4 เม.ย. 2022 เวลา 11:41 • ข่าวรอบโลก
เมื่อพูดถึง “สงคราม” ผู้คนคงนึกถึงเพียงแค่การรุกรานที่มีการใช้ความรุนแรง การทำลายล้างและมีอัตราเสียชีวิตที่อยู่ในระดับสูง หรือในระดับอุกฉกรรจ์ โดยใช้กำลังทหารทั้งแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เป็นคำที่แสดงถึงความแห้งผากทางศีลธรรม เสียงระเบิด ความโหดร้าย ความทรมาน ความอดอยาก และความหวาดกลัว นักวิชาการบางส่วนมองว่าการสงครามเป็นสากลและเป็นส่วนที่สืบมาแต่บรรพชนของธรรมชาติมนุษย์ แต่บางส่วนก็แย้งว่าสงครามเป็นเพียงผลลัพธ์แห่งกรณีแวดล้อมทางสังคม-วัฒนธรรมหรือระบบนิเวศเฉพาะ
3
การทำสงครามระหว่างกันนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพียง 2 ประเทศ แต่การทำสงครามก่อให้เกิดความเสียหายกับหลายๆประเทศที่มีความเกี่ยวโยงกันในหลายๆด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้าน ‘เศรษฐกิจ’ เมื่อพูดถึงเรื่องสงครามที่เกิดขึ้น ไม่เพียงแต่สร้างความเสียหาย ร้าวฉาน และความเจ็บปวดให้กับประชากรแต่ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกด้วย สงครามที่เป็นที่จับตามองและเป็นที่น่าสนใจในขณะนี้คงหนีไม่พ้น “สงครามรัสเซียบุกยูเครน”
กองทัพรัสเซียโจมตีพลเรือนยูเครน https://www.bangkokbiznews.com/world/995405
บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อแสดงให้เห็นถึงผลกระทบของการทำสงครามที่มีผลต่อเศรษฐกิจในระดับต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงผลกระทบที่มีต่อประเทศไทยทางด้านเศรษฐกิจด้วย ทั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ทราบที่มาที่ไปและความเปลี่ยนแปลงทางด้านต่างๆโดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากสงครามนี้ด้วยเช่นกัน
สงครามรัสเซีย-ยูเครนดำเนินไปตั้งแต่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ท่ามกลางความหวังของทั่วโลกว่าจะได้เห็นการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งและสันติสุขกลับคืนมา หลังจากสร้างความเสียหายในพื้นที่ มีประชาชนบาดเจ็บล้มตาย และผู้พลัดถิ่นหลายล้านคนหนีตายออกนอกประเทศ
“ยูเครน” ต่อสู้เพื่อเอกราช
ดร.ณัฐหทัย เล่าว่า จุดเริ่มต้นการแบ่งแยกดินแดนยูเครนจากสหภาพโซเวียตเกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อปี 2460 ซึ่งขณะนั้นได้เกิดการปฏิวัติในรัสเซีย จนจักรวรรดิรัสเซียล่มสลาย และเหตุการณ์ครั้งนั้นมีชาวยูเครนเชื้อสายสลาฟลุกขึ้นมาต่อสู้เพราะต้องการมีประเทศเป็นของตนเอง และในปีเดียวกันนั้น ก็มีชาวยูเครนหลายหมื่นคนต่อสู้กับกองทัพแดงของสหภาพโซเวียต เป็นการต่อสู้ยาวนานจนถึงปี 2463 มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ท้ายที่สุดก็พายแพ้ ทำให้สหภาพโซเวียตผนวกยูเครนเป็นส่วนหนึ่งได้สำเร็จ
