Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Timeless History (ประวัติศาสตร์ไร้กาลเวลา)
•
ติดตาม
7 เม.ย. 2022 เวลา 04:00 • ประวัติศาสตร์
“บริติชราช (British Raj)” เมื่ออังกฤษมีอำนาจในแผ่นดินอินเดีย
ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา อินเดียเคยอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษนับร้อยปี
การที่อังกฤษปกครองอินเดีย ถึงแม้จะนำความเจริญเข้ามาสู่อินเดีย แต่ก็ได้ทิ้งบาดแผลไว้ให้อินเดียเช่นกัน
ช่วงเวลาการปกครองของอังกฤษในอินเดียนี้เรียกว่า “บริติชราช (British Raj)” แต่เรื่องราวนี้มีจุดเริ่มต้นอย่างไร? และทำไมอินเดียถึงต้องอยู่ใต้อำนาจของอังกฤษเป็นเวลานับร้อยปี?
ลองมาหาคำตอบกันครับ
แต่ก่อนจะไปรู้เรื่องราวของบริติชราช เราควรจะรู้ถึงคำว่า “อาณานิคม” กันก่อน
การที่ดินแดนหนึ่ง เป็นอาณานิคมของอีกดินแดนหนึ่ง ก็คือการที่ดินแดนที่มีกำลังน้อยกว่า อ่อนแอกว่า ตกอยู่ใต้อำนาจของดินแดนที่เหนือกว่า โดยดินแดนที่เหนือกว่าก็จะใช้ประโยชน์จากดินแดนที่เข้ายึดครอง และส่งคนเข้ามาตั้งรกรากในดินแดนนั้น
3
กลับมายังปัจจุบัน หากถามว่าบริษัทที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกคือบริษัทอะไร? คำตอบก็คงไม่พ้นบริษัทอย่าง “Facebook” “Apple” “Amazon” “Netflix” หรือ “Google”
แต่ย้อนกลับไปเมื่อนับร้อยปีก่อน มีบริษัทหนึ่งที่เข้มแข็งและทรงอำนาจมากซะจนเกือบจะครอบครองทวีปทั้งทวีป และมีอำนาจเหนือบริษัทอื่นๆ
บริษัทนั้นคือ “บริษัทอินเดียตะวันออก (East India Company)” ซึ่งเป็นบริษัทที่โด่งดังที่สุดแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์ มีอำนาจเหนือระบบการค้า โดยมีสินค้าสำคัญคือ “ชา”
3
ในศตวรรษที่ 17 อินเดียเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยเครื่องเทศ ผ้าที่สวยงาม ของหรูหราต่างๆ ผลผลิตทางการเกษตรที่งอกงาม แรงงานราคาถูก รวมทั้งการค้าฝิ่นซึ่งรุ่งเรือง ดึงดูดใจพ่อค้าชาวยุโรป ซึ่งมองว่าอินเดีย คือดินแดนที่เต็มไปด้วยศักยภาพ
ธงบริษัทอินเดียตะวันออก
บริษัทอินเดียตะวันออก ดำเนินการระหว่างค.ศ.1600-1874 (พ.ศ.2143-2417) ได้ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อทำการค้ากับเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอินเดีย
ในไม่ช้า บริษัทอินเดียตะวันออกก็กลายเป็นบริษัทที่เข้มแข็ง ผูกขาดทางการค้า และเริ่มมีอำนาจทางการเมือง อีกทั้งเริ่มจะทำตัวเหมือนตัวแทนราชสำนักอังกฤษในอินเดีย
สำหรับจุดเริ่มต้นของบริษัทอินเดียตะวันออก ต้องย้อนไปตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 16 นักสำรวจชาวอังกฤษ ต่างต้องการที่จะออกสำรวจดินแดนต่างๆ เพื่อตามหาสมบัติ
พ่อค้าอังกฤษได้ทูลขอพระบรมราชานุญาตจาก “สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ (Elizabeth I)” เพื่อที่จะล่องเรือเข้าไปในมหาสมุทรอินเดีย โดยมีจุดประสงค์เพื่อที่จะทำลายอำนาจผูกขาดทางการค้าของสเปนและโปรตุเกสในตะวันออกไกล
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ (Elizabeth I)
จากนั้น เมื่ออำนาจของสเปนและโปรตุเกสเริ่มเสื่อม ก็เหลือผู้เล่นหลักเพียงสองราย นั่นคือ “เนเธอร์แลนด์” และ “อังกฤษ”
อังกฤษเองก็กังวลว่าเนเธอร์แลนด์จะได้เปรียบในเส้นทางการค้าแห่งใหม่ ทำให้อังกฤษพยายามที่จะช่วงชิงความได้เปรียบ โดยในปีค.ศ.1600 (พ.ศ.2143) สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 ก็ได้พระราชทานสิทธิในการทำการค้าในอินเดียตะวันออกให้แก่พ่อค้าจำนวน 200 ราย
หนึ่งในกลุ่มพ่อค้าเหล่านี้ได้รวมตัวกัน และกลายเป็นบริษัทอินเดียตะวันออก
บริษัทอินเดียตะวันออกเริ่มต้นจากบริษัทที่ทำการค้า แต่ในไม่ช้า บริษัทก็เข้ามามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของชาวอินเดีย จนกระทั่งต่อมา รัฐบาลอังกฤษก็เริ่มเข้ามาตั้งอาณานิคมและเข้าควบคุมทรัพยากรในอินเดีย
เริ่มแรกที่อังกฤษแผ่อำนาจเข้ามาในอินเดีย ชาวอินเดียก็มองอังกฤษเป็นพวกเจ้าเล่ห์ ไม่น่าคบ
หากแต่อังกฤษก็แสดงออกถึงความเป็นผู้ดี ให้เกียรติชาวอินเดีย แสดงออกว่าสนใจในวัฒนธรรมและธรรมเนียมอินเดีย โดยชาวอังกฤษได้พยายามเรียนภาษาอินเดีย อีกทั้งยังแต่งกายด้วยเสื้อผ้าอินเดีย ใช้ชีวิตร่วมกับชาวอินเดีย อีกทั้งชาวอังกฤษจำนวนมากยังแต่งงานกับชาวฮินดู มีบุตรหลาน สร้างครอบครัวในอินเดีย
ด้วยพฤติการณ์เหล่านี้ ทำให้ชาวอังกฤษบางคนได้รับสถานะที่สูงส่ง และชาวอินเดียก็มองชาวอังกฤษเป็นเหมือนนักรบผู้กล้าหาญ
แต่ภายหลังจากปีค.ศ.1757 (พ.ศ.2300) ความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษและอินเดียก็เริ่มพลิกผัน โดยมีสาเหตุมาจากการเสื่อมถอยของจักรวรรดิโมกุล ซึ่งปกครองอนุทวีปอินเดียในช่วงศตวรรษที่ 16-19
การเสื่อมอำนาจของจักรวรรดิโมกุล เป็นเหมือนโอกาสทองของอังกฤษ อังกฤษจึงค่อยๆ ใช้โอกาสนี้ ขออนุญาตผู้ปกครองท้องถิ่นต่างๆ ในการขยายโรงงานและการค้าของอังกฤษ
แต่หากพูดถึงความขัดแย้งระหว่างอังกฤษกับอินเดีย สามารถย้อนกลับไปได้ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 17
ช่วงปลายศตวรรษที่ 17 อังกฤษได้ก่อตั้งท่าเรือและสถานีการค้าที่เมืองกัลกัตตา สร้างความขุ่นเคืองพระทัยแก่เจ้าผู้ครองเบลกอล ซึ่งมีรับสั่งให้ข้าหลวงเมืองกัลกัตตาหยุดการสร้างป้อมปราการของอังกฤษ
แต่อังกฤษก็เพิกเฉย ไม่สนใจต่อรับสั่งของเจ้าผู้ครองเบงกอล เจ้าผู้ครองเบลกอลจึงตัดสินพระทัยจะใช้กำลังทหาร โดยจัดทัพซึ่งประกอบด้วยทหารกว่า 50,000 นาย ช้างอีก 500 เชือก ปืนใหญ่ 50 กระบอก เดินทัพมาเพื่อหยุดยั้งอังกฤษ
แต่ผลการรบนั้น จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของกองทัพเจ้าผู้ครองเบงกอล และมีนักโทษที่อังกฤษจับตัวไว้กว่า 146 คน และรอดชีวิตจากการถูกจับขังแออัดในคุกเล็กๆ เพียง 23 คน
อังกฤษใช้เหตุการณ์นี้เป็นข้ออ้างเพื่อเข้าปกครองอินเดียโดยตรง
กลับมาที่ศตวรรษที่ 17 ในปีค.ศ.1813 (พ.ศ.2356) เป็นปีที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนในประวัติศาสตร์อินเดีย
ขบวนการทางศาสนาในอังกฤษได้เติบโตขึ้น ทำให้อังกฤษอนุญาตให้มิชชันนารีเข้ามาเผยแพร่ศาสนาในอินเดีย
ในปีค.ศ.1857 (พ.ศ.2400) ทหารอินเดียได้ก่อกบฏ ต่อต้านกองทัพอังกฤษ โดยมีผู้เข้าร่วมต่อต้านอังกฤษนับพัน
นี่นับเป็นก้าวแรกของการเรียกร้องเอกราช เป็นหนทางสู่อิสรภาพของอินเดีย
1
วันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ.1857 (พ.ศ.2400) ทหารอินเดียที่ถูกอังกฤษจับขังจำนวน 85 นาย ได้ถูกทหารอินเดียเข้าไปช่วยเหลือ ปล่อยตัวออกมาจากเรือนจำ
จากนั้น ความรุนแรงก็ก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ โดยกรุงเดลีตกอยู่ใต้อำนาจของฝ่ายกบฏ และจุดประกายให้เมืองอื่นๆ เอาตาม ลุกฮือขึ้นต่อต้านอังกฤษ
แต่อย่างไรก็ตาม ไม่กี่เดือนต่อมา กำลังเสริมจากอังกฤษก็มาถึง ทำให้เหตุการณ์กบฏจบลง
และจากวิกฤตทางการเมืองและการเงิน ก็ได้ทำให้ทางการอินเดียต้องมีการปรับโครงสร้าง และทำให้อินเดียตกเป็นดินแดนในอารักขาของอังกฤษ อยู่ภายใต้อำนาจของ “สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Queen Victoria)” พระประมุขแห่งสหราชอาณาจักร
1
จากนั้น นับตั้งแต่ปีค.ศ.1858 (พ.ศ.2401) อินเดียก็ได้กลายเป็นที่รู้จักในนามของ “บริติชราช (British Raj)” ก่อนจะได้รับเอกราชในปีค.ศ.1947 (พ.ศ.2490)
สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Queen Victoria)
ช่วงเวลาที่อินเดียตกอยู่ใต้อำนาจของอังกฤษ เป็นประเด็นที่นักประวัติศาสตร์หลายคนพูดถึงและศึกษาอยู่บ่อยครั้ง
การที่อินเดียกลายเป็นบริติชราช ก็ทำให้อินเดียเจริญขึ้นในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการจัดการระบบการศึกษาที่ได้มาตรฐาน มีการสร้างโรงเรียนและมหาวิทยาลัยจำนวนมาก รองรับจำนวนประชากรอินเดีย และมีการสอนภาษาอังกฤษให้อีกด้วย
ทางด้านการคมนาคม ก็มีความก้าวหน้าอย่างมาก มีการสร้างทางรถไฟ สร้างถนนอีกจำนวนมาก และยังมีการนำเรือกลไฟเข้ามาในอินเดีย
1
นอกจากนั้น ยังมีการปรับปรุงธรรมเนียมต่างๆ ซึ่งนำไปสู่สิทธิมนุษยชนในอินเดีย เช่น พิธีสตี (Sati) ซึ่งเป็นธรรมเนียมโบราณที่บังคับให้ภรรยาที่สูญเสียสามี ต้องเผาตัวเองตายตามสามีไปด้วย พิธีนี้ก็ถูกสั่งห้าม และอนุญาตให้หญิงที่สูญเสียสามีสามารถสมรสใหม่ได้
และหลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ก็มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาในระบบการติดต่อสื่อสาร ทั้งมีการนำโทรเลขและไปรษณีย์เข้ามาในอินเดีย
แต่ถึงอังกฤษจะนำคุณประโยชน์มากมายเข้ามาในอินเดีย แต่ก็มาพร้อมกับข้อเสียอีกมากมาย
ในปีค.ศ.1700 (พ.ศ.2243) อินเดียถูกจัดให้เป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก แต่จากการที่อินเดียกลายเป็นบริติชราช เมื่อได้รับเอกราชในปีค.ศ.1947 (พ.ศ.2490) จีดีพีของอินเดียก็ลดลงเกือบ 10 เท่า
อุตสาหกรรมในอินเดียที่เคยเฟื่องฟู ได้ถูกภาษีของอังกฤษขูดรีดจนแทบไม่มีกำไรเหลือ
3
นอกจากนั้น นโยบายหลายๆ อย่างของอังกฤษยังสร้างความทุกข์ทรมานแก่ชาวอินเดีย เช่น นโยบายในช่วงทุพภิกขภัยในอินเดีย
อีกทั้งยังเกิดการสังหารหมู่อีกหลายครั้ง ทำให้เกิดการจลาจล เรียกร้องอิสรภาพในอินเดีย และทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตของชาวอินเดียนับล้าน
นี่ก็เป็นประวัติศาสตร์บทหนึ่งของอินเดียที่ยังได้รับการพูดถึงจนทุกวันนี้
References:
https://historyofyesterday.com/british-raj-in-india-how-did-it-start-and-what-are-the-consequences-2695e74eb0cd
https://www.nationalarchives.gov.uk/education/empire/g2/cs4/background.htm
https://www.bbc.co.uk/history/british/modern/independence1947_01.shtml
https://www.publishersweekly.com/978-1-61039-293-8
https://www.thoughtco.com/the-british-raj-in-india-195275
17 บันทึก
26
16
17
26
16
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย