4 เม.ย. 2022 เวลา 01:15 • หุ้น & เศรษฐกิจ
อัพเดตสถานการณ์การลงทุน 4 เม.ย. 65 – In Brief
ภาพจาก Investing.com
ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่แล้ว ทำให้ตลาดหุ้นในเดือน มี.ค.ฟื้นตัวขึ้นมาค่อนข้างดี อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นโลกให้ผลตอบแทนที่เป็นลบในไตรมาสแรกของปี เนื่องจากถูกกดดันจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯและอังกฤษ, เงินเฟ้อที่เร่งตัว และภาวะสงครามในยุโรป
สหรัฐฯ
• ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดทรงตัว โดยดัชนี Dow Jones ติดลบเล็กน้อย และอีกสองดัชนีปรับตัวบวกขึ้น ข่าวที่น่าสนใจ คือ การที่ตลาดตราสารหนี้ส่งสัญญาณว่าจะเกิดเศรษฐกิจถดถอย หลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) อายุ 2 ปี เพิ่มขึ้นสูงกว่า อายุ 10 ปี ทำให้เกิดเหตุการณ์ Inverted Yield Curve ซึ่งตามสถิติมักตามมาด้วยวิกฤตเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม วาณิชธนกิจหลายแห่งมองว่า ต้องใช้เวลาอีกมากกว่า 1 ปีเศรษฐกิจจึงจะถดถอยจริง*
Inverted Yield Curve ล่าสุดเกิดขึ้นกลางปี 2019 และตามมาด้วยเศรษฐกิจหดตัวระยะสั้นต้นปี 2020 - ภาพจาก CNBC.com และเพจเต่าน้อยลงทุน
• นอกจากนี้ กลต.สหรัฐฯ ได้ประกาศเพิ่มหุ้น Baidu เสิร์ชเอ็นจินชื่อดังของจีนและบริษัทจีนอีก 4 แห่ง เข้าในรายชื่อบริษัทที่เข้าข่ายเสี่ยงถูกถอดออกจากตลาดสหรัฐฯ ทำให้แรงตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนเพิ่มมากขึ้น
• ด้านตัวเลขเศรษฐกิจ การจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm Payrolls) เดือน มี.ค. เพิ่มขึ้น +4.31 แสนตำแหน่ง อ่อนแอกว่าที่ตลาดคาด และอัตราว่างงานลดลงแตะ 3.6% ชี้ว่า ตลาดแรงงานสหรัฐฯยังแข็งแกร่ง
• ติดตาม การเปิดเผยรายงานการประชุมสหรัฐฯรอบล่าสุด (Fed Minutes) ในวันพุธนี้ ซึ่งอาจส่งสัญญาณนโยบายการเงินของ Fed ในระยะต่อไปครับ
ภาพจาก Politico.eu
ยุโรป
• ตลาดหุ้นยุโรป ฟื้นตัวขึ้นเช่นกันในสัปดาห์ก่อน แม้ถูกกดดันจากภาวะสงครามในยูเครน ล่าสุด ทั้งสองฝ่ายยังเดินหน้าเจรจา แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้มีการหยุดยิง โดยรัสเซียถอนกำลังบางส่วนออกจากกรุง Kyiv เมืองหลวงยูเครน และเคลื่อนพลไปสนับสนุนการสู้รบในภูมิภาค Donbas ทางตะวันออกเฉียงใต้แทน
• ด้านตัวเลขทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อยุโรปเร่งตัวขึ้นในเดือน มี.ค. ที่ +7.5%YoY มากกว่าที่ตลาดคาด จากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ตลาดมองว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายราว +0.6% ในช่วงปลายปี แทนที่คาดการณ์ว่า ECB จะไม่ปรับดอกเบี้ยในปีนี้
เงินเฟ้อยุโรปเร่งตัวขึ้น +7.5%YoY ในเดือน มี.ค. ซึ่งเป็นการเร่งตัวขึ้นมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ - ภาพจาก https://tradingeconomics.com/euro-area/inflation-cpi
เอเชีย
• ตลาดเอเชีย ปรับตัวเพิ่มขึ้นยกเว้นตลาดญี่ปุ่น โดยระหว่างสัปดาห์ หุ้นจีนถูกกดดันจากความกังวลการถูกถอดถอนหุ้นของจากตลาดสหรัฐฯ และมาตรการปิดเมืองสำคัญของทางการจีนที่ทำอย่างต่อเนื่องเพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศ
• ด้านตัวเลขทางเศรษฐกิจออกมาไม่ดีนัก โดยเฉพาะจีนและญี่ปุ่น ที่ประกาศดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตจีน (Manufacturing PMI) ที่กลับมาหดตัวในเดือน มี.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้ผลิต (Tankan Manufacturers and Non-Manufacturers Index) ไตรมาส 1 ของญี่ปุ่น ชะลอตัว
• อย่างไรก็ตาม มีข่าวดีออกมาเล็กน้อย เมื่อจีนเตรียมเจรจากับสหรัฐฯเพื่อส่งข้อมูลด้านบัญชีของบริษัทต่างๆให้สหรัฐฯตรวจสอบ เพื่อให้เป็นไปตามกฎของ กลต.สหรัฐฯมากขึ้น ซึ่งอาจช่วยลดความขัดแย้งและทำให้บริษัทจีนไม่ถูกถอนออกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯในระยะต่อไป
Baidu - ภาพจาก CNBC.com
น้ำมัน
• ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงราว -10% จากความกังวลเกี่ยวกับความต้องการใช้น้ำมันโลกที่คาดว่าจะชะลอตัว หลังจีนประกาศปิดเมืองสำคัญหลายเมือง รวมทั้ง ปธน. Biden ของสหรัฐฯประกาศเตรียมระบายน้ำมันดิบสำรอง (Strategic Petroleum Reserve หรือ SPR) ที่มีอยู่เกือบ 570 ล้านบาร์เรล ออกมาวันละ 1 ล้านบาร์เรลต่อวันเป็นเวลา 6 เดือน และเรียกร้องให้ผู้ผลิตน้ำมันในประเทศเพิ่มการผลิตน้ำมันให้มากขึ้น โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้เดือน พ.ค. เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่เร่งตัว ข่าวทั้งสอง กดดันให้ราคาน้ำมัน WTI สหรัฐฯ ปรับตัวลงหลุด 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล
สหรัฐฯมีคำสั่งระบายน้ำมันจากคลังสำรอง (SPR) ปริมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อบรรเทาวิกฤตเงินเฟ้อในสหรัฐฯ - ภาพจาก Reuters.com
• อย่างไรก็ตาม การประชุมประเทศผู้ผลิตน้ำมันและพันธมิตร (OPEC+) รอบล่าสุด OPEC+ ประกาศเพิ่มการผลิตน้ำมันตามแผนเดิมที่ +4.32 แสนบาร์เรลต่อวันในเดือน พ.ค. และองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) คาดว่า การคว่ำบาตรรัสเซียจะทำให้น้ำมันดิบโลกหายไปราว 2-3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้ผมมองว่า สภาวะขาดแคลนอุปทานยังไม่จบ และน้ำมัน “เพียงย่อตัวระยะสั้น” เท่านั้น
• ทั้งนี้ ราคาน้ำมันอาจ “ถูกกดดันจากข่าวการปล่อยน้ำมันในคลังสำรองของประเทศอื่นๆ” ที่เป็นสมาชิกของ IEA ในสัปดาห์นี้
• ล่าสุด ราคาน้ำมันดิบ WTI สหรัฐฯ และ Brent ทะเลเหนือ อยู่ที่ 99.42 และ 104.39 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ
ภาพจาก CNBC.com
ทองคำ
• ราคาทองคำ ปรับตัวลดลง -1.4% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา จาก Bond Yield สหรัฐฯที่เพิ่มขึ้นตามตัวเลขเศรษฐกิจการจ้างงานสหรัฐฯที่ออกมาดี ล่าสุด ราคาทองคำปิดที่ 1,928.50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์
• Mr. เต่า มองว่า ราคาทองคำมี “ปัจจัยสนับสนุนที่ดี” ทำให้มีโอกาสยืนเหนือ 1,900 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ ได้ในระยะข้างหน้า จากภาวะสงครามที่ช่วยหนุนแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยและเงินเฟ้อทั่วโลกที่ยังทรงตัวในระดับสูง
• อย่างไรก็ตาม ถ้อยแถลงของ Fed และแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นปัจจัยกดดันทองคำในระยะสั้น
สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นสหรัฐฯ 3 ดัชนีปิดเฉลี่ย +0.19% (ดัชนี Dow Jones ติดลบที่เดียวที่ -0.12%), ยุโรป STOXX600 +1.06%, จีน Shanghai +2.19%, ญี่ปุ่น -1.72%, อินเดีย Nifty 50 +3.02% และไทย +1.46%
ตัวเลขเศรษฐกิจสัปดาห์ที่ผ่านมา ออกมามีทั้งดีและแย่กว่าคาด
โดยตัวเลขที่ดีกว่าคาด ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) เดือน มี.ค. ของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นเป็น 107.2 จุด มากกว่าคาดและดีกว่าเดือนก่อน, GDP ไตรมาส 4 ของอังกฤษ +6.6%YoY ดีกว่าคาด, ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ผลิต (Tankan Manufacturers and Non-Manufacturers Index) ไตรมาส 1 ของญี่ปุ่น ชะลอตัวลงเป็น 14 จุด แต่ดีกว่าคาด และอัตราการว่างงาน (Unemployment rate) สหรัฐฯ ลดลงเป็น 3.6%
ขณะที่ตัวเลขที่ออกมาแย่กว่าคาด ได้แก่ GDP ไตรมาส 4 สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น +6.9%QoQ ซึ่งน้อยกว่าประมาณการณ์ครั้งก่อน, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing PMI) เดือน มี.ค. ของสหรัฐฯ เยอรมนี จีน ชะลอตัวลง, ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm Payrolls) เดือน มี.ค. ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น +4.31 แสนตำแหน่ง
สิ่งที่น่าติดตาม ?
ตัวเลขในสัปดาห์นี้มีไม่มากนัก ดังนี้
(5 เม.ย.) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (Service PMI) เดือน มี.ค. ของสหรัฐฯและอังกฤษ คาดว่า ดัชนีจะทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน
(6 เม.ย.) รายงานการประชุม Fed รอบล่าสุด (Fed Minutes)
(7 เม.ย.) ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ของสหรัฐฯ คาดว่าจะทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
(8 เม.ย.) การประชุมธนาคารกลางอินเดีย (RBI meeting)
ทิศทางตลาดสัปดาห์นี้ ?
Mr.เต่า มองว่า ตลาดจะ “เคลื่อนไหวผันผวน และคาดเดาทิศทางได้ยาก” จากความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งอาจกดดันตลาดมากขึ้นในสัปดาห์นี้ แนะนำ “ชะลอการลงทุน” ในสัปดาห์นี้ไปก่อนครับ
ติดตาม รายงานการประชุม Fed ที่จะเปิดเผยในวันพุธ และสถานการณ์การสู้รบรัสเซีย-ยูเครนอย่างใกล้ชิด
สัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นจีนจะปิดทำการวันที่ 4-5 เม.ย. เนื่องในวันชิงหมิง (Ching Ming) หรือ เชงเม้ง และตลาดหุ้นไทยจะปิดทำการวันที่ 6 เม.ย. เนื่องในวันจักรี ครับ
โชคดีในการลงทุนทุกท่าน รักษาสุขภาพกันด้วยนะครับ
Mr.เต่า
* อ่านเพิ่มเติมได้จากบทความ “Easy Reading : อย่าด่วนสรุป !!! PIMCO มองเศรษฐกิจอาจยังไม่ถดถอย แม้เกิด Inverted Yield Curve” วันที่ 31 มี.ค. ได้ที่ https://bit.ly/3rkUziT
ค้นหาบทความเต่าน้อยลงทุนผ่าน Facebook ได้อีกช่องทางที่
#อัพเดตการลงทุน #เต่าน้อยลงทุน
ติดตามเพจ “เต่าน้อยลงทุน” ได้ที่
Source: “2-year Treasury yield tops 10-year rate, a ‘yield curve’ inversion that could signal a recession” – CNBC.com
“Biden spurs record emergency oil release in 'moment of peril' for world” – Reuters.com
“Eurozone inflation soars to record 7.5 percent in March” – Politico.eu
“U.S.-listed Chinese stocks jump after China reportedly considers sharing company audits” – CNBC.com
โฆษณา