4 เม.ย. 2022 เวลา 13:00 • ธุรกิจ
บทสรุปส่งท้าย 2 ประกันที่เก่าแก่สุดในไทย “อาคเนย์ประกันภัย และไทยประกันภัย”
รู้ไหมว่า อาคเนย์ เป็นหนึ่งในบริษัทประกันภัยที่เก่าแก่ของประเทศไทย บริษัทนี้ทำธุรกิจมา 76 ปี
ส่วน ไทยประกันภัย บริษัทนี้เป็นบริษัทประกันภัยเก่าแก่สุดในไทย ที่อยู่คู่คนไทยมา 84 ปี แล้ว
3
มาวันนี้ทั้ง 2 บริษัท ต้องเจอปัญหาการรับประกัน โควิด เจอ จ่าย จบ ที่แม้จะพยายามทุกวิถีทางเพื่อคืนใบอนุญาต แต่สุดท้ายจบลงด้วยการถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจจากหน่วยงานกำกับดูแล และต้องปิดตัวลงในวันที่ 1 เมษายน 2565
แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นได้ถูกบันทึกเป็นเหตุการณ์สำคัญ ของประวัติศาสตร์ประกันภัยไทยเป็นที่เรียบร้อย
 
แล้วเหตุการณ์เรื่องนี้เป็นอย่างไร มาดูบทสรุปของเรื่องที่ผ่านมากัน..
2
ย้อนกลับไป เมื่อต้นปี 2563 ได้มีข่าวพบการแพร่ระบาดของโควิด 19 ครั้งแรกที่ประเทศจีน ซึ่งมีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เพราะเป็นโรคอุบัติใหม่และยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ เป็นที่จับตาการแพร่ระบาดไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก
ต่อมาหลังพบการระบาดในไทย ประชาชนได้ตื่นตระหนกและกังวล ภาครัฐเองก็ได้ออกมาให้ความเชื่อมั่นว่า สามารถควบคุมได้ เพราะไม่ได้ติดต่อง่ายอย่างที่คิด และได้ขอความร่วมมือจากบริษัทประกันภัย ออกกรมธรรม์มาช่วยแบ่งเบาความเสี่ยงให้กับประชาชน
1
กรมธรรม์ประกันภัยโควิด 19 แบบเจอ จ่าย จบ จึงถือกำเนิดขึ้น โดยมี 16 บริษัทประกันวินาศภัยไทยเป็นผู้ออกกรมธรรม์ ขณะเดียวกันเป็นที่น่าสังเกตว่า บริษัทประกันต่างชาติไม่มีบริษัทไหนเลยที่ยอมเข้ามารับความเสี่ยงกับประกันภัยชนิดนี้ ซึ่งในตอนนั้นบริษัทประกันต่างได้คำนวณความเสี่ยงและประเมินเบี้ยตามหลัก คณิตศาสตร์ประกันภัย และผ่านการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแล ไม่ต่างจากกรมธรรม์อื่น ๆ ในท้องตลาด
21
และที่น่าสนใจคือ ราคาของประกันแบบ เจอ จ่าย จบ นี้ไม่แพง ลูกค้าทุกระดับสามารถเข้าถึงได้
 
