5 เม.ย. 2022 เวลา 09:26 • อาหาร
ส่องประวัติศาสตร์ "โพทง" มากกว่าไฟน์ไดนิ่งคือสำเพ็ง และห้างขายยาอายุ 120 ปี
“โพทง” Restaurant.Potong ชื่อนี้สำหรับนักกินคือ ร้านอาหารไฟน์ไดน์นิงที่เสิร์ฟอาหารในคอนเซ็ปต์ Progressive Thai-Chinese Cusine โดยเชฟรุ่นใหม่ “เชฟแพม-พิชญา อุทารธรรม” แต่สำหรับชาวไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ในย่านสำเพ็ง เยาวราช มานมนานชื่อโพทงเป็นที่รู้จักดีในฐานะ “ห้างขายยาโพทง” ที่เปิดทำการอยู่ในอาคารปูนเก่าแก่อายุกว่า 120 ปี ใจกลางความแออัดของหนึ่งในย่านการค้าที่คึกคักที่สุดแห่งยุคอย่างซอยวานิช 1 เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ
ต่อเมื่อโพทงเดินทางมาสู่ทายาทรุ่นที่ 5 “ห้างขายยาโพทง เจ้าของยาปอคุนเอี๊ยะบ๊อ” ก็เปลี่ยนบทบาทสู่ร้านอาหารที่เชฟแพมใส่ความตั้งใจลงไปว่า “เราอยากเป็นตัวแทนของลูกหลานคนไทย-จีน นำวัตถุดิบที่ห่างหายไปนานหรือคนไม่ค่อยรู้จักมาเสิร์ฟบนโต๊ะอาหาร สามารถกินได้ง่ายและเป็นอะไรที่ว้าวด้วย”
ห้างขายยาโพทง มาจากภาษาจีนคำว่า ผู่ท้ง แปลว่า เรียบง่าย ธรรมดา ๆ โดยเป็นชื่อที่เชฟแพมสืบทราบมาจากคุณปู่ว่าสื่อถึง “ครอบครัวใหญ่และมีความสุขแบบธรรมดา” ซึ่งเหล่านี้คือตัวอย่างของรายละเอียดเล็ก ๆ ในอีกจำนวนมากที่แฝงอยู่ภายในตัวอาคารเก่าแก่แต่ยังคงมีโครงสร้างแข็งแรงเป็นรากฐาน ซึ่งหล่อหลอมและล้วนเป็นสารตั้งต้นของเรื่องราวที่เชฟแพมเลือกเก็บรักษาและต่อยอดสู่ร้านอาหารเพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์ของพื้นที่ในแบบของตนเอง
ตึกเก่าอายุกว่า 120 ปีอดีตห้างขายยาโพทง ที่เคยเป็นทั้งห้างขายยา คลังสินค้า ห้องผลิตยา สวน และที่อยู่อาศัย ส่วนการปรับโฉมใหม่สู่ห้องอาหารโพทงยังคงสร้างความกลมกลืนกับชุมชนซอยวานิช 1 และประวัติศาสตร์ไทย-จีนย่านสำเพ็ง โดยในซอยเล็กๆ แห่งนี้ยังคงมีร้านรวงเก่าแก่และผู้คนดั้งเดิมในชุมชนที่เปิดร้านทำมาค้าขายอยู่ คีย์หลักของการรีโนเวตโพทงจึงต้องมีความกลมกลืนกับชุมชน
ประวัติศาสตร์ชุมชนไทย-จีน มีให้ได้รับฟัง รับชมมากมายในร้าน เช่น การเก็บรักษาเครื่องกระเบื้องลวดลายจีนซึ่งเป็นของตกทอดในครอบครัวไว้ และจัดวางตามมุมต่างๆ ของร้าน รวมทั้งมีโอ่งใบเล็กสีน้ำเงินที่ใช้ครามธรรมชาติเป็นตัวให้สี
ชั้น 2 ของร้านได้เปลี่ยนจากพื้นที่ผลิตยาสู่ห้องอาหาร ซึ่งในปัจจุบันยาสตรีปอคุนเอี๊ยะบ๊อยังคงผลิตอยู่เพียงแต่ย้ายฐานไปยังอำเภอเทพารักษ์ จังหวัดสมุทรปราการ ส่วนชั้น 3 เป็นพื้นที่ครัวและห้องอาหารที่ยังคงเห็นร่องรอยในอดีตที่สำคัญอย่างแท่นบูชาประจำบ้านทำจากไม้
เสน่ห์ของโพทงคือการเก็บโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมเดิมไว้ เช่น เพดาน พื้น ผนัง และหากเดินเข้ามาในร้านมองขึ้นไปบนเพดานจะเจอช่องที่ถูกเจอไว้เชื่อมสู่ชั้น 2 ซึ่งช่องนี้นอกจากจะเปิดสอดส่องดูความเคลื่อนไหวชั้นล่างได้แล้วก็ยังสามารถชักรอกส่งของขึ้นไปชั้นบนได้ด้วย
ในตัวบ้านยังมีตัวอักษรจีนเก่าแก่ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ดั้งเดิมของครอบครัว เช่น พื้นที่ของชั้น 5 ซึ่งเชฟแพมยังเก็บเสน่ห์ของโครงสร้างอาคารไว้อย่างแจ่มชัด ไม่ลบร่องรอยของโลโก้อันโดดเด่นด้านบนอาคาร ทั้งยังเก็บตัวอักษรจีนที่สื่อถึง “เกาะจินเหมิน” ต้นทางของคตระกูล และสำหรับชั้น 5 บริเวณด้านหน้ายังเคยเป็นที่เลี้ยงนก และด้านหลังเคยเป็นที่ปลูกผักสวนครัว ซึ่งปัจจุบันเชฟแพมกำลังฟื้นส่วนผักสวนครัวกลับมาเป็นเช่นเดิม
ลายกระเบื้องแบบเดิมของบ้านยังคงได้รับการรักษาไว้ รวมทั้งบันไดไม้แบบเดิม ซึ่งค่อนข้างแคบและชัน แต่สำหรับใครที่ไม่สะดวกทางร้านก็ต่อเติมในส่วนของลิฟท์กลางบ้านที่แนบเนียนไปกับอาคารเก่า
เฟอร์นิเจอร์บิวด์อินในร้าน โดยเฉพาะโต๊ะบิวด์อินติดผนังฉายภาพให้เห็นถึงห้องทำงานเก่าของบรรพบุรุษ สำหรับผนังของห้องนี้ทาสีใหม่ด้วยภาพเสือดาว 8 ตัวตามเลขมงคลของจีน ทั้งยังสะท้อนถึงโลโก้ห้างขายยาโพทงซึ่งมีโลโก้เป็นเสือ 2 ตัวเหยียบโลก สื่อไปถึงปีเกิดของ 2 บรรพบุรุษผู้ก่อตั้ง
แม้อาคารแห่งนี้จะมีอายุเก่าแก่กว่า 120 ปี แต่ตัวโครงสร้างของอาคารยังคงความสมบูรณ์ และยังมีลายปูนปั้นตามประตูหน้าต่างที่ชัดเจน
“Progressive Thai-Chinese เป็นอาหารไทยจีนประยุกต์ เราเอาวัตถุดิบดั้งเดิมในละแวกนี้มาใช้และนำมาดัดแปลงให้ทันสมัยมากขึ้น... การมากินที่นี่เหมือนดูหนังเรื่องหนึ่งว่าทำไมเราถึงใช้วัตถุดิบนี้ ทำไมเราถึงทำรสชาติแบบนี้”
.
หลังจากใช้เวลาในการซ่อมบำรุงนานกว่า 2 ปี โพทงก็เปิดทำการ ที่นี่ไม่ได้เสิร์ฟเพียงประวัติศาสตร์ความอร่อย แต่ยังเสิร์ฟประวัติศาสตร์บางช่วงบางตอนของกรุงเทพฯ ด้วย
อ่านฉบับเต็ม โพทง : ไฟน์ไดน์นิงที่เสิร์ฟประวัติศาสตร์สำเพ็ง เยาวราช และห้างขายยาอายุกว่า 120 ปี 🔽
โฆษณา