8 เม.ย. 2022 เวลา 11:29 • ไลฟ์สไตล์
'สัมมาสติ' (Samyak smriti)เป็นแก่นคำสอนของพระศากยมุนีพุทธเจ้า / ติช นัท ฮันห์ ๓ (ตอนที่ ๑)
ระลึกชอบ หรือ สัมมาสติ(Right Mindfulness)จัดเป็นแก่นคำสอนของพระศากยมุนีพุทธเจ้า โดยจารีตแล้วระลึกชอบหรือสัมมาสติถูกจัดไว้ในลำดับที่ ๗ ของมรรคในการปฏิบัติชอบ ๘ ประการ แต่ในที่นี้ มันถูกนำเสนอไว้ในลำดับที่ ๓ เพื่อเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญอย่างยิ่งของมัน(ความเห็นของท่าน ติช นัท ฮันห์) เมื่อใดที่มีการระลึกชอบ เมื่อนั้น อริยสัจจ์ ๔ และ องค์ ๗ ประการที่เหลือของมรรคมีองค์ ๘ ก็จะมีขึ้นในที่นั้น เช่นกัน... เช่น เมื่อใดที่เรามีการระลึกชอบอยู่(สติ/ความรู้สึกตัว-ผู้แปล) ความคิดของเราก็จะเป็นความคิดชอบ วาจาของเราก็จะเป็นวาจาชอบ เป็นต้น การระลึกชอบ เป็นพลังที่จะนำเรากลับคืนสู่ปัจจุบันขณะ การเจริญสติ(ระลึกชอบ)ที่ตัวของเราเอง เป็นการเพิ่มพูนพระพุทธเจ้าภายในตัวเรา(the Buddha within) และเป็นการเพิ่มพูนพระจิต(Holy Spirit)
ระลึกชอบยอมรับทุกสิ่งโดยปราศจากการตัดสินและปฏิกิริยา มันครอบคลุมทุกอย่างและเต็มไปด้วยความรัก การปฏิบัติความระลึกชอบ(เจริญสติ)เป็นการค้นหาหนทางต่างๆเพื่อที่จะทำให้มีโยนิโสมนสิการ(appropriate attention-Yoniso manaskara)หรือการพิจารณาโดยแยบยล ตลอดทั้งวัน
เมื่อมีสติ(ความรู้สึกตัว)อยู่ ปาฏิหาริย์ ๗ ประการ ย่อมเกิด ได้แก่ ;
(๑) ทำให้เราอยู่กับปัจจุบัน ซึ่งทำให้เราสามารถสัมผัสได้อย่างลึกซึ้งกับความงามของธรรมชาติ เช่น ท้องฟ้า ดอกไม้ และรอยยิ้มของเด็ก เป็นต้น
(๒) ทำให้สิ่งต่างๆที่เราเกี่ยวข้องอยู่ด้วยในขณะนั้นเป็นปัจจุบันด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นท้องฟ้า, ดอกไม้, และลูกหลานของเรา
(๓) เป็นการทนุถนอมสิ่งที่อยู่ในความใส่ใจดูแลของเรา เช่น การเอาใจใส่คู่รักเป็นการทนุถนอมน้ำใจของกัน เป็นต้น
(๔) เป็นการช่วยบรรเทาความทุกข์ใจให้ผู้อื่น เช่น ในกรณีที่เธอตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก หากว่าเธอมีเพื่อนสักคนหนึ่งอยู่กับเธอในสถานการณ์นั้นอย่างแท้จริง จริงๆ(อยู่ทั้งกายและใจ-ผู้แปล) เธอย่อมคลายทุกข์ได้บ้าง...เมื่อมีใครสักคนกำลังอยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต ถ้าเธอได้นั่งเคียงข้างเขาอย่างเด็ดเดี่ยวและมั่นคง(ทั้งกายและจิตใจ-ผู้แปล) นั้นอาจจะเป็นเพียงสิ่งเดียวเท่านั้น ที่จะทำให้เขาสามารถละจากโลกนี้ไปได้ด้วยความสงบ เป็นต้น...ปาฎิหาริย์แห่งการมีสติระลึกรู้อยู่กับปัจจุบัน ประการที่ ๑-๔ ข้างต้น เป็นขั้นเริ่มต้นของการภาวนา เรียกว่า 'สมถะ'(Shamatha) ทำให้เกิด การหยุด, ความสงบ, การพักฟื้น, และการเยี่ยวยา...เมื่อเธอเกิดความสงบและหยุดความกระวนกระวาย จิตใจของเธอก็จะเป็นสมาธิ พร้อมที่จะเริ่มต้นพิจารณาสิ่งต่างๆตามที่เป็นจริง จริงๆ
