10 เม.ย. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเจ้าของนโยบายเศรษฐกิจ “Abenomics”
1
ในช่วงที่เงินเยนอ่อนค่าอย่างหนัก เนื่องจากธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงผ่อนคลายนโยบายทางการเงินอย่างจริงจังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สวนทางกับสหรัฐฯ ที่เริ่มประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ย จนเมื่อส่วนต่างของดอกเบี้ยยิ่งห่างออกไป ค่าเงินเยนก็ร่วงลงไปทุกที
1
การผ่อนคลายนโยบายทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนี้ อาจทำให้ใครหลายคนนึกถึงอดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น ที่เป็นผู้ริเริ่มนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีชื่อว่า “Abenomics”
📌 จากทายาทตระกูลใหญ่ทางการเมืองสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรี
คุณชินโซ อาเบะ ถือได้ว่าเป็นผู้ที่เติบโตมาในครอบครัวสายการเมือง เขาคือหลานตาของคุณโนบุสึเกะ กิชิ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่ดำรงตำแหน่งในช่วงปี 1957 - 1960 และลูกชายของคุณชินทาโร อาเบะ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ
ในปี 1993 คุณชินโซ อาเบะ ได้รับเลือกตั้งเข้าสภาเป็นครั้งแรก และได้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ของรัฐบาลในเวลาต่อมา จนขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากคุณจุนอิชิโร โคอิซุมิ ในปี 2006 ซึ่งถือเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่อายุน้อยที่สุดนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง
บทบาทการเป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยแรกของเขาเกิดขึ้นและจบลงภาย ในระยะเวลา 1 ปี ก่อนที่เขาจะชนะการเลือกตั้งและได้รับเลือกเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในปี 2012
📌 จุดเริ่มต้นของ Abenomics…นโยบายที่หวังกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่น
ต้องเล่าย้อนไปสักนิดว่าญี่ปุ่นอยู่ในช่วงเศรษฐกิจซบเซามาเป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษแล้วก่อนที่คุณชินโซ อาเบะ เริ่มทำนโยบายนี้ รัฐบาลก่อนหน้าพยายามแก้ปัญหาโดยการทำนโยบายขาดดุลมหาศาลเพื่อมาใช้ทำโครงการต่างๆ ของภาครัฐ และทำตามคำแนะนำจากนักเศรษฐศาสตร์ คุณพอล ครุกแมน ว่าให้เพิ่มปริมาณเงินและทำให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำๆ เข้าไว้ จะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ แต่ก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจซบเซาและเงินฝืดได้ดีนักแม้ว่าในปี 2006 ดอกเบี้ยนโยบายจะลงไปที่ระดับ 0 แล้วก็ตาม
2
จนกระทั่งในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง เขาได้เปิดตัวนโยบายที่ออกมาเพื่อหวังที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่น และเร่งการฟื้นตัวของภูมิภาคฮอนซูทางตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวและสึนามิในปี 2011 ซึ่งนโยบายนั้นถูกเรียกตามชื่อของเขาว่า “Abenomics”
1
Abenomics คือนโยบายที่จะช่วยเพิ่มอุปทานเงินในประเทศ, กระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐ และปฏิรูปเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้สามารถแข่งขันได้มากขึ้น โดยประกอบไปด้วย 3 มาตรการหลักๆ หรือที่เรียกว่าธนู 3 ดอก (three arrows)
  • 1.
    ใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) พิมพ์เงินเพิ่มราวๆ 60 - 70 ล้านล้านเยนเพื่อให้เงินเยนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ และสกุลเงินอื่นๆ เพื่อหวังกระตุ้นการส่งออก และกระตุ้นให้เงินเฟ้ออยู่ที่ระดับเป้าหมายคือ 2%
  • 2.
    ออกมาตรการรัฐใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นอุปสงค์และการบริโภค และกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น
  • 3.
    ปฏิรูปกฎระเบียบที่ช่วยให้อุตสาหกรรมญี่ปุ่นสามารถแข่งขันได้มากขึ้นและสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในภาคเอกชน ซึ่งรวมถึงการปฏิรูปธรรมาภิบาล ผ่อนคลายข้อจำกัดต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
📌 แล้ว Abenomics ประสบผลสำเร็จแค่ไหน?
ในช่วงแรกๆ นโยบายนี้ก็ดูเหมือนจะส่งผลอย่างดีเพราะดูเหมือนจะทำให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นคึกคักอีกครั้งจากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณที่อัดฉีดเงินเข้าไปในระบบอย่างมหาศาล อีกทั้งทำให้ตลาดแรงงานดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทางด้านค่าเงินเยนอ่อนตัวจนช่วยให้ภาคการส่งออกของญี่ปุ่นฟื้นตัวขึ้นมาได้
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าความสำเร็จนั้นไม่ได้คงอยู่ตลอดไป และเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็ยังเต็มไปด้วยความเปราะบาง เพราะเมื่อดูจาก GDP ที่แท้จริงในสมัยของคุณชินโซ อาเบะ แล้วนั้น เติบโตเฉลี่ยเพียงปีละ 0.9% อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อก็ไม่ถึงระดับ 2% ตามที่คาดไว้ แม้ว่าจะพยายามทำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณมากแค่ไหนก็ตาม ส่วนค่าจ้างก็ไม่ได้ขึ้นมากพอที่จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนได้
เมื่อค่าจ้างไม่สามารถขึ้นได้อย่างเพียงพอ นั่นจึงหมายถึงว่าผลประโยชน์ของ Abenomics นั้นไม่ได้ตกไปที่ครัวเรือน จึงล้มเหลวในการเป็นตัวกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ
ทั้งนี้นักวิเคราะห์จากหลายแห่งก็มองว่า ทั้งหมดนี้มาจากการที่ธนูดอกที่ 3 หรือการปฏิรูปโครงสร้าง กลายเป็นมาตรการที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงในตอนหลัง ทั้งที่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำอย่างยิ่งและเป็นหัวใจสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างมั่นคง
ดังนั้นภาพจำของ Abenomics จึงเป็นนโยบายที่อาจจะช่วยให้การคาดการณ์เงินเฟ้อในตลาดสูงขึ้น และอัตราดอกเบี้ยต่ำลงได้ก็จริง แต่ก็ไม่มีความหมายอะไรหากไม่ช่วยให้ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงเปลี่ยนแปลงได้
เพราะในปัจจุบัน ญี่ปุ่นเองก็เผชิญกับความท้าทายจากการเข้าสู่สังคมสูงวัย รายจ่ายบำนาญ รายจ่ายทางด้านสุขภาพ และสวัสดิการสังคม กลายเป็นต้นตอของความไม่แน่นอนต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้สังคม ซึ่งจะหายไปได้ก็ต่อเมื่อมีการปฏิรูปโครงสร้างอย่างมีระบบ ซึ่งได้กลายเป็นโจทย์ที่ท้ายทายรอวันให้นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนต่อๆ ไปเข้ามาแก้ไขในหลายสิ่งที่คุณชินโซ อาเบะ ยังไม่สามารถทำให้บรรลุได้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา
สุดท้ายนี้ Bnomics ขอปิดท้ายบทความด้วยคำพูดของคุณชินโซ อาเบะ ที่ว่า
“การเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในอนาคต ขึ้นอยู่กับความตั้งใจจริงและความกล้าหาญที่จะล่องเรือออกไปในทะเลแห่งการแข่งขันในระดับโลกที่เต็มไปด้วยพายุรุนแรงโดยปราศจากความลังเลใจ”
(“The future of Japan's economic growth depends on us having the willpower and the courage to sail without hesitation onto the rough seas of global competition.”)
ชินโซ อาเบะ (Shinzo Abe)
2
เครดิตภาพ : AFP Photo
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
เครดิตภาพปก :
โฆษณา