4 เม.ย. 2022 เวลา 08:15 • ประวัติศาสตร์
วันนี้วันที่ 4 เมษายน ตรงกับวันภาพยนตร์แห่งชาติ
มีขึ้นมาเพื่อให้คนไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาพยนตร์ไทย
ในฐานะที่เป็นศิลปะที่สะท้องให้เห็นถึงวัฒนธรรมไทยให้ชาวโลกได้เห็นเป็นอย่างดี
และหนังไทยเรื่องแรกที่เข้าฉายในไทยคือ เรื่อง
“นางสาวสุวรรณ” โดยเข้าฉายเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2466
ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6
“นางสาวสุวรรณ” แม้ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจะบันทึกไว้ว่าเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรก
ที่ทำการฉายในไทย แสดงโดยคนไทย ถ่ายทำในประเทศไทย ล้างฟิล์ม ตัดต่อในไทยทั้งหมด
แต่ผู้สร้างหนังแท้จริงแล้วกลับเป็นคนอเมริกา โดยผู้กำกับคือ นายเฮนรี่ เอ แมคเร และมีบริษัทยูนิเวอร์แซลเป็นผู้ผลิต
1
ปัจจุบันจึงยังเป็นถกเถียงกันว่าหนังไทยเรื่องแรกควรเป็น “นางสาวสุวรรณ” หนังที่แสดงโดยคนไทยทั้งหมด ถ่ายทำในไทย แต่สร้างโดยคนอเมริกัน ออกฉายในปี พ.ศ. 2466 หรือ หนังเรื่อง “โชคสองชั้น” หนังไทยที่สร้างโดยคนไทยและนักแสดงไทยทั้งหมดซึ่งออกฉายในปี พ.ศ. 2470 ว่าเรื่องไหนควรถูกบันทึกว่าเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ฉายในไทยกันแน่ แต่จากบันทึกประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยก็ยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยมันยังเป็นหนังเรื่อง นางสาวสุวรรณ อยู่
จุดเริ่มต้นของหนัง “นางสาวสุวรรณ” มาจากการที่นายเฮนรี่ ได้ทราบข่าวว่าประเทศสยามในสมัยนั้นเป็นประเทศบ้านป่าเมืองเถื่อน ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ มีแต่ป่าดงพงไพร เขาจึงตั้งใจจะเข้ามาทำหนังสารคดีสั้นเพื่อฉายให้เห็นสภาพความเป็นไปของประเทศสยาม
นายเฮนรี่ เอ แมคเร ขณะถ่ายทำหนัง นางสาวสุวรรณ ในประเทศไทย
แต่เมื่อนายเฮนรี่ได้เดินมายังประเทศสยามแล้วกลับพบว่าไม่เป็นอย่างที่เขาเคยได้ยินมา ประเทศสยามในสายตาเขานั้นมีความเจริญมากกว่าที่คิด และยังมีศิลปวัฒนธรรมประเพณีที่งดงาม นายเฮนรี่จึงเปลี่ยนใจที่จะทำหนังสารคดีมาเป็นสร้างหนังเรื่องยาวที่ถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนสยามลงไปแทน
โปรเจกต์ นางสาวสุวรรณ จึงเกิดขึ้นมาโดยมีโครงเรื่องที่คิดขึ้นมาสด ๆ ว่า พระเอกเป็นข้าราชการคนยากจน
ได้เข้าไปช่วยเหลือนางเอกที่พลัดตกน้ำ แล้วความรักของทั้งคู่ก็เริ่มก่อตัวขึ้นมา แต่นางเอกเป็นลูกคนรวย พ่อนางเอกจึงไม่พอใจที่พระเอกเข้ามาใกล้ชิดกับนางเอก แถมยังดูถูกต่าง ๆ นานากับการที่พระเอกเป็นลูกคนจน พร้อมกับได้หมายหมั้นนางเอกไว้กับผู้ร้ายที่เป็นลูกคนรวยไว้ก่อนแล้ว พ่อนางเอกกับผู้ร้ายจึงรวมหัวกันกีดกันพระเอกกับนางเอกทุกวิถีทางไม่ให้ได้สมหวังกัน
1
นางสาวเสงี่ยม นาวิเสถียร ผู้เล่นเป็นนางเอกหนัง นางสาวสุวรรณ
ฉากรักที่ถ่ายทำในบริเวณวัดพระแก้ว
ผู้ร้ายถึงขั้นวางแผนลงมือฆ่าพระเอก โดยทำทีเป็นชวนพระเอกไปเมืองเหนือ แต่ดันไปฆ่าผิดตัว ผู้ร้ายจึงได้ใส่ร้ายว่าพระเอกเป็นคนฆ่า นางเอกพอทราบข่าวจึงได้รีบบินไปช่วย
ฉากนางสาวสุวรรณขึ้นเครื่องบินไปเชียงใหม่
พ่อบุญธรรมที่รับเลี้ยงพระเอกมาได้เปิดเผยว่าแท้จริงแล้วพระเอกเป็นลูกผู้ดีมีตระกูลจากทางเหนือ
แต่พ่อแม่ที่แท้จริงของพระเอกมาเสียชีวิตกระทันหันตอนที่มาเที่ยวกรุงเทพฯ ตนจึงได้เก็บพระเอกมาเลี้ยงไว้เป็นลูกบุญธรรม พร้อมกับได้ให้เสมาทองคำที่พระเอกเคยห้อยคอไว้ตั้งแต่เด็กคืน พระเอกจึงได้ห้อยเสมาทองคำติดตัวไว้ตลอด
ต่อมาเศรษฐีเชียงใหม่ได้เห็นเสมาทองคำที่พระเอกห้อยก็รู้ได้ทันทีว่าพระเอกคือหลานชายแท้ ๆ ของตนเองที่หายสาบสูญไป จึงได้รับพระเอกเข้ามาในวงศ์ตระกูล พร้อมกับช่วยแก้ไขคดีความให้พระเอก จนทำให้จับผู้ร้ายตัวจริงได้ ทางฝ่ายพ่อนางเอกเมื่อทราบความจริงจึงยอมยกลูกสาวให้พระเอก แล้วพระเอกกับนางเอกก็อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข หนังนางสาวสุวรรณก็จบลงแต่เพียงเท่านี้
จะเห็นได้ว่าพล็อตหนังนางสาวสุวรรณฟังดูคุ้น ๆ กับหนังไทยหลายเรื่อง นั้นเป็นเพราะว่า นางสาวสุวรรณ คือต้นฉบับสูตรสำเร็จของหนังไทย ที่หนังหลายเรื่องนำไปปรับใช้ ไม่ว่าจะเป็นการที่ พระเอกยากจนแต่แท้จริงแล้วเป็นทายาทคนรวย พ่อนางเอกดูถูกพระเอกที่เป็นคนจน หรือการที่พระเอกมีของติดตัวตั้งแต่เกิดทำให้ได้ทราบว่าเป็นลูกคนรวย
และตลอดทั้งเรื่องนางสาวสุวรรณ นายเฮนรี่ได้พยายามใส่วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรมประเพณีไทยลงไปในภาพยนตร์
ทำให้คนไทยและคนต่างชาติได้เห็นว่าเป็นอย่างไร เป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยออกสู่สายตาคนต่างชาติ
นายเฮนรี่ได้ตั้งชื่อหนังเรื่องนี้ตอนถ่ายไว้ว่า “The Gold of Siam” แต่เมื่อหนังเรื่องนี้ได้ถูกนำไปฉายที่อเมริกา
ก็ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “Kingdom of Heaven” ซึ่งรู้จักกันในทั่วไปในนามว่า “Suvarna of Siam” หรือ “นางสาวสุวรรณ” นั้นเอง
แม้ “นางสาวสุวรรณ” จะเป็นภาพยนตร์ประวัติศาสตร์หนังไทยที่ได้รับการฉายในประเทศไทยเป็นเรื่องแรก
แต่เมื่อเข้าฉายในไทยได้เพียง 3 วัน ฟิล์มต้นฉบับก็สูญหาย ส่งผลให้ในปัจจุบันไม่เหลือสิ่งใดเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ นอกจากสื่อประชาสัมพันธ์หนังและของชำร่วยจากหนัง ซึ่งถูกรักษาไว้ที่หอภาพยนตร์
จากวันนั้นผ่านมา 99 ปี ที่นางสาวสุวรรณได้ออกฉาย ซึ่งเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ปลุกกระแสการสร้างหนังไทยขึ้นมา ทำให้วงการภาพยนตร์ไทยมีการพัฒนาต่อยอดจนมาถึงปัจจุบัน ทำให้คนทั่วโลกได้เห็นว่าหนังไทยไม่ได้มีดีแค่เรื่องบันเทิง แต่เรื่องศิลปวัฒนธรรมก็มีดีไม่แพ้ที่ใดในโลกเช่นกันครับ
1
โฆษณา