7 เม.ย. 2022 เวลา 01:15 • ท่องเที่ยว
-- แสตมป์แรลลี่ วิธีโปรโมทการท่องเที่ยวสไตล์ญี่ปุ่น --
บทที่แล้วเขียนเกี่ยวกับเทรนด์เก็บสะสม “โกะชุอิน”(御朱印)หรือใบอนุโมทนาบัตรของวัดและศาลเจ้าในญี่ปุ่นไป
ลองมาคิดดู ก่อนที่โกะชุอินจะได้รับความนิยมขนาดนี้ ญี่ปุ่นมีกิจกรรมเก็บสะสมตราประทับมานานนมแล้ว เรียกกันในชื่อ “แสตมป์แรลลี่”(スタンプラリー)
ภาพโดย © ブルーカメラ (photoAC)
กิจกรรมแสตมป์แรลลี่คล้ายกับการเก็บคะแนนในบัตรสะสมแต้ม ถ้าเก็บได้ครบตามกำหนดจะได้ของรางวัลพิเศษเล็กๆ น้อยๆ คุ้มบ้างไม่คุ้มบ้าง อย่างน้อยก็ได้มาฟรี เพียงแต่ขึ้นชื่อว่าแรลลี่ก็ต้องไปตามจุดต่างๆ ที่กำหนดไม่ได้อยู่เฉพาะจุดเดียว
หลายคนคงเคยได้เข้าร่วมแสตมป์แรลลี่ในกรุงเทพฯ แล้ว อย่างน้อยๆ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคมที่ผ่านมามี “กิจกรรมสะสมโทโทโร่” ในงานนิทรรศการ My Style My Ghibli ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์
นี่แหละคือแสตมป์แรลลี่ล่ะ
สำหรับผู้ที่ไม่ได้ไป รายละเอียดกิจกรรมคือจะจัดวางบู้ทสำหรับประทับตรายางรูปโตโตโระ (โทโทโร่) ไว้ให้ผู้เข้าร่วมเก็บตามจุดต่างๆ ของห้าง หน้าตาแบบนี้ ↓↓↓
ซุ้มสะสมตราประทับโทโทโร่
เมื่อเก็บได้ครบ 5 จุด 5 ลาย จุดสุดท้ายคือในร้านเสื้อผ้า UNIQLO จะได้รับเข็มกลัดฟรี แผ่นละ 1 อัน ส่วนลายเข็มกลัดของรางวัลจะแตกต่างกันไปในแต่ละสัปดาห์ ↓↓↓
ตราประทับลายโตโตโระ (โทโทโร่) และเข็มกลัดของรางวัล
ทำนองเดียวกัน โบราณสถานบางแห่งในญี่ปุ่นจะจัดกิจกรรมแบบนี้
ที่หนึ่งที่ฉันเคยเล่นคือในปราสาทชูริ จังหวัดโอกินาว่าที่กำลังซ่อมแซมเพราะไฟไหม้ไปเมื่อปี 2019
ผู้เข้าชมทุกคนจะได้รับแผนที่ระบุตัวเลขจุดสำคัญของปราสาทและจุดที่ปั๊มได้ มีสองคอร์สให้เลือกเดิน คือคอร์สสั้น (30 นาที) และคอร์สยาว (60 นาที) คอร์สยาวจะรวมกำแพงเมืองชั้นนอกเอาไว้ด้วย
ซุ้มประทับตรา กับ แผ่นสะสม
ถ้าเก็บรวบรวมตราประทับได้ครบทั้งคอร์สจะได้รับของที่ระลึกเล็กๆ น้อยๆ มารู้ทีหลังว่าเป็นแฟ้มและปากกาลายปราสาทชูริ
แน่นอนว่าสถานที่ประทับตราทุกแห่งมีป้ายข้อมูลความรู้ตั้งอยู่ สารภาพว่าฉันไปได้ครบทุกจุดในปราสาทชูริและรับรู้ข้อมูลแต่ละจุดอย่างละเอียดเพราะอยากได้แสตมป์ เผอิญคิวต่อแถวมันยาวเลยต้องยืนอ่านป้ายข้อมูลระหว่างรอ