(๕) ทำให้เธอสามารถพิจารณาสิ่งต่างๆตามที่มันเป็นจริง จริงๆได้ หรือ เรียกว่า 'วิปัสสนา' (Vipashyana) ซึ่งเป็นขั้นที่สองของการภาวนา เพราะว่าเมื่อเธอเกิดความสงบและมีสมาธิ เธอก็สามารถที่จะพิจารณาสิ่งนั้นๆได้อย่างลึกซึ้งตามที่มันเป็นจริง จริงๆ ส่วนนี้จัดเป็นวิปัสสนากรรมฐาน เธอจะรวมสติไปยังที่สิ่งที่กำหนดไว้สำหรับทำการพิจารณา ในขณะเดียวกันเธอก็มีสติระลึกรู้อยู่ที่ตัวของเธอเองด้วย เธอก็จะพิจารณาสิ่งนั้นโดยแยบคาย(โยนิโสมนสิการ) และเธอจะพบว่า อาลยวิญญาณ(store con- sciousness - คลังเก็บจิตสำนึก)ของตัวเธอเองเต็มไปด้วยบรรดาแก้วมณีที่มีค่ายิ่ง
(๖) ทำให้เธอเกิดความรู้แจ้งเห็นจริง(understanding)หรือปํญญาขึ้น เป็นการรู้แจ้งเห็นจริงอย่างแจ่มชัดในสิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เป็นความรู้แจ้งจากข้างในตัวเราเอง เกิดขึ้นเมื่อเรามีสติ, ได้สัมผัสแท้จริงอยู่กับปัจจุบันขณะ, เราก็สามารถที่จะเห็นและได้ยินตามที่เป็นจริง จริงๆ และผลที่เกิดตามมา คือ ปัญญา(ความรู้แจ้งเห็นจริง), การยอมรับ, ความรัก, และ ความปรารถ นาที่จะบรรเทาความทุกข์ใจ เสมอ เป็นเหตุนำมาซึ่งความปีติแก่ตัวเธอเอง เมื่อเธอเข้าใจใครบางคนอย่างแท้จริง นอกจากเธอจะช่วยเหลือเขาได้แล้ว เธอยังจะมีความรักเมตตาต่อเขาหรือหล่อนด้วย และ
(๗) ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยน(Transformation) เมื่อใดที่เราเจริญสติ เราก็สามารถเข้าถึงการเยียวยา และการฟื้นฟูองค์ประกอบต่างๆของชีวิตให้มีชีวิตชีวา และเริ่มต้นที่จะปรับเปลี่ยนความทุกข์ของตัวเราเองและความทุกข์ของโลกของเรา เราต้องเอาชนะนิสัยที่ไม่ดีบางอย่างให้ได้ ตัวอย่างเช่น การสูบบุหรี่ เพื่อสุขภาพกายและจิตใจที่ดีของตัวเอง เมื่อเริ่มต้นฝึกที่จะเลิกสูบบุหรี่ พลังของนิสัยที่ไม่ดีมีมากกว่าพลังสติของเรา ดังนั้น เราจึงนอนครุ่นคิดทั้งคืนที่จะไม่เลิกสูบ เมื่อเราหยิบบุหรี่ขึ้นมาสูบ ให้เราทำเพียงเอาสติเข้าไปรู้ว่า 'เรากำลังสูบบุหรี่อยู่' เมื่อเราฝึกต่อไปเรื่อยๆ และทำการพิจารณาโดยแยบคาย เราจะพบความจริงถึงผลเสียหลายอย่างของการสูบบุหรี่ที่มีต่อสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจของตนเอง ครอบครัว และชุมชน เมื่อนั้น เราก็จะเริ่มตั้งใจที่จะเลิก แน่นอนว่า มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
แต่เพราะการเจริญสัมมาสตินั่นเองที่ช่วยให้เราเห็นถึงความอยากสูบ(ตัณหา)และผลเสียทั้งหลายอย่างแจ่มชัด และ ในที่สุด เราก็จะค้นหาวิธีการที่จะเลิกสูบบุหรี่ด้วยตัวของเราเอง...มันอาจจะใช้เวลาเป็นปีๆในการปรับเปลี่ยนนิสัยเก่าที่ไม่ดีบางอย่าง แต่เมื่อใดที่เราได้เริ่มต้นลงมือทำ เราก็ได้หยุดกงล้อแห่งสงสาร(Samsara) วัฏฏจักรที่ชั่วร้ายของความทุกข์และความยุ่งยากที่เกิดขึ้นมากต่อมากในชีวิตแล้ว ปาฏิหาริย์ของการมีสัมมาสติระลึกรู้อยู่กับปัจจุบันขณะ ๗ ประการ สามารถช่วยให้เรามีความสุขและมีชีวิตที่สดชื่น สามารถปรับเปลี่ยนความทุกข์ และนำ สันติสุข, ปีติ, และ ความเป็นอิสระ มาสู่ตัวของเราเอง
การฝึกปฏิบัติปาฏิหาริย์ทั้ง ๗ ประการของความมีสติ ช่วยนำเราไปสู่ความสุข ชีวิตที่มีสุขภาวะที่ดี ทำการแปรเปลี่ยนความทุกข์ และการนำมาซึ่งความสุขสงบ ความปีติ และความหลุดพ้น
@ 'สัมมาสติ' (Samyak smriti)เป็นแก่นคำสอนของพระศากยมุนีพุทธเจ้า / ติช นัท ฮันห์ ๓ (ตอนที่ ๒)
@ ในสติปัฏฐานสูตร(the Discourse on the Four Establishments of Mindfulness) พระศากยมุนีพุทธเจ้าเสนออารมณ์หรือสิ่งต่างๆที่จิตยึดหน่วง(objects) ๔ อย่าง สำหรับการฝึกเจริญสติ ได้แก่ ร่างกายของเรา, เวทนาของเรา, จิตของเรา, และ ธรรมหรืออารมณ์ต่างๆของจิตของเรา มันเป็นประโยชน์เกื้อกูลที่จะอ่านสติปัฏฐานสูตรอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง พร้อมด้วยอานาปานสติฉบับสมบูรณ์(the Discourse on the Full Awareness of Breathing) และ ภัทเทกรัตตสูตร(the Discourse on Knowing the Better Way to Live Alone) เธออาจชอบที่จะวางคัมภีร์ทั้ง ๓ เล่ม ไว้ข้างเตียงนอน หรือนำติดตัวไปด้วยเมื่อเวลาต้องเดินทางไกล
สิ่งแรกที่จะสร้างขึ้น คือ "การพิจารณากาย ในกาย" ใน กายคตาสติสูตร (the Kayagatasati) พระพุทธองค์เสนอวิธีการต่างๆเพื่อช่วยเราให้รู้ว่า อะไรกำลังเกิดขึ้นหรือเป็นไปในร่างกายของเรา เราพิจารณาโดยไม่แบ่งแยก (nondualistically) อย่างครบถ้วนในร่างกายของเรา(fully in our body)แม้ในขณะที่เราพิจารณามัน เราเริ่มต้น ด้วยการตามรู้ท่าทางและการเคลื่อนไหวทั้งหมดของร่างกายเรา เมื่อเรานั่ง เรารู้ว่าเรากำลังนั่งอยู่ เมื่อเรายืน เดิน และนอนลง เรารู้ว่าเรากำลังยืนอยู่ กำลังเดินอยู่ และกำลังนอนอยู่ เมื่อเราฝึกปฏิบัติด้วยวิธีนี้ สติก็มีอยู่ในที่นั่น การฝึกปฏิบัติอย่างนี้เรียกว่า "เพียงแค่รู้จักเฉยๆ" (mere recognition)
