4 เม.ย. 2022 เวลา 16:57 • กีฬา
#MainStand ไม่เมาก็มันได้ : เทรนด์เครื่องดื่ม Alcohol-Free ที่น่าจับตามองในปี 2022
หากพูดถึงการสังสรรค์ องค์ประกอบลำดับต้น ๆ ที่ใครหลายคนมักจะนึกถึงนอกจากปัจจัยเรื่องเพื่อนและสถานที่ คงเป็นเรื่องของอาหารและเครื่องดื่ม "แอลกอฮอล์" ที่เข้ามาเป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลัก จนยากจะปฏิเสธว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่แทบจะขาดไปไม่ได้สำหรับการปาร์ตี้ในแต่ละครั้ง
อย่างไรก็ตามท่ามกลางยุคสมัยและค่านิยมที่เปลี่ยนไป การคำนึงถึงสุขภาพมากขึ้นสำหรับใครหลาย ๆ คนก็ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า "Alcohol-Free Spirits" หรือ "สุราปลอดแอลกอฮอล์" ขึ้นมา จนมันได้กลายมาเป็นหนึ่งในเทรนด์การดื่มที่กำลังเป็นที่จับตามองอย่างมากในแวดวงสุขภาพและอาจมีบทบาทอย่างสำคัญต่อไปในอนาคต
ไม่ใช่แค่เพื่อความสนุก แต่เพื่อสุขภาพที่ดีด้วย Main Stand จึงขอชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับ "Alcohol-Free Spirits" ให้มากขึ้นไปพร้อม ๆ กัน
[ดื่มได้แต่ไม่เมา]
เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน "Alcohol-Free Spirits" หรือ "สุราปลอดแอลกอฮอล์" เป็นเครื่องดื่มที่มีกรรมวิธีการผลิตที่ค่อนข้างคล้ายกับสุราแบบปกติหรือแม้กระทั่งมีวิธีการที่คล้ายกับการทำเครื่องดื่มชนิดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์ อาทิ การกลั่น (Distillation) การทำให้แอลกอฮอล์ระเหยไปจากส่วนผสมดั้งเดิมหรือใช้ไอน้ำเพื่อการกลั่นรสชาติของส่วนผสมออกมา, การแช่ให้ยุ่ย (Maceration) หรือการนำส่วนผสมต่าง ๆ ไปแช่ในของเหลวเย็น (Cold Liquid) ที่สามารถทำโดยมีแอลกอฮอล์หรือไม่มีก็ได้
นอกจากนี้ยังมี การซึมผ่าน (Percolation) ที่คล้ายกับการดริปกาแฟที่ปล่อยให้น้ำไหลผ่านส่วนผสมแล้วค่อย ๆ ดึงกลิ่นออกมาจากของแข็ง (Solid Substances) และไหลผ่านออกมา, การสกัดเย็น (Cold Pressing) ที่เป็นการแยกส่วนสกัดน้ำออกจากส่วนผสมแต่ละชนิดที่ยังคงรักษารสชาติหรือกลิ่นไว้ได้อย่างละเอียด และวิธีสุดท้ายคือการแช่ (Infusion) ที่จะมีหรือไม่มีแอลกอฮอล์ก็ได้เช่นเดียวกับวิธีการแช่ให้ยุ่ย
สุราปลอดแอลกอฮอล์ที่เกิดจากการหมักบ่มของพืช ผลไม้เบอร์รี่ และเครื่องเทศต่าง ๆ ที่มีให้เลือกตั้งแต่วิสกี้ จิน ไปจนถึงเตกล่า ที่เป็นเครื่องดื่มที่มีรสขมและกลิ่นฉุนเหมือนกับกับสุราจริง เพราะเหตุนี้มันจึงยังคงความรู้สึกของการดื่มสุราเอาไว้ได้เกือบจะครบถ้วน ขาดเพียงแค่ฤทธิ์ที่ทำให้มึนเมาเท่านั้น
ถึงจะฟังดูเหมือนเรื่องใหม่ แต่การทำสุราปลอดแอลกอฮอล์ที่ดูวาไรตี้และหลากหลายนี้ ความจริงแล้วเริ่มมีการเคลื่อนไหวให้เห็นมาแล้วตั้งแต่ในปี 2011 เพียงแต่ว่ามันยังไม่ได้เป็นที่นิยมเหมือนกับในทุกวันนี้เท่านั้นเอง
1
[เริ่มสร่างมาตั้งแต่ปี 2011 แต่สร่างจริง ๆ ตอน 2015]
1
เทรนด์ของการดื่มสุราปลอดแอลกอฮอล์ไม่ใช่เทรนด์ที่เกิดขึ้นมาใหม่ในปีนี้แบบสด ๆ ร้อน ๆ แต่เริ่มมีการคิดค้นกันมาตั้งแต่ปี 2011 โดยแบรนด์ที่ชื่อว่า "อาร์เคย์" (Arkay) บริษัทบ่มวิสกี้สัญชาติอเมริกัน ที่เริ่มทำวิสกี้แบบปลอดแอลกอฮอล์มาก่อน แต่อาจจะไม่ได้เป็นที่นิยมเท่ากับหรือเป็นที่รู้จักในระดับสากลเหมือนกับแบรนด์ที่ชื่อว่า "ซี้ดลิป" (Seedlip) จากสหราชอาณาจักร ที่ก่อตั้งในปี 2015
ซี้ดลิป ก่อตั้งโดย "เบน แบรนสัน" ชายที่นำสูตรอาหารไร้แอลกอฮอล์จากเอกสารที่ชื่อ "The Art of Distillation" ของนายแพทย์ชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ "จอห์น เฟรนช์" ที่เขียนไว้ตั้งแต่ปี 1651 มาต่อยอดทดลองทำเครื่องดื่มสุราปลอดแอลกอฮอล์จากพืชและสมุนไพร เพราะความเบื่อหน่ายของการสั่งม็อกเทล เครื่องดื่มขั้วตรงข้ามของค็อกเทลที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ตามบาร์ที่ไม่ได้ดั่งใจเขา และเขาก็มองว่ามันควรจะมีความหลากหลายมากกว่านี้
1
หลังจากการทดลองผสม หมักบ่ม และกลั่นเครื่องดื่มจากพืช โดยมีเบสมาจากเบอร์รี่ เครื่องเทศอย่างกระวาน เปลือกเลมอน เปลือกเกรปฟรุ๊ต เปลือกโอ๊ค และเปลือกคาสการิลล่า ทางแบรนด์ซี้ดลิปก็ได้ให้กำเนิดเครื่องดื่มจินปลอดแอลกอฮอล์ชื่อ "Seedlip Spice 94" ขึ้นมา อีกทั้งยังได้รับความสนใจในหมู่นักดื่มที่ไม่ต้องการเมา ตามสโลแกนของแบรนด์ความว่า "What to drink when you're not drinking" หรือที่แปลได้ว่า "จะดื่มอะไร ? หากคุณเป็นคนที่ไม่ 'ดื่ม'"
ซี้ดลิปสามารถทำยอดขายล็อตแรกหมดเกลี้ยง 1,000 ขวด ได้ภายในสามสัปดาห์ ล็อตที่สองอีก 1,000 ขวดภายใน 3 วันและล็อตสุดท้ายอีก 1,000 ขวดภายใน 30 นาที
นับตั้งแต่ที่ซี้ดลิปได้เริ่มลุยตลาดสุราปลอดแอลกอฮอล์ ไม่นานนักก็มีคนที่เริ่มมองเห็นช่องทางการลงทุนในวงการนี้มากขึ้น นำไปสู่การกำเนิดขึ้นของแบรนด์สุราปลอดแอลกอฮอล์ที่น่าสนใจอีกมาก อาทิ แอพเพอริทีฟจาก "เกียห์" (Ghia), จินไร้แอลกอฮอล์ จาก "อะมาส ริเวอร์รีน" (Amass Riverine), เตกีลาจำแลงจาก "ริชวล เตกิลา อัลเทอร์เนทีฟ" (Ritual Tequila Alternative) และอื่น ๆ อีกมากมาย แม้กระทั่งผู้ที่บุกเบิกมาก่อนอย่างอาร์เคย์ก็ได้รับความสนใจมากขึ้นเช่นกัน เป็นโลกที่รอให้เหล่านักชิมได้เข้าไปสำรวจรสชาติอันหลากหลายของ "เหล้า" ที่ปราศจากแอลกอฮอล์อย่างไม่มึน