แถวรอคิวปั๊มและมุงอ่านป้ายความรู้
คาดว่าบูรณะเสร็จเมื่อไหร่ในปราสาทคงกลับมาคึกคักอีกแน่นอน
แสตมป์แรลลี่ไม่จำเป็นต้องจัดเฉพาะในสถานที่ใดสถานที่หนึ่งเสมอไป แต่เสกลจะใหญ่แค่ไหนนั้นขึ้นกับงบและงาน อาจจะเป็นตระเวนเก็บทั่วจังหวัด ทั่วภูมิภาค หรือทั่วประเทศก็ได้
ในกรณีของจังหวัดเคยเห็นที่นารา น่าจะตั้งชื่อกิจกรรมเป็นภาษาไทยได้ว่า “ตระเวนไหว้พระเก็บตราทั่วนารา” (巡礼印めぐり)
แผนกส่งเสริมการท่องเที่ยวขององค์กรการท่องเที่ยวจังหวัดนาราจัดเต็มให้เลย 40 แห่งจุกๆ ให้เวลาเก็บทั้งหมด 6 เดือน ใช้วิธีซอยออกเป็นหลายเลเวล
เลเวลง่ายที่สุด แค่ 2 ตราก็มีสิทธิ์ได้ของรางวัล (แต่มาก่อนได้ก่อนนะ)
สามารถหยิบโบรชัวร์และใบสะสมตราประทับได้ที่สถานที่ในลิสต์รายชื่อ หน้าตาแผ่นเก็บสะสมขนาด A4 เป็นแบบนี้ ↓↓↓
ตราประทับวัดกันโกจิ(元興寺)หนึ่งในเจ็ดวัดใหญ่ที่สำคัญของนารา
เมื่อสะสมได้ตามเป้าให้ตัดกระดาษตามรอยรูปซองจดหมาย ติดแสตมป์ส่ง
ตัวอย่างของรางวัลเมื่อเก็บได้ตามเป้า:
  • สะสมครบ 40 ดวง ได้แก้วคู่ใบใหญ่ Yoshinosugi(吉野杉)
เป็นผลิตภัณฑ์แฮนด์เมดชื่อดังของจังหวัด ทำจากไม้สน (จำกัด 3 คนแรก) ลองเช็คราคาแก้วใบใหญ่ เห็นขายกันใบละ 8800 เยน!
ภาพจากเว็บไซต์ราคุเต็น https://item.rakuten.co.jp/naranokoto/1044-80000991
  • สะสมครบ 18 ดวง ได้สมุดโกะชุอิน Yoshinosugi ปกทำจากไม้สน ราคาเล่มละ 2750 เยน (20 คนแรก)
  • สะสมครบ 9 ดวง ได้ที่เก็บตัวรถไฟลายสี่สัตว์เทพประจำทิศ (50 คนแรก)
  • สะสมครบ 3 ดวง ได้ที่รองแก้วลายลิมิเต็ดเอดิชั่น (300 คนแรก)
  • สะสมครบ 2 ดวง ได้แฟ้มใสลายลิมิเต็ดเอดิชั่น (300 คนแรก)
แสตมป์แรลลี่แบบนี้ดูแล้วน่าจะเหมาะสำหรับคนท้องถิ่นในจังหวัดที่มีเวลาไปทัวร์ตามจุดต่างๆ มากกว่านักท่องเที่ยวจากต่างเมืองและต่างประเทศ แต่อย่ากระนั้นเลย ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้วทำแบบสอบถามเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวไปด้วยเลยดีกว่า ทางแผนกคงคิดอย่างนั้น
ดังนั้นก่อนจะรับของรางวัลได้ผู้เข้าร่วมต้องตอบแบบสอบถาม 7 ข้อที่อยู่บนซองเสียก่อน
