5 เม.ย. 2022 เวลา 09:00 • การศึกษา
“ศักยภาพดีแต่ไม่มีโอกาส” ปัญหาใหญ่ของแรงงาน (สตรี) ในอินเดีย
Source: https://thestandard.co/india-supreme-court-strikes-down-adultery-law/
“เกิดเป็นวัวยังดีกว่าเป็นผู้หญิงเสียอีก” เป็นประโยคที่มักได้ยินบ่อยๆในคนที่ศึกษาเรื่องราวสิทธิสตรีในสังคมอินเดีย ซึ่งประโยคดังกล่าวนี้ก็แสดงให้เห็นถึงทัศนคติที่มีต่อผู้หญิงอินเดียที่มักจะถูกจำกัดสิทธิในการดำเนินชีวิต
รวมถึงการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในตลาดแรงงานเป็นหนึ่งปัญหาที่สำคัญที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงอินเดีย ก็มักจะถูกซุกไว้ใต้พรมอยู่เสมอ
บทนำ
การมีส่วนร่วมของผู้หญิงในตลาดแรงงานเป็นประเด็นปัญหาสำคัญที่จำเป็นที่จะต้องถูกหยิบยกมาพูดคุยวิเคราะห์หาสาเหตุและผลกระทบจนนำไปสู่การหาแนวทางการแก้ไขปัญหานี้กันอย่างจริงจังในปัจจุบัน ซึ่งหนึ่งในสาเหตุของปัญหาคือการมีช่องว่างของค่าจ้างระหว่างเพศ ที่ซึ่งไม่ได้เกิดจากประสบการณ์การทำงาน,ระดับการศึกษาหรือผลการปฏิบัติงานที่มักใช้กำหนดค่าจ้างในตลาดแรงงานตามหลักเศรษฐศาสตร์แต่ช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศนั้นเกิดจากการแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติทางเพศในภาคอุตสาหกรรมสังคมและเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดช่องว่างค่าจ้างระหว่าง-เพศ
การที่ผู้หญิงจะมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานโดยได้รับความเท่าเทียมกับผู้ชายนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายผู้หญิงทั่วโลกเผชิญอุปสรรคหลายอย่างเพื่อที่จะให้เกิดการเท่าเทียมในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน ในบางประเทศก็ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายบ้างก็ด้วยทัศนคติของสังคมและวัฒนธรรม บางสังคมมองว่า งานนี้เหมาะกับผู้ชายมากกว่า ซึ่งมีความสามารถ การศึกษา ทักษะต่างๆ เหมาะแก่การทำงานหรือเป็นผู้นำมากกว่า ซึ่งข้อเท็จจริงเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นปกติในสังคมอินเดีย เพราะ สังคมอินเดียเป็น ‘สังคมปิตาธิปไตย’ หรือสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ มีอภิสิทธิ์เหนือสถานภาพทางเพศอื่นๆ ขณะที่ผู้หญิงแทบไม่มีบทบาททางสังคมเศรษฐกิจ และการเมืองเลย
คงไม่เกินจริงนักหากจะกล่าวว่า สังคมอินเดียเป็นสังคมที่ความเหลื่อมล้ำทางเพศมากที่สุดแห่งหนึ่งบนโลก สถานะผู้หญิงในสังคมถูกกดทับจนทำให้มีการกดดันให้แรงงานผู้หญิงมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานน้อยกว่าเมื่อเทียบกับผู้ชาย บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์ที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาของผู้หญิงในประเทศอินเดียในการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงาน รวมถึงการศึกษาบริบทของสังคมซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในตลาดแรงงาน
1.การมีส่วนรวมของแรงงานสตรีในประเทศอินเดีย
