10 เม.ย. 2022 เวลา 11:20 • ประวัติศาสตร์
“บิสมาร์ค (Bismarck)” เสนาบดีเหล็กผู้รวมชาติเยอรมัน
3
ในช่วงยุคกลาง คนยุโรปต่างถูกครอบงำโดยศาสนจักร ทำให้ไม่ได้มองถึงความสำคัญในศักยภาพของมนุษย์...
แต่การมาของคลื่นความเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า "การฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance)" ได้ทำให้คนยุโรปเริ่มตั้งคำถามกับศาสนาและเริ่มเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์...
ความเชื่อมั่นเหล่านั้น ได้ก่อให้เกิดการปฏิรูปศาสนาและการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ อันนำไปสู่การปฏิวัติใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตอย่างปฏิวัติอุตสาหกรรม...
2
ระบบของยุโรปที่เปลี่ยนไปเป็นอุตสาหกรรม ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและตลาดระบายสินค้าเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องช่วงชิง...
3
การพยายามช่วงชิงนั้น ได้ก่อกำเนิดการเขียนเส้นเขตแดนขึ้นเพื่อแบ่งแยกอย่างชัดเจนว่าที่แห่งนี้และทรัพยากรตรงนี้ใครเป็นเจ้าของ...
2
โดยการแบ่งแยกเขตแดนนี้เอง เริ่มทำให้คนยุโรปตระหนักถึงคำว่า "พวกเขา - พวกเรา" แบบชัดเจนมากยิ่งขึ้น...
จนเป็นการก่อกำเนิดภาวะที่เรียกว่า "ชาตินิยม (Nationalism)" ที่ผู้คนนั้นสำนึกผูกพันในชาติพันธุ์ของตนเอง อันอยู่ในเส้นเขตแดนของประเทศตนเอง...
รวมถึงกระทั่งผูกพันในชาติพันธุ์ตนเอง ที่แม้ว่าพวกเขาเหล่านั้นอาจไม่ได้อยู่ในเส้นเขตแดนเดียวกัน...
ท้ายที่สุด ก็ได้มีการพยายามรวมพวกเขาเหล่านั้นให้มาอยู่ในเส้นเขตแดนเดียวกันกับตนเอง ภายใต้ยุคสมัยที่เรียกว่า "การสร้างชาติ"
ทุกท่านครับ และนี่คือเรื่องราวการสร้างชาติของคนกลุ่มหนึ่ง...
กลุ่มคนเหล่านั้น ใช้วัฒนธรรมและภาษาแบบเดียวกันแต่ได้กระจัดกระจายจากการแบ่งแยกอำนาจในยุคสมัยหนึ่ง...
เมื่อภาวะของชาตินิยมเริ่มครอบคลุมยุโรป สำนึกและความกระหายอยากรวมชาติของกลุ่มคนเหล่านั้นก็ได้กำเนิดขึ้น...
ซึ่งโจทย์ของการรวมชาติครั้งนี้ ได้อยู่ในกำมือของชายคนหนึ่ง...
ชายผู้มีความฝันและความทะเยอทะยานสูงสุด...
ชายผู้เชี่ยวชาญในเกมการเมืองและช่ำชองในเกมการทูต...
ปรัสเซีย...
ออสเตรีย...
รัสเซีย...
ฝรั่งเศส...
อังกฤษ...
เลือดและเหล็ก...
สงครามเดนมาร์ก...
สงครามเจ็ดสัปดาห์...
สงครามฝรั่งเศส - ปรัสเซีย...
สนธิสัญญาลับ...
การช่วงชิง...
การหักหลัง...
การสร้างดุลอำนาจในยุโรป...
และนี่ คือเรื่องราวของชายที่มีชื่อว่า "ออตโต ฟอน บิสมาร์ค (Otto Von Bismarck)" กับภารกิจแห่งยุคสมัยในการรวมชาติเยอรมัน
โปรดนั่งลงเถิดครับ แล้วผมจะเล่าให้ฟัง...
ภาพจาก reddit และ Wallpaper Access
ต้นกำเนิดของกลุ่มที่เรียกว่าชนชาติเยอรมัน เป็นกลุ่มที่สืบเชื้อสายมาจากกลุ่มที่เรียกว่า "อินโด - ยูโรเปียน (Indo - European) ซึ่งสันนิษฐานว่ากระจายอยู่ในแถบยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง โดยมีช่วงเวลาที่คนกลุ่มนี้อพยพกระจายไปตามที่ต่างๆ...
ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย เปอร์เซีย และตอนเหนือของยุโรป...
ซึ่งพวกที่อยู่ในยุโรปนั้นต่อมาถูกเรียกว่าอินโดเยอรมัน โดยพวกนี้ก็จะแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ...
1) อินโดเยอรมันเหนือ คือพวกที่อยู่ในแถบสแกนดิเนเวีย
1
2) อินโดเยอรมันตะวันตก คือพวกที่อยู่ทางตะวันตก ถ้าคิดเป็นพื้นที่ในแบบปัจจุบันจะเป็นดินแดนของเนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม และฝรั่งเศส
2
3) อินโดเยอรมันตะวันออก คือพวกที่อยู่ในดินแดนซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศเยอรมนี ออสเตรีย ฮังการี และโปแลนด์
2
โดยในช่วงแรกๆ นั้น กลุ่มคนเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นคนเถื่อนไร้อารยธรรม แต่แล้วคนเถื่อนเหล่านี้ก็ได้สร้างวีรกรรมกระฉ่อนโลก ซึ่งมีเผ่าๆ หนึ่งที่ชื่อว่า "วิสิโกธ (Visigoth)" ทำการบุกปล้นกรุงโรมซึ่งเป็นศูนย์กลางของมหาอำนาจในช่วงนั้นอย่างโรมัน
3
และเมื่อวิสิโกธเป็นตัวเปิดแล้ว เยอรมันกลุ่มอื่นๆ ก็อยากทำบ้าง ว่าแล้วคนเถื่อนเหล่านี้ก็ผลัดกันปู้ยี่ปู้ยำกรุงโรมอย่างดุเดือด จนท้ายที่สุดกรุงโรมก็แตกใน ค.ศ.476 อันเป็นการล่มสลายของโรมันตะวันตกนั่นเอง...
2
หลังกรุงโรมแตก เหล่าเยอรมันก็พากันตั้งตัวเองเป็นอิสระและหันหน้ารบกันเองเพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่ ซึ่งก็มีกลุ่มที่แข็งแกร่งที่เรียกว่าพวกแฟรงก์ สามารถตั้งอาณาจักรและราชวงศ์ของตนเองได้ภายใต้ชื่อ "เมโรวิงเจียน"
2
แต่เมโรวิงเจียนก็อยู่ไปได้ซักระยะหนึ่ง ก็เริ่มคลอนแคลน เหล่าเยอรมันก็ทำการรบราฆ่าฟันกันอีกครั้ง และมีผู้นำที่ชื่อว่า "ชาเลอมาญ" ทำการตีรวบรวมดินแดนต่างๆ พร้อมสร้างจักรวรรดิของตนเองขึ้นมาภายใต้ราชวงศ์ "คาโรลิงเจียน"
1
แต่หลังจากยุคของชาเลอมาญ จักรวรรดิก็คลอนแคลน และเข้าอีหรอบเดิมที่เหล่าเยอรมันก็หันมารบกันอีกครั้ง! จนสุดท้ายจักรวรรดิก็ได้ถูกแบ่งอำนาจเป็น 3 ส่วน ได้แก่...
3
1) ส่วนที่เป็นประเทศฝรั่งเศสในปัจจุบัน
3
2) ส่วนที่เป็นประเทศเยอรมนี ออสเตรีย ฮังการี ในปัจจุบัน
1
3) ส่วนที่อยู่ตรงกลางระหว่างฝรั่งเศสและเยอรมนี ซึ่งมี 3 แคว้น คือ โลธลิงเกน โลธาลิงเจีย และลอเรน
1
โดยในส่วนแรกนั้นก็ได้มีการรวมตัวกันเกิดเป็นอาณาจักรฝรั่งเศส และในส่วนที่สองก็ได้มีผู้นำคือ ออตโต้ (Otto the Great) ทำการรวมดินแดนทั้งหมดเข้าด้วยกันภายใต้ชื่อ "จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (The Holy Roman Empire)"
1
ภาพจาก Classic History ( การอพยพของอินโด - ยูโรเปียน)
ภาพจาก iDesignWiki (การล่มสลายของโรมันตะวันตก)
ภาพจาก Britannica (จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์)
แต่ทว่า จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ดันมีขนาดสเกลพื้นที่ที่ใหญ่โตมาก อีกทั้งยังมีเทือกเขาและแม่น้ำที่ทำให้การเดินทางไปมาหาสู่ค่อนข้างลำบาก จนส่วนกลางไม่สามารถปกครองได้ครอบคลุมทั้งหมด
3
ทำให้หลังจากยุคของออตโต้ ก็เข้าสู่วังวนแห่งการแย่งชิงอำนาจเกิดเป็นสงครามกลางเมืองวุ่นวายอีรุงตุงนังไปหมดอีกครั้ง
และจากสงครามได้มีเจ้าเมืองคนหนึ่งชื่อว่า "รูดอล์ฟ" ใช้โอกาสนี้ในการรวมดินแดนทางตอนใต้ของจักรวรรดิ สร้างอาณาจักรตัวเองขึ้นมาชื่อว่า "ออสเตรีย (Austria)" ส่วนดินแดนทางเหนือก็ยังคงฆ่าฟันก็ไม่จบ แต่โดยส่วนใหญ่นั้นเริ่มทยอยเข้าไปอยู่ใต้อำนาจของออสเตรียมากขึ้น
1
แต่ทว่า ยังมีกลุ่มทางเหนือที่ยังไงๆ ก็ไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจของออสเตรียเด็ดขาด แต่จะสร้างอาณาจักรของตัวเองขึ้นมาแทน!
โดยกลุ่มที่ว่านี้มีผู้นำ คือ "ฟรีดริชซ์ วิลเฮล์ม (Friedrich Wilheim)" ทำการหว่านล้อมกลุ่มเยอรมันที่อยู่ทางเหนือว่า "เรามารวมกันแล้วสร้างอำนาจที่เป็นของเรากันเองเถอะ" ซึ่งแน่นอนครับว่าฝ่ายออสเตรียนั้นไม่มีทางยอมให้เป็นแบบนั้นอย่างแน่นอน!
2
ว่าแล้วทั้งสองฝ่ายก็เปิดฉากบรรเลงสงครามกันอย่างดุเดือด แต่ท้ายที่สุดฝ่ายเยอรมันทางเหนือก็กลับกำชัยชนะ ฟรีดริชซ์จึงรวมกลุ่มเยอรมันทางเหนือ (แต่ยังไม่ทั้งหมด) เข้ามาอยู่ในอำนาจของตัวเองแล้วตั้งอาณาจักรที่ชื่อว่า "ปรัสเซีย (Prussia)" ขึ้นมา
1
และแล้ว ดินแดนของชนชาติเยอรมัน (ซึ่งเป็นพวกอินโดเยอรมันตะวันออก) ก็ได้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ปรัสเซียที่อยู่ทางเหนือ และออสเตรียที่อยู่ทางใต้
1
ซึ่งทั้งสองต่างก็เป็นผู้ชิงชัยในการรวบรวมเหล่าเยอรมันที่เหลือให้มาอยู่กับตัวเอง ภายใต้กระแสในยุโรปที่กำลังเข้ามาใหม่นั่นคือ ลัทธิชาตินิยมและการเขียนเส้นเขตแดน...
