6 เม.ย. 2022 เวลา 02:05 • ประวัติศาสตร์
เมื่อจีนยอมให้น้ำท่วมและเสียชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมากเพื่อ “ตรึงการรุกรานจากญี่ปุ่น”
ประเทศจีน เป็นประเทศที่ใหญ่และมีประวัติศาสตร์ยาวนาน
ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา จีนนั้นต้องยอมสละหลายๆ อย่าง ทั้งดินแดนและชีวิตผู้คน
หากแต่เหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงในหมู่นักประวัติศาสตร์ เป็นเหตุการณ์การยอมเสียสละครั้งใหญ่ของประเทศเพื่อปกป้องประเทศ หากแต่หลายคนก็มองว่านี่คือการเสียสละที่ถูกต้องหรือไม่
ในปีค.ศ.1938 (พ.ศ.2481) ในช่วง “สงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง (Second Sino-Japanese War)” จีนได้ตัดสินใจที่จะปล่อยให้ดินแดนหนึ่งของประเทศถูกน้ำท่วม เพื่อป้องกันไม่ให้กองทัพญี่ปุ่นบุกเข้ามาในดินแดนจีนได้ลึกมากขึ้น
หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วน นี่ก็ถือเป็นแผนการที่ดี หากแต่ราคาที่ต้องจ่าย ก็คือชีวิตผู้คนกว่า 800,000 คนที่เสียชีวิตจากเหตุน้ำท่วมนี้
ในบทความนี้ จะเป็นการเล่าเรื่องราวว่าทำไมจีนจึงตัดสินใจที่จะดำเนินแผนการนี้ มีความเป็นมาอย่างไร
ที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและญี่ปุ่นนั้นไม่ค่อยดีนัก ตั้งแต่ “สงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง (First Sino-Japanese War)” ซึ่งมีสาเหตุมาจากการแข่งกันขยายอำนาจเข้าไปในเกาหลีระหว่างจีนและญี่ปุ่น
สงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง เป็นสงครามที่ไม่ได้กินเวลานานนัก และทั้งจีนและญี่ปุ่น ต่างก็เป็นต้นเหตุของสงครามครั้งนี้ หากแต่ในสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง หลายคนมองว่าสาเหตุมาจากญี่ปุ่น
ในปีค.ศ.1931 (พ.ศ.2474) ญี่ปุ่นต้องการจะขยายอำนาจเข้าไปในจีน
ในเวลานั้น ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่รุ่งเรืองและก้าวหน้า ได้ประโยชน์จากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงที่ผ่านมา มีความก้าวหน้าในหลายๆ ด้าน
ส่วนทางด้านจีน ในเวลานั้นจีนกำลังเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจและประชาชนจำนวนมากก็มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่ดีนัก อดๆ อยากๆ
ญี่ปุ่นได้ยื่นข้อเสนอให้จีน โดยเสนอจะช่วยเหลือจีนทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจของจีนเติบโต แต่จีนต้องยอมให้ญี่ปุ่นขยายอำนาจเข้ามาในจีนเป็นการแลกเปลี่ยน
จีนซึ่งกำลังเผชิญกับวิกฤต ก็อยู่ในสถานะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก จึงต้องยอมรับข้อเสนอนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้
1
แต่ถึงแม้การช่วยเหลือจากญี่ปุ่นจะทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโต แต่ชาวจีนต่างก็ไม่พอใจ ไม่พอใจที่เห็นอำนาจของญี่ปุ่นในแผ่นดินจีน และการที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองดินแดนจำนวนมากในจีน
เมื่อเวลาผ่านไป ญี่ปุ่นก็เริ่มจะเรียกร้องดินแดนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนในปีค.ศ.1937 (พ.ศ.2480) ก็เกิดการลุกฮือของชาวจีนเพื่อต่อต้านการขยายอำนาจของญี่ปุ่น และทำให้เกิดสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง (Second Sino-Japanese War)
ถึงแม้ว่าจีนจะมีกำลังพลมาก แต่โลกกำลังเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ยุคที่ญี่ปุ่นมีอาวุธที่ทันสมัย มีวิธีการรบที่เหนือกว่า
ภายหลังจากปีค.ศ.1937 (พ.ศ.2480) จีนได้พยายามจะผลักให้ญี่ปุ่นออกไปจากแผ่นดินจีน ญี่ปุ่นก็ได้นำปืนและอาวุธจำนวนมากมาใช้กับจีน และตั้งแต่ปีค.ศ.1938 (พ.ศ.2481) ญี่ปุ่นก็ได้เปรียบ ทำให้กองทัพจีนถอยร่น และญี่ปุ่นก็ยึดครองพื้นที่ได้มากขึ้นเรื่อยๆ
ก่อนจะเล่าต่อไป ขอกล่าวถึงแม่น้ำฮวงโห ซึ่งก็มีความสำคัญต่อเหตุการณ์นี้
แม่น้ำฮวงโห เป็นแม่น้ำที่ไหลผ่านเจ็ดมณฑลในจีน และในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา แม่น้ำฮวงโหก็เคยได้ก่อน้ำท่วม ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมแล้วหลักล้านคนจนถึงศตวรรษที่ 19
แม่น้ำฮวงโห
เขื่อนจำนวนมากก็ถูกทำลายเนื่องจากกำลังน้ำในฤดูฝน และน้ำทั้งหมดก็ไหลลงมายังแม่น้ำฮวงโห
กองทัพจีนได้พยายามอย่างสุดความสามารถที่จะต้านกองทัพญี่ปุ่น หากแต่ก็ต้องพ่ายแพ้ทุกครั้ง ทำให้ผู้บัญชาการในกองทัพจีนต้องรีบคิดวิธีการที่จะต้านญี่ปุ่น
แผนการนั้น ก็คือการสร้างเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ปัจจุบันคือมณฑลเหอหนาน ซึ่งเป็นหนึ่งในมณฑลที่แม่น้ำฮวงโหไหลผ่าน และทำลายเขื่อนเพื่อทำให้เกิดน้ำท่วม ทำให้กองทัพญี่ปุ่นไม่สามารถเดินหน้าต่อ และถอยออกไปจากจีน
2
มิถุนายน ค.ศ.1938 (พ.ศ.2481) มีการทำลายเขื่อน ทำให้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในจีน น้ำท่วมเป็นวงกว้างกว่า 54,000 ตารางกิโลเมตร มีผู้เสียชีวิตกว่า 800,000 คน และประชาชนอีกกว่า 12.5 ล้านคนต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน
1
ถึงแม้ว่าตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิตคือ 800,000 คน แต่ในช่วงระหว่างค.ศ.1938-1947 (พ.ศ.2481-2490) ก็มีผู้เสียชีวิตอีกกว่า 6.2 ล้านคน
1
เรียกได้ว่าแผนการเพื่อต่อต้านญี่ปุ่นนี้ ต้องยอมสละชีวิตคนของตนเองเป็นจำนวนมาก และก็มาถึงคำถามสำคัญ
“แผนการนี้สามารถหยุดยั้งญี่ปุ่นได้หรือไม่?”
ญี่ปุ่นก็ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมนี้ หากแต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งญี่ปุ่นเหมือนที่จีนคาดหวัง
ภายในสิ้นปีค.ศ.1938 (พ.ศ.2481) ญี่ปุ่นได้รวบรวมกำลังพล เดินทัพอ้อมจุดที่น้ำท่วม และโจมตีจากทางใต้ด้วยการเข้ายึดอู่ฮั่น
จากอู่ฮั่น ญี่ปุ่นก็เดินทัพต่อมา เข้ามาถึงตอนกลางของจีน
เห็นได้ว่าแผนการของจีนอาจจะไม่ได้ผลดีมากนัก เพราะถึงแม้จะสามารถชะลอการรุกรานจากญี่ปุ่นได้ แต่ก็ทำได้เพียงยืดเวลาออกไปไม่กี่เดือน แต่ผลในระยะยาวนั้น จีนต้องเสียหายเป็นจำนวนมาก
กองทัพจีนเองก็เสียหายจากน้ำท่วมครั้งนี้ เสบียงกับอาวุธต่างๆ ก็ร่อยหลอลงเรื่อยๆ
ภายในปีค.ศ.1940 (พ.ศ.2483) ญี่ปุ่นสามารถทำให้กองทัพจีนต้องล่าถอยออกไปอีก 1,000 กิโลเมตร และการโจมตีของจีน ก็ล้มเหลวทุกครั้ง
จีนต้องอยู่ในสภาพนี้จนถึงปีค.ศ.1941 (พ.ศ.2484) เมื่อญี่ปุ่นเริ่มจะพ่ายแพ้ เนื่องจากประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและทำการโจมตีเพิร์ล ฮาร์เบอร์ (Pearl Harbor)
ตั้งแต่มีเรื่องกับอเมริกา ญี่ปุ่นก็ต้องแบ่งกำลังจากจีนไปทำการป้องกันแถบแปซิฟิก ทำให้กำลังของญี่ปุ่นในจีนเริ่มน้อยลง
แต่ถึงอย่างนั้น อำนาจของญี่ปุ่นในจีนก็ดำรงอยู่จนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปีค.ศ.1945 (พ.ศ.2488) เมื่อญี่ปุ่นถูกสหรัฐอเมริกาโจมตีด้วยระเบิดปรมาณู
นับตั้งแต่สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ได้ให้การสนับสนุนด้านอาวุธแก่กองทัพจีน ทำให้จีนเริ่มต้านทานญี่ปุ่นได้
ถึงแม้สุดท้าย จีนจะเป็นฝ่ายชนะ หากแต่ก็ต้องสูญเสียชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมาก และก็ต้องยอมรับตามตรงว่าหากสหรัฐอเมริกาไม่ได้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นก็อาจจะขยายอำนาจได้กว้างขึ้น และสถานการณ์ในจีนก็อาจจะแย่กว่าเดิม
1
บางทีก็น่าคิด ว่าการที่จีนยอมปล่อยให้น้ำท่วมและคนเสียชีวิตนับล้าน แลกกับการตรึงกำลังของญี่ปุ่นไว้ได้ชั่วคราว เป็นแผนการที่ถูกต้องหรือไม่
อันนี้ก็คงขึ้นกับมุมมองของแต่ละคน
โฆษณา