9 เม.ย. 2022 เวลา 02:00 • บ้าน & สวน
บ้านไม้หลังเล็ก แบบชั้นเดียวขนาด 4×4 เมตรที่สร้างไว้แค่พออยู่เพื่อให้สะดวกกับการทำงานภายในไร่ โดยใกล้ๆ กันยังมีบ้านไม้ยกใต้ถุนสูงอีกหลังไว้สำหรับใช้งานอเนกประสงค์
แม้ไม่ได้มีความรู้ด้านเกษตรกรรมมาก่อน แต่ที่ดินร่วม 15-16 ไร่ซึ่งพ่อแม่ทำไร่ไว้อยู่แล้วก็ทำให้ คุณอรรถ-อรรถพล ไชยจักร สนใจอยากลองเปลี่ยนอาชีพจากวิศวกรโทรคมนาคมมาเป็นเกษตรกรดูบ้าง อย่างน้อยก็ยังสามารถใช้ชีวิตกับครอบครัวที่บุรีรัมย์ได้อย่างใกล้ชิด
“ตอนแรกผมเริ่มจากปลูกหน่อไม้ฝรั่งเต็มพื้นที่ 13 ไร่ บูมมากเลย และขอแบ่งพื้นที่ 2 ไร่ลองทำเกษตรแบบอินทรีย์ โดยเริ่มศึกษาหาข้อมูลมากขึ้น แล้ววันหนึ่งได้ลองกินมัลเบอร์รี่ก็รู้สึกว่าอร่อยดี เลยหาพันธุ์ผลมาปลูก น่าจะเป็นคนแรกในบุรีรัมย์ที่ปลูกมัลเบอร์รี่พันธุ์ผลแทนพันธุ์ใบสำหรับเลี้ยงหนอนไหม ที่จริงตอนนั้นยังทำงานประจำอยู่ก็อาศัยจ้างคนงานมาช่วยดู และเป็นช่วงที่หน่อไม้ฝรั่งโดนโรคลงตายเสียเยอะ ผมเลยเปลี่ยนมาเน้นมัลเบอร์รี่ แต่ไม่นานตลาดก็ลงอีก ทีนี้ก็เลยมาคิดเรื่องการปลูกป่าสร้างระบบนิเวศแบบ Permaculture ควบคู่ไปกับเกษตรอินทรีย์ เพราะผมเชื่อว่าการสร้างสภาพแวดล้อมให้น่าอยู่ มีอากาศดี ก็จะปลูกพืชผลให้อุดมสมบูรณ์ได้”
ระหว่างนั้นเองที่คุณอรรถเริ่มคิดสร้างบ้านไม้หลังเล็กๆ ขึ้นมาเพื่ออาศัยอยู่พร้อมกับทำฟาร์มเกษตรจริงจังของตัวเองโดยตั้งชื่อฟาร์มไว้ว่า “ไร่หลังฉาง หรือ Farm behind the Barn” เพราะขอใช้พื้นที่ 6 ไร่บริเวณด้านหลังยุ้งฉางของพ่อแม่มาทำเกษตรและปลูกบ้านขนาดเล็กโดยมีแนวคิดว่า
“ผมเคยเห็นกุฏิพระที่พุทธสถานสีมาอโศกกว้างแค่ 2×2 เมตรก็ใช้ชีวิตอยู่ได้ เลยลองใช้แนวคิดแบบวิศวกรมาออกแบบบ้านของตัวเองดูบ้าง คือทำเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมง่ายๆ ขนาด 4×4 เมตรแค่ให้มีพื้นที่พอวางชั้นหนังสือ มีที่เก็บเสื้อผ้าเก็บของ ที่นอน และมุมทำงาน แล้วหันหน้าบ้านออกไปรับแสงเช้าทางทิศตะวันออก มีประตูบานเฟี้ยมกับหน้าต่างบานกว้างให้ลมเหนือลมใต้พัดผ่านได้ดี เติมช่องเกล็ดไม้ตรงผนังด้านล่างให้ลมผ่านได้แม้แต่ตอนปิดประตูหน้าต่าง แล้ววางตำแหน่งตัวบ้านให้ลอดเข้ามาอยู่ใต้ต้นลำไยขนาดใหญ่สัก 50% เพื่ออาศัยร่มเงาที่เย็นสบาย แต่ไม่มีห้องน้ำนะ ที่จริงบ้านอีสานสมัยก่อนก็แยกห้องน้ำออกจากตัวบ้านด้วย ตอนนี้ผมเลยไปใช้ห้องน้ำนอกบ้านแทน”