ภาพจาก The Map Archive (พื้นที่อำนาจของปรัสเซีย (สีเหลือง) และออสเตรีย - ฮังการี (สีเขียว))
หลังจากที่ปรัสเซียได้เกิดขึ้นนั้น เหตุการณ์ภายในยุโรปเกิดเรื่องราวต่างๆ มากมายเต็มไปหมดเลยล่ะครับ
2
ทั้งการปฏิวัติฝรั่งเศสที่เป็นการโค่นล้มราชวงศ์บูร์บอง และสร้างความหวาดกลัวให้กับราชวงศ์ภายในยุโรปแบบสุดๆ ว่าจะโดนแบบเดียวกัน เพราะประชาชนในดินแดนต่างๆ เริ่มเห็นฝรั่งเศสเป็นตัวอย่าง และเริ่มมองเห็นความสำคัญในเรื่องชาตินิยมขึ้นมา...
2
ต่อเนื่องจากการปฏิวัติฝรั่งเศสคือการผงาดขึ้นมาของนโปเลียน โบนาปาร์ต ที่นำฝรั่งเศสเปิดสงครามบุกตะลุยยึดยุโรป และจากวีรกรรมของนโปเลียนก็เริ่มทำให้กระแสชาตินิยมยิ่งพลุ่งพล่านมากขึ้น...
รวมถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ ที่ได้เปลี่ยนกลไกการผลิต ระบบเศรษฐกิจ และวิถีชีวิตของคนยุโรปไปในอีกรูปแบบหนึ่ง จนเกิดการพยายามแย่งชิงดินแดนและเขียนเส้นเขตแดนแบบชัดเจนของแต่ละประเทศขึ้นมา
โดยทั้งปรัสเซียกับออสเตรียก็พยายามสร้างเขตแดนที่รวมชาติเยอรมันเข้ามาอยู่รวมกันในพรมแดนของตนเอง
ซึ่งในช่วงนั้นออสเตรียถือได้ว่าเป็นมหาอำนาจหนึ่งของยุโรปเลยล่ะครับ ในเรื่องของความใหญ่ของพื้นที่ ขนาดของเศรษฐกิจ และจำนวนประชากรนั้น เหนือกว่าปรัสเซียแทบทุกประตู
แต่ความใหญ่นั้นก็กลับเป็นจุดอ่อนของออสเตรียเหมือนกัน เพราะภายในออสเตรียไม่ได้มีแค่กลุ่มคนเยอรมัน แต่กลับรวมคนกลุ่มอื่นอีกหลากหลายเข้ามาผสมปนเปอยู่ภายใน
2
ทำให้เหล่าบรรดานครรัฐเยอรมันต่างๆ นั้น มีใจโอนเอียงนิดๆ ไปทางปรัสเซียซึ่งมีกลุ่มคนเยอรมันเป็นประชากรหลักมากกว่า
1
โดยปรัสเซียในตอนนั้นก็มีผู้นำคือกษัตริย์ไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 1 ได้ใช้โอกาสนี้ในการผลักดันให้มีการเกณฑ์ทหารเพิ่มขึ้น แต่เรื่องนี้ได้มีการถูกส่งให้รัฐสภาเป็นผู้พิจารณา (ในช่วงเวลานั้นอำนาจของปรัสเซียถูกแบ่งระหว่างกษัตริย์กับรัฐสภาซึ่งมาจากประชาชน) โดยรัฐสภาไม่อนุมัติในเรื่องนี้เพราะกลัวว่าจะไปเพิ่มอำนาจให้กับกษัตริย์
4
ตัวของวิลเฮล์มที่ 1 เห็นแบบนั้นก็โกรธสุดขีด! ใช้อำนาจยุบรัฐสภาแล้วให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่พวกที่ได้รับเลือกเข้ามาก็ดันเป็นพวกหน้าเดิมๆ ทำให้วิลเฮล์มที่ 1 อับจนหนทางแบบสุดๆ จนอยากจะสละราชสมบัติ
5
แต่แล้วรัฐมนตรีกลาโหมอย่าง "อัลเบิร์ต ฟอน รูน" ได้เข้าทักท้วงอย่างรวดเร็วว่า "ช้าก่อน ปัญหานี้มันมีทางออกอยู่!" โดยฟอน รูนได้แนะนำวิลเฮล์มที่ 1 ให้เรียกตัวชายคนหนึ่งมาช่วยแก้ไขสถานการณ์นี้
โดยชายคนนี้ที่ฟอน รูนแนะนำ เป็นเอกอัคราชทูตของปรัสเซียซึ่งประจำที่ฝรั่งเศส และเป็นชายที่ฉลาดมีประสบการณ์ทางการเมืองและการทูตอย่างโชกโชน...
3
ว่าแล้ว จากคำโฆษณาของฟอน รูน และความอับจนหนทาง วิลเฮล์มที่ 1 จึงตัดสินใจเรียกชายคนดังกล่าวมาช่วยแก้ไขสถานการณ์พร้อมแต่งตั้งให้เป็นอัครมหาเสนาบดี (Chancellor)
2
ใช่แล้วครับ ชายคนที่ผมกำลังพูดถึงคือ "ออตโต ฟอน บิสมาร์ค (Otto Von Bismarck)"
1
ภาพจาก Thought Co (การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ.1789)
ภาพจาก Wallpaper Abyss (สงครามนโปเลียน)
ภาพจาก geschichte (การปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ)
ภาพจาก Wikipedia (ไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 1)
ภาพจาก Fandom (ออตโต ฟอน บิสมาร์ค)
คราวนี้เรามาทำความรู้จักกับชายผู้เป็นตัวเอกของเรื่องราวอย่างบิสมาร์คกันดีกว่าครับ...
โดยบิสมาร์คนั้นเรียกได้ว่าเกิดมาบนกองเงินกองทอง เพราะอยู่ในตระกูลเศรษฐีผู้ดีแห่งเมืองเชินเฮาเซ่น และแน่นอนว่าความรวยเหลือล้นก็ทำให้บิสมาร์คได้รับการศึกษาแบบคุณภาพคับแก้ว จนสามารถจบกฎหมายที่มหาวิทยาลัยเบอร์ลิน
4
นิสัยโดยส่วนตัวช่วงวัยรุ่นนั้น บิสมาร์คค่อนข้างเป็นคนหัวรุนแรง เลือดร้อน หยาบคายและเอาแต่ใจแบบสุดๆ ในสไตล์ลูกคุณหนูที่ถูกเลี้ยงแบบเอาใจตั้งแต่เด็ก แต่สิ่งที่ทดแทนในอีกด้าน คือบิสมาร์คดันเป็นเด็กเนิร์ดชอบเรียนหนังสือ ซึ่งนอกจากจะสนใจกฎหมายแล้ว ยังมีความคลั่งใคล้ในภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์แบบสุดๆ
1
แต่ในความหัวรุนแรงนั้น ก็ได้ทำให้บิสมาร์คมีความขบถอยู่ในตัว โดยเฉพาะการต่อต้านศาสนาแบบหัวลิ่มทิ่มประตู
2
โดยในเวลาต่อมา ได้เกิดเรื่องราวที่เป็นจุดเปลี่ยนชีวิตของชายหนุ่มเลือดร้อนคนนี้ เมื่อได้รู้จักกับหญิงสาวคนหนึ่งชื่อว่า "โยฮันนา พุตต์คาเมอร์ (Johanna Puttkamer)" ซึ่งเผอิญว่าเป็นหญิงสาวที่เคร่งศาสนามาก แต่กลับกลายเป็นว่าบิสมาร์คดันตกหลุมรักโยฮันนาเข้าอย่างจังเลยล่ะครับ
3
ด้วยพลังแห่งความรักที่เพรียกหา ทำให้บิสมาร์คเดินหน้าพิชิตใจโยฮันนาด้วยการเข้าโบสถ์ทุกวันอาทิตย์เพื่อจะได้ไปเจอหญิงสาวและเดินหน้าทำคะแนน...
3
ซึ่งในที่สุด ก็สามารถพิชิตใจของโยฮันนาได้ และกลับกลายเป็นว่าบิสมาร์คดันเริ่มนับถือและเชื่อในพระเจ้าขึ้นมาอีกด้วย ทำให้จากบุคลิกที่เป็นคนใจร้อนและหยาบคายกลับกลายเป็นคนที่ใจเย็น สุภาพ และถ่อมตัว
2
และคาแรกเตอร์ที่เกิดขึ้นมาใหม่ของบิสมาร์คนี้ ได้ส่งผลต่อเส้นทางประวัติศาสตร์ในอนาคตอีกด้วย...
หลังจากเรียนจบ บิสมาร์คก็ได้เข้าไปทำงานราชการเป็นเจ้าหน้าที่กรมการปกครอง แต่ทำไปทำมาดันเบื่อกับระบบราชการ เลยลาออกไปช่วยพ่อทำงานที่บ้านเกิด
1
แต่หลังจากนั้นไม่นาน ก็ตัดสินใจเข้าสู่วงการการเมืองและไต่เต้าจนย้ายไปสู่วงการการทูต โดยมีการไปเป็นทูตของปรัสเซียประจำอยู่รัสเซียเกือบ 8 ปี
2
และระหว่างอยู่ที่รัสเซียนี้เอง บิสมาร์คได้ใช้เวลาเดินทางไปเรียนรู้ทั้งภูมิประเทศ การเมือง ประวัติศาสตร์ และแม้กระทั่งจุดอ่อนของรัสเซียเพื่อเก็บข้อมูลเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ต่อปรัสเซียในอนาคต
หลังจากเป็นทูตอยู่รัสเซีย บิสมาร์คก็ถูกส่งตัวไปเป็นทูตอยู่ฝรั่งเศสต่อ ซึ่งแน่นอนครับว่าบิสมาร์คก็ได้ใช้เวลานี้ในการเรียนรู้ฝรั่งเศสเช่นเดียวกับการเรียนรู้รัสเซีย...
