6 เม.ย. 2022 เวลา 12:34 • สิ่งแวดล้อม
คำเตือนครั้งสุดท้าย การปล่อยคาร์บอนสูงสุดจะต้องเกิดขึ้นไม่เกินปี 2025
ในการประชุม COP26 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2021 ที่ผ่านมา แม้หลายๆ ประเทศทั่วโลกจะให้คำมั่นสัญญาเกี่ยวกับการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างทะเยอะทะยานด้วยความมั่นใจ
แต่ดูเหมือนว่า เมื่อพิจารณาดูแล้ว แผนการเหล่านั้นอาจยังไม่เพียงพอสำหรับภารกิจกู้โลก
ตามรายงานฉบับล่าสุดของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงแห่งสหประชาชาติ (IPCC) ได้บอกกับเราว่า…
ภายในศตวรรษนี้ โลก มนุษยชาติ และสิ่งมีชีวิตทั้งหมด คงหนีไม่พ้น สถานะที่อุณหภูมิโลกจะพุ่งขึ้นสูงเกิน 1.5 องศา
และมีแนวโน้มที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะพุ่งไปถึง 3.2 องศา ภายในศตวรรษนี้อย่างแน่นอน
ตามรายงานระบุว่า เราแทบจะมัโอกาสหลีกเลี่ยงสถานะที่โลกจะร้อนเกิน 1.5 องศา ได้น้อยเอามากๆ หากการแก้ไขปัญหายังเป็นไปตามนโยบายและแนวทางเดิมๆ
อันโตนิโอ กูเตอร์เรส (António Guterres) เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ กล่าวว่า รัฐบาลและธุรกิจบางแห่งกำลัง “โกหก”
พวกเขาอ้างว่าตอนนี้กำลังมุ่งหน้าไปยังทิศทางที่ 1.5 องศา แต่รัฐบาลและผู้นำธุรกิจบางคนกำลังพูดสิ่งหนึ่ง แต่ทำอีกอย่างหนึ่ง พูดง่ายๆ คือพวกเขากำลังโกหก และผลลัพธ์จะนำไปสู่การเกิดหายนะ
สงครามระหว่างระสเซียและยูเครน ทำให้ราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น ตรงนี้เป็นทั้งวิกฤตและโอกาสที่รัฐบาลแต่ละประเทศจะต้องอาศัยโอกาสนี้ทบทวนนโยบายพลังงานของตนใหม่
แต่ก็มีเรื่องน่ากังวลว่า หลายๆ ประเทศ รวมถึงสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป กำลังพิจารณาที่จะเพิ่มเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา
แต่รายงานของ IPCC ระบุชัดเจนว่าการเพิ่มเชื้อเพลิงฟอสซิลจะทำให้เป้าหมาย 1.5 องศาอยู่ไกลเกินเอื้อม
อย่างไรก็ตามท่ามกลางวิกฤตเหล่านี้ เรายังพอมีโอกาสสำหรับการแก้ไข
เพียงแต่ว่า… อาจเป็นโอกาสสุดท้าย
สิ่งที่เราต้องทำก็คือ ต้องทำให้การปล่อยคาร์บอนสูงสุดจะต้องเกิดขึ้นไม่เกินปี 2025 และลดลงเหลือครึ่งหนึ่งของระดับปัจจุบันภายในปี 2030 จากนั้นให้ลดลงเป็นศูนย์ภายในปี 2050
เป้าหมายนั้นจะสำเร็จได้ จำเป็นต้องหยุดใช้ถ่านหินอย่างสิ้นเชิง และหยุดก่อสร้างโรงงานพลังเชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มทุกชนิด
รวมถึง การปล่อยก๊าซมีเทนจะต้องลดลงให้ได้อย่างน้อยหนึ่งในสาม
การเพิ่มพื้นที่ป่าไม้และการอนุรักษ์ดินเป็นสิ่งจำเป็น แต่การปลูกป่าเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะดูดซับคาร์บอนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ทัน
รวมถึงต้องมีการลงทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำถูกว่าที่คาดไว้ถึง 6 เท่า
ระบบเศรษฐกิจของโลกทุกภาคส่วนตั้งแต่ พลังงาน การขนส่ง ไปจนถึงระบบผลิตอาหาร ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงและอย่างเร่งด่วน รวมไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เช่น เชื้อเพลิงไฮโดรเจน และเทคโนโลยีการดูดซับคาร์บอน
ขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่ลืมเรื่องการช่วยเหลือประเทศยากจน ซึ่งขาดทั้งเงินทุนและความพร้อมสำหรับการปรับตัวให้เข้ากับทิศทางการลดคาร์บอนฯ ของโลก
#IsLIFE #IPCCReport #ClimateCrisis
อ้างอิง
The Guardian : https://bit.ly/3JfXnUv
Photo : Chris LeBoutillier
โฆษณา