4 เม.ย. 2022 เวลา 10:51 • ศิลปะ & ออกแบบ
Naoto Fukasawa กับ Design​ "Without Thought" การออกแบบโดยปราศจาก​ความคิด​
คงไม่เกินเลยไปนักหากเราจะกล่าวว่า "ความคิด" คือสิ่งที่กำหนดชะตาชีวิต และคุณค่าของคนคนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกของนักออกแบบยิ่งต้องเค้นพลังสมอง คิดงาน เพื่อตอบโจทย์ของลูกค้าและผู้คนให้ได้แต่จะเป็นยังไง ถ้าจู่ ๆ มี Designer คนหนึ่งเดินมาบอกกับเราว่าเวลาออกแบบไม่ควรใช้และเชื่อ "ความคิด" !?
วันนี้ Class A Solution ขอเชิญคุณร่วมสำรวจแง่มุมปรัชญาการออกแบบที่ลึกซึ้ง แต่เรียบง่าย ด้วยภาษาง่ายๆแบบไม่ต้องปีนกระไดอ่านของ Naoto Fukasawa เจ้าของปรัชญาการออกแบบ
“Design “Without Thought”
การออกแบบโดยปราศจากความคิด”
Naoto Fukasawa
นักออกแบบคนสำคัญ ผู้มีส่วนร่วมในความสำเร็จของแบรนด์ดังอย่าง MUJI
ถ้านักออกแบบไม่ควรใช้ "ความคิด" แล้วการออกแบบต้องใช้อะไรกันล่ะ?
ขอเชิญทุกท่านร่วมหาคำตอบได้ ณ บัด Now!!
คลิกรูปเพื่ออ่านต่อ
Naoto Fukasawa เกิดเมื่อปี 1956 จบจากมหาวิทยาลัย Tama Art University คณะออกแบบผลิตภัณฑ์ สาขาศิลปะและการออกแบบ ในปี 1980 เริ่มทำงานครั้งแรกที่ Seiko-Epson ในตำแหน่ง Product Developer ก่อนที่จะเดินทางไปอยู่อเมริกาในปี 1989
การเดินทางไปยังอเมริกาคือ "จุดเปลี่ยน" ครั้งสำคัญ
เมื่อเค้าได้เข้าทำงานใน ID Two บริษัท Design Consult ที่เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท IDEO ยักษ์ใหญ่ ที่กลายมาเป็นตำนานแห่ง Design and Consultancy Firm ในอเมริกา
Design หรือการออกแบบโดยแก่นแท้ คือ "การแก้ปัญหา" และความสวยงามเป็นเพียงปัญหาหนึ่ง..
เปรียบให้ง่าย ถ้าเราซื้อสินค้าหรือบริการอะไรก็ตาม แล้วมันไม่เวิร์ค ไม่ตอบโจทย์ สวยนะ แต่แก้ปัญหาอะไรให้เราไม่ได้ ใช้งานไม่ดี..
เราจะซื้อมันไปเพื่อ!!?
ดังนั้น สารตั้งต้นที่สำคัญที่สุดของกระบวนการออกแบบ คือต้องเข้าใจปัญหาของ User อย่างถ่องแท้ให้จงได้ นี่จึงเป็นที่มาของ "Design Thinking Process" ที่ IDEO นำมาใช้ในกระบวนการออกแบบเป็นบริษัทแรก ๆ ในโลกเลย Process สำคัญที่จะทำให้นักออกแบบได้รับรู้ถึงหัวจิตหัวใจ ความต้องการที่แท้จริงของ User ด้วยวิธีการ "ลงพื้นที่" เข้าไปพูดคุยกับ User เพื่อที่จะได้รับรู้ถึงปัญหาจริง ๆ จะได้ไม่ต้องมโนขึ้นมาเอง
Naoto Fukasawa ได้รับ DNA นี้จาก IDEO มาเต็ม ๆ ผนวกกับในช่วงชีวิตหนึ่งที่เค้าได้ใช้ชีวิตใน California ที่นั่น เค้าได้เห็นหลายสิ่งหลายอย่างที่ต่างจาก "ญี่ปุ่น" แน่นอนว่าเราไม่ได้พูดถึง Hotel California เพลงดังของวง Eagle แต่อย่างใด.. แต่เรากำลังพูดถึงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในบริเวณท่าเรือ San Francisco ภาพผู้คนที่หนีบแตะใส่เสื้อยืด นุ่งกางเกงขาสั้น และธรรมชาติ ความเรียบง่าย และความสุข คือสิ่งที่ Naoto Fukasawa 'เห็น' ก่อนตกผลึกเกิดเป็นปรัชญาการออกแบบที่ลึกซึ้งในภายหลัง
ทำไมต้อง “Design Without Thought" ?
การออกแบบโดยปราศจากความคิด อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น สารตั้งต้นแรกที่สำคัญที่สุดในกระบวนการออกแบบคือ การเข้าใจปัญหาด้วยการลงพื้นที่พูดคุยกับ User ซึ่งก็ฟังดูเมคเซ้นส์ดี แต่ประเด็นก็คือ สิ่งที่ User สื่อสารหรือตอบออกมา "ความคิดเห็นเหล่านั้น เชื่อได้จริงๆหรือ?" ความจริงก็คือ บางครั้งแม้แต่ตัวของเราเองก็ยังไม่เข้าใจ "ความคิด" ปัญหาของตัวเองเหมือนกัน..
สิ่งที่ Naoto เห็นจากประสบการณ์คือ "ความคิดหลอกเราได้ แต่การกระทำและพฤติกรรมไม่มีวันหลอก" เพราะการกระทำและพฤติกรรมของคน คือตัวสะท้อนความจริงแท้ที่อยู่ภายใต้จิตใต้สำนึก
ยกตัวอย่างหากคุณเดินไปถามใครสักคนว่า "ถ้านาฬิกาทำจากโลหะเรือนนี้ราคา 100 บาทคุณจะซื้อหรือไม่" (คนทำ Survey มักชอบถามคำถามนี้) คนคนนั้นตอบว่า "ซื้อๆๆๆ แหม๋ นาฬิกาทำจากโลหะ 100 เดียวเอง" จากนั้นคุณยื่นเงินให้คนคนนั้น 100 บาทหลังจากถามเสร็จ คุณคิดว่าคนคนนั้นจะซื้อนาฬิกาโลหะ ที่คุณเสนอหรือไม่...
คำตอบคือ ไม่แน่!!! การกระทำที่เกิดขึ้นจริง คนคนนั้นอาจจะนำเงิน 100 บาทแล้วเดินจากไปทันที โดยไม่คิดจะซื้อนาฬิกาที่ทำจากโลหะเรือนนั้นเลยก็ได้
ความคิด VS จิตใต้สำนึก
สมมุติว่าในจิตใต้สำนึก เรากลัวกบ ถามว่า ถ้าเราพยายามพิจารณาใช้ความคิดว่าเราไม่กลัวกบ.. เราจะหายกลัวไหม?
แน่นอนว่า Winner is จิตใต้สำนึก!!
ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ Naoto Fukasawa เชื่อมั่นใน Design "Without Thought" การออกแบบโดยปราศจากความคิดโดยมุ่งเน้นไปที่การสังเกต ค้นหาคำใบ้ของปัญหาที่แท้จริงจาก User ผ่านการกระทำ และธรรมชาติของ "พฤติกรรม" เท่านั้น เพราะถ้าผลิตภัณฑ์มันจำเป็น และเป็นที่ต้องการจริง คนจะใช้มันโดยที่เขา "ไม่ได้คิดอะไรเลย" Naoto Fukasawa เคยกล่าวไว้
Design Error
*หมายเหตุ : ตัวอย่างที่ Class A Solution ยกมาเล่าในส่วนนี้ไม่ได้มาจาก Naoto แต่เป็นตัวอย่างที่เรายกขึ้นมาเพื่อให้เข้ากับบริบทคนไทยมากขึ้น
ธรรมชาติของ "พฤติกรรม" (จิตใต้สำนึก)
แทบทุกครั้งที่งานออกแบบเกิด Error
Naoto Fukasawa มักอธิบายว่าเป็นเพราะนักออกแบบไม่เข้าใจธรรมชาติของ "พฤติกรรม" มนุษย์นี่แหละ
"เคยโดนแม่ด่าที่ใช้นิ้วเท้าเปิดพัดลมกันไหม?" ถ้าใครที่เคยมีประสบการณ์แบบเดียวกันนี้เราอยากจะบอกกับคุณว่า "คุณไม่ผิดนะ" !! ด้วยพัดลมตั้งพื้นแบบไม่สูงส่วนใหญ่ สวิตช์เปิดมักจะอยู่ตรงฐาน ติดกับพื้น การจะก้มลงบรรจงเอานิ้วมือเปิด มันฝืนพฤติกรรมตามธรรมชาติมาก ลองคิดดูว่า คุณกลับมาจากข้างนอกร้อน ๆ เดินมาจะเปิดพัดลม เท่านั้นแหละ "Without Thought" ปราศจากความคิด..
ใครล่ะมันจะอดใจไหว!!
อีกสิ่งหนึ่งที่ Designer ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญมาก ในงานออกแบบคือ ความ "กลมกลืน" แต่ Naoto Fukasawa ต้องการมากกว่านั้นสำหรับเขาความกลมกลืนยังไม่ดีพอ เขาต้องการให้งานออกแบบของเขา ผลิตภัณฑ์ของเขา หลอมละลายเป็นเนื้อเดียวกันกับพฤติกรรม และวิถีชีวิตของผู้คนให้เสมือนกับ คนสายตาสั้น ที่แว่นตาได้ "หลอมละลาย" เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตอย่างไม่รู้ตัว
MUJI . Wall-Mounted CD Player
เครื่องเล่นดูดอากาศ หรือพัดลมดูด CD!?
"รู้ไหมครับว่า พัดลมดูดอากาศมีมาตั้งแต่สมัยไหน?" นี่ก็ไม่รู้เหมือนกัน..รู้แค่เพียงว่ามันน่าจะนานพอที่จะทำให้เราแค่ได้เห็นเครื่องเล่น CD นี้ ก็รู้ได้เลยว่ามันใช้งานยังไง นี่แหละคือความเจ๋งของผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ที่ Naoto Fukasawa ได้บรรจง "หลอมละลาย" ทั้งประสบการณ์ พฤติกรรม และ Function การใช้งานทั้งหมดนี้ถูกบรรจุไว้ภายใต้รูปทรงสี่เหลี่ยมขอบมนมีวงกลมตรงกลาง และมีสายห้อย เท่านั้นเอง
บทพิสูจน์ปรัชญาของ Naoto คือ เมื่อมนุษย์เห็นเจ้าเครื่องเล่น CD แล้วสามารถรับรู้ถึงการใช้งานของมันได้ทันทีโดยไม่ต้องคิด (without thought) เพราะความคุ้นเคยที่ถูกยกมาวางให้ในการออกแบบนี้ เพียงดึงเชือกแล้ว แผ่นกลมๆก็หมุน อาจจะรู้สึกได้ถึงลมที่เป่าออกมาเล็กน้อย แล้วบรรยากาศเก่าๆก็หวนกลับคืนมา บนผลิตภัณฑ์ใหม่
โคตร Minimal..