อินเดียเป็นที่น่าจับตามองในฐานะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในเวทีโลกเป็นประเทศที่มีความพร้อมและศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงมีความอุดมสมบูรณ์ทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมทั้งมีแรงงานทักษะและไร้ทักษะจำนวนมาก จนได้รับฉายาว่าเศรษฐกิจหลักที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกในปี 2017 แต่ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจของอินเดียจะเติบโตดี แต่การว่าจ้างผู้หญิงเข้าทำงานของอินเดียในปีเดียวกันนั้นมีนัยยะสำคัญแฝงอยู่คือเป็นปีที่อัตราการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงานหญิงของอินเดีย (FLFPR) ลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ได้รับอิสรภาพ
https://timesofindia.indiatimes.com/blogs/irrationaleconomics
โดยการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในกำลังแรงงานมีการการลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงเจ็ดทศวรรษที่ผ่านมา มี FLFPR สูงสุดที่ 33% ในปี 1972และลดลงต่อเนื่องจนถึงปี 1999-2000 แตะที่ 26% และในปี 2017 เหลือเพียงที่ 17.5% ซึ่งต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์อินเดีย และถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆนั้น FLFPR ของประเทศอินเดียก็ยังคงต่ำกว่าประเทศที่มีรายได้น้อยบางประเทศ
https://www.economist.com/asia/2021/02/18/hardly-any-
และนี่เป็นสถิติของ FLFPR ของอินเดียที่ต่ำกว่าประเทศที่มีรายได้ต่ำ เช่น แอฟริกาใต้ อินโดนีเซีย และประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตเร็วอย่างจีน และบราซิล ซึ่งสถิตินี้ค่อนข้างน่าสนใจเพราะมันย้อนแย้งกับการที่อินเดียเป็นประเทศมหาอำนาจที่พร้อมจะก้าวไปเป็นผู้นำของโลกแต่กลับมีการมีส่วนร่วมของแรงงานผู้หญิงในตลาดแรงงานที่ลดลงเรื่อยๆ
ผลการศึกษาของธนาคารโลกพบว่า ผู้หญิงอินเดีย วัยทำงานที่อายุระหว่าง 26-45 ปี อย่างน้อย 3 ใน 5 คน ไม่ได้ทำงานและเมื่อเทียบกับแรงงานผู้ชายอินเดียแล้วถือว่ามีความเลื่อมล้ำระหว่างเพศในการเข้าสู่ตลาดแรงงานสูงถึงเกือบ 50%
https://wol.iza.org/articles/female-labor-force-participation
ซึ่งพบว่าในอินเดียมีจำนวนผู้หญิงในตลาดแรงงานน้อยมาก ทั้งๆที่ในปัจจุบันคนที่มีการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในอินเดียส่วนใหญ่นั้นเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และมีแนวโน้มจะมากขึ้นไปเรื่อยๆในอนาคตดูได้จากกราฟดังนี้
https://timesofindia.indiatimes.com/home/education/news/18
ซานเดอร์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสกล่าวว่า นี่ถือเป็นภาวะสมองไหลอย่างหนึ่ง เพราะผู้หญิงที่ได้รับการศึกษาสูงกลับไม่ได้ทำงาน มีผู้หญิงที่เรียนจบประกาศนียบัตรและมหาวิทยาลัย เพียง 34%เท่านั้นที่ได้ทำงานทำให้ประเด็นของการที่ผู้หญิงไม่มีส่วนร่วมในตลาดแรงงานของอินเดียนั้นเป็นประเด็นปัญหาที่น่าสนใจในการค้นคว้าต่อไป
2.การมีส่วนรวมของแรงงานสตรีในประเทศญี่ปุ่น
ประชากรผู้หญิงในตลาดแรงงานของญี่ปุ่น จะออกจากงานช่วงอายุ 27-39 ปี ด้วยเหตุผลที่ต้องออกไปดูแลบุตร และกลับเข้าตลาดแรงงานอีกครั้งในช่วงอายุ 40-50 ปี และออกจากตลาดแรงงานไปหลังอายุ 65 ปี นั่นหมายความว่าผลิตภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างแรงงานหญิงในตลาดแรงงานช่วงอายุระหว่าง 29-39 ปี ซึ่งมีลักษณะเป็น M Shape โดยญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศพัฒนาแล้วที่ต้องการขับเคลื่อนนโยบายโดยการนำผู้หญิงเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาการเติบโตติดขัดของเศรษฐกิจและสังคมในการขาดแคลนแรงงาน
นโยบายดังกล่าวมีชื่อว่า Womenomics นโยบายนี้ประกอบด้วยหลากหลายมิติเพื่อผลักดันให้ผู้หญิงเข้าสู่ตลาดแรงงาน และปรับโครงสร้างภาษีที่สร้างแรงจูงใจสำหรับครอบครัวที่ทั้งสามีและภรรยาทำงาน ต้องยอมรับว่านโยบายนี้ ของรัฐบาลนับว่าผลักตัวเลขการมีส่วนร่วมของผู้หญิงได้ค่อนข้างน่าประทับใจ โดยนับตั้งแต่มีนโยบายดังกล่าว สัดส่วนผู้หญิงที่เข้ามาสู่ตลาดแรงงานในญี่ปุ่นก็เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละหนึ่งต่อปี โดยปัจจุบันมีสัดส่วนมากกว่าประเทศใน OECD รวมถึงสหรัฐอเมริกา
https://themomentum.co/womenomics-japan/
สัดส่วนผู้หญิงที่ทำงานระหว่าง 1982-2017 จะเห็นว่าสัดส่วนผู้หญิงในตลาดแรงงานของญี่ปุ่นนั้นเพิ่มขึ้นแซงหน้าสหรัฐอเมริกาเมื่อ 2016 นับว่าแรงงานผู้หญิงมีบทบาทที่สำคัญอย่างมากต่อผลิตภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งระดับครัวเรือน องค์กรและประเทศของประเทศญี่ปุ่น
3.สาเหตุของปัญหาแรงงานสตรีในประเทศอินเดีย ที่นำไปสู่ภาวะสมองไหลในสังคมอินเดีย
เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในตลาดแรงงานของอินเดียและญี่ปุ่นนั้นพบข้อเท็จจริงที่ว่า แรงงานผู้หญิงในญี่ปุ่นและอินเดียจะมีการออกจากงานในช่วงที่ต้องไปดูแลบุตรแล้วจะมีรายได้ฝั่งเดียวจากฝ่ายชายแต่ที่แตกต่างออกไปนั้น แรงงานผู้หญิงในญี่ปุ่นจะกลับเข้าตลาดแรงงานอีกครั้งในช่วงอายุ 40-50 ปี และได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากภาครัฐ ถึงขั้นมีนโยบายเฉพาะที่เรียกว่าWomenomics ที่ผลักดันให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานมากขึ้นแต่แรงงานผู้หญิงในอินเดียนั้นจะไม่ได้กลับเข้ามาทำงานอีกต่อไปเพราะในสังคมอินเดียยังคงมองว่าผู้หญิงยังคงด้อยประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมที่ผู้ชายเคยยึดครองมาก่อน
งานที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดจะมีกำลังแรงงานหญิงอยู่ส่วนน้อยและก็มักถูกตีค่าต่ำกว่าผู้ชายจึงทำให้ได้ค่าจ้างต่ำ มาจากความคิดที่ว่างานที่ทำโดยผู้หญิงนั้นเป็นงานไม่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม สาเหตุของปัญหาแรงงานสตรีนี้ไม่ได้เป็นเหตุผลทางลบทั้งหมด เนื่องจากว่าเศรษฐกิจอินเดียเติบโตอย่างรวดเร็ว สร้างรายได้แก่ครอบครัวให้เพิ่มขึ้น และผลักดันให้หลายล้านครัวเรือนขยับสถานะขึ้นไปเป็นชนชั้นกลางกับชนชั้นกลางระดับสูง รายได้ที่เพิ่มขึ้นในครัวเรือนช่วยให้ผู้หญิงจำนวนมากมีทางเลือกที่จะไม่ทำงานส่วนในชนชั้นที่มีรายได้น้อยกว่านั้น คือ แรงงานในภาคการเกษตรและภาคการก่อสร้างมีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ครอบครัวยากจนจำนวนมากในเขตชนบทส่งลูกสาวไปเรียนหนังสือ มีผลให้จำนวนเด็กหญิงและหญิงสาวอินเดียอายุ 15-25 ปีไปโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นเท่าตัวจึงทำให้การมีส่วนร่วมของผู้หญิงในตลาดแรงงานนั้นค่อนข้างต่ำในช่วงแรก
ซานเดอร์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส กล่าวว่า หญิงสาวส่วนมากในกลุ่มนี้เคยทำงานมาก่อนเพราะความจำเป็นทางการเงินแต่ขณะนี้ได้กลับไปเรียนหนังสือต่อเพื่อเพิ่มคุณสมบัติด้านการศึกษาแก่ตนเอง แต่อย่างไรก็ตามหากสอบถามผู้หญิงอินเดียจะพบว่าหลายคนอยากทำงานแต่ไม่มีตำแหน่งงานให้เลือก ผู้หญิงทุกคนไม่ได้เลือกที่จะอยู่บ้านแทนที่จะไปทำงาน แต่มีเหตุผลมาจากการขาดแคลนตำแหน่งงานที่เหมาะสมต่างหาก ในประเทศที่มีเขตเมืองใหญ่ที่กำลังเติบโต ผู้หญิงอินเดียพบว่ายากมากที่จะทำงานหลังมีครอบครัว เพราะอินเดียมีโครงสร้างการทำงานที่ขาดความยืดหยุ่น บริษัทไม่ให้ความสำคัญกับความจำเป็นที่ต้องมีความยืดหยุ่นในทำงาน เช่น การลาคลอดลูก การเจ็บป่วยเพราะมีประจำเดือน ในขณะที่ผู้หญิงต้องไปทำงานผู้ชายยังไม่ยอมช่วยงานบ้าน ทำให้ผู้หญิงยังต้องแบกรับภาระงานบ้านเองต่อไปหลังเลิกงาน และยังมีเรื่องของ การจำกัดอาชีพการทำงานในแรงงานผู้หญิง
การวิเคราะห์ข้อมูล NSSO (1970 – 2018) แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ทำงานที่ใช้แรงงานมาก ทำงานที่บ้าน และทำงานนอกระบบ โดยกระจุกตัวอยู่ในภาคการผลิตต่ำ สัดส่วนของสตรีในชนบทที่ทำงานด้านเกษตรกรรมมีค่อนข้างสูงแสดงให้เห็นถึงการจำกัดอาชีพของกำลังแรงงานหญิง
4.นำเสนอแนวทางเชิงนโยบายในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานของผู้หญิงอินเดีย
การที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการไม่มีส่วนร่วมของแรงงานสตรีในตลาดแรงงานในประเทศอินเดียที่ทำให้ผู้หญิงอินเดียไม่ได้มีการใช้ศักยภาพที่แท้จริงของตนเองที่มีอยู่ออกมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จะเริ่มจากการผลักดันให้มีนโยบายส่งเสริมการมีส่วนร่วมของแรงงานผู้หญิงในตลาดแรงงานให้มากยิ่งขึ้นในประเทศอินเดีย โดยจะดำเนินการปรับเปลี่ยนกฎหมายที่ให้คำนึงถึงสิทธิในตัวผู้หญิงเพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างนโยบายการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในตลาดแรงงานที่จะนำเสนอ
1.ให้ความสำคัญกับปัญหาการเลือกปฏิบัติทางเพศและการจำกัดผู้หญิงในการเข้าถึงตลาดแรงงานและงานที่มีคุณภาพ โดยจะมีมาตรการขจัดอุปสรรคในการเข้าถึงการจ้างงานของผู้หญิง เช่น นโยบายสร้างความสมดุลระหว่างงานกับชีวิตครอบครัวของชายและหญิง การสร้างโอกาสเข้ารับการฝึกอบรมและพัฒนาอาชีพที่เท่าเทียมกันระหว่างชายหญิง การปรับปรุงสวัสดิการวันลาเลี้ยงดูบุตรพร้อมจ่ายค่าจ้าง การจัดให้มีสวัสดิการดูแลเด็ก