ปี 2473 เกิดเหตุการณ์โฮโลโดมอร์ หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ด้วยการทำให้อดอาหารจนถึงตาย ในสมัยของประธานาธิบดีโจเซฟ สตาลิน ของสหภาพโซเวียต เพื่อลงโทษชาวยูเครนชาตินิยมที่ต้องการแยกประเทศในปฏิวัติรัสเซียในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยทางการโซเวียตที่ปกครองระบอบคอมมิวนิสต์บังคับให้ส่งผลผลิตทั้งหมดส่งให้กับส่วนกลาง ทำให้ชาวยูเครนเข้าไม่ถึงทรัพยากรในส่วนนี้และมีคนอดตายจำนวนมาก ขณะที่บางคนต้องกินเนื้อมนุษย์ด้วยกันเอง คาดว่า มีชาวยูเครนเสียชีวิตมากกว่า 3.9 ล้านคนในช่วงปี 2475 - 2476 จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ว่าเพราะเหตุใดชาวยูเครนจึงต้องการปลดแอกตัวเอง และต้องการออกห่างจากรัสเซีย แม้ตอนนี้รัสเซียไม่ได้เป็นสหภาพโซเวียตแล้ว
การสำรวจของมหาวิทยาลัย University College London ระบุว่า คนรุ่นใหม่ในยูเครนไม่ต้องการสงคราม และชาวรัสเซียรุ่นใหม่ก็ไม่ได้สนับสนุนแนวทางของปูตินเหมือนกัน และส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่า รัสเซียตัดสินใจโจมตียูเครน ซึ่งแนวทางการใช้กำลังทางทหารเป็นเรื่องล้าสมัยนับตั้งแต่จบสงครามโลกเย็น และกระแสโลกในปัจจุบันเอนเอียงเข้าสู่กระแสประชาธิปไตยที่เน้นสนับสนุนสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค รวมถึงการสลายพรมแดน ดังนั้นการปลุกระดมความเป็นชาตินิยมจึงถูกมองว่าเป็นเรื่องล้าสมัยในสายตาชาวรัสเซียรุ่นใหม่ หลายประเทศพยายามรวมกลุ่มความร่วมมือเหมือนกับสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งเป็นความร่วมมือในภูมิภาค รัฐเหนือรัฐ และผลักดันในสิ่งที่เรียกว่า “พลเมืองโลก” ขึ้นมาเพื่อปฏิบัติกับคนทุกคนอย่างเท่าเทียม
ตลอดระยะเวลาร่วม 20 ปีที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินครองอำนาจสูงสุดในรัสเซียนั้น เขาได้ทำสงครามที่ประสบชัยชนะแบบง่ายๆ มาโดยตลอด ไม่ว่าการปราบปราม กลุ่มแบ่งแยกดินแดนในเชเชนทำสงครามแบบเบ็ดเสร็จจนสามารถยึดครองสาธารณรัฐเชเชนได้โดยเด็ดขาดนับเป็นการสิ้นสุดเอกราชโดยพฤตินัยของดินแดนดังกล่าวของรัสเซียในปี 2542 ต่อมาปูตินก็บุกเข้าจอร์เจียทำสงคราม 5 วันก็สามารถสยบจอร์เจียได้อย่างสมบูรณ์แบบในปี 2551 และในปี 2557 ปูตินก็สามารถเข้ายึดครองและผนวกคาบสมุทรไครเมียของยูเครนได้อย่างง่ายดายโดยใช้เวลาเพียง 1 เดือน 6 วันเท่านั้น
จากความสำเร็จทางการทหารโดยง่ายดังกล่าวทำให้ปูตินมีความมั่นใจจนเกินไปในการตัดสินใจบุกทะลวงเข้าไปในยูเครนในวันพฤหัสบดีที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมานี้หลังจากมีการสะสมกำลังทหารบริเวณพรมแดนยูเครนมาเป็นเวลากว่าหนึ่งปี โดยบุกเข้ามาทางทิศตะวันออกและทางทิศใต้ของยูเครนระลอกแรก และระลอกที่สองนั้นรัสเซียได้ทำการการเคลื่อนพลเข้ายูเครนผ่านทางเบลารุสทางทิศเหนือ