และนี่คือผลงานชิ้นแรกที่ทำให้
Naoto Fukasawa ได้ร่วมงานกับ MUJI อีกด้วย
นักออกแบบผู้ "สเก็ตช์งานบนอากาศ"
Cotto อ่างล้างหน้า Oval
สำหรับจอมยุทธ์ "กระบี่อยู่ที่ใจ" หากเยี่ยมยุทธแล้วไซร้ แค่กิ่งไผ่ก็ไร้เทียมทานนี่คือสิ่งที่ "โกวเล้ง" ปรมาจารย์แห่งนิยายกำลังภายใน เคยเขียนไว้
แล้วนักออกแบบที่ "สเก็ตช์งานบนอากาศ" ไม่ต้องมีแม้ดินสอ หรือกระดาษ เราจะเรียกว่ายังไงดี?! นี่คืองานที่ Naoto Fukasawa ได้ออกแบบให้กับ Cotto แบรนด์สุขภัณฑ์ชื่อดังของไทย Form แบบไหนกันนะ ที่จะตอบสนองต่อพฤติกรรมการใช้อ่างล้างหน้าได้ดีที่สุด? นี่น่าจะเป็นโจทย์สำคัญที่อยู่ในใจของ Naoto Fukasawa ก่อนที่เค้าจะเริ่มสเก็ตช์งาน โดยการวาดมือทั้งสองลงบนอากาศไปมา เพื่อหา Form ที่ตอบสนองต่อพฤติกรรม และ Ergonomic สำหรับการใช้งานอ่างล้างหน้า จนได้ Shape Oval วงรีๆ ที่ขนาดกำลังพอดีกับจังหวะการเอื้อมมือหมุนในอ่าง เหมือนจอมยุทธ์ฝึกวิชาลมปราณในตุ่มกลมๆ ที่ไม่มากเกิน ไม่น้อยเกิน ตอบสนองการใช้งานชีวิตประจำวัน พร้อมกับ form ที่กลมกลืนไปกับทุกการแต่งห้อง เรียกว่าอยู่กับใครก็สวยได้ อยู่คนเดียวยิ่งสง่าเป็นที่สุด
Naoto Fukasawa
JUICEPEEL Packaging
สตอเบอรี่ กีวี่ และ Banana
ภาพที่เห็นกันชินตาเวลาเห็นน้ำผลไม้ซัก "กล่อง" หนึ่ง ภาพผลไม้สวยสดพร้อมตัวอักษรบอกชนิดของผลไม้ ตัวเลข หรือข้อความอะไรสักอย่าง ที่ช่วยยืนยันสรรพคุณของสินค้า และตบท้ายด้วยโลโก้แบรนด์
นี่แค่ด้านหน้ากล่องนะ ยังไม่รวมด้านข้าง และด้านบนที่อุดมไปด้วยข้อมูล และ Text อีกมากมาย
เหนื่อยเหมือนกันนะ เป็นกล่องน้ำผลไม้เนี่ย..
ด้วยเหตุนี้ Naoto Fukasawa จึงต้องการนำเสนอ อะไรที่มันเรียบง่าย แต่รู้สึกยิ่งกว่ากล่องน้ำผลไม้ซักกล่องหนึ่งที่แค่ "เห็น" ก็รับรู้ได้ทุกอย่างที่กล่องน้ำผลไม้ปรกติต้องการจะสื่อสารได้เลย Packaging นี้ได้รับรางวัล และคำชื่นชมมากมายในแง่ของคอนเซ็ปท์ แม้ในการผลิตจริงยังไปไม่ถึง
Naoto Fukasawa เล่าให้ฟังว่าโปรเจคต์นี้ เขาได้จ้างโมเดลเลอร์ให้ทำโมเดลกล่องออกมาหลายชนิด แต่มันไม่ค่อยเวิร์คเท่าไหร่ สุดท้ายจึงได้มาแค่สตอเบอรี่ กีวี่ และกล้วยซึ่งด้วยความโด่งดังของงานชิ้นนี้ ทำให้ผู้คนนำไปพูดติดตลกกันว่า นี่คือกล่องน้ำผลไม้ "BanaNA O TO"
กระบวนท่าหนึ่งที่ Naoto Fukasawa มักจะใช้ในผลงานการออกแบบ คือการรักษา Function การใช้งานที่เรียบง่ายแบบเดิม ในขณะที่เพิ่มความสะดวกสบายมากขึ้น สิ่งนี้สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนในภาพผลงานการออกแบบ ดังต่อไปนี้
