5 เม.ย. 2022 เวลา 05:33 • สุขภาพ
โควิดกับระบบภูมิคุ้มกัน
เคยสงสัยมั้ยว่า ทำไมบางคนอยู่ด้วยกันตลอด แต่คนนึงติดโควิด อีกคนไม่ติด?
บางคนฉีดวัคซีนเต็มแขน แต่สุดท้ายก็ไม่รอด
เพราะว่าการที่เราจะป่วยด้วยโรคติดเชื้อซักครั้งเนี่ย ประกอบไปด้วย 3 ปัจจัยเสมอ
1. เชื้อโรค (Agent) เช่น ไวรัสโควิด VS. HIV ความสามารถในการแพร่เชื้อก็ต่างกัน เราจูบกับคนที่เป็น HIV ก็ไม่ได้จะติดกันง่ายๆ แต่กับไวรัสโควิด แค่นั่งอยู่ข้างๆกันก็ติดได้แล้ว
ความสามารถในการติดต่อนี้เรียกว่า Contagious ข่าวดีก็คือ ยิ่งเชื้อนั้นแพร่เชื้อเก่งเท่าไหร่ ความรุนแรงของโรคนั้นมักจะต่ำลง นึกภาพตาม โรคที่ความรุนแรงสูงๆอย่างอีโบล่า ติดแล้วมีโอกาสตาย 50% ดังนั้นคนที่ติดคือป่วยมาก นอนอยู่บ้าน ไปไหนไม่ได้ แพร่เชื้อไม่ได้ แต่คนติดโควิดโอกาสตายอยู่ที่ 1.2% แปลว่าติดแล้วไม่ป่วยมาก อาการเหมือนหวัด ดังนั้นคนที่ติดก็จะยังออกไปข้างนอกแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ อัตราการติดจึงสูง
2. สภาพแวดล้อม (Environment) สภาพแวดล้อม ระบบระบายอากาศ การหมุนเวียนอากาศ มีผลต่อเชื้อโรคที่ติดผ่านละอองฝอยที่ล่องลอยในอากาศ จำได้มั้ยว่าช่วงแรก โควิดมักจะติดในสนามมวย ผับ เป็นคลัสเตอร์ใหญ่ เพราะสถานที่เหล่านี้เป็นระบบปิด บวกกับคนตะโกนโหวกเหวกทำให้มีน้ำลายฝอยๆอยู่ในอากาศเข้มข้น อากาศไม่หมุนเวียน วนอยู่ด้านในผลัดกันสูดเข้าไป ก็เลยติดเชื้อกันหมด ดังนั้นแม้ว่าเราจะนั่งอยู่ข้างๆคนที่ติดโควิด แต่เป็นสถานที่เปิดมีอากาศถ่ายเทดี โอกาส การติดถือว่าต่ำ ยกเว้นเสียว่ามีน้ำลายของคนที่ติดเชื้อตกอยู่ตามโต๊ะ ข้าวของเครื่องใช้ เราไปหยิบ แล้วเอามือมาป้ายตาจมูกปาก ก็ติดเหมือนกัน ดังนั้นการล้างมือจึงเป็นสิ่งสำคัญนะจ้ะ
3. ตัวเราเอง (Host) ข้อนี้สำคัญที่สุด ถึงว่าเชื้อโรคจะเก่ง เราอยู่ในสถานะที่โดนล้อมไว้ด้วยโควิดหมดแล้ว แต่ตัวเรามีเกราะป้องกันดี ภูมิคุ้มกันเราทำงานได้ดี แม้ว่าเราจะรับเชื้อโควิดเข้ามาแล้ว แต่ภูมิคุ้มกันของเราต่อสู้ไล่ข้าศึกออกไปจากร่างกายได้โดยไม่เสียป้อม เราก็ไม่ติด
ซึ่งภูมิคุ้มกันของเราจะทำงานได้ดีหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย วัคซีนเป็นเหมือนครูฝึกทหาร แม้ว่าครูจะเก่ง แต่ทหารเราง่อย สุดท้ายไปรบก็แพ้อยู่ดี ดังนั้นนอกจากจะฉีดวัคซีนแล้ว เราต้องมีวิธีดูแลระบบภูมิคุ้มกันของเราให้ดีด้วย ได้แก่
- นอนดี การนอนมีผลต่อฮอร์โมน ซึ่งฮอร์โมนจะไปมีผลต่อภูมิคุ้มกันอีกที คนนอนน้อย นอนไม่ดีจะป่วยบ่อย อ่อนแอง่าย
- ออกกำลังกาย ออกแบบเบาถึงหนักปานกลาง ถ้าออกมากไปจะทำให้เกิดผลเสียมากกว่า
- อารมณ์ เครียดมาก ฮอร์โมนความเครียดหลั่งเยอะ กดระบบภูมิคุ้มกัน