รายละเอียดคำถาม เช่น วัตถุประสงค์การมาจังหวัดนารา งบที่ใช้ ระยะเวลา ชื่อที่พัก มากับใคร รวมถึงสิ่งที่ดีและแย่ที่สุดของการมาเยือนนาราครั้งนี้
มาปี 2022 ทางแผนกสนับสนุนการท่องเที่ยวหัวใสเปิดให้เช็คอินเก็บคะแนนแลกรางวัลผ่านแอปพลิเคชั่นเพื่อลดการสัมผัส ชื่อแอป “ตระเวนไหว้พระด้วยสมาร์ทโฟน” Sumaho de Junrei(スマホで巡礼)
จุนเร(巡礼):จาริกแสวงบุญ, ตระเวนไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์
ไปหนึ่งจุดจะได้รับ 10 คะแนน ได้ 50 คะแนนขึ้นไปจะอยู่ในลิสต์รายชื่อสุ่มแจกรางวัลแฟ้มน่ารักๆ ลายลิมิเต็ดเอดิชั่นเฉพาะกิจกรรม
ภาพจาก http://inori.nara-kankou.or.jp/inori/special/29junrei
ตอนนี้กิจกรรมยังคงจัดอยู่ในจังหวัดนารา หากใครอยู่ญี่ปุ่นสนใจก็เชิญนะคะ
ส่วนเสกลใหญ่ระดับประเทศนั้น ตอนที่ฉันเคยเห็นกำลังจะกลับไทยพอดีเลยอดเข้าร่วม
นั่นคือ “กิจกรรมเก็บเฮลโหลคิตตี้ใน 36 ศาลเจ้าทั่วประเทศ”
แน่นอนมีผู้ตามรอย รวบรวมตราประทับและประวัติศาลเจ้าแต่ละแห่งออกมาเป็นไกดบุ๊คด้วย แต่ปัจจุบันแม้แต่หนังสือเล่มนี้ก็เหลือแต่เพียงมือสองซะแล้ว
ตัวอย่างแสตมป์ของศาลเจ้าสึรุกาโอกะฮาจิมังกูที่คามาคุระและหน้าปกไกด์บุ๊ค
ตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นอาจทำให้ดูเหมือนกิจกรรมแรลลี่เหมาะแต่กับสายมู ไม่ใช่นะคะ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่แบบไหน สินค้า บริการอะไรก็มีจัด
อย่างน้อยๆ ระหว่างเขียนบทความนี้ ฉันกูเกิ้ลและเจอเว็บไซต์ของสมาคมแสตมป์แรลลี่ญี่ปุ่น (日本スタンプラリー協会)เว็บนี้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับแสตมป์แรลลี่จากที่ต่างๆ ทุกจังหวัด ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ มีทั้งสะสมแบบกระดาษ แบบสมุด แบบแสกนคิวอาร์โค้ด แบบเช็คอิน แบบรับของสะสม เหมาะกับความสนใจของกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย
รายการแสตมป์แรลลี่ในปี 2022
...ถ้าชอบดอกไม้อาจจะสนใจเก็บระหว่างเดินชมวิวในสวนสาธารณะจังหวัดไซตามะ หรือไปตระเวนถ่ายรูปรอบอำเภอเมืองจังหวัดโทะจิกิ หรือขับรถชมซากุระในจังหวัดฟุกุชิมะรับสิทธิ์ชิงรางวัลคูปองเข้าพักโรงแรมออนเซ็นราคา 20,000 เยน
...ถ้าชอบประวัติศาสตร์หรือชอบฟิกเกอร์อาจจะสนใจรวบรวมตุ๊กตาดินเผาห้าสีระหว่างเข้าชมพิพิธภัณฑ์และหอประวัติในภูมิภาคชินชู
