Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Buddha Space
•
ติดตาม
7 เม.ย. 2022 เวลา 05:00 • บันเทิง
…!!! พระก็คนนี่หว่า : เมื่อ “ณัฏฐ์ กิจจริต” ลองสวมบท CEO บริหารภาพลักษณ์ศาสนา และปรัชญาสมาธิใน “กีฬาสแต็ค”
.
ใครจะเชื่อว่านักแสดงหนุ่มมาดกวนอย่าง “นัท-ณัฏฐ์ กิจจริต” ที่หลายคนรู้จักผ่านผลงานซีรีส์และภาพยนตร์ชื่อดังทั้ง “App War แอปชนแอป” , “แปลรักฉันด้วยใจเธอ” และ “4 kings อาชีวะ ยุค 90’s” ก็มีโมเมนต์เล็ก ๆ ทางศาสนาและการมูเตลู ทั้งการ “บน” ทั้งการ “บวช” มาแล้วเช่นกัน
และล่าสุดกับผลงานภาพยนตร์เรื่อง "FAST & FEEL LOVE เร็วโหด..เหมือนโกรธเธอ" ที่แสดงประกบคู่นางเอกซุปตาร์อย่าง “ญาญ่า-อุรัสยา เสปอร์บันด์” ผลงานของผู้กำกับสุดติสท์ "เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์" ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นในการหยิบเอาปัญหาชีวิตของคนทั่ว ๆ ไปมาสร้างเป็นหนังได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งคงต้องไปพิสูจน์ความเร็วพร้อมกันทั่วประเทศ 6 เมษายนนี้ ในโรงภาพยนตร์เครือเมเจอร์
“Buddha Space” จึงไม่พลาดที่จะไปพูดคุยสักแมทช์กับ “นัท” ที่รับบทเป็น “เกา” แชมป์ Sport Stacking กีฬาระดับโลกที่สมาธิมีผลต่อเสี้ยววินาทีแห่งชัยชนะ ไปพูดคุยและฟังว่าโลกของศาสนาและสมาธิในมุมมองของเขาเป็นอย่างไร
-“สมาธิ” กับ “ณัฏฐ์ กิจจริต” และบทบาทนัก “Sport Stacking”
“ก็เหมือนจดจ่อมั้งครับ มีโฟกัส คัดกรองเรื่องที่อาจจะไม่จำเป็นสำหรับโมเมนต์นั้น ๆ หรืองานนั้นออกไป ผมว่าสมาธิอาจจะเป็นเรื่องสถานที่ก็ได้ ถ้าเราเอาตัวเองไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มันเกิดสมาธิ มันน่าจะเจอกันเอง เรียกว่ามันเป็นจุดสตาร์ทแล้วกันครับ คือผมแค่รู้สึกว่า ถ้ามีสมาธิมันอาจจะเป็น Base Line เริ่มต้นที่โอเค”
“Sport Stacking เป็นกีฬาที่แบบใช้สมาธิมาก แก้วเค้าเบามาก แล้วถ้าเร็วกว่าที่มันควรจะเป็น มันก็จะพัง ถ้าช้าไปก็ไม่ได้เวลา”
เพื่อเข้าถึงบทบาทของ “เกา”นักกีฬา “Sport Stacking” ที่หวังอยากจะเป็นเจ้าของสถิติโลก นัทต้องแบ่งเวลาฝึกซ้อมก่อนถ่ายทำอย่างสม่ำเสมอ โดยบอกว่า สมมตินักกีฬาจริง ๆ เค้าซ้อมได้ 3-4 ชั่วโมงต่อวัน เราต้องแบ่ง Routine ไปแบบเช้าชั่วโมงครึ่ง เย็นชั่วโมงครึ่ง แต่แค่อาศัยว่าต้องทำทุกวัน เพื่อให้วันถ่ายมันได้มากที่สุด แล้วมันจะเริ่มมีภาวะแบบว่าวันนี้ซ้อม ๆ อยู่แล้วแบบเริ่มมีปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาอย่างเพลงเสียงดัง หรือเพิ่งคุยเรื่องนี้มา พอเรื่องในหัวมันเยอะ ก็จะเป็นวันที่พลาดเยอะ มันเริ่มเป็นจุดที่พี่เต๋อเริ่ม “อ่ะโอเค งั้นมึงเริ่มสังเกตว่าต้องเป็นสิ่งแวดล้อมแบบไหน มึงถึงจะเล่นได้โอเคสุด”
Inner Peace ในชีวิตประจำวันแบบไม่ต้องพึ่งศาสนา
ไหน ๆ ก็พูดถึงเรื่องสมาธิแล้ว เมื่อถามว่าอินกับศาสนาไหม? นัทตอบทันทีว่า “ไม่ครับ” เริ่มรู้สึกว่าตัวเองไม่อินช่วงโตขึ้น ช่วงเด็ก ๆ เราก็ตามสเต็ป ไปเช็งเม้ง ไปวัดทุกอย่าง ผ่านสิ่งที่คิดว่าทุกคนน่าจะผ่านกันมาหมด เช่น ต้องไปอาบน้ำมนต์วัดนี้ ทำบุญวัดนั้น จะคุ้นอยู่กับอะไรแบบนี้เรื่อย ๆ
ถ้าเอาคำว่า “ศาสนา” อย่างเดียว ผมว่ามันสำคัญน้อยลง เพราะว่ายุคนี้เป็นยุคที่เราแหย่ศาสนาได้มากขึ้นมั้ง เราเล่นกับเค้าได้มากขึ้น คือสมัยเป็นเด็กศาสนามันไกลมาก แต่ยุคนี้มันดึงเข้ามาเจอกัน เรามองเห็นมุมที่มันเป็นมนุษย์ขึ้นเยอะ ของพระหรือของศาสนาเองก็ตาม มันเห็นความผิดพลาดด้วย เริ่มเห็นวัดในแบบที่ต่างขึ้น ผมรู้สึกว่ามันแตกปลายมาใกล้ตัวมากขึ้น รู้สึกว่า พูดได้นี่หว่า แหย่เล่นได้นี่หว่า มันมีมุมที่ทำให้รู้สึก เฮ้ยจริง ๆ ศาสนาก็ทำฟังก์ชั่นอะไรบางอย่างอยู่แหละ เหมือนกับที่เราทำอาชีพหนึ่งอะไรประมาณนี้
“ตัวผมเอง Routine ทุกวันค่อนข้างดีต่อความรู้สึกข้างใน เรามาอยู่ออฟฟิศ เราออกไปกองถ่าย ผมว่าผมเจอวิธีหา Inner Peace ของผมแล้ว ส่วนตัวก็เลยไม่รู้สึกจำเป็นที่จะต้องหาจากศาสนา อย่างไรก็ตาม ด้วยโครงสร้างระบบที่มันบีบขนาดนี้ อาจจะไม่ใช่ทุกคนที่สามารถหา Inner Peace ของตัวเองในชีวิตประจำวันได้ง่ายขนาดนั้น อย่างตัวผมเองก็ไม่ได้หาได้ทุกวัน คิดว่าอาจจะมีเคสที่ยากกว่าหรือง่ายกว่า ดังนั้นสำหรับหลาย ๆ คนมันก็อาจจะยังจำเป็นอยู่ที่ต้องมีศาสนาไว้เพื่อฟังก์ชั่นในเรื่องนี้กับตัวเอง”
-มีช่วงชีวิตไหนมั้ยที่นัทรู้สึกว่าต้องการฟังก์ชั่นของศาสนา?
มี (หัวเราะ) มันจะมีช่วงเวลาคุ้นชิน อย่างตอนที่จะได้หนังพี่เต๋อ คิดว่าทำทุกอย่างได้ดีในสุดในอีก Part หนึ่งแล้ว สุดท้าย “หม่าม้า บนให้หน่อยสิ” (หัวเราะ) จริง ๆ หมายถึงเราก็ไปแคส พยายามทำการบ้านตัวละครในฝั่งของโลกนี้เสร็จหมดแล้ว ถ้าคำนวณไม่ผิด ไม่น่าจะมีอะไรที่ทำได้อีกแล้ว แต่ก็แบบ เอาวะไอ่เชี่ย ก๊อกสุดท้ายก่อนนอน (ทำท่ายกหูโทรศัพท์) “หม่าม้าบนให้หน่อยสิ” แล้วแม่ก็แบบจัดชุดใหญ่ มันจะมีอะไรแบบนี้เกิดขึ้นเยอะ แบบว่าทำเสร็จหมดแล้ว เอาวะนิดนึง!
มาถึงตรงนี้ หลายคนคงมีคำถามว่า คนมีความมั่นใจสูงอย่างนัท เคยบวชไหม? บวชแล้วซาบซึ้งในรสพระธรรมหรือไม่? คำตอบที่ได้อาจไม่เซอร์ไพร์สเหมือนในหนัง แต่มันกลับแฝงแง่มุมบางอย่างที่ทำให้นัทเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อพระและศาสนาไปมาก และเป็นมุมที่ทำให้เราต้องฉุกคิดตาม
-บวชแล้วเห็นธรรม(ดา)ของพระ
เคยบวชครับ (หัวเราะ) บอกแล้ว ทำมาหมดแล้ว ตอนนั้นบวชเพราะว่าอายุ 25 พอดี แล้วก็ป๊าผมไม่ได้บวช เท่ากับว่าเป็นลูกชายสายตรง ข้ามมารุ่นนึง การบวชของผมมันก็เลยบวชเพื่อปู่ย่าตายาย เราก็ทำแทนไปเลย รู้สึกเป็นช่วงที่เหมาะ และเราได้ยินมาทั้งชีวิตว่าเบญจเพส มึงต้องบวชสิ เป็นสิ่งที่ร่างกายเชื่อไปแล้วว่าเป็นสิ่งที่พึงจะทำ
บวชเกือบ ๆ เดือน มันจะมีช่วงแรกที่คิดเยอะ อยากออกไปทำอะไร เหลืออีกกี่วัน นู่นนี่นั่น
พอกิจวัตรมันเริ่มซ้ำไปซ้ำมา เริ่มจัดการตัวเองได้ รู้สึกตอนบวชเรื่องคุยมันเล็กลงเรื่อย ๆ มันปัจจุบันขึ้นเรื่อย ๆ เรื่องยุงตัวนั้น หมาตัวนี้ เรามีพระพี่เลี้ยงก็จะแบบ เอ๊ยมานี่ดิ แล้วเค้าก็เริ่มเล่า เนี่ยรอยสักนี้หลวงพี่แบงค์สักให้ ในแง่หนึ่งรู้สึกเวลาผ่านไปไวขึ้น แง่หนึ่งก็รู้สึกว่า “เชี่ย เค้า(พระ)ก็คนนี่หว่า” เค้าก็มีมุมที่เทศน์อยู่ก็สัปหงก มีมุมที่แบบไม่อยากทำวัตรเช้า ขนาดอยู่มานานแล้ว มีมุมที่แบบบิณฑบาตสายนี้ดีกว่าเพราะกับข้าวอร่อย ผมเลยรู้สึกว่ามันแยกเรื่องกันนี่หว่า ระหว่างเจตนาของเค้า ซึ่งมีเจตนาดี กับการกระทำที่แยกเป็นอีกเรื่อง
“กลายเป็นว่าผมมองพระแบบนั้นว่า เจตนา-การกระทำ-อาชีพ มองแยกกัน จากที่ตอนแรกจะมองว่าพระในเชิงสัญลักษณ์ว่าเค้าเป็นตัวแทนของอะไรสักอย่างที่ใหญ่กว่ามนุษย์ แต่พอไปอยู่ตรงนั้นจริง ๆ เรากลับแค่รู้สึกว่านี่แหละมนุษย์ ส่วนคนจะวางอาชีพนี้ไว้ตรงไหนก็แล้วแต่คน” นัทกล่าว
-ทำให้มันง่าย! ถ้าต้องเป็น CEO บริหารภาพลักษณ์ศาสนา
สำหรับผม ผมว่าสิ่งที่มันเวิร์คที่สุด คือ Part ที่มันเป็นการ Meditate ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการสวดมนต์ การเดินจงกรม มันอาจจะมีมากกว่านี้ที่แบบผมไม่รู้ พิธีกรรมต่างๆ ซึ่งจะได้มาซึ่งความสงบ หรือว่าบางคนอาจจะมีเรื่องในชีวิตแล้วต้องการสิ่งเหล่านี้ ผมว่าอันนี้มันน่าสนใจ และยังอยากให้มีไว้ ถ้าผมเป็น CEO ของวัดหรือของอะไรก็ตาม ผมรู้สึกว่าอยากให้ความเป็นศาสนามันง่ายกว่านี้เหมือนในหลาย ๆ มาตรฐานที่เราเริ่มเห็นแล้ว
นัทบอกอีกว่า “ศาสนาสามารถวางตัวเองเป็นศิลปะ ได้เป็นตลกได้ เป็นอะไรก็ได้ แต่ Core value ของเค้าจะไม่เคยหายเลย สมมติว่าศาสนาไปอยู่ในงานตลก ผมไม่เข้าใจว่ามันไปลด value ตรงนี้ยังไง เหมือนกันภาพยนตร์ต้องพูดได้ทุกเรื่อง ศาสนาก็พึงจะพูดได้ทุกเรื่องเหมือนกัน ทั้งเค้าพูดถึงเรา เราพูดถึงเค้า”
นี่คือ “นัท-ณัฏฐ์ กิจจริต” คนที่บอกกับเราว่า “ไม่อินศาสนา” แต่จากสิ่งที่เค้าพูดคุยเปิดให้เห็นมุมมองของเค้าที่มีต่อศาสนา รวมไปถึงความเข้าใจในเรื่องสมาธิ และแนวความคิดที่อยากเห็นศาสนาปรับตัวใกล้ชิดกับผู้คนและจับต้องได้มากขึ้น ทำให้เราเห็นว่าจักรวาลแบบที่เราอยากเห็นใน “Buddha Space” อาจเกิดขึ้นได้ในโลกแห่งความเป็นจริง
สุดท้ายนี้เราอยากบอกว่าชีวิตเปราะบางและถล่มลงได้ง่าย ๆ ไม่ต่างกับการวางแก้วใน “Sport Stacking” หากใครสักคนอยากให้ชีวิตประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วและเต็มอิ่มในความรักและความสุข แบบ FastAndFeelLove นอกจากจะแวะไปดูหนังแล้ว สมาธิและพุทธศาสนาอาจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ดีสำหรับคุณ
#FastAndFeelLove
บันทึก
1
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย