตี้” (Variety Show) หรือ “รายการปกิณกะบันเทิง” เป็นรายการบันเทิงถูกพัฒนามาจากการแสดงบนเวที (Stage Show) ที่เริ่มแรกเป็นการแสดงในโรงละคร โรงภาพยนตร์​ หรืออัฒจันทร์กลางแจ้ง ซึ่งมีผู้ชมเข้าไปนั่งชมการแสดง ไม่ว่าจะเป็นการแสดงดนตรี การร้องเพลง การเล่นละคร ต่อมาจึงมีการถ่ายทอดจากเวทีการแสดงเข้าสู่โทรทัศน์ และพัฒนารูปแบบรายการเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากละครโทรทัศน์ที่สร้างเรตติ้งและรายได้ให้แก่สถานีโทรทัศน์แล้ว ก็ยังมีรายการเพลงวาไรตี้ที่ได้รับความนิยมอยู่เสมอมา เนื่องด้วยความหลากหลายของเนื้อหา และสามารถมอบความสุข ความสุขให้แก่ผู้ชม ในรูปแบบที่ต่างกัน โดยสามารถแบ่งคร่าว ๆ ได้เป็น 7 ประเภท ได้แก่
1. รายการตอบคำถาม (Quiz Show)
“รายการตอบคำถาม” หรือ “ควิซโชว์” (Quiz Show) เป็นรายการที่นำผู้เข้าแข่งขันซึ่งมาแข่งขันตอบคำถามเพื่อชิงรางวัล โดยรายการควิซโชว์เป็นรายการประเภทแรกของรายการวาไรตี้โชว์ในไทย ตั้งแต่ปี 2498 โดยส่วนมากจะเป็นการนำเอาการละเล่นของไทยมาใช้ในการแข่งขัน เช่น รายการปัญหาผะหมี รายการประชันกลอนสด รายการทายภาพปริศนา ออกอากาศที่ช่อง 4 บางขุนพรหม
จากนั้นมีการพัฒนารูปแบบเรื่อย ๆ ซึ่งตัวอย่างรายการตอบคำถามที่ได้รับความนิยมในไทย คือ ไอคิว 180 (2525) เกมเศรษฐี (2543) แฟนพันธุ์แท้ (2543) The Weakest Link กำจัดจุดอ่อน (2545) กล่องดำ (2548) อัจฉริยะข้ามคืน (2549) ปริศนาฟ้าแลบ (2557)
2. รายการเพลง (Music Show)
“รายการเพลง” (Music Show) เป็นรายการพูดคุยเกี่ยวกับเพลง นำเสนอเพลงที่กำลังได้รับความนิยม ตลอดจนเพลงใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นรูปแบบของรายการคอนเสิร์ต หรือรายการเปิดมิวสิควิดีโอ ที่คล้ายกับสถานีวิทยุ โดยรายการเพลงที่เป็นรูปแบบคอนเสิร์ตรายการแรกที่มีการถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์คือ รายการ โลกดนตรี (2514) ตามมาด้วย 7 สี คอนเสิร์ต (2529) เวทีไท (2540)
ถัดมาเป็นยุคของรายการที่พูดคุยเกี่ยวกับเพลงและเปิดมิวสิควิดีโอ เข่น รายการ O:IC (2547) 5 Live (2545) Sat-Zone โซนมันวันเสาร์ (2550) ที่อัปเดตวงการเพลงทั่วเอเชีย และล่าสุดกับรายการ TPOP Stage (2564) ที่ช่วยพลิกฟื้นวงการเพลงป๊อปไทยขึ้นมาอีกครั้ง
3. รายการเกมโชว์ (Game Show)
“รายการเกมโชว์” (Game Show) เป็นรายการวาไรตี้ที่ให้ผู้ร่วมรายการแข่งขันในเกมประเภทต่าง ๆ เพื่อชิงรางวัล โดยเกมโชว์ในยุคแรกที่ได้รับนิยมอย่างมากคือ รายการ “พลิกล็อก” ออกอากาศครั้งแรกในปี 2525 ซึ่งเป็นรายการเปิดแผ่นป้ายทายตัวเลข ตามมาด้วยรายการ มาตามนัด (2527) เวทีทอง (2532) ชิงร้อยชิงล้าน (2533) 4 ต่อ 4 แฟมิลี่เกม (2544) เกมวัดดวง (2545) เกมทศกัณฐ์ (2546) และ I Can See Your Voice Thailand (2559)
4.รายการสนทนา (Talk Show)