วิธีที่สอง พระพุทธองค์ได้สอนเราให้ฝึกปฏิบัติ พิจารณากายในกาย คือ การพิจารณาอวัยวะของเราทั้งหมด ตั้งแต่บนสุดของศรีษะจนถึงพื้นฝ่าเท้า รวม ๓๒ ประการ เราสามารถฝึกปฏิบัติวิธีนี้ในระหว่างการนั่งภาวนาหรือในขณะนอนลง (sitting meditation or while lying down) การสแกน(scanning)อาจจะใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง ในขณะที่เรากำลังสแกนอวัยวะแต่ละอย่างๆในร่างกายเรา เรายิ้มให้มัน ความรักและความใส่ใจของการภาวนาวิธีนี้สามารถใช้เป็นการเยียวยารักษาได้
วิธีที่สาม พระพุทธองค์ได้เสนอเพื่อการปฏิบัติ พิจารณากายในกาย คือ ให้เห็นร่างกายนี้ประกอบด้วยธาตุ ๔ ได้แก่ ดิน, น้ำ, ไฟ, และลม "หายใจเข้า, ฉันเห็นธาตุดินในตัวฉัน หายใจออก, ฉันยิ้มให้กับธาตุดินในตัวฉัน" 'ธาตุดิน' หมายถึง สิ่งต่างๆที่เป็นของแข็ง เมื่อเราเห็นธาตุดินทั้งภายในและนอกตัวของเรา เรารู้ได้ชัดแจ้งว่า ไม่มีพรมแดนจริงๆระหว่างเรากับส่วนที่เหลือของเอกภพ ขั้นต่อไป เราก็พิจารณาธาตุน้ำทั้งภายในและนอกตัวเรา...ความจริงร่างกายของเราประกอบด้วยน้ำกว่าร้อยละ ๗๐ ต่อจากนั้น เราก็พิจารณาธาตุไฟ ซึ่งหมายถึงความร้อน ทั้งภายในและนอกตัวเรา ความร้อนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต การปฏิบัติวิธีนี้ ทำให้เรารู้แล้วรู้เล่าว่า ธาตุทั้งภายในและนอกตัวเราเป็นความจริงอย่างเดียวกัน และเราก็จะไม่ถูกกักเก็บอยู่เฉพาะในร่างกายของเราเท่านั้นอีกต่อไป เราอยู่ในทุกหนทุกแห่ง
ธาตุที่ ๔ ของร่างกายเราคือธาตุลม/อากาศ(air) วิธีที่ดีที่สุดที่จะมีประสบการณ์กับลม/อากาศ ก็คือการปฏิบัติอานาปานสติ (mindful breathing) "หายใจเข้า, ฉันรู้ว่ากำลังหายใจเข้า หายใจออก, ฉันรู้ว่ากำลังหายใจออก"...เราไม่ต้องพยายามควบคุมลมหายใจ...เราไม่ต้องใช้ความพยายาม มันจะปรับเป็นลึกลงและช้าลงด้วยตัวของมันเอง และเราก็สามารถรับรู้ได้เอง
ต่อมา เธอจะสังเกตเห็นว่าเธอสงบกว่าและสบายมากขึ้น "หายใจเข้า, ฉันรู้สึกสงบ หายใจออก, ฉันรู้สึกสบาย" ฉันไม่ต้องต่อสู้ดิ้นรนอีกต่อไป สงบ/สบาย...ยิ้ม/ปลดปล่อย...การปฏิบัติสุดท้าย คือ "หายใจเข้า, ฉันอยู่กับปัจจุบันขณะอย่างลึกล้ำ หายใจออก, ฉันรู้ว่านี้คือชั่วขณะที่น่าอัศจรรย์ ปัจจุบันขณะ/ขณะที่แสนมหัศจรรย์ ไม่มีสิ่งใดมีคุณค่ามากกว่าการอยู่กับปัจจุบันขณะ มีชีวิตอยู่อย่างเต็มที่และตระหนักรู้อย่างเต็มที่
ภาพ พระประธานในพระอุโบสถ วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร เขตบางกอกใหญ่
โฆษณา