...สายกินอาจจะแพ้ทางเทศกาลชิมอาหารที่นากาโนะเซ็นทรัลพาร์ค หรือเข้าร่วมเทศกาลเลือกชิมอุด้งจาก 100 ร้านในเมืองฟุกุโอกะ หรือขึ้นรถไฟสายชินเคเซตระเวนกินราเม็งในจังหวัดจิบะ
...คอกาแฟอาจจะอยากเก็บแต้มผ่าน QR code ระหว่าง cafe hopping ในเมืองนิชิโนะมิยะ จังหวัดเฮียวโกะ
เชื่อว่ายังมีอีกหลายกิจกรรมที่ไม่ได้ลงในเว็บไซต์
ไหนๆ ก็จะไปอยู่แล้ว แค่ตามเก็บตราประทับ กดเช็คอินเป็นที่ระลึก ลองไปนอกแผนเดิมเพิ่มสักแห่งสองแห่ง แล้วรับของรางวัลฟรีๆ ไม่ได้ยุ่งยากอะไร
เท่าที่เห็นคิวต่อแถว “สะสมโทโทโร่” ในงาน My Style My Ghibli คิวประทับตราในปราสาทชูริ และรายชื่อกิจกรรมแสตมป์แรลลี่ยาวเป็นดอกเห็ด นี่ดูจะเป็นวิธีที่ใช้ได้ผลในการดึงดูดผู้สนใจให้กลายมาเป็นผู้เข้าร่วมเต็มตัว
และเชื่อเถอะว่าการไล่เก็บแสตมป์ / สติ๊กเกอร์ / ตุ๊กตาดินเผาสวยๆ เหล่านี้ทำให้ประสบการณ์การไปเยี่ยมชมสถานที่น่าสนใจขึ้นอีก
ส่วนตราประทับถ้าน่ารักได้จะล่อใจ แต่จังหวัดนาราก็แสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างแล้วว่าตัวปั๊มไม่ได้จำเป็นต้องยุ่งยากอะไรนัก มีชื่อสถานที่ ชื่อกิจกรรมและชื่อเขต (เหนือ กลาง ใต้/ตะวันออก) แตกต่างกันก็ตอบโจทย์แล้ว
มันคงยากที่จะทำให้คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะเด็กและวัยรุ่นอยากเดินเข้าวัด ศาลเจ้า โบราณสถาน พิพิธภัณฑ์เล็กๆ และเดินตรงเข้าไปศึกษาใบประวัติ ไม่ว่าจะเพราะการเรียนการสอนที่น่าเบื่อในโรงเรียนทำให้มีภาพติดลบ หรือไม่เห็นความเกี่ยวโยงกับชีวิตในปัจจุบัน หรือเพราะมันร้อน โดนแดดแผดเผา เมื่อยขา ไม่มีอะไรใหม่ดึงดูดความสนใจ
แต่สิ่งที่ทางการญี่ปุ่นทำสำเร็จระดับหนึ่งคือการหากิจกรรมให้คนได้เห็นชื่อผ่านตา มาเหยียบเขตพื้นที่เหล่านั้น แถมยังได้รับทราบข้อมูลจำเป็นอีก
เหล่านี้อาจจะเป็นโมเดลน่าสนใจสำหรับที่อื่นเช่นกัน
ดูเพิ่มเติม:
สมาคมแสตมป์แรลลี่ญี่ปุ่น (日本スタンプラリー協会)
กิจกรรม sumaho de junrei (スマホで巡礼2022)
ตัวอย่างใบแสตมป์แรลลี่ภาษาอังกฤษของปราสาทชูริ
บทความในเพจที่เกี่ยวข้อง:
ตามสะสม "โกะชุอิน" ใบอนุโมทนาบัตรของญี่ปุ่น
นั่งชินคันเซ็นสะสมตราประทับเฮลโหลคิตตี้
โฆษณา