เมื่อมีตัวเลือกที่หลากหลายกว่าที่เคย ความนิยมของเครื่องดื่มม็อกเทลจึงเพิ่มมากขึ้น เหมือนกับกาแฟและอาหาร Plant-Based ที่ในปัจจุบันมีตัวเลือกมากมายและไม่ได้จำกัดอยู่แค่ชนิดหรือสองชนิดอีกต่อไป จนมีการคาดการณ์ว่าเครื่องดื่มเหล่านี้จะเริ่มเข้ามาเทคโอเวอร์พื้นที่เมนูในร้านอาหารและบาร์มากขึ้นเร็ว ๆ นี้
[Sober Curious is on the rise]
นอกจากเรื่องของความหลากหลายที่เพิ่มขึ้น ค่านิยมที่คนเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพก็กำลังพุ่งทะยานเช่นเดียวกัน
อย่างเทรนด์ของ "Sober Curious" ที่สามารถแปลอย่างตรงตัวได้ว่า "การสงสัยในภาวะสร่าง" แต่มีความหมายจริงคือ การตั้งคำถามต่อตัวเราว่าชีวิตเราจะเป็นอย่างไรหากปราศจากแอลกอฮอล์ และภาวะการควบคุมพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์อย่างมีสติก็กำลังเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในปี 2022 โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่คนส่วนใหญ่เริ่มหันมาคำนึงถึงสุขภาพที่ดีขึ้นเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
จากการวิเคราหะ์ของ แอชลีย์ คาร์เตอร์ และ จัสมิน เวสต์บรูก สองผู้ก่อตั้ง Eat Well Exchange บริษัทที่ให้บริการด้านการกินเพื่อสุขภาพ พบว่าคนส่วนมากไม่ได้อยากจะดื่มแอลกอลฮอล์มากเท่ากับเมื่อก่อน เพราะพวกเขาเชื่อว่าสิ่งใดก็ตามที่รับเข้าสู่ร่างกายย่อมส่งผลต่อสุขภาพแบบองค์รวมทั้งสิ้น และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็เป็นตัวอย่างชั้นดีของเครื่องดื่มที่อาจส่งผลด้านลบแก่ร่างกายในระยะยาวหากบริโภคในปริมาณมาก ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาเรื่องการนอนหลับ หรือความเครียดและความวิตกกังวล เป็นต้น
เท่านั้นยังไม่พอสืบเนื่องจากผลสำรวจของ "Dry January" หรือชาเลนจ์ประจำเดือนมกราคม ที่ต้องลด ละ เลิกดื่มแอลกอฮอล์ โดย Morning Consult ปีล่าสุดยังพบว่าแนวโน้มของคนที่พยายามจะลดการดื่มแอลกอฮอล์ในปีนี้มีเพิ่มมากขึ้นกว่าปี 2021 กว่า 19% และส่วนมากเป็นคนยุค Millenials (หมายเหตุ : โพลจากวันที่ 4-5 มกราคม 2022 โดยผู้เข้าร่วมทำแบบสำรวจเป็นชาวอเมริกันจำนวน 2,085 คนที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไป) ซึ่งถือเป็นสัญญาณดีที่หลาย ๆ คนเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น
สุราปลอดแอลกอฮอล์ ไม่เพียงแต่จะเป็นตัวเลือกทดแทนที่ดีสำหรับคนที่ต้องการจะเลิกดื่มแอลกอฮอล์หรือลดปริมาณการดื่มให้น้อยลง แต่มันยังเป็นไลฟ์สไตล์ที่น่าสนใจและไม่มีพิษภัยเท่ากับสุราจริง เหมาะสำหรับคนอยากจะหันมาดูแลสุขภาพให้มากขึ้น
หากสิ่งที่ทดแทนกันได้เป็นสิ่งที่ดีกว่า บางครั้งการลองเปิดใจ "ดื่มแต่ไม่เมา" ก็อาจจะสนุกกว่าการบริโภคแอลกอฮอล์จริงในปริมาณมากก็เป็นได้
โฆษณา