4 เม.ย. 2022 เวลา 11:02 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Normal Yield Curve
KTAM Weekly Strategy
กลยุทธ์การลงทุนประจำสัปดาห์ที่ 4-8 เมษายน 65
นักลงทุนพยายามแปลสัญญาณ “เศรษฐกิจถดถอย” จากภาวะ Inverted Yield Curve ในสหรัฐ (ยีลด์พันธบัตรอายุสั้น > ยีลด์พันธบัตรอายุยาว) ต่างจากปกติ (normal yield curve) ซึ่งผู้ลงทุนควรได้รับอัตราผลตอบแทนเพิ่มขึ้น (term premium) จากการถือครองตราสารที่อายุยาวกว่า
Inverted Yield Curve ได้รับอิทธิพลจากนโยบายของเฟด ซึ่งต้องการขึ้นดอกเบี้ยจนทะลุเป้าหมายระยะยาวในปี 2023-24 ส่งผลให้ยีลด์พันธบัตรสูงสุดที่ 2-3 ปี และเกิด inversion ตั้งแต่ช่วงอายุดังกล่าวเป็นต้นไป
GDP ยังไม่ติดลบแต่เงินเฟ้อสูงลากยาวบั่นทอนกำลังซื้อของผู้บริโภค ในปีเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐ
อัตราว่างงาน มี.ค. 3.6% ต่ำใกล้ระดับก่อนวิกฤตโควิด ภาพรวมตลาดแรงงานสหรัฐตึงตัว บริษัทหาคนทำงานยาก สนับสนุนการขึ้นค่าจ้าง เสี่ยงเกิด wage-price spiral หมายถึง ค่าจ้างพุ่งเพิ่มต้นทุน ภาคธุรกิจจึงขึ้นราคาสินค้า/บริการ หนุนค่าครองชีพสูงขึ้น เพิ่มแรงกดดันให้ขึ้นค่าจ้างอีกระลอก #วนไป ข้อมูลชุดใหญ่เมื่อวันศุกร์ April Fools’ Payroll Friday จึงเร่งเร้าความคาดหวังในตลาดว่า เฟดควรขึ้นดอกเบี้ยรัวๆขั้นละ 0.5%
เฟดสื่อสารชัดเจน “ขึ้นดอกเบี้ยได้อีกเยอะ” เพราะถึงแม้บางส่วนของ yield curve ทยอย inverted ไปแล้ว แต่ช่วงอายุสั้นที่เฟดให้ความสำคัญคือ near-term forward spread* “ชันมาก” ห่างไกลจาก inversion อย่างไรก็ตาม น่าสนใจว่านักลงทุนในตลาดจะ “เชื่อ” แนวคิดของเฟดหรือไม่?
ตลาดอาจผันผวนรุนแรง หากนักลงทุนวิตกเศรษฐกิจถดถอยแต่เฟดยังเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย/ลดขนาดงบดุล (QT) จนมุมมองราคาพลิกผันจาก “กลัวเงินเฟ้อ” กลายเป็น “กังวลเงินฝืด” จุดพลุเทขายหุ้น ขับเคลื่อนกระแสทุนโถมเข้าใส่พันธบัตรอายุยาว จากนั้นเทรดเดอร์จะเก็ง “จุดจบวัฏจักรนโยบายการเงิน” โดยไล่ซื้อพันธบัตรตัวสั้นกดยีลด์ 2-3 ปีลงมาจน near-term forward spread แคบลงส่งสัญญาณให้เฟดหยุดขึ้นดอกเบี้ยในที่สุด
เศรษฐกิจจะไม่ถดถอย/หุ้นสหรัฐจะขึ้นต่อ ภายใต้เงื่อนไข Soft Landing “เงินเฟ้อต้องชะลอ” เพื่อหนุนกำลังซื้อผู้บริโภค ปธน.โจ ไบเดน จุดประกายความหวังด้วยหลายมาตรการ “เพิ่มซัพพลาย” โดยงัดกฎหมายสั่งผลิตยามศึกสงคราม Defense Production Act (DPA) มาใช้สนับสนุนด้านการเงินแก่บรรดาเหมืองแร่เพื่อเพิ่มผลผลิตโลหะหลายชนิดอันเป็นส่วนประกอบของแบตเตอรี่รถ EV อาทิ lithium, cobalt, graphite, nickel, manganese อีกทั้งสั่งปล่อยน้ำมัน 180 ล้านบาร์เรลภายใน 6 เดือนจากคลังสำรองปิโตรเลียมเชิงยุทธศาสตร์ (SPR) เพื่อชะลอราคาเชื้อเพลิง
ราคาน้ำมันดิบดิ่งลง < $100 รับข่าว SPR ทว่ามาตรการฉาบฉวยดังกล่าวคงแค่ “ซื้อเวลา” หวังเรียกคะแนนเสียง (อันตกต่ำเพราะเงินเฟ้อ) ให้เดโมแครตก่อนเลือกตั้งกลางเทอม เนื่องจากสต็อก SPR ปัจจุบัน < 570 ล้านบาร์เรล ต่ำสุด 20 ปี รอบนี้ปล่อย 180 ก็จะเหลือไม่ถึง 400 ล้านบาร์เรล นอกจากบั่นทอนความมั่นคงด้านพลังงานแล้วยังก่อความคาดหวังในตลาดว่า รัฐบาลสหรัฐจะต้องสั่งซื้อน้ำมันจำนวนมากในอนาคตเพื่อเติมคลังสำรองฯ ดังนั้น นโยบายนี้จึงกดราคาน้ำมันให้ถูกลงระยะสั้น แต่อาจส่งผลข้างเคียงผลักดันราคาน้ำมัน (และเงินเฟ้อ) ขึ้นไปสู่ระดับสูงกว่าเดิมอีกในระยะยาว
Soft Landing “ไม่ง่าย” เช่นเดียวกับการเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐซึ่ง ณ ปัจจุบันระดับราคายัง “แพง” กว่าที่อื่นๆ
เราสนใจตลาดที่ normal yield curve (ยีลด์ยาว > ยีลด์สั้น) นั่นคือ “จีน” KT-Ashares, KT-CHINA, KT-CHINABOND โอกาสเปิดกว้างอีกครั้งในช่วงเริ่มต้นวัฏจักรการฟื้นตัว (early recovery) หลังรัฐบาลให้คำมั่นสองประการเมื่อเดือนก่อน 1. สร้างความเชื่อมั่นแก่ตลาดการเงิน 2. สนับสนุน GDP โตตามเป้า 5.5% นอกจากนี้ สินทรัพย์ที่น่าจะได้รับประโยชน์เต็มๆจากการฟื้นตัวของจีนเช่นกันคือ “โภคภัณฑ์” KT-MINING, KT-ENERGY
โฆษณา