3 เม.ย. 2022 เวลา 14:05 • ความคิดเห็น
40 ปี Airbus A310 เครื่องบินที่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรจาก Airbus
1
3 เมษายน 1982 หรือวันนี้เมื่อ 40 ปีที่แล้ว เป็นวันที่เครื่องบินแบบ Airbus A310 ขึ้นบินทดสอบเที่ยวบินแรกที่ตูลูส ประเทศฝรั่งเศส
เครื่องบินรุ่นนี้เป็นการพัฒนาต่อยอดมาจากเครื่องบินลำตัวกว้างรุ่นก่อนหน้าของ Airbus อย่าง A300 ที่ขึ้นบินทดสอบและส่งมอบไปก่อนหน้าประมาณ 10 ปี และยังมีการพัฒนารุ่นย่อยมากมาย อาทิ A300B1, A300B2, A300B4, A300-600, A300-600ST หรือที่คุ้นเคยกันว่า Beluga รวมถึง A300B10 ที่ต่อมาถูกแยกออกมาเป็นรุ่นใหม่คือ A310
A310 เป็นเครื่องบินลำตัวกว้างเช่นเดียวกับ A300 มีขนาดความกว้างของลำตัวเท่ากัน แต่มีความยาวลำตัวน้อยกว่าประมาณ 7 เมตร มีปีกที่เล็กลง ติดตั้งเครื่องยนต์ General Electric CF6-80 หรือ Pratt & Whitney JT9D/PW4000 เหมือนกับ A300 และยังเป็นรุ่นที่ Airbus เริ่มใช้ห้องนักบินแบบ "Glass Cockpit" ที่ใช้นักบิน 2 คน ก่อนที่จะนำไปพัฒนาสำหรับเครื่องบินรุ่นอื่นๆต่อไป
ห้องนักบินของ A310
ตลอดสายการบินผลิตและการส่งมอบเครื่องบินรุ่นนี้ 15 ปี (1983-1998) มีการส่งมอบไปทั้งหมด 255 ลำด้วยกัน โดยมีสายการบินที่ได้รับมอบมากที่สุด 5 อันดับดังนี้
- Singapore Airlines จำนวน 23 ลำ
- Lufthansa จำนวน 20 ลำ
- Pan Am จำนวน 18 ลำ
- Turkish Cargo จำนวน 14 ลำ
- Wardair จำนวน 12 ลำ
🇹🇭สำหรับในประเทศไทย การบินไทยเคยมีเครื่องบินรุ่นนี้ในฝูงบินรวม 4 ลำ ดังนี้
- HS-TIA : A310-200 "พิษณุโลก" รับมอบจากเดินอากาศไทย (เกิดอุบัติเหตุที่สุราษฎร์ธานี)
- HS-TIC : A310-200 "ราชบุรี" รับมอบจากเดินอากาศไทย
- HS-TID : A310-300 "บุรีรัมย์" รับมอบจาก Canadian Airlines (เกิดอุบัติเหตุที่กาฏมันฑุ)
- HS-TIF : A310-300 "ปัตตานี" รับมอบจาก Canadian Airlines
HS-TIA ของเดินอากาศไทย ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นของการบินไทยภายหลังการควบรวมบริษัท ภาพจาก https://www.flickriver.com/photos/caz_pix/13148493475/
นอกจากนี้ กองทัพอากาศก็เคยมีประจำการอยู่ 1 ลำ คือ เครื่องบินลำเลียงแบบที่ 13 (Airbus A310-300) ทะเบียน HS-TYQ หมายเลขหางเป็น 44-444 ประจำการอยู่ในฝูงบิน 602 กองบิน 6 ฐานทัพอากาศดอนเมือง โดยเป็นเครื่องบินลำใหม่จากโรงงาน Airbus และถ้าใครยังจำกันได้ อีกสายการบินหนึ่งที่เคยมีเครื่องบินรุ่นนี้คือ P.C. Air อีกสายด้วยเช่นกัน
กองทัพอากาศไทย ภาพจาก Jetphotos/Tek
ยังมีอีกสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับเครื่องบินรุ่นนี้ นั่นคือ สายการบินที่มีเครื่องบินแบบ Airbus A310 มากที่สุดในโลก แต่ไม่เคยซื้อมือหนึ่งจากโรงงานเลย จึงไม่มีอยู่ในรายชื่อสายการบินที่รับมอบจาก Airbus
หลังจากการใช้งานของสายการบินต่างๆระยะหนึ่ง ได้มีการนำ A310 ไปดัดแปลงให้กลายเป็นเครื่องบินขนส่งสินค้า (A310F) แล้วมีประสิทธิภาพที่ดีจากความกว้างของลำตัวและขนาดที่ไม่ใหญ่จนเกินไป รวมทั้งยังไปเข้าตาบริษัทขนส่งทางอากาศที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง FedEx Express จึงทำให้มีการปรับปรุงเครื่องบินรุ่นนี้ให้กลายเป็นเครื่องบินขนส่งสินค้าจำนวนมาก
ที่ผ่านมา FedEx Express เคยมี Airbus A310F อยู่ในฝูงบินรวมทั้งหมด 70 ลำ โดยไม่มีลำไหนที่ออกจากโรงงานผลิตมาเป็นเครื่องบินขนส่งสินค้าเลย เป็นการซื้อต่อจากสายการบินต่างๆมาปรับปรุงทั้งหมด ก่อนที่จะปลดประจำการลำสุดท้ายไปเมื่อช่วงต้นปี 2020 ที่ผ่านมานั่นเอง
โฆษณา