- อาหาร ต้องทานโปรตีนให้เพียงพอ คนทั่วไปประมาณ 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว1 กิโลกรัม สัดส่วนโปรตีนในอาหารสามารถเปิดตารางในอากู๋ได้
- วิตามินและแร่ธาตุที่มีผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
  • วิตามินซี ปริมาณที่แนะนำคือ 500 - 1000 mg ต่อวัน ควรกินช่วงเช้าและดื่มน้ำมากๆ เพราะวิตามินซีจะตกตะกอนกลายเป็นนิ่วที่ไตได้
  • วิตามินดี โดยเฉพาะ D3 นอกจากมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างกระดูกที่แข็งแรงแล้ว ยังมีหน้าที่เกี่ยวกับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน โดย vitaminD3 สามารถเพิ่มระดับวิตามินดีในเลือดได้มากกว่า vitaminD2 ถึง 3 เท่า ดังนั้น ไหนๆจะกินแล้วแนะนำให้กิน D3 ดีกว่า ปริมาณที่แนะนำ 1000 - 5000 iu ต่อวัน ขึ้นอยู่กับระดับวิตามินดีในเลือด ข้อควรระวัง คือ วิตามินดีเป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน แปลว่าถ้าเกินจะสะสมในร่างกายทำให้เกิดพิษได้ ดังนั้นจึงควรตรวจระดับวิตามินดีในเลือดเป็นระยะ
  • สังกะสี จำเป็นต่อการทำงานของเม็ดเลือดขาว และมีงานวิจัยพบว่า สังกะสีอาจช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสได้
- สารสกัดจากธรรมชาติ
  • Allicin ในกระเทียม ช่วยส่งเสริมการทำงานของภูมิคุ้มกันของร่างกายได้
  • ECCG ในชาเขียว ช่วยลดการอักเสบ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่หายจากโควิดแล้วแต่ยังมีอาการ long covid
  • Curcumin ในขมิ้นชัน ช่วยลดการอักเสบ เหมือน ECCG
สรุป คือ อย่าไปคิดว่าฉีดวัคซีนแล้วจะไม่ติดโควิด ตราบใดที่ทหารของเราไม่แข็งแรง เราก็จะไม่มีวันสู้ชนะไวรัสได้
ขอให้ทุกคนที่อ่านบทความนี้รอดจากซีซันนี้และซีซันต่อๆไปนะจ้ะ
อ้างอิง
  • 1.
  • 2.
    Nabi-Afjadi M, Karami H,et al. The effect of vitamin D, magnesium and zinc supplements on interferon signaling pathways and their relationship to control SARS-CoV-2 infection. Clin Mol Allergy. 2021 Nov 8;19(1):21. doi: 10.1186/s12948-021-00161-w. PMID: 34749737; PMCID: PMC8573303.
  • 3.
    Arreola R, Quintero-Fabián S, López-Roa RI, et al. Immunomodulation and anti-inflammatory effects of garlic compounds. J Immunol Res. 2015;2015:401630. doi:10.1155/2015/401630
  • 4.
    Lai YJ, Chang HS, et al. The role of micronutrient and immunomodulation effect in the vaccine era of COVID-19. J Chin Med Assoc. 2021 Sep 1;84(9):821-826. doi: 10.1097/JCMA.0000000000000587. PMID: 34282078.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา