Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Southstar
•
ติดตาม
5 เม.ย. 2022 เวลา 12:51 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
“การโกหก” เป็นความ ผิด-บาป หรือแค่ สัญชาตญาณ
(Humans lie are sin-demerit or just instinct)
วันที่ 1 เมษายน ของทุกๆปีได้กำหนดไว้ให้เป็น April Fool’s Day คือวันที่ เราสามารถโกหกและอำกันได้โดยไม่ผิดแต่เพื่อความสนุกสนานเท่านั้น ถือเป็นวัฒนธรรมร่วมของคนทั่วโลก เราสามารถโกหกและอำกันได้โดยไม่โดนตำหนิ และผู้ถูกโกหกก็จะต้องไม่โกรธด้วย มีกันมาตั้งแต่ยุคโรมัน เลยทีเดียว
ภาพจาก : matichonweekly.com
โดยส่วนตัวผมอยากตั้งข้อสังเกต และชวนคิดกันในเรื่องราวของการ “โกหก” ในหลายๆมิติมากกว่าจะมองเป็นเพียงเรื่องที่ ผิด หรือเป็นบาป ผู้ใดโกหกกลายเป็นคนบาปและมักถูกรังเกียจ ตำหนิ โดนตัดขาดจากความไว้วางใจ ต่างๆนานา
“มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมทิยามิ” คือ ศีลข้อ4 หนึ่งในศีลห้าข้อสำหรับฆราวาส(คนที่ไม่ใช่ภิกษุสงฆ์)ที่ว่าด้วยการการลดละหรือมีสติในด้านคำพูดไม่ว่าการโกหก พูดหยาบ หรือส่อเสียด
1
ศีลห้าข้อนั้นแนะนำไว้สำหรับเป็นข้อพึงปฎิบัติในการดำรงชีวิตเพื่อให้ห่างไกลจากความทุกข์ เป็นข้อแนะนำจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศาสดาแห่งศาสนาพุทธ เมื่อกว่าสองพันกว่าปีมาแล้ว แต่ศีลข้อที่4 ดังกล่าวมักจะโดนตัดถอนข้อความและความหมายให้เน้นหนักเฉพาะเรื่องการโกหกเป็นหลัก
จากข้อแนะนำของพระศาสดาในการปฎิบัติตัว ได้พัฒนามาอย่างมหัศจรรย์พันลึก ถึงขั้นให้เห็นภาพว่าผู้ที่พูดโกหกนั้นยามตายไปจะต้องเจอการลงทัณฑ์จากขุมนรกทรมานยาวนานแค่ไหนและโดนทรมานอย่างไร ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง นรกนั้นต้องเตรียมพื้นที่ไว้ให้พอสำหรับคน7-8พันล้านคนเลยทีเดียวและจะเพิ่มขึ้นในทุกๆปีตลอดเวลา เพราะทุกคนในโลกนี้ เกิดมามีใครบ้างที่ ไม่เคยโกหก!!!
ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ทำไมเราทุกคนถึงโกหกเป็น ทั้งที่ตั้งแต่เกิดมาบนโลกใบนี้คงไม่มีพ่อแม่คนไหนสอนให้ลูกๆโกหก หรือเมื่อเข้าโรงเรียน จะมีสถานศึกษาแบบไหนกันที่จะสอนการโกหกให้กับลูกศิษย์
แต่ทำไมเราทุกคนถึงโกหกกันเป็น ถ้าแบบนั่นจะเป็นไปได้หรือไม่ที่การโกหกนั้น คือธรรมชาติแห่งสัญชาตญานของมนุษย์ ดั่งเช่นเดียวกับการ กระพริบตา การหายใจ การส่งเสียง การขับถ่าย หรือการกิน ที่สามารถเกิดขึ้นได้เองตั้งแต่เกิดโดยไม่ต้องรับการสั่งและสอนเลย
BBC Science Focus ได้เสนอข้อมูลจากงานวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2016 ของ ศาสตราจารย์ Timothy Levine ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสาร พบว่าการ “โกหกเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการเด็กตามปกติซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่อายุยังน้อย”
และได้ตรวจสอบสาเหตุของการโกหก พบอีกว่าการโกหกส่วนใหญ่เกิดขึ้นด้วยเหตุผลที่เห็นแก่ตัว เช่น การปกปิดการล่วงละเมิดส่วนบุคคล หรือการหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ที่น่าสนใจคือพบว่า การโกหกยังเป็นไปเพื่อการปกป้องความรู้สึกของผู้อื่น และเพื่อรักษามารยาททางสังคม โดยรวมแล้วอาจจะกล่าวได้ว่า การโกหกนั่นเกิดขึ้นและพัฒนาไปตามสัญชาตญานตามธรรมชาติของมนุษย์
ยุคนี้อาจจะเป็นช่วงเวลาที่มีการโกหกกันมากที่สุดของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เมื่อมีการเกิดขึ้นของระบบเครือข่ายอินเตอร์เนต ตามมาด้วยการ ปรากฎขึ้นของ “โลกเสมือน”
ผมเคยเขียนถึงที่มาที่ไปของโลกเสมือน ชื่อ “ประวัติย่นย่อของโลกเสมือน” ทำให้การติดต่อสื่อสารระหว่างกันกว้างขวางและทั่วถึงมากขึ้น และเมื่อการโกหกเป็นสัญชาตญานพื้นฐานของเรา มันจึงย่อมกระจายตัวไปพร้อมๆกับการเติบโตของระบบดังกล่าว ซึ่งโลกเสมือนจะมีบทบาทกับชีวิตเรามากขึ้นเรื่อยๆในระบบโลกใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น
ผมชอบคำพูดของ ทนาย ฮงชายอง จากซีรีย์ Vincenzo (ทนายมาเฟีย) ตอนหนึ่งประโยคที่ว่า “ในโลกของอินเตอร์เนต ฉันเชื่อข้อมูลอยู่แค่ สองอย่างด้วยกัน 1) คือ วันที่ และ 2) คือ เวลา” ประโยคดังกล่าวจิกกัดต่อ ความโกหก และคำหลอกลวง ในโลกเสมือนได้อย่างแสบๆคันๆและ เห็นภาพชัดเจนถึงการมีอยู่อย่างมากมายของการโกหกในโลกยุคใหม่นี้ และจะยิ่งทวีความรุนแรงและเข้มข้นแนบเนียนขึ้นเรื่อยๆ
ในหนังสือโฮโมเซเปียน (Sapiens : A Brief History of Humankind) ของ Yuval Noah Harari ได้เสนอแนวคิดที่น่าสนใจมาก ว่าการพัฒนาและการเอาตัวรอดมาได้ของอารยธรรมมนุษยชาตินั้นเป็นผลจาก การนินทา!! ถ้าเป็นอย่างที่ว่าจริงในการสื่อสารและนินทาแต่ละครั้งย่อมต้องมีคำโกหกหลอกลวงผสมปนเปร่วมอยู่ด้วยไม่มากก็น้อยเพื่อหวังผลต่อจุดประสงค์บางอย่างทั้งในระดับปัจเจกชน และระดับสังคมแน่นอน
เพราะฉะนั่นในยุคที่การโกหกแพร่กระจายอย่างกว้างขวางเหมือนทุกวันนี้ อาจยิ่งเป็นตัวเร่งให้อารยธรรมมนุษย์พัฒนาอย่างก้าวกระโดดได้หรือไม่? เหล่านี้จึงน่าจะนำไปตั้งข้อสังเกตุและขบคิดกันต่อ แล้วมันสมควรหรือไม่ที่เราจะตีกรอบ “การโกหก” เป็นแค่ความผิด-บาป จนต้องด่าทอ และสาปแช่งและตอกย้ำต่อกันจนขาดไปซึ่งความไว้วางใจต่อกันในที่สุด ในเมื่อมันอาจจะเป็นเพียงสัญชาตญานในการเอาตัวรอดที่ทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
วกกลับมาพิจารณาถึง ศีล 5 ข้อในพุทธศาสนา ถ้าหากเราตั้งข้อสังเกตดูแล้วจะเห็นภาพลางๆ ว่าทั้ง 5 ข้อนั้น พระพุทธเจ้าให้คำแนะนำ โดยยึดโยงมาจากสัญชาตญานของมนุษย์ใช่หรือไม่?
ข้อ 1) ว่าด้วยการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต อย่างที่รู้ๆกันการฆ่านั้นอยู่ควบคู่กับมนุษย์มาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์
ข้อ 2) การลักทรัพย์ ก็คือสัญชาตญานอย่างหนึ่งที่เราสามารถพัฒนาเองโดยที่ไม่ต้องมีใครสอน
ข้อ3) เกี่ยวกับการผิดประเวณี ข้อนี้ก็ชัดเจนว่าการสืบพันธุ์นั้นเป็นสัญชาตญานธรรมชาติของคน
ข้อ 4) การพูดโกหก คำหยาบ ส่อเสียด และ
ข้อ 5) การดื่มของมึนเมา ก็คือสัญชาตญานการกินดื่มของคนนั่นเอง
เมื่อพิจารณาให้ลึกลงไปในรายละเอียด จะเห็นว่าแต่ละข้อนั่นมีข้อละเว้นให้อยู่ เช่น ถ้าฆ่าสัตว์เพื่อบริโภคก็ไม่บาป , เราสามารถสืบพันธ์ได้ แต่ไม่ควรผิดลูกเมียผู้อื่น หรือ สามารถดื่มสุราหรือน้ำเมาได้เพื่อเป็นยา แต่ไม่ควรเกิน หนึ่งข้อนิ้วมือ เป็นต้น
อาจเป็นเพราะองค์พระศาสดา เข้าใจถึงธรรมชาติ ว่าเหล่านี้เป็นดั่งสัญชาตญานธรรมชาติ ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยง ทำได้แค่ควบคุม และวางกรอบขอบเขต เพื่อจะได้ให้ความทุกข์ห่างไกลจากเราเพิ่มขึ้นอีกสักหน่อย
เมื่อลองไปพิจารณาอีกศาสนาที่ถือได้ว่ามีผู้นับถือมากที่สุดในโลกอย่าง คริสต์ศาสนา จะเห็นว่ามีขั้นตอนในการผ่อนปรนต่อการกระทำผิดอย่างการสารภาพบาปต่อบาทหลวง หรือแม้แต่วันกิจกรรมอย่าง April Fool’s Day ที่จุดเริ่มต้นมาจากชาวตะวันตกที่ส่วนใหญ่เป็นคริสเตียน ก็เปรียบเหมือนวันปล่อยผี ที่ให้เราระบายสัญชาตญาณดิบ ในด้านการใช้คำพูดโกหกหลอกลวงอย่างเต็มที่โดยไม่มีความผิดหากไม่ทำให้เกิดความเดือดร้อนหรือสูญเสีย
เหล่านี้จะเห็นได้ว่า ศาสนาดังที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นนั่นเข้าใจถึงอย่างลึกซึ้งว่า การโกหกนั่นเป็นสัญชาตญานตามธรรมชาติของมนุษย์ ที่ไม่สามารถห้ามปรามให้เลิกกระทำอย่างเด็ดขาดได้ ทำได้เพียงแนะนำ และวางแนวทางในการจะอยู่ร่วมกับสัญชาตญานนี้อย่างเป็นสุขได้อย่างไร
แน่นอนที่ว่า การโกหกย่อมไม่ใช่สิ่งดี
แต่ การโกหกดีๆ ย่อมมีอยู่อย่างแน่นอน ในสิ่งที่น่ากังวลนั่นคือ เมื่อเรายังไม่เข้าใจว่าการโกหกนั้นเป็นสัญชาตญานของมนุษย์ทุกคนที่มีมาแต่กำเนิด แต่กลับตีความว่าการโกหกนั้นเป็น ความผิด-บาปมหันต์และเกิดขึ้นจากนิสัยแย่ๆของผู้โกหก จนถึงขั้นพิพากษาด้วยความรู้สึกในทันทีต่อบุคคลคนนั่น ด้วยความไม่เข้าใจถึงเหตุผลของการโกหกครั้งนั่นอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นภายในครอบครัว เพื่อนฝูง คู่รัก หรือคนที่ทำงาน