1
และในท้ายที่สุด เมื่อสั่งสมประสบการณ์และเคล็ดวิชาจนสุกงอม ก็ประจวบเหมาะที่ไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 1 ได้เรียกตัวบิสมาร์คไปเป็นอัครมหาเสนาบดีเพื่อช่วยฟาดฟันกับรัฐสภาซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการขึ้นสู่อำนาจของบิสมาร์ค
บิสมาร์คในวัยเด็ก
ภาพจาก Die Welt (บิสมาร์คและโจฮันนา)
ตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีของบิสมาร์ค เปรียบเสมือนเป็นตัวแทนในการใช้อำนาจของกษัตริย์ และการมารับตำแหน่งในครั้งนี้ของบิสมาร์คไม่ใช่แค่การต่อสู้กับรัฐสภา แต่มีการมองไปไกลกว่านั้นอย่างการรวมชาติเยอรมัน
ดังนั้น สเตปแรกคือการพัฒนากองทัพให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น โดยสิ่งที่ขวางทางเป้าหมายอยู่คือรัฐสภา บิสมาร์คพยายามแทรกแซงอำนาจตัวเองให้เหนือกว่าสภา โดยการใช้วาทศิลป์หว่านล้อมให้เห็นถึงจุดมุ่งหมายและข้อดีในการพัฒนากองทัพ
ซึ่งแน่นอนครับว่า ในช่วงแรกนั้นถูกรัฐสภาโจมตีอย่างเละเทะ แต่บิสมาร์คยังใจเย็นและปล่อยให้ฝ่ายตรงข้ามโจมตีต่อไปอย่างอิสระ โดยบิสมาร์คใช้เวลาในการหว่านล้อมถึง 1 ปี! จนฝ่ายตรงข้ามเริ่มทยอยมีใจโอนเอียงมาทางบิสมาร์ค พร้อมๆ กับเป็นการบั่นทอนกำลังของรัฐสภา...
เมื่อเห็นว่าอำนาจของตัวเองเริ่มแก่กล้าแล้ว บิสมาร์คก็เดินเกมต่อไปโดยการยุบสภาทิ้งแบบฉับพลัน! แล้วทำการออกกฎหมายเซนเซอร์เสรีภาพของหนังสือพิมพ์ โดยสิ่งพิมพ์ทุกชนิดต้องผ่านการตรวจสอบของรัฐบาล
2
เมื่อตัวขัดขวางอย่างรัฐสภาได้จบสิ้น บิสมาร์คจึงเริ่มนโยบายของตนเองที่เรียกว่า "เลือดและเหล็ก (Blood and Iron)" โดยโยกงบประมาณของปรัสเซียมาลงที่การพัฒนากองทัพ
1
พร้อมๆ กันนั้น ก็เริ่มเดินเกมทางการทูตหว่านล้อมให้นครรัฐเยอรมันใกล้เคียงมารวมกับปรัสเซีย และเริ่มมองหาช่องทางสร้างความสัมพันธ์กับมหาอำนาจในยุโรป เพื่อมาหนุนหลังปรัสเซียให้สามารถยันกับออสเตรียได้ในอนาคต...
1
อีกทั้งบิสมาร์ครู้ดีครับว่า แผนการรวมเยอรมันของปรัสเซียนั้นจะต้องถูกต่อต้านจากมหาอำนาจอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสแน่นอน ดังนั้น หมากที่บิสมาร์คได้เลือกในการสร้างความสัมพันธ์คือมหาอำนาจอีกขั้วหนึ่งอย่างรัสเซีย...
โดยประจวบเหมาะกับในรัสเซียเกิดเรื่องวุ่นวายขึ้น เมื่อดินแดนใต้ปกครองอย่างโปแลนด์ลุกขึ้นก่อกบฏ ทำให้ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ของรัสเซียส่งทหารเข้ากระหน่ำปราบปรามกบฏอย่างรุนแรง ซึ่งทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส และออสเตรียก็ต่างพร้อมใจลุกขึ้นมาก่นด่าการกระทำของรัสเซียทันที
1
บิสมาร์คได้ใช้โอกาสนี้ทำการยื่นมือเข้าช่วยรัสเซีย และแสดงให้เห็นถึง "ความเป็นมิตรแท้" โดยการไม่ก่นด่ารัสเซีย แต่กลับส่งทหารเข้าไปช่วยปราบกบฏแทน!
1
การกระทำของบิสมาร์ค ทำให้นครรัฐเยอรมันต่างๆ พากันตีตัวออกห่างจากปรัสเซีย และเริ่มโอนเอียงไปทางออสเตรียมากขึ้น
แต่บิสมาร์คก็ยังคงใจเย็น เพราะถึงแม้จะเสียเครดิตความเชื่อใจจากนครรัฐเยอรมันไปบ้าง แต่แลกกับการได้มหาอำนาจอย่างรัสเซียมาเป็นพันธมิตร ย่อมเป็นการเดินหมากที่สร้างความคุ้มค่าในอนาคตต่อปรัสเซียมากกว่าและรอโอกาสที่จะเดินเกมครั้งต่อไป...
ซึ่งโอกาสนั้นก็ได้มาถึงใน ค.ศ.1864 กับเหตุการณ์ที่มีชื่อว่า "สงครามเดนมาร์ก (The Danish War)"
1
ภาพจาก Kafkadesk (การปฏิวัติในโปแลนด์)
โดยปัญหามันเกิดขึ้นจากดินแดนที่เรียกว่า "โฮลสไตน์" "ชเลสวิก" และ "เมืองเลาเอนเบิร์ก" ซึ่งถือว่าเป็นดินแดนกันชนระหว่างเดนมาร์กและนครรัฐต่างๆ ของเยอรมัน ซึ่งในดินแดนทั้งสามนี้มีชาวเยอรมันอาศัยอยู่ โดยเฉพาะในโฮลสไตน์
แต่แล้วเดนมาร์กก็อยากที่จะผนวกดินแดนทั้งสามเข้ากับตัวเอง บิสมาร์คจึงใช้โอกาสนี้เดินหมากตัวต่อไป โดยการชวน "ออสเตรีย" ให้มาร่วมทำสงครามกับเดนมาร์กเพื่อมาช่วยกันปกป้องชาวเยอรมันที่อยู่ในดินแดนทั้งสาม...
โดยบิสมาร์คเล็งเอาไว้ว่า การที่ปรัสเซียเป็นผู้นำในการชวนออสเตรียมาทำสงครามนี้ จะเป็นการเรียกเครดิตความเชื่อใจของนครรัฐเยอรมันกลับมาอีกครั้ง เพราะ "เหล่าประชาชนจะมองว่า ปรัสเซียได้เป็นพระเอกเข้าไปปกป้องชาวเยอรมันที่อยู่ในดินแดนเหล่านั้นนั่นเอง"
1
เดนมาร์กที่เดินหน้าผนวกดินแดนต่างก็คิดไว้แล้วว่าผ่านฉลุยแน่นอนเพราะ "มีอังกฤษคอยหนุนหลังอยู่"
แต่ทว่า เมื่อมีมหาอำนาจอย่างออสเตรียเข้ามาร่วมวงด้วย อังกฤษจึงเปลี่ยนท่าทีทำการลอยแพเดนมาร์กกลางคัน! (อีกทั้งอังกฤษกังวลฝรั่งเศสและรัสเซียมากกว่าปัญหาของเยอรมัน)
1
ทำให้เดนมาร์กโดนปรัสเซียและออสเตรียรุมยำจนเละเทะ ความพยายามผนวกดินแดนจึงจบลงอย่างง่ายดาย
โดยภายหลังสงครามบิสมาร์คก็ได้ทำการเจรจากับออสเตรียเพื่อแบ่งผลประโยชน์ซึ่งในท้ายที่สุด "ชเลสวิก" ก็ตกเป็นของปรัสเซีย และ "โฮลสไตน์" ก็ตกเป็นของออสเตรีย และ "เมืองเลาเอนเบิร์ก" เป็นของปรัสเซีย (แต่แลกกับการที่ปรัสเซียต้องจ่ายเงินให้กับออสเตรีย)
1
จากสงครามเดนมาร์กที่เกิดขึ้นนอกจากปรัสเซียจะได้ดินแดนเพิ่มแล้ว ยังทำให้เครดิตความเชื่อใจของนครรัฐเยอรมันต่างๆ ที่มีต่อปรัสเซียเริ่มเป็นเส้นกราฟที่พุ่งสูงขึ้น...
ภาพจาก Timetoast Timeline (ดินแดนข้อพิพาทในสงครามเดนมาร์ก)
ภาพจาก About History (สงครามเดนมาร์ก)
ปรัสเซียที่เริ่มมีอำนาจมากขึ้น ทำให้ออสเตรียเริ่มนั่งไม่ติดเก้าอี้ ซึ่งบิสมาร์คมีการพยายามเจรจากับออสเตรียในเรื่องการรวมชาติเยอรมันหลายครั้ง แต่ออสเตรียก็กลับแสดงท่าทีแข็งกร้าวและยังยึดมั่นว่าตนเองจะต้องเป็นผู้นำในการรวมเยอรมัน...
บิสมาร์คจึงคิดว่า "ไม่วันใดก็วันหนึ่งต้องเกิดสงครามระหว่างปรัสเซียและออสเตรียขึ้นแน่นอน" ว่าแล้วก็ทำการเดินหมากตัวต่อไปโดยการผูกมิตรกับฝรั่งเศส
ซึ่งบิสมาร์คได้เจรจากับกษัตริย์คือนโปเลียนที่ 3 ว่า "หากปรัสเซียกับออสเตรียรบกันจริงๆ ให้ฝรั่งเศสวางตัวเป็นกลางไว้ แล้วปรัสเซียจะยกดินแดนบางส่วนให้กับฝรั่งเศส" ซึ่งก็มีการตอบตกลงด้วยวาจากันเป็นอย่างดี
3
หมากตัวต่อไป คือการผูกมิตรกับอิตาลี โดยบิสมาร์คเสนอว่า "หากอิตาลีช่วยปรัสเซียทำสงครามกับออสเตรีย ปรัสเซียจะให้แคว้นเวเนเทีย (ซึ่งตอนนี้เป็นของออสเตรีย) กับอิตาลี" ซึ่งก็มีการทำสัญญากันแบบทางการ
1
เป็นอันว่า ในตอนนี้ในด้านภูมิรัฐศาสตร์ บิสมาร์คได้ล้อมกรอบออสเตรียทั้ง 4 ด้าน โดยด้านเหนือคือปรัสเซีย ด้านตะวันตกคือฝรั่งเศสที่วางตัวเป็นกลาง ด้านใต้คืออิตาลีที่จะเป็นผู้ช่วยรบ และด้านตะวันออกเป็นรัสเซียที่ยังไงก็ต้องสนับสนุนปรัสเซียแน่นอน...
1
ว่าแล้ว บิสมาร์คก็เริ่มแผนเปิดสงครามโดยการประกาศว่า "ปรัสเซียจะเป็นผู้นำในการรวมชาติเยอรมัน!" ฝ่ายออสเตรียที่ถูกยั่วยุก็ทำการระดมกองทัพ และบิสมาร์คก็สั่งให้ทหารปรัสเซียเดินทัพผ่านโฮลสไตน์ (ที่ออสเตรียได้จากสงครามเดนมาร์ก)
1
แน่นอนครับว่าความตึงเครียดย่อมเปิดฉากให้ทหารออสเตรียระดมยิงทหารปรัสเซีย และก่อเกิดเป็นสงครามใหญ่ที่เรียกว่า "สงครามเจ็ดสัปดาห์ (Seven Week's War)" ในที่สุด
ถึงแม้ว่า สเกลกองทัพของปรัสเซียจะเทียบกับมหาอำนาจอย่างออสเตรียไม่ได้ แต่บิสมาร์คได้วางเกมการทูตอันเหนือชั้นที่จะนำพาชัยชนะมาสู่ปรัสเซีย นั่นคือ "การโดดเดี่ยวออสเตรีย"
ทัพของปรัสเซียได้กระหนาบออสเตรียด้านบน ผนวกกับทัพอิตาลีก็ผสมโรงด้านล่าง ฝ่ายรัสเซียก็มีท่าทีสนับสนุนปรัสเซีย ส่วนฝรั่งเศสก็วางตัวเป็นกลาง ทำให้ออสเตรียถึงแม้ว่าจะเป็นมหาอำนาจ แต่ในท้ายที่สุดก็พ่ายแพ้ต่อปรัสเซียและเป็นฝ่ายขอยุติสงครามภายในเวลา 7 สัปดาห์
1
ผลของสงคราม ทำให้ปรัสเซียได้ดินแดนเพิ่มและครอบครองอำนาจเยอรมันทางเหนือแทบทั้งหมด ฝ่ายออสเตรียยังต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม ยกเวเนเทียให้อิตาลี และความเจ็บแสบที่สุด คือออสเตรียโดนเขี่ยออกจากการเป็นผู้นำในการรวมชาติเยอรมันตั้งแต่บัดนั้น...