ไม่กี่วันก่อนหน้าการบุกนั้น รัสเซียได้ทำการรับรองความเป็นรัฐเอกราชของสาธารณรัฐประชาชนดอแนตสก์และสาธารณรัฐประชาชนลูฮันสก์ที่ได้แยกตัวออกจากยูเครนเมื่อ 8 ปีก่อนหน้านี้ พร้อมกับขู่ประเทศสวีเดนและฟินแลนด์ไม่ให้ดำเนินการที่จะสมัครเป็นสมาชิกขององค์การนาโต้ในอนาคตเพราะรัสเซียก็จะเปิดสงครามกับทั้ง 2 ประเทศนี้เหมือนกับบุกยูเครนอย่างแน่นอน
ปรากฎว่าประชากรส่วนใหญ่ของยูเครนพร้อมที่จะสู้ตายเพื่อรักษาบ้านเกิดอย่างเด็ดเดี่ยวประกอบกับมีผู้นำที่เก่ง ฉลาดและกล้าหาญแบบนายโวโลดิมีร์ เซเลนสกี อดีตนักแสดงตลกและแสดงในโทรทัศน์ซีรีส์ตลกเสียดสีเรื่อง "ผู้รับใช้ของประชาชน"
ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกีกลับต้องการอาวุธยุทโธปกรณ์ในการรบกับรัสเซียมากกว่าที่จะลี้ภัย เมื่อปูตินเตรียมทหารประมาณหนึ่งแสนเก้าหมื่นนายเพื่อบุกเข้ายึดครองเมืองหลวงกรุงเเคียฟของยูเครนซึ่งมีประชากรประมาณ 3 ล้านคนเพราะปูตินคาดว่าทหารยูเครนคงยอมวางอาวุธง่ายๆ ปรากฎว่าไม่เป็นไปเช่นนั้น แถมประชาชนส่วนใหญ่ยังอาสาสมัครป้องกันเมืองสำคัญๆ ทุกเมืองอย่างล้นหลาม ทหารที่เตรียมมาคงไม่พอ เพราะการสู้รบในเมืองนั้นที่หลบซุ่มลอบโจมตีมีเยอะ และอาวุธที่ใช้โดยคนๆ เดียวที่สามารถทำลายรถถังและเครื่องบินทุกชนิดก็มีอยู่ดาษดื่นทำให้แผนการที่จะยึดกรุงเคียฟภายใน 48 ชั่วโมงไม่มีทางสำเร็จ อีกประการหนึ่งมีรถถังจำนวนไม่น้อยของรัสเซียต้องหยุดเคลื่อนไหวเพราะขาดน้ำมันแสดงว่าการบุกยูเครนครั้งนี้ทางการรัสเซียมุ่งแต่ยุทธศาสตร์ในการรบแต่ละเลยการส่งกำลังบำรุงแสดงถึงการเป็นมือสมัครเล่นมากกว่าเป็นมืออาชีพอย่างชัดแจ้ง
มิหนำซ้ำมาตรการแซงก์ชันตอบโต้การที่รัสเซียรุกรานยูเครนของกลุ่มประเทศตะวันตกคือการที่มุ่งทำให้ภาคการเงินของรัสเซียกลายเป็นอัมพาต โดยรวมถึงการปิดกั้นไม่ให้รัสเซียสามารถเข้าถึงระบบการเงินระดับโลกได้ นอกจากนั้น ยังจะเป็นครั้งแรกที่มุ่งเล่นงานธนาคารกลางของรัสเซียด้วย การเล่นงานธนาคารกลางของรัสเซียนั้น พุ่งเป้าไปที่ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศจำนวนมากกว่า 600,000 ล้านดอลลาร์ซึ่งรัสเซียมีสำรองอยู่ เพื่อมุ่งจำกัดความสามารถของรัสเซียในการสนับสนุนสกุลเงินรูเบิลของตน
ในเวลาที่รัสเซียต้องเผชิญการแซงก์ชันที่บีบคั้นมากขึ้นเรื่อยๆ ของฝ่ายตะวันตก ค่าของเงินตรารัสเซียล่วงดิ่งลงแบบลงเหวไปเลย และกระตุ้นให้ภายในรัสเซียเกิดอัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นอย่างน่ากลัว โดยทำให้ค่าเงินรูเบิลดิ่งลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อแลกกับดอลลาร์สหรัฐฯ รวมทั้งทำให้ตลาดหุ้นของรัสเซียประสบกับสัปดาห์เลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยมีบันทึกกันไว้ จนกระทั่งปูตินต้องออกมาขู่ว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์แล้วแสดงถึงความหมดท่าจริงๆ ของปูตินเสียแล้ว
ในการเจรจาระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ผ่านมา ฝ่ายรัสเซียมีข้อเสนอหลัก 4 ข้อในการยุติสงครามครั้งนี้คือ
  • 1.
    ยูเครนแก้รัฐธรรมนูญ ให้ไม่เข้าร่วมนาโตและสหภาพยุโรป
  • 2.
    ให้ยูเครนยุติปฏิบัติการทางทหารทั้งหมดและลดขนาดกองทัพ
  • 3.
    ยูเครนต้องยอมรับในเอกราชของสาธารณรัฐโดเนตสก์ และลูฮันสก์ที่แยกตัวออกจากยูเครน
  • 4.
    ยอมรับไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย
ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกีแสดงท่าทีว่ายูเครนสามารถรับข้อเสนอของรัสเซียได้เพียงข้อเดียวแต่ข้อเสนอข้อที่ 3 และข้อที่ 4 นั้นยูเครนไม่สามารถยอมรับได้อย่างเด็ดขาด ดังนั้นสงครามรัสเซีย-ยูเครนนี้คงต้องดำเนินไปอีกนาน โดยคนยูเครนจะต้องตายอีกนับหมื่นนับแสนคนและบ้านเมืองคงต้องถูกทำลายยับเยิน และรัฐบาลยูเครนคงต้องย้ายไปตั้งบัญชาการที่ต่างประเทศ เพื่อสู้รบต่อไปแบบกองโจร จนกระทั่งรัสเซียจะถูกพิษคว่ำบาตรจากนานาประเทศซึ่งหนักหนาสาหัสจริงๆ เพราะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการคว่ำบาตรเงินตราโดยตรง และทนค่าใช้จ่ายสงครามไม่ไหวจนต้องถอยไปเอง
1
วันนี้มาพูดถึงที่มาของสงครามรัสเซีย - ยูเครน และข้อเสนอแนะที่มีการนำมาเจรจากัน ตอนต่อไปจะมาพูดถึงผลกระทบของสงครามต่อเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ฝากติดตามตอนต่อไปด้วยนะคะ
1
References
นันทิดรา พวงทอง. (2565). เปิดเหตุผล ‘ยูเครน’ สู้ไม่ถอย
สงครามยืดเยื้อ ‘รัสเซีย’. สืบค้น 16 มีนาคม 2565,
world/993612
รศ.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. (2565). บทจบของสงครามรัสเซีย-
ยูเครน คือ สงครามกองโจร. สืบค้น 18 มีนาคม
8531666/
ศราวุธ เอี่ยมเซี่ยม. (2565). สงครามรัสเซีย - ยูเครน นโยบาย
ของไทย ต้องยึดหลักผลประโยชน์ของประชาชน.
สืบค้น 20 มีนาคม 2565, จากhttps://www.springnews.
โสภณ องค์การณ์. (2565). ยูเครนอาจไม่เหลือซาก. สืบค้น 16
มีนาคม 2565, จาก https://mgronline.com/daily/
detail/9650000025977
โฆษณา