หลังจากบ้านหลังนี้สร้างเสร็จ คุณอรรถจึงตัดสินใจลาออกจากงานที่กรุงเทพฯ และผันตัวเองเป็นเกษตรกรเต็มตัว โดยใช้ความรู้ด้านวิศวกรมาวางระบบน้ำเพื่อการเกษตร พัฒนาเทคโนโลยี IOT เพื่ออนาคตจะสามารถบันทึกความชื้นของดินและลมเป็นข้อมูลสำหรับตั้งและกำหนดเวลาการให้น้ำพืชในไร่ผ่านแอพพลิเคชั่นได้ รวมถึงการออกแบบระบบหมอก น้ำหยด สปริงเกอร์ต่างๆ อีกทั้งติดตั้งโซล่าร์เซลล์เพื่อปั๊มน้ำจากใต้ดินขึ้นมาใส่บ่อปลาและใช้งานในฟาร์ม ที่เหลือยังเก็บใส่โอ่งใหญ่ขนาด 2,000 ลิตรอีก 10 โอ่ง
“เพราะผมเน้นทำงานง่าย ใช้แรงคนน้อยเลยต้องอาศัยการวางระบบแบบนี้ช่วย เวลาที่ต้องไปออกบู๊ธตามที่ต่างๆ ก็ยังสามารถมอนิเตอร์ดูแลพืชไร่ได้ พอแบ่งพื้นที่ 3 ไร่สำหรับปลูกป่าแล้วระบบนิเวศก็กลับมาดีขึ้นมาก ตอนนี้งานฟาร์มมี 2 ส่วน คือปลูกมัลเบอร์รี่ กล้วยน้ำว้า กล้อยหอม กล้วยอบ ผักสลัด เลี้ยงปลาในบ่อ ทำปุ๋ยมูลไส้เดือน เลี้ยงเป็ดกับไก่ไวท์เลกฮอร์นกับมีสวนดอกไม้เพิ่มความสุนทรีย์ และงานอีกส่วนคือทำ Made in Farm แบรนด์ผลิตภัณฑ์งานแฮนด์คราฟต์ที่มีผ้าย้อมมะเกลือ สบู่ และงานแกะไม้จากกิ่งมะเกลือเหลือทิ้งซึ่งขายผ่านทางออนไลน์และในจังหวัด”
ด้วยความขยันอ่านขยันศึกษาหาความรู้และชอบทดลองแบบวิศวกร ทำให้คุณอรรถยังมีแนวคิดที่จะพัฒนางานเกษตรอินทรีย์นี้อีกหลายอย่าง รวมไปถึงการทำคาเฟ่ในฟาร์มสเตย์ ด้วยความที่ตัวเขาเองก็ชอบดื่มกาแฟและเคยเปิดคาเฟ่มาก่อนแล้ว ซึ่งแน่นอนว่านิยามความสุขของคุณอรรถตอนนี้มันช่างแตกต่างจากเมื่อสมัยก่อนอย่างสิ้นเชิง
“ถ้าเราระบบนิเวศที่ดีมีป่าผสมผสาน มีน้ำใช้ ได้ปลูกผักที่เราชอบกิน เลี้ยงปลาเลี้ยงไก่ได้ เราก็มีชีวิตที่อยู่สบายตามแนวคิดพออยู่พอกิน คือมีไว้กินเองก่อนแล้วค่อยแบ่งขาย ผมก็ศึกษาและลองไปเรื่อยๆ ใส่ความชอบของตัวเองลงไปในทุกสิ่งที่ทำ สุดท้ายทุกผลผลิตที่เกิดขึ้นก็ทำให้เรามีความสุขได้ในทุกๆ วัน”
จังหวะชีวิตที่นุ่มนวลไปตามช่วงเวลาของแสงเช้าและแดดบ่าย กับการทำงานที่ปรับให้เหมาะกับฤดูกาลของธรรมชาติ ได้ใช้ชีวิตที่ห่างไกลจากสารเคมี และได้อยู่ดูแลคุณพ่อคุณแม่อย่างใกล้ชิด ทำให้เรามองเห็นสายตาเปี่ยมประกายความสุขของคุณอรรถและคุณปลื้ม - อาคีรา ห้วงสุวรรณ แฟนสาวได้อย่างชัดเจน แม้กระทั่งน้องหมาน้องแมวในบ้านก็ยังยิ้มอย่างมีความสุขไม่แพ้กัน
อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ >> https://bit.ly/3xivbOa
เจ้าของ : คุณอรรถพล ไชยจักร และคุณอาคีรา ห้วงสุวรรณ
ออกแบบ : คุณอรรถพล ไชยจักร
เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
สไตล์ : วรวัฒน์ ตุลยทิพย์
คลังสาระความรู้เรื่องบ้านและพรรณไม้ยังมีอีกมากมาย อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ www.baanlaesuan.com
โฆษณา