3
การล้อมออสเตรียของบิสมาร์ค
ภาพจาก Dave Dose History (สงครามเจ็ดสัปดาห์)
หลังสงคราม ฝรั่งเศสได้มาทวงสัญญากับบิสมาร์คที่หากวางตัวเป็นกลางแล้วจะให้ดินแดน ซึ่งฝรั่งเศสได้ขอดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำไรน์
1
แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าดินแดนส่วนนี้มีคนเยอรมันอยู่ค่อนข้างเยอะ ทำให้บิสมาร์คชั่งน้ำหนักความได้เปรียบเสียเปรียบ แล้วปฏิเสธข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสในที่สุด!
3
ฝ่ายนโปเลียนที่ 3 โกรธบิสมาร์คหัวฟัดหัวเหวี่ยง พร้อมก่นด่าว่าเป็นคนที่เชื่อใจไม่ได้ แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก เพราะการตกลงของฝรั่งเศสกับปรัสเซียเป็นการตกลงด้วยวาจา...
1
แต่มันได้ทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างฝรั่งเศสกับปรัสเซียขึ้น แล้วบิสมาร์คก็เล็งเห็นว่า "ในอนาคตสงครามต้องเกิดขึ้นแน่นอน!"
โดยบิสมาร์คก็เริ่มเดินหมากทางการทูตอีกครั้งด้วยการพยายามโดดเดี่ยวฝรั่งเศส ซึ่งขั้นแรกคือการพยายามเป็นมิตรกับออสเตรียโดยการให้ออสเตรียคงดินแดนของตัวเองเพื่อเอาใจประชาชนในออสเตรียไว้ และเป็นไพ่ที่เอาไว้ป้องกันไม่ให้ฝรั่งเศสใช้ออสเตรียวกกลับมาตลบหลังปรัสเซียได้ในอนาคต...
1
ฝ่ายฝรั่งเศสหลังจากนั้นก็ได้พยายามหาพรรคหาพวก โดยการชักชวนอิตาลีและออสเตรียเข้ามาร่วมก๊วนด้วยกัน
1
แต่ทว่า ออสเตรียที่ยังคงเสียหายหนักและไม่อยากจะมีปัญหากับปรัสเซียได้ปฏิเสธฝรั่งเศสแบบไม่ใยดี รวมถึงอิตาลีก็ไม่ได้มีความสนใจที่จะร่วมก๊วนด้วย
1
แล้วความตึงเครียดขั้นสูงสุดก็ได้เริ่มขึ้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ราชินีอิสซาเบลลาที่ 2 ของสเปนถูกยึดอำนาจและโดนขับไล่ออกจากบัลลังก์ โดยสเปนก็ได้มีการเฟ้นหาทายาทที่จะมาสืบต่อ แล้วหวยก็ดันไปล็อกที่เจ้าชาย "ลีโอโปล" ซึ่งเป็นญาติของวิลเฮล์มที่ 1 แห่งปรัสเซีย!
1
คราวนี้แหละครับ ก็เข้าทางบิสมาร์คพอดีเป๊ะ! เพราะหากลีโอโปลได้เป็นกษัตริย์สเปน ปรัสเซียก็สามารถปิดล้อมฝรั่งเศสได้อย่างสมบูรณ์
1
แต่มีหรือที่ฝรั่งเศสจะยอมให้เป็นแบบนั้น นโปเลียนที่ 3 ได้ทำการส่งทูตเข้าพูดคุยกับวิลเฮล์มที่ 1 ของปรัสเซียและมีการขู่ลีโอโปลว่าหากสืบทอดบัลลังก์สเปนเรื่องจะจบไม่สวยแน่นอน ทำให้ลีโอโปลต้องถอนตัวจากบัลลังก์
1
ซึ่งหลังจากนั้นวิลเฮล์มที่ 1 ก็ได้ส่งโทรเลขเล่าเหตุการณ์ทั้งหมดให้บิสมาร์ครู้ โดยบิสมาร์คมองว่าฝรั่งเศสได้ทำการหยามหน้ากษัตริย์ของปรัสเซียมากเกินไป! จึงทำการตัดต่อข้อความในโทรเลขนั้นไปแพร่ลงหนังสือพิมพ์ทั้งของปรัสเซียและฝรั่งเศส
พอเป็นแบบนั้น ประชาชนปรัสเซียก็โกรธฝรั่งเศสเป็นฟืนเป็นไฟ!
รวมถึงประชาชนฝรั่งเศสก็ไม่พอใจปรัสเซียเช่นเดียวกัน! ทำให้ประชาชนแต่ละประเทศกดดันให้รัฐบาลของตัวเองทำสงครามกับฝ่ายตรงข้ามให้รู้แล้วรู้รอด!
ว่าแล้ว รัฐบาลทั้งสองก็สนองความต้องการนั้น เกิดเป็นสงครามระหว่างฝรั่งเศสและปรัสเซียขึ้นในที่สุด...
ภาพจาก Wikipedia (สงครามฝรั่งเศสและปรัสเซีย)
ฝรั่งเศสได้คาดการณ์ไว้แล้วว่ายังไงสงครามครั้งนี้ก็ได้เปรียบ เพราะความเป็นมหาอำนาจของตัวเองยังอยู่เหนือกว่าปรัสเซียหลายขุม
1
แต่ก่อนสงครามจะเกิดขึ้นนั้น บิสมาร์คได้เตรียมการมาเป็นเวลานานมากแล้ว (เพราะรู้แน่นอนว่าต้องทำสงครามกับฝรั่งเศส)
1
ทำให้ก่อนหน้านั้นมีการชักชวนพูดคุยกับเหล่านครรัฐเยอรมันต่างๆ ให้มาเป็นพันธมิตรต่อกัน รวมถึงเกมทางการทูตที่พยายามโดดเดี่ยวฝรั่งเศสให้มากที่สุด
พอสงครามได้ระเบิดขึ้น ฝรั่งเศสที่มั่นใจในตนเองกลับเห็นว่าการรบกับปรัสเซีย นั้นตึงมือกว่าที่คิด จนไปๆ มาๆ ฝ่ายที่เพลี่ยงพล้ำกลับเป็นฝรั่งเศส ตัวของนโปเลียนที่ 3 เห็นแบบนั้นจึงตัดสินใจประกาศยอมแพ้
1
แต่ทว่า ทหารฝรั่งเศสที่ไฟแห่งความเคียดแค้นยังคุกรุ่นอย่างรุนแรง เลยไม่ยอมฟังคำสั่ง ทำการฟาดฟันกับปรัสเซียต่อ ทำให้นโปเลียนที่ 3 ซึ่งเห็นแล้วว่าหมดอำนาจในการสั่งการก็ตัดสินใจมอบตัวกับปรัสเซีย
2
เรื่องราวการมอบตัวนี้ ก็ได้รู้ไปถึงหูของประชาชนฝรั่งเศส เกิดเป็นความเสียหน้าและโกรธแค้นนโปเลียนที่ 3 แบบสุดๆ ทำการปฏิวัติโค่นล้มบัลลังก์แล้วเปลี่ยนฝรั่งเศสเป็นสาธารณรัฐครั้งที่ 3
1
แต่แล้ว ทัพฝรั่งเศสก็โดนปรัสเซียตีโต้กลับมา และเข้าประชิดเมืองหลวงอย่างปารีส และปรัสเซียก็ทำการปิดเกมกับฝรั่งเศสในที่สุด
การโค่นฝรั่งเศส ทำให้เหล่านครรัฐเยอรมันต่างเทหัวใจแทบทั้งหมดให้กับปรัสเซีย
1
บิสมาร์คเห็นแบบนั้นจึงใช้โอกาสนี้ในการจัดตั้งจักรวรรดิเยอรมัน ณ ห้องกระจกในพระราชวังแวร์ซาย โดยมีไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 1 เป็นจักรพรรดิองค์แรก
2
เหล่านครรัฐเยอรมันต่างๆ จึงพร้อมใจกันอยู่ภายใต้จักรวรรดินี้ และถือเป็นการรวมชาติเยอรมันภายใต้เงื้อมมือของปรัสเซียได้สำเร็จ
1
ฝ่ายที่พ่ายแพ้อย่างฝรั่งเศสต้องเสียค่าปฏิกรรมสงครามในราคาสูงลิบลิ่ว และเสียดินแดนคือ "อัสซาสและลอเรนซ์" ให้กับเยอรมัน
1
ความเป็นมหาอำนาจของฝรั่งเศส ได้เริ่มถูกแทนที่โดยจักรวรรดิเยอรมัน...
1
แต่ทว่า ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ได้สร้างแรงสะเทือนให้กับมหาอำนาจอื่นๆ ในยุโรปอย่างอังกฤษและรัสเซียพอสมควร...
1
ซึ่งตัวของบิสมาร์ค อาจตระหนักรู้ได้ในช่วงเวลานั้นว่าการรวมชาติเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น...
เกมการทูตของบิสมาร์ค ได้ทำให้มหาอำนาจในยุโรปเริ่มมองเห็นประโยชน์ในการทำสนธิสัญญาลับและการสร้างระบบพันธมิตร...
ซึ่งมุมมองที่เปลี่ยนไปจะส่งผลให้สงครามแห่งการทูตครั้งใหญ่บังเกิดขึ้นในอนาคต...
และเมื่อห้วงเวลานั้นมาถึง การตัดสินใจในแต่ละก้าวของเหล่ามหาอำนาจอาจจะเป็นตัวชี้เป็นชี้ตายของยุโรปและโลกทั้งใบ...
ภาพจาก Wikipedia
ติดตามต่อได้ใน Ep.2 มหาศึกการทูตแห่งยุโรป
1
References
Albrecht-Carrie, Rene. A Diplomatic History of Europe Since the Congress of Vienna. New York : Harpercollins College Div, 1973.
Craig, Gordon. Europe 1815 - 1914. Illinois : The Dryden Press, 1972.
Steinberg, Jonathan. Bismarck : A Life. Oxford : Oxford University Press, 2012.
Stollberg-Rilinger, Barbara. The Holy Roman Empire: A Short History. New York : Princeton University Press, 2018.
Taylor, A.J.P. Bismarck: The Man and Statesman. New York : Vintage First Paperback edition, 1967.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา