3 เม.ย. 2022 เวลา 12:58 • ประวัติศาสตร์
การกินอยู่ของคนในสมัยอยุธยา ตอนที่ 9
ย่านขายอาหารในสมัยอยุธยา มีขายอาหารตามสั่งไหม?
ภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดมหาสมณาราม อ.เมือง จ.เพชรบุรี ที่มา: ฐานข้อมูลจิตรกรรมฝาผนัง สถาบันไทยคดีศึกษา ม.ธรรมศาสตร์
อาหารถือว่าเป็นปัจจัยสี่ของมนุษย์ทุกยุคทุกสมัย ในเชิงประวัติศาสตร์ อาหารยังเป็นตัวบ่งบอกวัฒนธรรม เรื่องราวความเป็นอยู่ และสะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของดินแดนนั้นๆได้เป็นอย่างดี
1
สำหรับในเรื่องอาหารการกินในสมัยอยุธยานั้น จากการค้นคว้าส่วนใหญ่จะปรากฏในบันทึกของชาวต่างชาติที่เข้ามาในอยุธยาสมัยนั้นเสียส่วนใหญ่ บันทึกของคนอยุธยาเองมีน้อยมาก แม้แต่วรรณกรรมในสมัยนั้นก็มีพูดถึงน้อยเช่นกัน
ผู้เขียนเคยได้ลงเป็นบทความไว้สำหรับเรื่องการกินของคนสมัยอยุธยา ซึ่งอาหารหลักเป็น “ข้าว” กับ “ปลา” เครื่องเคียงเป็นผักกับน้ำพริก ปรุงด้วยการต้มหรือนึ่ง การทำเป็นแกง จัดเป็นสำรับ สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากลิ้งค์ด้านล่างนี้ครับ
  • ทัศนคติเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของอยุธยา จากบันทึกชาวต่างชาติ
...
  • จดหมายเหตุของฟานฟลีต พ่อค้าชาวฮอลันดาของบริษัทดัตช์อีสต์อินเดีย ได้บันทึกไว้ว่า
“นอกจากประเทศสยามจะมีความอุดมสมบูรณ์และมีอาหารอย่างล้นเหลือ ประชาชนสามารถยังชีพตนเองด้วยสิ่งของและผลไม้ในประเทศของตนเองได้…พวกเขาสามารถอยู่ได้อย่างดียิ่งโดยไม่ต้องอาศัยผลิตผลของประเทศอื่นๆ…”
3
...
  • จดหมายเหตุของโยสต์ สเคาเต็น ผู้จัดการของบริษัทดัตช์อีสต์อินเดีย ได้บันทึกไว้ว่า
“แม่น้ำที่ชาวสยามเรียกกันว่าแม่น้ำนั้นหมายถึงแม่ของน้ำ เป็นแม่น้ำที่กว้างใหญ่และยาวมาก ...เมื่อถึงฤดูน้ำหลากน้ำจะไหลล้นฝั่งทุกปี ในปีหนึ่งๆ ในบริเวณที่ราบจะมีน้ำนองถึง 5-6 เดือน เป็นผลให้พื้นดินมีความอุดมสมบูรณ์อย่างยิ่ง เหมาะแก่การปลูกข้าวทั้งชะล้างสิ่งโสโครกต่างๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคติดต่อหมดไป...พื้นดินทั่วไปอุดมสมบูรณ์ แต่บริเวณที่มีพลเมืองอยู่หนาแน่นมักจะอยู่ริมแม่น้ำและบริเวณที่ราบ ในเมืองมีเมืองต่างๆหลายเมือง สถานที่เป็นตลาดและหมู่บ้านมากมาย”
3
จะเห็นจากจดหมายเหตุของชาวต่างชาติข้างต้น มีการกล่าวถึงสถานที่คือ #ตลาด ซึ่งเป็นแหล่งซื้อขายของสดต่างๆ ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว ซึ่งตรงกับหลักฐานที่ชื่อ “คำให้การขุนหลวงหาวัด” ซึ่งเป็นพงศาวดารที่แปลมาจากภาษามอญและภาษาพม่า โดยมีการระบุดังต่อไปนี้ (เป็นภาษาโบราณ)
3
...
อนึ่งในกำแพงพระนครกรุงศรีอยุธยานั้น มีตำบลย่านร้านตลาดขายของต่างๆ เป็นตลาดของสดเช้าเย็น และตลาดร้านชำประจำของแห้งที่ร้านบ้างรวม 61 ตลาด...
2
ตลาดร้านชำ #หุงเข้าต้มแกง ขายคนจรไปมาและคนทำราชการและมีของสดขายข้าวเย็นในย่านนี้ชื่อ ตลาดหน้าวังตรา 1
1
...ย่านถนนบ้านมะพร้าวมีร้านขายมะพร้าวห้าวปอกและมะพร้าวอ่อน มะพร้าวเผาและเปลือกมะพร้าว ชื่อตลาดป่ามะพร้าว 1
...ถนนย่านป่าขนม ชาวบ้านย่านนั้นทำขนมขายและนั่งร้านขาย ขนมชะมด กงเกวียน สามเกลอ หินฝนทอง ขนมกรุบ ขนมภิมถั่ว ขนมสัมปันนี และขนมแห้งต่างๆ ชื่อตลาดป่าขนม 1
1
...ย่านป่าถ่านมีร้านตลาดของสรรพผลไม้ส้มกล้วยของสวนในและสวนนอกต่างๆ และมีร้านขายของสดเช้าเย็น ชื่อตลาดป่าถ่าน 1
...ถนนย่านขนมจีนมีร้านโรงจีนทำ ขนมเปีย ขนมโก๋ เครื่องจันอับ ขนมจีนแห้งขายเป็นร้านชำชื่อ ตลาดขนมจีน 1
1
...ถนนย่านในไก่เชิงสะพานประตูจีนไปถึงเชิงสะพานประตูในไก่เป็นตลาดใหญ่ มีตึกกว้านร้านจีนตั้งตึกทั้งสองฟากถนนหลวง จีนไทยนั่งร้านขายของ สรรพสิ่งของ เครื่องสำเภา เครื่องทองเหลือง ทองขาว กระเบื้อง ถ้วยโถ ชาม... และสรรพเครื่องมาแต่เมืองจีน... วางรายในร้านขายที่ท้องตลาด มีของสดขายเช้าเย็น สุกร เป็ด ไก่ ปลาทะเลและปลาน้ำจืด ปูหอยต่างๆ หลายอย่างหลายพรรณ เป็นตลาดใหญ่ยวดยิ่งในกรุงชื่อตลาดใหญ่ท้ายพระนครอยู่ย่านในไก่ 1
3
...ถนนย่านสามม้าตั้งแต่เชิงสะพานในไก่ตะวันออกไปจดถึงหัวมุมพระนครที่ชื่อตำบลหัวสาระภานั้น จีนตั้งโรงทำเครื่องจันอับและขนมแห้งจีนต่างๆ หลายชนิดหลายอย่าง...
แผนที่ย่านขนมจีนและย่านในไก่ แหล่งขายขนมแบบจีนและเครื่องใช้นำเข้าจากจีนในสมัยอยุธยา ที่มา: ดัดแปลงจากหม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล และท่านอื่นๆ, 2551
  • จากบันทึกคำให้การขุนหลวงหาวัด ทำให้เราพอมองเห็นภาพเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนอยุธยาสมัยนั้น ในเรื่องตลาด โดยผู้เขียนขอสรุปออกมาได้ดังนี้
  • ในเกาะเมืองอยุธยามีย่านร้านขายอาหาร ของสด และของใช้หลากหลาย (เรียกว่า “ตลาด”) รวมกว่า 61 แห่ง
  • คำว่า #หุงเข้าต้มแกง ตีความง่ายๆนั่นคือ “ข้าวราดแกง” นั่นเอง ขายให้ลูกค้าขาจรส่วนหนึ่งและข้าราชการที่เป็นลูกค้าประจำ (ตลาดหน้าวัง)
2
  • บางย่านถ้ามีสินค้าไหนเป็นแหล่งขายสำคัญก็จะตั้งชื่อตามสินค้านั้น เช่น ย่านถนนบ้านมะพร้าว ย่านป่าขนม ย่านขนมจีน เป็นต้น
  • มีร้านขายขนมต่างๆ เช่น ขนมกงเกวียน ขนมพิมถั่ว ขนมชะมด สัมปันนี ขนมเปีย (ขนมเปี๊ยะ) ขนมโก๋ หินฝนทอง
2
...
  • อาหารตามสั่ง ไม่มีปรากฏใดๆในบันทึกให้เราเห็นกันเท่าที่สังเกต แต่เท่าที่ได้ลองสืบค้นข้อมูลพบว่า กระทะเหล็กแบบจีนที่ใช้ผัดและทอดเข้ามาในสยาม มีหลักฐานก็ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นแล้ว (ขอแยกลงรายละเอียดในบทความอื่นภายหลัง)
ผู้เขียนเข้าใจว่าคนจีนนำเข้ากระทะมาเพื่อใช้ประกอบอาหารกันภายในครอบครัวมากกว่า ยังไม่ได้เป็นที่แพร่หลายในสังคมทั่วไปของชาวอยุธยาเหมือนในสมัยต่อมา ดังนั้นอาหารตามสั่งพวกผัดต่างๆแบบที่ใช้ความร้อนจากน้ำมันในกระทะจึงยังไม่มีให้เห็นในตลาดทั่วไปสมัยนั้น
1
...
  • การใช้น้ำมันจากสัตว์ซึ่งคนอยุธยามองว่าเป็นการเบียดเบียน จึงนิยมไม่มากและใช้เป็นน้ำมันจากพืชอย่างน้ำมันมะพร้าวเสียมากกว่า ทำให้เมนูอาหารของคนอยุธยาสมัยนั้นส่วนใหญ่จะเป็นการต้มหรือนึ่งหรือการแกงอย่างที่เกริ่นไปตอนต้นของบทความนี้
2
จบแล้ว ตอนที่ 9
ติดตามได้ในตอนต่อไป…
...
ติดตามตอนที่ 8 จากด้านล่างนี้
  • แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
รวมบันทึกประวัติศาสตร์อยุธยาของฟาน ฟลีต (วัน วลิต) (พิมพ์ครั้งที่ 2). (2547). (นันทา วรเนติวงศ์, ผู้แปล). กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. หน้า 142
สมศรี เอี่ยมธรรม, ผู้แปล. (2541). “เรื่องราวเกี่ยวกับราชอาณาจักรสยามในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมและสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง” ใน รวมเรื่องแปลหนังสือและเอกสารทางประวัติศาสตร์ชุดที่ 4. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.
คำให้การขุนหลวงหาวัด. (2547). กรุงเทพฯ: โครงการเลือกสรรหนังสือ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. หน้า 190-193
2
สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า และคนอื่นๆ. (2551). โบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เล่ม 2. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.
โฆษณา