แต่สิ่งที่เกิดขึ้น มันไม่ได้เป็นแบบที่ทุกคนคิด..
1
จากที่โควิด 19 สายพันธุ์ดั้งเดิมไม่ได้แพร่ระบาดง่ายมากนัก ทำให้สถิติผู้ติดเชื้อ ช่วงปลายปี 2563 มีแค่วันละหลักสิบคน แต่พอเชื้อกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์เดลตาทำให้ติดเชื้อง่ายขึ้น ยอดผู้ติดเชื้อในเดือนมิถุนายน 2564 จึงพุ่งแตะวันละ 3,300 คน เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 ที่พีกสุด ยอดพุ่งทะลุหลัก 20,000 คนต่อวัน
1
เมื่อบริบทและความเสี่ยงเปลี่ยน
ในตอนนั้น ทั้ง 2 บริษัทก็คือ อาคเนย์ประกันภัย และ ไทยประกันภัย ก็ได้หยุดการขายกรมธรรม์เจอ จ่าย จบ แล้ว แต่ภาระที่รับประกันไว้ในก่อนหน้า บริษัทยังต้องให้ความคุ้มครองต่อจนครบ 1 ปี
2
เหตุการณ์ก็ดำเนินต่อมา จนเกิดการกลายพันธุ์เป็นโอมิครอนตอนต้นปี 2565 ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อปัจจุบันก็อยู่ที่หลักวันละหลายหมื่นคน
ถ้าเราเป็น 2 บริษัทประกันภัยนี้ เราจะทำอย่างไร ?
2
แน่นอนว่าการขอเคลมค่าสินไหมของ เจอ จ่าย จบ พุ่งพรวด ซึ่งทำให้บริษัทขาดทุน และที่สำคัญยังอาจส่งผลกระทบถึงลูกค้ากรมธรรม์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ประกันภัยโควิด อีกกว่า 8 ล้านกรมธรรม์ ซึ่งนับได้ว่ามากกว่ากรมธรรม์เจอ จ่าย จบ หลายเท่าตัว
3
ในตอนแรกผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ 2 บริษัทนี้ได้เพิ่มเงินทุน เพื่อจ่ายสินไหมให้ลูกค้าไปแล้วกว่า 10,000 ล้านบาท โดยอาคเนย์ประกันภัย จ่ายสินไหมไปกว่า 10,101 ล้านบาท และไทยประกันภัย จ่ายไป 2,600 ล้านบาท รวม 166,179 กรมธรรม์
2
แต่ถ้าถามว่ามันจบหรือไม่ คำตอบก็คือ ยังไม่จบ โดยบริษัทยังต้องการเงินทุนเพิ่มเติม ถ้าหากยังต้องการให้บริษัทดำเนินต่อไป เพราะยังเหลือกรมธรรม์ที่ยังอยู่ในความคุ้มครองอีกเป็นจำนวนมาก
1
สุดท้ายทางเลือกของผู้ถือหุ้นของบริษัท ก็คือ ไปต่อไม่ไหว และยอมให้ทั้ง 2 บริษัทประกันภัยปิดตัวลง โดยได้ยื่นขอคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยแบบสมัครใจ กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เมื่อปลายเดือนมกราคม 2565
เพื่อให้บริษัทสามารถดูแลลูกค้าทุกกลุ่ม ในขณะที่บริษัทยังมีความมั่นคงเพียงพอ
แต่คณะกรรมการ คปภ. ตอบกลับมาว่าจะอนุญาตให้บริษัทเลิกกิจการได้ ก็ต่อเมื่อปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ครบถ้วนตามมาตรา 57
นั่นก็คือ บริษัทต้องเคลียร์ความคุ้มครองที่มีอยู่ให้หมดก่อนยุติกิจการ เพื่อไม่ให้ลูกค้าได้รับผลกระทบ
1
แต่กรมธรรม์โควิด เจอ จ่าย จบ จะโอนให้บริษัทใดก็คงไม่มีใครรับ บริษัทจึงต้องปรับวิธี โดยเสนอคืนเบี้ยให้ลูกค้าเต็มจำนวนโดยสมัครใจ ในวันที่ 1-7 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยมีลูกค้าลงทะเบียนสำเร็จและได้รับเบี้ยคืนเต็มจำนวนกว่า 387,000 ราย แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด เพราะยังเหลืออีก 1.4 ล้านกรมธรรม์
 
ซึ่งต่อมากรมธรรม์ประกันภัยอื่น ๆ ที่ไม่ใช่โควิด เช่น รถยนต์ อุบัติเหตุและสุขภาพ อัคคีภัยและทรัพย์สิน ของทั้ง 2 บริษัท ก็ถูกโอนไปยัง 3 บริษัทที่ผ่านเกณฑ์ก็คือ ทิพยประกันภัย, แปซิฟิค ครอส ประกันสุขภาพ และอินทรประกันภัย โดยเกณฑ์กำหนดให้มีเงื่อนไขว่า ลูกค้าจะได้รับความคุ้มครองเทียบเท่าของเดิม และรับบริการแบบไร้รอยต่อ
1
บทสรุปของเรื่องนี้ ทำให้เราเรียนรู้ได้ว่า
การทำธุรกิจประกัน ไม่ได้เป็นเรื่องง่าย และแม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นบริษัทใหญ่ ที่มีเงินทุนหนาก็เจอปัญหาได้เหมือนกัน
ถ้าย้อนไปดูงบการเงินย้อนหลัง ก็จะพบว่าตลอดเวลาที่ดำเนินธุรกิจมาหลายสิบปี ทั้ง 2 บริษัทมีกำไรสะสม รวมกันประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งไม่มาก เมื่อเทียบกับการทำธุรกิจประเภทอื่นที่ใช้เงินลงทุนในระดับเดียวกัน
แต่ก็เป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจ เพราะธุรกิจประกันจะมีการชดเชยความเสี่ยงให้กับลูกค้าในวิกฤติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น อุบัติเหตุครั้งใหญ่ วิกฤติเศรษฐกิจ หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่แต่ละครั้งอาจต้องจ่ายค่าสินไหมเป็นหลักพันล้านบาท
2
แต่มาจนถึงตอนนี้ ไม่ว่าวิกฤติไหน ก็คงสู้วิกฤติโควิด 19 ไม่ได้
เพราะเมื่อย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์โรคอุบัติใหม่ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าไม่มีโรคไหนส่งผลรุนแรงได้เท่าโควิด 19 อีกแล้ว เรียกได้ว่างานนี้ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ผู้ถือหุ้น พนักงาน คู่ค้า หรือลูกค้า ต่างก็เจ็บหนักไปตาม ๆ กัน
ก็นับว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ต้องสูญเสีย 2 บริษัทประกันภัย ที่เป็นบริษัทที่เก่าแก่ของไทย ที่ก่อนหน้านี้ได้ช่วยรับประกันให้หลายคนได้มีที่พึ่งพาเวลาเกิดเหตุ
ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ ก็คงเป็นบทเรียนให้ทั้งอุตสาหกรรมประกันได้เรียนรู้ และเตรียมรับมือ
เผื่อว่าวันข้างหน้าเกิดเหตุการณ์คล้ายแบบนี้อีกครั้ง
ในวันนั้นทุกฝ่ายจะได้ เตรียมพร้อมรับมือ และแก้ปัญหาได้ดีกว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ในครั้งนี้..
โฆษณา