±0 (Plus Minus Zero)
คือ บริษัทออกแบบเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน และของใช้ในบ้านที่ Naoto Fukasawa เป็นผู้ก่อตั้ง โดยเน้นไปที่การนำเสนอความลงตัวแบบ “Just Right” ทรงที่พอดี ขนาดที่พอดี และราคาที่พอดี เลยเป็นที่มาของโลโก้ ±0 ซึ่งเป็นการบอกค่า Tolerance (ความคลาดเคลื่อน)ในงานผลิต
ยกตัวอย่าง ถ้าเราเห็น 10mm ±2 บนงานเขียนแบบความยาวของน๊อตชิ้นนึง แปลว่า น๊อตชิ้นนั้นสามารถผลิตมาให้มีความความยาว 8mm หรือ 12mm ก็ได้ คนออกแบบได้คิดเผื่อไว้แล้วว่าการผลิตจะมีความคลาดเคลื่อน 2mm ชิ้นงานที่จะใส่ น๊อตตัวนั้นลงไปก็จะรองรับความคลาดเคลื่อนของความยาวน๊อตตัวนั้นได้ทั้งหมด ดังนั้นใน ±0 ของ Naoto คือที่สุดแห่งการผลิต คือทำพอดี ไม่ขาดไม่เกิน ไม่ต้องเผื่อ เราจะได้ชิ้นงานที่ลงตัวและสมบูรณ์ที่สุด
ร่ม x ที่แขวนถุง
±0 (Plus Minus Zero)
แค่ด้าม(ร่ม)เว้า ชีวิตก็เปลี่ยนเวลาฝนหยุดตก หุบร่ม ก็ไม่ต้องพะรุงพะรังหิ้วถุงแล้ว มันมีแง่งมาให้แขวนถุงหิ้วพอดี
ถุงผ้า x รองเท้า
±0 (Plus Minus Zero)
เวลาหิ้วของหนัก ๆ ไม่ต้องลำบากมองหาที่แขวนวางได้เลย ที่ก้นมันทน หนา วางพื้นได้พอดี
หม้อหุงข้าว x ที่วางทัพพี
±0 (Plus Minus Zero)
คำถาม: ปกติคุณวางทัพพีตักข้าวไว้ที่ไหน? อุ้ยพอดีเลยวางข้างบนได้
เข้าไปดื่มด่ำกับความพอดีๆ แบบไม่มีที่สิ้นสุดได้ที่ : https://www.plusminuszero.jp/about/en/
บทส่งท้าย แด่นักออกแบบ
ภาพนี้คือภาพที่ Naoto Fukasawa มักจะหยิบยกขึ้นมาพูดเกี่ยวกับแนวความคิด ปรัชญา การออกแบบของเค้าอยู่เสมอ
ภาพซ้าย คือ ภาพรถยนต์ที่ถูกตัดออก
ภาพขวา คือ ภาพของรถยนต์
เวลาที่นักออกแบบได้รับโจทย์ให้ออกแบบรถยนต์ นักออกแบบทั่วไป มักพุ่งเป้าไปที่การจะทำยังไงก็ได้ให้รถยนต์ของฉันโดดเด่นที่สุด หรือเจ๋งที่สุด
ภาพขวาคือตัวแทนแนวคิดที่พุ่งเป้าเช่นนั้น ในขณะที่ Naoto Fukasawa อยู่ฝั่งซ้าย ถ้าเค้าต้องออกแบบรถยนต์ เขาจะไม่ออกแบบรถยนต์ แต่เขาจะคำนึงถึง "บริบท" โดยรอบของมัน พฤติกรรมการใช้งาน ประสบการณ์ สิ่งแวดล้อม และสิ่งอื่น ๆ ที่รายล้อมรอบรถยนต์เพื่อที่จะได้รถยนต์ที่หลอมละลายไปกับพฤติกรรมธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิต เป็นรถหรือผลิตภัณฑ์ที่สร้างความกลมกลืนไปกับทุกสิ่งอย่างลงตัว จนกลายเป็นรถยนต์ ที่เราจะใช้งานได้โดย "ไม่ต้องคิดอะไรเลย"
โฆษณา