“รายการสนทนา” หรือ “รายการทอล์กโชว์” (Talk Show) เป็นรายการวาไรตี้โขว์ที่นำเสนอการนั่งสัมภาษณ์พูดคุยกับแขกรับเชิญ ซึ่งอาจจะเป็นบุคคลในวงการบันเทิง บุคคลที่มีชื่อเสียง หรือเป็นบุคคลที่มีเรื่องราวน่าสนใจ โดยรายการทอล์กโชว์รายการแรก ๆ ที่ได้รับความนิยมคือ “4 ทุ่มสแควร์” (2532) หรือที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อรายการเป็น “ตี 10” ของ “วิทวัจน์ สุนทรวิเนตร์”
ตามมาด้วย รายการ “ทไวไลท์ โชว์” (2533) อีกหนึ่งรายการที่ยังคงอยู่ยงคงกระพันมาจนถึงทุกวันนี้ ในชื่อว่า “ทูเดย์ โชว์” นอกจากนี้ยังมี เจาะใจ (2534) ชมรมขนหัวลุก (2538) ที่เป็นต้นตำรับรายการเล่าเรื่องผี ดาวล้านดวง (2539) สมาคมชมดาว (2539) และ วู้ดดี้ เกิดมาคุย (2551)
5. รายการตลก (Comedy Show)
“รายการตลก” Comedy Show เป็นรายการปกิณกะบันเทิงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการแสดงตลก ทั้งรูปแบบละครสั้น การเล่นตลก การแสดงบทบาทสมมติ หรือการแกล้งคน โดยรายการที่ได้รับความนิยมคือ “ยุทธการขยับเหงือก” (2532) ระเบิดเถิดเทิง (2539) ก่อนบ่ายคลายเครียด (2540) สาระแน Show (2541) คดีเด็ด (2543) จ้อจี้ (2546) และ ตลก 6 ฉาก (2550)
6. รายการเรียลลิตี้ (Reality Show)
รายการเรียลลิตี้ (Reality Show) เป็นรายการวาไรตี้ประเภทหนึ่งที่ไม่มีบท แต่ดำเนินไปด้วยสถานการณ์ที่เกิดจริง โดยผู้เข้าร่วมรายการจะต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ จากสถานการณ์ที่รายได้เตรียมไว้ และหากเป็นรายการการแข่งขัน ส่วนมากผู้ชมทางบ้านมีส่วนในการตัดสินหาผู้ชนะในรายการ รายการประเภทนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ 2000
ตัวอย่างรายการที่ได้รับความนิยมในไทยคือ The Star ค้นฟ้าคว้าดาว (2546) Academy Fantasia ปฏิบัติการล่าฝัน (2547) ไฮโซบ้านนอก (2548) Big Brother Thailand (2548) และ The Face Thailand (2557)
7. รายการแสดงความสามารถ (Talent Show)
รายการแสดงความสามารถพิเศษ (Talent Show) เป็นรายการที่ให้ผู้เข้าแข่งขันได้แสดงความสามารถพิเศษ ไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตาม เช่น การร้องเพลง การทำอาหาร การลิปซิงค์ การเล่นดนตรี การเต้น การแสดงมายากล และอื่น ๆ ซึ่งรายการในปัจจุบันรายการประเภทนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในไทย โดยเฉพาะรายการประกวดร้องเพลง และรายการทำอาหาร
ตัวอย่างของรายการประเภทนี้คือ กิ๊กดู๋ สงครามเพลง (2553) Thailand’s Got Talent (2554) เชฟกระทะเหล็ก ประเทศไทย (2555) The Voice Thailand (2555) ชิงช้าสวรรค์ ไมค์ทองคำ (2557) ไมค์หมดหนี้ (2559) The Mask Singer หน้ากากนักร้อง (2559) และ Master Chef Thailand (2560)
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์รวบรวม (ข้อมูลวันที่ 31 มีนาคม 2565)
กราฟิก: ณัฐนิช อิสระเสรีธรรม
1
โฆษณา