5 เม.ย. 2022 เวลา 13:06 • สิ่งแวดล้อม
คุณกัญจนา ศิลปอาชา เร่งปลูกหญ้าทะเลคืนธรรมชาติ หวั่นพะยูนตาย-ย้ายถิ่น
เมื่อวันจันทร์ที่ 4 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ทางด้าน น.ส. กัญจนา ศิลปะอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา และในฐานะที่ปรึกษาคณะทำงานยุทธศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายเจษฎ์ โทณะวนิก นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ประธานมูลนิธิอันดามัน จ.ตรัง ได้ลงพื้นที่ตำบลเกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง เพื่อประชุมร่วมกับคณะทำงานด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูหญ้าทะเลหมู่เกาะลิบง อ.กันตังที่ห้องประชุม อบต.เกาะลิบง โดยมีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้นำชุมชนและชาวบ้านในพื้นที่อย่างเป็นกันเองด้วย
ทั้งนี้ การลงพื้นที่ของคณะทำงานชุดดังกล่าว สืบเนื่องมาจากการสำรวจพบว่าแหล่งหญ้าทะเลบริเวณเกาะลิบง ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงของพะยูน ถูกตะกอนดินจากโครงการขุดลอกร่องน้ำกันตัง จ.ตรังเมื่อปี 2562 ทับถมจนเกิดความเสียหายจำนวนหลายพันไร่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของพะยูน ที่อาจมีการเจ็บป่วยและตายลง หรือมีการอพยพย้ายถิ่น เนื่องจากขาดแหล่งอาหาร
ทั้งยังส่งผลกระทบระบบนิเวศน์ทางทะเลในระยะยาว ทำให้ นายวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความห่วงใยในปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างมาก จึงได้สั่งการให้ คณะทำงานยุทธศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติฯ ลงพื้นที่เพื่อเร่งแก้ปัญหาตะกอนดินจากโครงการขุดลอกร่องน้ำตรัง และเร่งปลูกหญ้าทะเลหลากชนิดเพิ่ม ให้ได้มากที่สุด เพื่อคืนแหล่งอาหารให้กับพะยูน พร้อมจัดการขยะตามโครงการ “มาเรียมโมเดล” เพื่อไม่ให้มีพะยูนกินพลาสติก จนทำให้ตายลงได้อีก
โดยหลังการประชุมเสร็จสิ้น น.ส. กัญจนา ศิลปอาชา ได้ร่วมกับผู้นำชุมชนและชาวบ้าน ร่วมปลูกหญ้าทะเลบริเวณสะพานหลีกภัย ตำบลเกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ซึ่งเป็นบริเวณที่ชาวบ้านให้ข้อมูลว่าพบพะยูน เข้ามากินหญ้าทะเลบริเวณดังกล่าวแทบทุกวันในช่วงน้ำขึ้น
ทางด้าน น.ส.กัญจนา กล่าวว่า โครงการขุดลอกน้ำกันตังของกรมเจ้าท่า ทำให้เกิดตะกอนดินเป็นล้านลูกบาศก์เมตร ถมทับแหล่งหญ้าทะเลอาหารของพะยูนจำนวนหลายพันไร่ นับเป็นอันตรายกับพะยูน ซึ่งถ้าไม่มีแหล่งอาหาร นั่นคือการสูญพันธุ์ของเขา และยังกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านเกาะลิบงด้วย เพราะหญ้าที่พะยูนกินคือหญ้าใบมะกรูด แต่สำหรับใบหญ้าคาที่มีความสูง 1 เมตร พบว่าตอนนี้มีความสูงเหลือแค่ 10 เซนติเมตร หรือ 1 ใน 10 เนื่องจากตะกอนทรายมาทับถม ทำให้กระทบต่อวิถีชีวิตชาวประมง เพราะใบหญ้าคาเป็นที่เกาะของแพลงตอนและสัตว์น้ำตัวเล็กๆ ต่างๆ ซึ่งชาวประมงมาเก็บได้จากสัตว์เหล่านี้ หรือแม้แต่นักท่องเที่ยวที่นั่งเรือมาดูกุ้งหอยปูปลา เมื่อเกิดภาวการณ์ตายหรือการเสื่อมโทรม ก็มีผลกระทบต่อชีวิตชาวบ้านและสัตว์ทะเล
นอกจากนี้ ยังกระทบต่อโลมาและเต่าทะเล การมาวันนี้มาช่วยแก้ปัญหาว่าทำอย่างไรที่จะฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลให้กลับคืนมา นอกจากเพื่อมนุษย์แล้ว ยังเพื่อสัตว์ทะเลเพื่อแวดล้อมของประเทศด้วย โดยโอกาสนี้ ขอบคุณพี่น้องประชาชนชาวเกาะลิบง ที่ร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการช่วยกันอนุรักษ์พะยูนและสัตว์ทะเลในพื้นที่ ด้วยดีเสมอมา ขอให้ช่วยกันรักษาความสามัคคี ความร่วมมือร่วมใจที่เข้มแข็งแบบนี้ตลอดไป เพื่อบรรลุเป้าหมายในการขยายพันธุ์พะยูน ฟื้นฟูทะเลของเราให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ เพื่อส่งต่อให้ถึงรุ่นลูกรุ่นหลานของพวกเราคนไทยกันต่อไป
#TopVarawut #Kanjana #SilpaArcha #MNRE #พรรคชาติไทยพัฒนา
โฆษณา