2. ต้องมีมาตรการสร้างความเท่าเทียมทางเพศที่เฉพาะเจาะจง คือควรมีข้อเรียกร้องเฉพาะเพื่อปิดช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศ รวมถึงให้มีความโปร่งใสในการขึ้นค่าจ้างและเงินเดือน ให้มีการขึ้นค่าจ้างในภาคการผลิต/อาชีพที่มีกำลังแรงงานหญิงครอบครอง หลีกเลี่ยงอคติทางเพศ และเรียกร้องให้มีการประเมินค่าตอบแทนในการประกอบอาชีพของผู้หญิงอย่างสมเหตุสมผล
3.เสริมสร้างพลังของผู้หญิง โดยมีการจัดให้มีตัวแทนหญิงในโครงสร้างบริหารขององค์กรและในการเจรจาต่อรองร่วมกับนายจ้างเพื่อให้ได้ข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับสิทธิผู้หญิง การให้ผู้หญิงเป็นตัวแทนในสหภาพแรงงานและในทีมเจรจาข้อเรียกร้องจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการต่อรองให้ได้มาซึ่งสิทธิประโยชน์ของแรงงานหญิงนั่นเอง
สรุปแล้วการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงาน ของผู้หญิงในประเทศอินเดียนั้นยังคงเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขเพื่อที่จะให้ไม่นำมาซึ่งการเกิดสภาวะสมองไหลในประเทศซึ่งสาเหตุก็มีทั้งด้านบวกที่เกิดจากการที่ประเทศพัฒนาอย่างรวดเร็วทำให้มีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น ครอบครัวจึงส่งลูกสาวไปเรียนหนังสือแทนการเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งสาเหตุนี้จะส่งผลกระทบในทางที่ดีในระยะยาวให้กับประเทศแต่ก็มีสาเหตุด้านลบที่เกิดจากการขาดแคลนตำแหน่งงานที่เหมาะสม,การจำกัดงานที่ผู้หญิงควรทำ,การมีช่องว่างของค่าจ้างระหว่างเพศที่ซึ่งไม่ได้เกิดจากปัจจัยด้านประสบการณ์การทำงานซึ่งเป็นสาเหตุที่กีดกันศักยภาพของแรงงานผู้หญิงในประเทศอินเดียไม่ให้เข้าสู่ตลาดแรงงานได้ โดยการที่ให้ผู้หญิงอินเดียได้มีส่วนร่วมในตลาดแรงงานอย่างเท่าเทียมกับผู้ชายและมีการให้ผู้หญิงได้แสดงศักยภาพที่มีนั้นถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เกิดการพัฒนาต่อไป
เรื่อง : ญาณิศา ผัดดี
งานประจำรายวิชาเศรษฐกิจรายประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
#เพื่อการศึกษา #womenomic #women's right
References
ทักษิณา ข่ายแก้ว.,(2560). “ศักยภาพดีแต่ไม่มีโอกาส” ปัญหาใหญ่ของหญิงทำงานในอินเดีย. https://www.voathai.com/a/india-women-workplace-tk/3990773.html
พัชณีย์ คำหนัก.,(2562). บทบาทของสหภาพแรงงานในการแก้ปัญหาช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศhttps://www.tcijthai.com/news/2019/5/labour/9046
รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์.,(2562). Womenomics เคลื่อนเศรษฐกิจญี่ปุ่นด้วยผู้หญิง.https://themomentum.co/womenomics-japan/
ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก.,(2561). แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย. https://www.the101.world/woman-rights-in-india/
สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล.,(2562). พลังผู้หญิงเปลี่ยนโลก. https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/646866
APO society.,(2559). การมีส่วนร่วมของแรงงานสตรีที่ส่งผลต่อผลิตภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจ. https://www.ftpi.or.th/2016/10431
โฆษณา