เมื่อการโกหกนั่นเป็นดั่งสัญชาตญาน มันมักย่อมมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลง เมื่อโดนจับได้ว่าโกหกแม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยที่ไม่ได้ส่งผลเสีย กลับโดนตำหนิ หรือลงโทษอย่างรุนแรงซ้ำๆ จนซึมลึกลงไปในจิตใจ ธรรมชาติย่อมวิวัฒนาการให้เกิดการเอาตัวรอด นั่นคือระบบความคิดที่จะจัดหาวิธีโกหกอย่างไรให้แนบเนียนขึ้น บ่อยขึ้น และโกหกในเรื่องที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
สิ่งที่ผมอยากชวนคิดคือ ถ้าเรารู้ว่าใครสักคนที่อยู่รอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็น คนในครอบครัว ญาติ เพื่อนฝูง คนรัก หรือคนที่ทำงาน กำลังโกหก เราควรจะพิพากษาเขาทันทีหรือไม่และบอกต่อคนอื่นให้รู้ว่าคนนี้คนนั่นเป็นคนโกหก
ต่อให้เขาจะโกหกต่อสิ่งนั่นมาซ้ำๆ ก่อนที่จะพิพากษาเขา เราควรดูเหตุและผล พร้อมตั้งสติว่าสิ่งที่เขาโกหกนั่นเพื่อจุดประสงค์ใด และส่งผลกระทบต่อใครร้ายแรงแค่ไหน ถ้ามันไม่ได้ร้ายแรงเสียหาย เราควรพูดแค่ครึ่งคำ หลับตาข้างเดียวกันบ้าง จะดีกว่าไหม? เมื่อมันก็คือแค่สัญชาตญานตามธรรมชาติของมนุษย์ทุกๆคนบนโลกใบนี้ ถ้าทำได้ความขุ่นข้องหมองมัวระหว่างกันในสังคมนี้จะจางเบาไปได้ขนาดไหนเชียวนะ?
สมัยเด็กๆผมเคยแหงนหน้ามองฟ้าในยามค่ำคืนของคืนเดือนมืด เห็นดวงดาวมากมายและเข้าใจว่ามันคือดวงดาวทั้งหมดที่จักรวาลมีอยู่
พอโตขึ้นก็รู้ว่าดวงดาวที่เราเห็นนั่นเป็นแค่ส่วนหนึ่งยังมีดวงดาวอีกนับไม่ถ้วนที่ไม่ได้ส่องแสงออกมาให้เราเห็น ผมเคยคิดว่าแม้แต่ธรรมชาติก็ยังโกหกเราแอบซ่อนบางสิ่งเอาไว้เสมอ
แต่พอมาคิดอีกที ธรรมชาตินั่นไม่ผิดเลย แต่เป็นเราเองที่ยังเรียนรู้และค้นหาความจริงไม่เพียงพอ หลังจากนั่นเมื่อใดที่ผมโดนโกหก นั่นคือเวลาที่ผมจะได้เรียนรู้ว่าสิ่งใดที่เรายังขาดและต้องเรียนรู้เพิ่ม ให้เท่าทันกับสถานการณ์ เพื่อจะตัดสินใจว่าจะวางเฉยหรือจัดการอย่างเหมาะสมได้อย่างไร
วันที่ 1 เมษายน ก็อาจยังคงจะเป็นวัน April Fool’s Day ไปอีกนานหลายปี แต่มันจะมีความสำคัญอะไรเมื่อในยุคนี้ ยุคแห่ง “โลกเมือน” ยุคที่การโกหกเฟื่องฟูที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ หรือทุกวันนี้มันเป็นวัน All Day Fool’s Time ไปแล้วกันแน่??? / JPW
สังคม
วิถีชีวิตใหม่
ความเป็นมนุษย์
2 บันทึก
4
8
2
4
8
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย